top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

The Isaander จิบยาดองกับชายผู้หยุดเรือดำน้ำ สุทิน คลังแสง


คงเป็นเรื่องที่สร้างความตกตะลึงให้คุณไม่น้อย หากมีคนมาเคาะประตูบ้าน พร้อมเอ่ยปากทักทาย “ผมอยากเป็นผู้แทนราษฎร ช่วยสอนวิธีให้หน่อยได้ไหม”


ยิ่งกับเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ของ แคล้ว นรปติ อดีตผู้แทนราษฎร จ.ขอนแก่น หลายสมัย ที่อยู่ ๆ ก็มีครูโรงเรียนสอนเด็กพิเศษใน จ.ขอนแก่น คนหนึ่งเดินเข้าไปหาถึงที่พำนัก บอกเล่าความฝันให้ฟัง


จนเวลาล่วงผ่านไป ชายหนุ่มจากวิทยาลัยครูมหาสารคามคนนั้นกลับไปบ้านเกิด จุดตั้งต้นการออกแบบชีวิตทางการเมือง ในส่วนหนึ่งแม้ชีวิตจะพันผูกกับวิถีนักการศึกษาที่เส้นทางชีวิตอาจนำพาไปสู่ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย แต่กับความคลั่งใคล้อาชีพผู้แทนประชาชน ผู้ให้สัมภาษณ์บอกกับเราว่า ชีวิตเหมือนพระเจ้าสร้างให้มาเป็นนักการเมือง


ไม่ว่าจะสร้างหรือจะสาป จาก สส.พรรคไทยรักไทย 2 สมัยซ้อน สส.พรรคพลังประชาชน ก่อนโดนตัดสินยุบพรรค ระหกระเหินจากการโดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี กลับมาสู้เลือกตั้งอีกครั้ง แต่ปี 2557 ก็มีการรัฐประหาร ต้องเว้นช่วงยาวนับสิบปีไปทำวงดนตรีลูกทุ่ง เพราะ คสช.คอยจับจ้องการเคลื่อนไหว ก่อนปี 2562 ทหารปลดล็อคการเมือง เขากลับมาปักหลักลงสู้สนามเลือกตั้งในเขต อ.เชียงยืน พื้นที่บ้านเจ้าของ หลังชนะเลือกตั้งถล่มทลาย กลายเป็นนักการเมืองขวัญใจมหาชนเต็มตัวจากฝีปากปราศรัยในสภา


จนมาเลือกตั้ง 2566 ชื่อสุทิน คลังแสง ในนาม สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย ก็กลายเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ที่มาจากพลเรือนเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์(ที่ไม่ได้ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)


วันนั้นที่บ้านหลังหนึ่ง ใกล้วิทยาลัยเทคโนโลยีเอเชียแปซิฟิก อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม เรานัดกับสุทิน หรือลุงสุทิน ในบางจังหวะจากความชิดใกล้สนทนา ยาดองสมุนไพรสูตรเจ้าของบ้านถูกยกมาเสิร์ฟ และไม่เคยพร่องจากแก้ว ทั้งผู้ถามและผู้ตอบ คลอเรื่องเล่าชีวิตความคิดความหลังนักการเมืองอีสานผู้นี้


ถ้าย้อนไปหน่อยนึง สมัยนั้นทำไมถึงเลือกเรียนครู


คนชาวบ้านบ้านนอก โดยโลกทัศน์ทางการศึกษา ช่องทางที่จะไปเขามองไม่ค่อยเห็น เห็นครู เห็นตำรวจ เห็นพยาบาลแค่นี้แหละ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็ชาวบ้านเขาก็มีไอดอลมีช่องทางการเป็นครูดีที่สุดแล้ว จะไปจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ไปแพทย์ไปเพิดอะไรนี่ไม่ค่อยคิด เพราะว่ามันไกล ไม่ค่อยมีเงินจะไป เพราะฉะนั้นเอาแค่เป็นครูได้ถือว่าวิเศษแล้ว เพราะฉะนั้นลุงก็เลยไปตามวิถีคิดของคนชาวบ้าน


เห็นว่าตอนที่พ่อออกจากครูมาเป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นกำนันก็เลยได้มีโอกาสติดตามใกล้ชิดพอสมควร เริ่มพอจะมองเห็นปัญหาอะไรบางอย่าง


เห็นปัญหาเยอะเลย หนึ่งปัญหาชาวบ้าน สองปัญหาข้าราชการ ข้าราชการทุกส่วนเขาก็จะมาหมู่บ้านเขาก็จะมาพบกำนัน สายปกครองไม่ว่าจะเป็นผู้ว่า นายอำเภอ ทุกสายเข้ามาเขาก็จะมาพบกำนัน มาคุยกัน มาทุกครั้งก็จะมากินข้าว ติดตามไปก็ได้ซึมซับรับรู้เรียนรู้วิธีคิดเขานะ ก็รู้ว่ามีวิธีคิดผิด ๆ อยู่เยอะ คิดแบบนี้ชาวบ้านก็แย่อะไรอย่างนี้ แล้วเราก็เลยเป็นคนที่มีอีคิวพัฒนาการเร็ว เพราะได้เรียนรู้โดยที่มันไม่ใช่หลักสูตร แต่มันเรียนรู้จากฟังพวกผู้ใหญ่คุยกัน เรียนรู้จากการเสวนาแก้ปัญหา ลุงก็เลยเป็นเด็กที่ค่อนข้างจะอีคิวดีกว่าเด็กคนอื่น



ลุงพูดถึงอีคิว แต่เราวัดไอคิว งั้นสมัยที่ลุงเด็ก ๆ ตอนนั้นใครเป็นนายกฯ บ้าง


เป็นเด็กตอนนั้นก็รู้เลย ท่องเลย ถนอม กิตติขจร, สัญญา ธรรมศักดิ์, เสนีย์ ปราโมช, คึกฤทธิ์ ปราโมช (เสนีย์ คั่นอีกรอบ), ธานินทร์ กรัยวิเชียร, เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, เปรม ติณสูลานนท์, ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ไล่ ๆ มาจนเนี่ย


เริ่มจริง ๆ ตอนเป็นเด็กเลย ถนอม กิตติขจร ก็เป็นเด็กประถมปลาย เด็ก ป.6 ป.7 ช่วงระอุเลยเป็นช่วงประชาธิปไตยเเบ่งบานช่วง 14 ตุลา ช่วง 6 ตุลา ช่วงเข่นฆ่ากัน โอ จะถือว่าเป็นวัยรุ่นก็ไม่ใช่หรอก วิสา คัญทัพ, ธีรยุทธ บุญมี เขาเป็นวัยรุ่น แต่ลุงก็เป็นเด็ก


ก็มองการเมืองแต่ไหนแต่ไรมา


เห็นแต่ไหนแต่ไรมาก็อยู่ในความทรงจำตลอด เรียนรู้จากสถานการณ์นั้นตลอด ตอนนั้นเราเป็นเด็กเข้าไปร่วมสถานการณ์ไม่ได้ก็จะเห็นแต่รุ่นพี่ แต่พอมาถึงมัธยมพอเข้าเรียนวิทยาลัยครูตอนนั้นก็เริ่ม ตอนนั้นมันเป็นยุค 6 ตุลา 19 นี่เป็นวัยรุ่น อายุ 16-17 ปี ก็กำลังห่าม แต่ตอนนั้นคนยุคนั้น มีข้อจำกัดเรื่องการเรียนรู้มากรัฐบาลกรอกหูอย่างเดียว ถ้าไม่ใช่เด็กที่เขาสนใจใฝ่รู้จริง ๆ จะไม่รู้อีกด้านหนึ่ง แต่ลุงนี่สนใจก็เลยได้ความรู้อีกด้านหนึ่ง



ซึ่งก็ถือว่ามันอยู่ในยีนของลุงหรือเปล่า เรื่องการเมือง อันนี้ฟังมาตั้งแต่เด็ก


คิดว่าพระเจ้าส่งให้มาเป็นนักการเมือง มันซึมซับมาตลอด แล้วนักการเมืองแต่ละรุ่นแต่ละยุคแต่ละคนเนี่ยเรียนรู้เขามาหมด เรียกว่า เรียนรู้กลยุทธ์


เหมือนลุงมีคนที่เป็นแม่แบบทางการเมืองเนาะ อย่าง สส. แคล้ว นรปติ ที่ขอนแก่น แล้วถ้าเป็นยุคก่อนหน้านั้น ที่มองว่าเป็นนักการเมือง นักคิดนักเขียน นักปราศรัย ลุงมองเป็นไอดอลนี่ใครบ้าง


ถ้ายุคนั้นจริง ๆ แล้วก็ต้องรุ่น ไขแสง สุกใส สส.นครพนม (2472-2543) ถัดมาหน่อยอายุใกล้กัน การุณ ใสงาม ของบุรีรัมย์อะไรพวกนี้ก็จะเป็นสังคมนิยม เป็นคอมมิวนิสต์น่ะพูดง่าย ๆ แล้วก็ชอบมาก ศึกษา แม้ไม่ได้เกิดร่วมยุคกันแต่ว่าเป็นไอดอลเลยก็พวก เตียง ศิริขันธ์ (2452 – 2495) ,จำลอง ดาวเรือง (2453-2492) แต่ไม่เคยเห็นเขาหรอกแต่ว่าศึกษาประวัติเขา ยิ่งสี่รัฐมนตรีอีสาน (จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล(2452-2492)

, ทองเปลว ชลภูมิ(คุณทองเปลวเกิดที่ จ.สมุทรสงคราม) ( 2455 – 2492), ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (2449 - 2492) น่ะ หลังจากนั้นก็ แคล้ว นรปติ(2460 -2549)


ถัดจากแคล้วมาก็แนวเดียวกับเขาก็ รุ่น อดิศร เพียงเกษ, ชำนิ ศักดิเศรษฐ์, สุธรรม แสงประทุม


มอง สส. อีสานเหล่านี้แตกต่างจากนักการเมืองทั่วไปยังไง

อีสานมีพื้นฐานต่างจากคนภาคอื่น ประวัติศาสตร์การมารวมเป็นแผ่นดินก็ยังมีรอยแยกแตกต่างกันอยู่ เขายังมองว่าไม่ใช่คนไทย ก็เลยถูกมองเป็นพลเมืองอีกแบบหนึ่งก็เลยเป็นที่มาของการกดขี่ ความเหลื่อมล้ำเยอะ สะท้อนออกได้ทั้งคุณภาพชีวิตทั้งรายได้ประชากร ทั้งหลาย ๆ อย่าง ทั้งการต้องไปเร่ขายแรงงาน เพราะฉะนั้นคนอีสานจะมีพื้นฐานทางการเมืองแบบนี้ ก็เลยต้องต่อสู้ เพราะฉะนั้นมันเลยต้องเรียกร้องอยู่ตลอด คนอีสานมาเป็นนักการเมืองก็เลยเข้มข้นทั้งหมด เพราะฉะนั้นนักการเมืองที่เข้มข้นต้องไปจากอีสาน เข้มข้นเยอะแต่ว่าไม่ได้โชว์ ไม่โด่งดังมากนักเพราะว่าถูกกด ถูกครอบ ถูกสกัดจนถึงฆ่าทิ้งแบบที่เกิดในปี 2492 (สี่รัฐมนตรี อ่านเพิ่มเติม https://www.theisaander.com/post/200304ministersofisaan)


เพราะตั้งแต่อดีตสิ่งที่อีสานเรียกร้องมันสั่นสะเทือน


ก็สั่นสะเทือน สั่นสะเทือนจนมีการปราบปรามครั้งใหญ่ คือสำนักกลาง คือสยามไง สยามตอนนั้นก็วิตกมากช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ต้องปราบอีสานอย่างหนัก ต้องปราบไม่ว่าจะเป็นเรื่องกบฏผีบุญ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ มันมีหลายรูปแบบที่ต้องลงทุนลงแรงปราบ จนถึงขั้นเปลี่ยนระบบการปกครองเป็นมณฑล ก็ต้องปราบจนถึงขั้นใช้กระบวนการกลืนทุกอย่าง


เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องสั่นสะเทือนที่เขาต้องลงทุนกับอีสานเยอะ ในการที่จะต้อง เขาเรียกว่าอะไรนะ Assimilation หรือว่า ทำให้อีสานกลมกลืนให้ได้ ทีนี้มันเลยทำให้สไตล์นักการเมืองอีสานเข้มข้น เราคนอีสานพฤติกรรมทางการเมืองก็เลยเป็นกลุ่มก้อนที่ชัดเจน มีความเป็นชาตินิยม จึงเป็นที่มาหลัง ๆ ก็จะเป็นว่า คนอีสานตั้งนายกฯ แต่คนกรุงเทพฯ ล้ม อันนี้ชัดเจนเลย


มันมีบทความหนึ่งที่พวกเราเคยค้น เคยเขียนไว้ว่า ที่มหาสารคามมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่แรกของประเทศไทย บ่งบอกอะไรได้อย่างหนึ่งก็คือเรื่องการตื่นตัวของคน คิดว่ามหาสารคามหรือว่าละแวกนี้ ละแวกอีสาน คนเขารู้สึกว่าได้รับการกดขี่แล้วเขาอยากตื่นตัว แล้วมันแสดงผ่านอะไรบ้าง เช่น การเลือกตั้ง หรือว่าการลงประชามติ


การเลือกตั้งชัดเจนนะ อันดับแรกส่งผ่านนักการเมืองก่อน มันจะเกิดนักการเมืองที่มีอัตลักษณ์เป็นนักสู้ เช่นสารคามฯ ก็จำลอง ดาวเรือง สกลฯ ก็เตียง ทางนครพนมก็จะเป็น ไขแสงอย่างงี้ ขอนแก่นก็แคล้วอย่างงี้ อุบลฯ ก็ทองอินทร์ จนมาถึงรุ่นอดิศร


ฉะนั้นแถบนี้มันก็จะแสดงว่า เขาเลือกนักการเมืองแบบนี้แล้วนักการเมืองอยู่ได้ ก็แสดงว่ามันเป็นเทสต์ เป็นค่านิยม เพราะว่าเขาอยู่ในการต่อสู้


ลุงยืนยันว่า เงินซื้อไม่ได้ เงินไม่ใช่ตัวชี้ขาด มีอยู่เพียงยุคเดียว ที่ส่วนกลางพยายามละลายความเข้มข้นนี้ เอาเงินมาซงมาซื้อ ซึ่งซื้อได้แค่ยุคเดียว เป็นพวกรุ่นเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ รุ่นไรพวกนี้มาซื้อ โรคร้อยเอ็ด (คำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์การใช้เงินซื้อเสียงในการเลือกตั้งช่วงปี 2524)


เรียกว่าโรคร้อยเอ็ด


โรคร้อยเอ็ด โรคหมาหลง ก็มียุคเดียวจากนั้นก็หายไป กลับมาเลือกแบบเดิม คือไปเป็นกลุ่มก้อน เพราะฉะนั้นคนอีสานหลังปี 2540 เป็นต้นมา จะมีค่านิยมชัดเจน เลือกความหวังใหม่ก็คือความหวังใหม่ ไทยรักไทยก็ไทยรักไทย อันนี้เป็นมันจะมีความเกาะเกี่ยวกัน หลังจากนั้น ก็ตั้งนายกฯ ได้ทุกครั้ง


เป็นครูเกือบ 20 ปี เห็นว่าตอนที่จะมาสมัครผู้แทนครั้งแรก พร้อม ๆ กับการมาถึงของ พรรคไทยรักไทย ตอนทักษิณตั้งไทยรักไทยในปี 2542 ทำหน้าที่อะไรที่ มมส.


พรรคตั้งปี 2542 เราเป็นสมาชิกปี 2543 ตอนนั้นเป็นผู้ช่วยอธิการบดี แล้วก็รับหน้าที่ทำงานมวลชน ก็เข้าทางเรา ไปขยายที่ตั้งมหาวิทยาลัย ทำงานประชาสัมพันธ์ให้มหาวิทยาลัย จัดรายการวิทยุ ให้คนรู้เรื่องการศึกษา เรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง แต่ว่าเราก็ไม่พูดการเมืองตรง ๆ แต่เราก็พรีเซนต์อธิบายปัญหาสังคมโดยไม่ทิ้งการเมือง ชาวบ้านก็ซึมซับรับว่าอัตลักษณ์เรา คาแร็กเตอร์เรามันน่าจะใช่นักการเมือง

ก็อยากเป็นนักการเมืองแต่ไม่คิดว่าจะได้เป็นหรอก แต่ตลอดเวลาที่เป็นครู ที่วันหนึ่งเรียนจบตรี จบโท ขึ้นมาเป็นอาจารย์ ม.มหาสารคาม ใจมันก็ว่าต้องออกมาเป็น สักวันหนึ่งต้องออก รอเวลา ในขณะนั้นก็ทำการเมืองไปด้วย คบนักการเมืองไปด้วย แล้วก็ทำการเมืองภาคประชาชนไปด้วย แล้วทุกครั้งก็คิดว่าจะเชื่อมจากภาคประชาชนมาสู่สภาให้ได้ วางแผนชีวิตออกแบบชีวิตมาตลอด พูดตรง ๆ ว่าออกแบบชีวิตมาเป็นนักการเมือง แต่ก็ยังคิดว่าโอกาสที่จะได้เป็นมันคงยาก


ความยากตอนนั้นคืออะไร


เพราะว่า หนึ่ง เราจะต้องเดินทาง ยุคนั้นมันยุคโรคร้อยเอ็ดด้วย เราไม่มีเงิน สอง โดยชื่อเสียง วงศ์ตระกูล นามสกุล ก็ไม่ได้มีต้นทุน พ่อแม่ก็ไม่ได้เป็นคนร่ำคนรวย คนที่มีชื่อเสียงอะไร ก็ไม่เหมือน อดิศร เพียงเกษ ที่พ่อยังเป็น สส. เก่า เพราะฉะนั้นต้นทุนไม่มี ต้นทุนทางสังคมไม่มี ต้นทุนทางเงินก็ไม่มี ไม่คิดว่าจะได้เป็น แต่หวังลึก ๆ เพียงว่า เราก็ได้ไปเป็นส่วนประกอบคณะทำงานของนักการเมือง ผลักดันความคิดอะไรแค่นั้นแหละ แล้วก็ได้ทำงานกับนักการเมืองก็พอแล้ว



สังกัดแรกคือ ไทยรักไทย ทราบว่าตอนเด็ก ๆ เคยเป็นยุวประชาธิปัตย์ด้วย


สมัครเข้าเป็นช่วงเรียนมัธยม แล้วก็เป็นครูใหม่ ๆ ก็ยังเป็นยุวชน อายุ 18 ปี แต่ยังไม่ชอบถึงที่สุดเพราะการเมืองมันมีอุดมการณ์แบบพรรคประชาธิปัตย์น่ะ ใช่ แต่มันต้องเป็นนักบริหารด้วย ต้องรู้เรื่องเศรษฐกิจด้วย ต้องมิติใหม่ ต้องเข้าถึงประชาชน แล้วต้องเอาปัญหาประชาชนออกมาโฟกัสให้ได้


แต่ยุคก่อน ๆ มันมีแต่นักการเมือง ไม่ใช่นักบริหาร ชวน หลีกภัย ก็ดี ใครก็ตามย้อนหลังไป เสนีย์ คึกฤทธิ์ก็ไม่ใช่นักบริหารเป็นนักการเมือง เราก็คิดว่าเอ๊ะ มันไม่ใช่ ชอบอยู่ไอดอลเลยก็คือสมัคร สุนทรเวช นักพูดนะ นักพูดก็ชอบสมัคร สุนทรเวช ในขณะที่นักวิชาการ ยุคแรกก็ชอบวิษณุ เครืองาม สมัยนั้นเขาจัดรายการสนทนาปัญหาบ้านเมือง เขาเป็นนักวิชาการที่พูดเข้าใจง่าย


เอาวิชาการมาพูดให้เข้าใจง่ายต้องวิษณุ เอาการเมืองมาพูดให้เข้าใจง่ายต้องสมัคร


ใช่ ๆ ในตัวลุง โดยเจตนามันไม่ได้ตั้งใจนะ แต่มันจะมีทั้งสมัครและวิษณุอยู่ในตัว เพราะฉะนั้นเวลาพูดในสภาก็จะเห็นว่าเราเชิงวิชาการมี มิติทางวิชาการมีแล้วอธิบายง่าย ๆ แล้วก็นำเสนอแบบเข้าใจง่ายแบบทางการเมือง มีลูกเล่นต้องแบบสมัคร มันจะอยู่แบบรู้ตัว ไม่ต้องไปปรุงแต่ง


นับจากปี 2544 ที่คนจะเลือกไทยรักไทยจนชนะขาดลอย ก่อนหน้าในฐานะคนที่จะเป็นนักการเมือง ประชาชนเขามีวิธีลงเสียงคะแนนเลือกตั้งยังไง


อย่างที่บอกก่อนปี 2540 หรือถัดจากนั้นหน่อยนึง เขาเลือกตามคน แล้วมันไม่มีพรรคที่มันชัดเจนน่ะ ไม่ได้มีอุดมการณ์ชัดเจน ผลงานชัดเจน ไม่มีจุดขายชัดเจน มันก็พอ ๆ กัน พอพรรคการเมืองมันพอ ๆ กันเนี่ย ชาวบ้านก็เลือกบุคคล แต่ถ้ามีพรรคการเมืองที่มันหลุดลอยมาชัดเจนเขาก็เลือกพรรค เพราะฉะนั้นจะไปโทษชาวบ้านไม่ได้นะ


สมัยก่อนพรรคการเมืองมันพอ ๆ กัน ก็ไปเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาปูมาปรับปรุงเป็นนโยบายพรรค แล้วพอเข้าไปก็ไม่มีใครทำอะไรที่มันโดดเด่น เมื่อพรรคมันไม่ได้โดดเด่นเขาก็เลือกคน แต่พอมีไทยรักไทยปั๊บ มีความแหวกแนวมา เขาก็เลือกพรรค เพราะฉะนั้นโทษชาวบ้านไม่ได้


กับไทยรักไทยตอนนั้นปี 2542 ตั้งพรรค เป็นสมาชิกปี 2543 คือแบบจะเอาแล้ว จะเอาให้ได้

ตอนนั้นคิดอะไรบ้าง


ก็ชอบนักบริหารแบบทักษิณ ชินวัตร จึงลองดู น่าจะโอเคนะ แล้วพอฟังเขาพูดหลายครั้ง แล้วเขาก็มีความเป็นนักการเมือง เป็นนักประชาธิปไตยอยู่ แล้วพ่อเขาก็เป็นนักการเมืองเก่า เพราะฉะนั้นเราก็อยากได้นักการเมืองแบบนี้คือบริหารเป็นด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าลง ลาออกจากราชการก่อนยุบสภาด้วย


มีคนทัดทานไหมว่าอย่าลาออกเลย


ก็มี ญาติ พี่น้อง พ่อ แม่ เพราะเขาก็เชื่อว่ามันเป็นไปไม่ได้ แล้วก็คิดว่าพื้นฐานทางสังคมทางครอบครัวแบบนี้เนี่ยเราไม่ได้แข็งแรงพอ เราก็เป็นครูเป็นข้าราชการตัวเล็ก ๆ ภรรยาก็เหมือนกันเป็นครูไม่ได้มีอะไร อย่าไปเล่นเลยการเมือง


ตอนนั้นก่อนปี 2543 เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยถือว่าอยู่ได้สบายไหม


มันก็ประมาณสักสองหมื่นห้าประมาณนั้น ก็ไม่เยอะนะแต่ว่ามันมีอนาคตอยู่ถ้าอยู่ในมหาวิทยาลัย แล้วถ้าคนที่คิดแบบพอเพียงหรือคิดแบบชีวิตแบบเรียบง่ายก็ถือว่าโอเค แต่ว่าเราไม่ใช่ แล้วเราคิดมานานแล้วจังหวะนี้เราต้องออก แต่ว่ามันโลดโผนมากเพราะเป็นชาวบ้านคนอื่นเขาไม่กล้าเสี่ยงให้มาทางการเมืองหรอก ได้เป็นข้าราชการถือว่าวิเศษแล้ว เพราะฉะนั้นญาติพี่น้องก็ทัดทาน


อาจมีวันหนึ่งอยู่ ๆ นิสิต มมส. ก็พบว่า อาจารย์สุทิน ทิ้งงานครู ไปเฉย ๆ


ทิ้งไปเฉย ๆ เพราะชาวบ้านเรียกร้องแล้วด้วยตอนนั้น ยังคิดว่าถ้าอยู่ก็เป็นอธิการบดีได้

คือพอเราจัดรายการวิทยุเรื่อย ๆ พรีเซนต์ตัวเองไปชุมชนไปในนามนักวิชาการเรื่อย ๆ ชาวบ้านเขาเอ๊ะ ก็เริ่มคิดแล้ว ทำไมไม่เอาคนอย่างนี้เป็นผู้แทน


แล้วเราก็เริ่มทดสอบ เริ่มเสนอตัวแบบไม่ตรงแต่อ้อม เขาก็เริ่มเรียกร้องแล้ว อยากได้เป็นผู้แทนจัง ไม่อยากสมัครผู้แทนเหรออาจารย์ อย่างนี้คือการทำการเมืองที่เราคิดว่าเป็นวิธีการทำงานที่ดีที่สุด ถึงบอกรุ่นหลัง ๆ อย่าไปคิดว่าชิงสุกก่อนห่าม หรือไปเสนอตัวในขณะที่ชาวบ้านเขายังไม่เห็นคาแรคเตอร์เรา


เราต้องเสนอก่อนแบบแยบยลจนชาวบ้านเขาเรียกร้องเอง ซึ่งตอนนั้นเราก็ประเมินแล้วว่าชาวบ้านเขาต้องการเรา


เลือกตั้งใหญ่ 2544 ตอนนั้นได้เป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับเท่าไหร่ การเป็นสส.แบ่งเขต กับ บัญชีรายชื่อต่างกันไหม


ได้อันดับ 47 ก็ถือว่าตอนนั้นก็ต้นอยู่ ก็ได้เป็น สส. แต่ว่าเราไม่ชอบหรอก รู้สึกปาร์ตี้ลิสต์มันคล้ายว่าไม่ได้เป็นผู้แทนโดยตรง มันโดยอ้อม มันไม่ภูมิใจ มันต้องได้รับคะแนนเลือกโดยตรงจากชาวบ้าน แล้วก็มันจะได้พัฒนาพื้นที่ได้งบประมาณก็จับลงได้ แต่กับวันนั้นก็เอาเถอะเป็นปาร์ตี้ลิสต์ก็เป็น ก็ได้เป็น 2 ครั้ง


วันแรกที่ไทยรักไทยชนะเลือกตั้งแบบ เขาเรียกว่าอะไร แบบถล่มทลายจากพรรคเดิม ตอนนั้นคิดยังไง


ก็ดีใจ แต่กับครอบครัว เขาก็ดีใจด้วยในแง่ที่ว่า ตอนแรกที่ลงปาร์ตี้ลิสต์เพราะว่าดีแล้วเราไม่มีเงิน ไม่มีเงินไปแจก ญาติก็เลยบอกเออเอาก็ดีแล้ว ถ้าไปลงเขตก็ไม่รู้จะเอาเงินมาจากไหน


เป็น สส. ครั้งแรกรุ่นเดียวกับ สส.ชลน่าน


รุ่นเดียวกัน เขาเรียกรุ่นนกแล ทีนี้จากนั้นนายกฯ ทักษิณใช้วิธีรณรงค์สัมมนาหาสมาชิกพรรค ลุงก็เป็นนักพูด เป็นวิทยากรหลักของพรรคเดินสายสัมมนาไปทุกเขต ไปภาคเหนือด้วย ไปพะเยานี่คนอีสานอยู่ที่ไหนไปหมด พะเยา เชียงรายนี่ไปเลย นักการเมืองแถบนั้น วิสุทธิ์ ไชยอรุณ, อรุณี ชำนาญยา, ลัดดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ นี่ จองคิว


เพราะเขาดูว่าลุงสื่อสารการเมืองดี มีทักษะในการพูดดี ทักษิณชอบนะ ตั้งเป็นรองโฆษกพรรคเลย หลัง ๆ มาถึงได้มีอดิศร มีจาตุรนต์ ฉายแสงมา พวกมาทีหลัง เพราะฉะนั้นลุงซัดตั้งแต่คนแรก รุ่นบุกเบิก เผยแพร่แนวคิดของไทยรักไทย


พอเลือกตั้งครั้งที่ 3 ปี 2550 นี่ เป็นพรรคพลังประชาชนแล้ว


ไทยรักไทย ชนะ 2 ครั้งแรกจนถึงปี 2549 พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจ พอยึดอำนาจก็ยุบไทยรักไทย เราก็มาตั้งพลังประชาชน ลุงก็มาเป็นกรรมาการบริหารพลังประชาชน ก่อนจะโดนยุบพรรคจากคดีสมัคร สุนทรเวช


ถูกตัดสิทธิ 5 ปีเลยทีนี้ เพราะว่าเป็นกรรมการบริหาร แล้วก็มาเป็นเสื้อแดง ร่วมตั้งเสื้อแดงลุยเลย ก็มีการเลือกตั้งอีกทีปี 2554 ตอนยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ ไม่ได้ลงนะเพราะยังถูกตัดสิทธิ์ กลับมาลงเลือกตั้งอีกสมัยนึงปี 2557 ที่ กกต.ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ พอโมฆะปุ๊บประยุทธ์ก็ยึดอำนาจต่อ ประยุทธ์ก็มาแถมให้อีกเกือบ 6 ปี รวมแล้วเว้นวรรคอยู่ 11 ปี


ตอนที่ไม่ได้เป็น สส. ลุงไปทำอะไร


หนึ่งก็เคลื่อนไหวเสื้อแดง ทำการเมืองภาคประชาชน ส่วนในพื้นที่ก็ทำมาหากิน รู้สึกว่าตอนนั้น แฟนก็ลาออกจากครูไปเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ลงสมัครผู้แทน ก็ทำการเมืองเต็มที่ แล้วก็ทำธุรกิจบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ไป เพราะฉะนั้นหลัก ๆ ก็ยังทำการเมืองภาคประชาชนอยู่ ยังชีพได้ก็เพราะภรรยาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ก็มีเงินดงเงินเดือนอยู่ด้วย ก็ไปอย่างเงี้ย ไม่ได้ไปทำอะไรมากมาย แล้วก็มาคิดทำตรงนี้ขึ้นมา ทำวิทยาลัยขึ้นมา


คิดมานานหรือยังกับการเปิดวิทยาลัย


เราคิดว่าถ้าถึงจุดหนึ่งอยากจะทำการศึกษาที่เป็นโมเดลของเรา แต่ว่าก็ไม่มีทุนน่ะ พอถึงจุดหนึ่งก็เลยทำตรงนี้แหละ แต่ลุงเป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย ไม่มีค่าใช้จ่ายในชีวิตมากก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นทำการเมืองก็ไม่ได้ใช้เงิน ทำการศึกษาก็ไม่ได้ใช้เงิน เลยอยู่ได้


ถึงวันหนึ่ง ผ่านตัวเลือกมากมาย ทำไมคนเขตเชียงยืน กันทรวิชัย ต้องเลือก ‘สุทิน คลังแสง’


เพราะว่า หนึ่ง เขาอยากได้นักการเมืองที่มีความรู้ เราก็แสดงให้เขาเห็นว่าเราเป็นคนมีความรู้ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอง เขาก็อยากได้นักการเมืองที่มีความกันเอง มีความรู้แล้วนี่ต้องไม่ไปอยู่บนฟ้านะ หัวถึงฟ้าแต่ขาต้องถึงดิน เขายังติดนิสัยแบบว่าคนอย่าง อัมพล จันทร์เจริญนี่ เป็นคนที่ติดดินแล้วชาวบ้านคบง่ายมาก

แต่ว่าสุทินนี่อาจจะใช่เลย คือติดดินเข้าง่าย แล้วก็มีความรู้ แล้วที่สำคัญเป็นคนที่พูดนำเสนอได้


เทคนิคการหาเสียงของสุทินคืออะไร


ชูนโยบายพรรค เอาประเด็นสังคมมาพูด Issue วันนี้คืออะไร บ้านเมืองวันนี้มันอะไร มันเจออะไรทำยังไง แล้วนโยบายพรรคตอบโจทย์ยังไง แล้วตัวเราจะผลักดันนโยบายพรรคได้ไง


อยากให้เล่าถึง ตอนเลือกตั้ง 62 วันที่เพื่อไทยไม่มี สส.ปาร์ตี้ลิสต์ จนได้มาเป็นประธานวิปฝ่ายค้าน


ผลเลือกตั้งเสร็จก็บอก ก็บอกพรรคว่าผมคงต้องทำงานหนักในสภา จะวางผมยังไงให้ใช้ศักยภาพให้เต็มที่ก็บอกเลย คือผมพร้อมน่ะ ถ้าสถานภาพไม่ให้มันก็ทำงานได้ยาก ไม่รู้พรรคคุยกันยังไง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ก็มาบอกให้ลุงเป็นประธานวิป


ทุกครั้งที่ขึ้นภิปรายนึกถึงอะไร คือแบบมันมีหลายคนที่เขา อันนี้อาจจะฝากคำถาม เขาชอบดูลุงปราศรัยอ่ะ คือตอนนั้นคิดว่ากำลังจะทำให้คนที่เลือกมาได้เห็นสิ่งที่ลุงทำอะไร


หนึ่ง เราคิดอยู่สองหลัก ประชาธิปไตยต้องยืนหลักประชาธิปไตยไว้ สอง ต้องเอาปัญหาชาวบ้านไปสะท้อน อธิบายโดยหลักวิชาการ เอาวิชาการมาอธิบายปัญหาชาวบ้านแล้วให้คนเข้าใจง่าย แล้วต้องไม่ได้พูดแบบเก่าคือใช้อารมณ์ ใช้โวหารอย่างเดียว แต่ต้องเอาหลักวิชาการมาอธิบายปัญหาชาวบ้านให้ได้ ให้ทุกคนฟังได้ นี่คือหลักคิด


ผลลัพธ์ออกมาอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็เคยยกให้เป็นหนึ่งในผู้น่าติดตาม


ก็รู้สึกภูมิใจ ภูมิใจว่าปิยบุตรเขาอาจดู เราคิดว่าคนชอบเรามี แต่ว่าชอบแล้วอธิบายว่าชอบยังไง อธิบายยาก รู้แต่ว่าชอบ ปิยบุตรนี่อธิบายถูก หนึ่ง ทักษะการนำเสนอโดยไม่มีสคริปต์มันลื่นไหลแล้วคนฟังลื่น อันนั้นเขาอธิบายถูก แต่ที่เขาอธิบายถูกมากอย่างหนึ่งก็คือเชื่อมโยงกับปัญหาชาวบ้านซึ่งเขาไม่มีไง ซึ่งนักการเมืองหลายคนยึดโยงมาไม่ได้หรือยึดโยงได้แต่อธิบายไม่ถูก เอาปัญหาชาวบ้านมาอธิบายให้คนอีกระดับหนึ่งได้รู้ ยาก เพราะฉะนั้นปิยบุตรเขาก็อธิบายถูก


ย้อนไปถึงตอนเป็นครูที่ขอนแก่น วันนั้นคิดยังไง จู่ ๆ เดินไปหา สส.แคล้ว


ก็ไปฝากตัวเขา คุณลุงแคล้ว ผมเป็นครูอยู่ที่นั่นที่นี่ ผมชอบคุณลุง ผมขอมาคุยมาศึกษา ขอติดตามดูนะ แกก็ไม่ได้สนใจมากหรอก ไอ้หนูเป็นครูดีแล้ว เป็นนักการเมืองลำบาก ครับ! ผมก็ยังไม่อยากสมัครหรอกครับ ผมแค่มาเรียนรู้ด้วย


พอไป ๆ มา ๆ อยากจะลงก็บอกลุงแคล้ว ผมอยากลงสมัคร สส. “โอ้ไอ้หนูเอ๊ยมัน แนะนำยังไงวะ จะลงไหนอ่ะขอนแก่นหรอ” ไม่ครับผมจะลงบ้านผมสารคาม เป็นครูอยู่ขอนแก่น ก็ผมจะไปลงบ้านผมครับ อ่ะๆ ให้กำลังใจก็ทำไป ลุงทำไม่มีเงินก็ไม่มีอ่ะ สงสัยอะไรก็ถามหา ก็ลงปฏิบัติการจริง ๆ


สุทินเป็นครู อดิศร เป็นนักกฎหมาย เป็นแบบของนักการเมืองอีสานยุคนั้นเลยไหม


ความเป็นทนายความ ชาวบ้านชอบอยู่แล้วนะ คนบ้านเราอ่ะ ชอบความเป็นทนายความกับครู แต่ครูจะต้องฉายความเป็นนักสู้ ถ้าครูอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ทนายความได้เปรียบเรื่องรู้เห็นการเมืองสังคม


นักการเมืองต้องเป็นนักพูด ร้องเพลงได้


ต้องเป็นคนพูด เป็นนักร้องได้ยิ่งดี ที่สำคัญ Social skill ผูกมิตร ตั้งหัวคะแนน ครองใจคน เข้าหาคน สร้างความประทับใจ อันนี้คือ Skill ของนักการเมือง ซึ่งตอนนั้นคิดว่าที่มีโอกาสได้เป็นเพราะเราชอบการเมือง


ทำยังไงถึงจะได้คะแนนนี่มึนตึ๊บ แต่พอไปกับอดิศรปั๊บได้ทักษะการพูดคุย พอไปกับลุงแคล้วปั๊บได้อุดมการณ์ ได้หลักคิด ได้ความมั่นใจ แล้วสำคัญตอนเรียนปริญญาโท เรียนไทยศึกษา อีสานศึกษา มีประโยชน์มากคือมันก็รู้ความเป็นอีสาน รู้วัฒนธรรม เพราะฉะนั้นการบุกโดยวัฒนธรรมนำการเมืองเนี่ยเป็นอาวุธหลัก มันเลยผนวกเข้ากันได้ทั้งวัฒนธรรมแบบ Thai studies บวกอุดมการณ์แบบแคล้วบวก Skill ของอดิศร เนี่ยเลยเป็นตัวเราแล้วมั่นใจว่าจะได้


ถ้ามองไปข้างหน้าอีกนิดหนึ่ง จะวางมือเมื่อไหร่ เคยคิดถึงบ้างไหม


คิดอยู่เหมือนกันแต่ตราบใดที่ประชาชนยอมรับอยู่ก็คิดว่าอยากจะทำไป แต่ว่าไม่ฝืนนะ ถ้าประชาชนไม่ยอมรับจะไปฝืนด้วยวิธีอื่นอย่าไปทำ แต่ว่าถ้าประชาชนยังยอมรับเราคิดว่าถ้าเราเลิกมันเสียโอกาสชาวบ้าน เขายอมรับอยู่เราก็ทำให้เต็มที่


โดยส่วนตัวค่อนข้างยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคเพื่อไทย


ก็ยึดมั่นแต่ว่าก็ต้องปรับวิธีบริหารจัดการอีกสำหรับเพื่อไทย ต้องปรับวิธีการนำเสนอให้มันทันยุคขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง นโยบายก็ต้องอัปเดตให้มันทันต่อสถานการณ์ แต่ที่ดีก็คือจิตวิญญาณของเพื่อไทยยังดี จิตวิญญาณที่หลัก ๆ หนึ่ง ยึดประชาชนคนชั้นล่าง สอง ยึดหลักประชาธิปไตย สาม ยึดหลักความเป็นนักบริหารด้วย สามอย่างนี่ยังไปได้แต่รายละเอียดค่อยว่ากัน


ชีวิตส่วนใหญ่น่าจะอยู่กรุงเทพ แสดงว่าพอกลับมาเชียงยืน ก็มีคนมารอพบเยอะเหมือน


หนึ่ง เขามา สอง เราไป อย่างวันนี้ก็ไปงานศพ แล้วก็เข้าไปในเมือง ก็ไปคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการแล้วก็กลับมา อย่างส่วนใหญ่ก็ชาวบ้าน เพราะฉะนั้นเราก็ใช้เวลาเสาร์เอาทิตย์กับชาวบ้านเต็มที่ แต่เดี๋ยวนี้มันไปหาชาวบ้านง่ายกว่าเมื่อก่อนเยอะ สื่อสารทางโซเชี่ยลไม่จำเป็นต้องไปตะลอน ๆ เหมือนยุคเก่าเขามีอะไรเขาก็ไลน์มา เราไปทำบุญ เราโอนเงินเข้าไปยังได้เลย


เมื่อก่อนไปงานบุญติดกันนี่เยอะไหม


หลักสิบ ถ้าเป็นช่วงบุญกฐินนี่ โอ้โห ช่วงงานเทศกาลนี่หลักสิบ แต่เดี๋ยวนี้อันไหนไปไม่ได้ เราก็ฝากทำบุญไป แต่งานศพนี่มันต้องไปเอง ลุงไม่ว่าง ให้ภรรยาให้ป้าไป ให้ลูกชายไป หรือให้หลานไปแบบนั้น


วันว่าง ๆ ของลุงก็คือทำรำวง อันนี้มีที่มาที่ไปยังไง


ช่วงถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองไงลืมบอก ที่ถามว่าทำอะไรบ้าง ขึ้นเวทีเสื้อแดงแล้วก็รำวง พื้นฐานชอบร้องเพลงตอนเป็นเด็กนี่ขี่หลังควายแล้วก็ร้องเพลง ทีนี้ตอนเป็นเด็กนักศึกษาก็เล่นกีตาร์ร้องเพลง พอมาเป็น สส.ก็ยังร้องคาราโอเกะ พอดีชาวบ้านเขาก็อยากทำรำวงกลุ่มแม่บ้าน พวก อสม. ก็มาให้เป็นสปอนเซอร์ให้ครั้งแรก ขอเสื้อขอชุดขออะไร ก็เลยบอกเอาอย่างนี้สิ อย่าทำแบบสงกรานต์เสร็จก็เลิก ปีใหม่ก็เลิก เอามันเป็นต้นแบบสักวงหนึ่ง จะตั้งวงให้เอาแม่บ้านมาคัดนักร้องมา หานักดนตรีมา


ช่วงนั้นเป็นปี 2552-2553 ก็ตั้งขึ้นมาเป็นกลุ่มสตรีแม่บ้าน นักร้องก็เป็นชาวบ้าน แล้วทีนี้นักดนตรีก็เป็นชาวบ้าน ลุงก็เป็นสปอนเซอร์ เอาให้มันเป็นต้นแบบเพราะดูแล้วมันดี มันตอบโจทย์ชาวบ้านได้เยอะ พอสนับสนุนไปสนับสนุนมา ปรากฏว่า นักร้องเพลงเก่าเป็นเราเลยนี่ ปรากฏว่าชาวบ้านเรียกร้องเลยทีนี้ต้องเป็นสุทิน มาจ้างกันเยอะ ก็ไปทั่วอีสาน แต่หลัก ๆ จะเป็นขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ภาคกลางยังเคยไปเลย แถวปทุมธานี


คนฟังรู้ไหมว่านักร้องวงนี้เป็นอดีต สส.


ส่วนหนึ่งจุดขายก็คือนักร้องเป็นสุทิน คลังแสง นี่แหละ ก็รับงานแบบเยอะเลยนะ ตอนนั้นอยู่ได้โดยไปปราศรัยเสื้อแดงบ้าง ร้องเพลงบ้าง รำวงบ้าง แล้วเราก็ไม่ได้ใช้ตังค์เยอะมันก็เป็นรายได้ส่วนหนึ่ง ก็อยู่ได้ รำวงก็ดังแล้ว ดังอะไรรู้ไหม เราก็ได้หาเสียงไปด้วยกับชาวบ้าน พื้นที่ก็จ้างเยอะ พอสงกรานต์ ปีใหม่ นี่วันหนึ่งสองรอบ กลางวันกลางคืน ยาวพรึ่บ


พอยุคหลัง พอมาตั้งวิทยาลัย หางเครื่องแม่บ้านก็โละ เขาแก่แล้ว ก็เอาเด็กนักศึกษา ก็ยิ่งทะลุเลยทีนี้ เขาชอบเด็กนักศึกษา นักดนตรีก็เป็นนักศึกษา หางเครื่อง-นางรำก็นักศึกษา มีนักร้องเพลงเก่าคือเราคนเดียว นอกนั้นเพลงวัยรุ่นก็มี ตั้งวงมาชาวบ้านมีเงินมีทองใช้ด้วย แล้วเด็กนักศึกษาก็ได้มีรายได้พิเศษ


ศิลปินในเงาเสียงของสุทิน


จริง ๆ ร้องได้ทุกสไตล์ตอนเป็นเด็กร้องเพื่อชีวิต ตอนเป็นวัยรุ่นก็ร้องสตริง หลัง ๆ มาก็ร้องลูกทุ่ง พรศักดิ์ ส่องแสง, ไมค์ ภิรมย์พร ลูกทุ่งก็ได้ทุกคน แต่แนวเสียง เงาเสียงเราไปแนวพรศักดิ์ แนวไมค์


โดยปกติสุทิน คลังแสง อ่านอะไร


ชอบอ่านของอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร กับ คริส เบรกเกอร์ เช่น เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย แล้วก็ชอบอ่านแนวของพวก NGO ที่เขาออกไปพัฒนาหมู่บ้าน หมายเหตุโพนม่วงคือนักวิจัยที่เขาลงไปหมู่บ้านแล้วก็ศึกษาทุกมิติของหมู่บ้านเลย แล้วเอาฟีลตรงนั้นมา Reference ได้ทั้งอีสาน อ่านแล้วโชะ!


จากไทยรักไทย ที่ชูแนวทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย ตอนที่อนาคตใหม่(ก้าวไกล) เข้ามาลุงรู้สึกยังไง


เขาก็โอเค แนวทางของเขาน่าสนับสนุน แต่บางอย่างความเป็นเด็กทางการเมืองของเขาก็ยังสู้ไม่เป็น ต้องเรียนรู้การสู้ คือโดยหัวจิตหัวใจนี่ถูกต้องแล้ว ต้องยอมรับเราต้องการคนมีหัวใจอย่างนี้แล้วมีความคิดอย่างนี้


แต่กลยุทธ์ในการสู้นี่เขาต้องปรับ ไม่ใช่ว่าอยู่ไม่เป็นนะ เขาชอบพูด ลุงบอกว่าสู้ไม่เป็น เขาอาจจะมองว่าเราสู้เป็น แต่ว่าปัจจุบันของเขาวันนี้ คือประวัติศาสตร์ของเรา(เพื่อไทย) เราโดนยุบมากี่พรรค ตัดสิทธิมาไม่รู้กี่คน เขาเดินตามเราเป๊ะ เราก็บอกเขาไม่ค่อยได้หรอกก็ให้เขาเรียนรู้เอง ใช่ไหม


เช่น ถ้ามีไฟ เราอาจค่อย ๆ ดับด้วยวิธีอื่น อย่าเพิ่งไปใช้มือดับไฟ แต่อย่าห้าม ถ้าห้ามแล้วเขาจะด่าเรา แต่ปล่อยให้จับ จับแล้วเขาจะรู้ วันหลังเขาไม่จับ อนาคตใหม่ก้าวไกลนี่เขายังอยากจับไฟอยู่ก็ให้เขาจับแล้วเขาจะรู้ว่าเขาต้องปรับวิธีใหม่ เป้าหมายเดียวกันแต่ยุทธวิธีนี่เขาคิดว่าไม่เหมือนกับเรา เขาต้องเรียนรู้ ซึ่งหลายอย่างเขาก็เริ่มประวัติศาสตร์มาแล้ว โดนยุบเร็วกว่าเราด้วย ก็โดนตัดสิทธิใช่ไหม ของเราโดนมาสองพรรค ตัวเก่ง ๆ ถูกตัดสิทธิเยอะ แต่พวกเขาก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ คิดว่านะ


คิดว่าเขาจะต้องดี แต่ว่าเป้าหมายหรือวิธีคิดของเขาเนี่ย เราคิดว่าเขาคิดไม่ผิดรอก แต่วิธีการเดินเขาอาจจะยังไม่ใช่ ประเทศไทยไม่น่าเชื่อว่า พ.ศ.นี้มันจะแย่กว่าอีก 30 ปีที่แล้วใช่ไหมล่ะ เราคิดว่ามันจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ พ.ศ.นี้แย่กว่า 30 ปีที่แล้ว ดูอีกแล้วจะเจออะไรที่มันแย่กว่า 50 ปี คณะราษฎร์จะ 90 ปีแล้วนี่ ตอนนี้มันจะแย่กว่าคณะราษฎร์


ทุกวันนี้ผู้แทนราษฎร ในความหมายของสุทินเป็นยังไง


ลืมพูด ไอดอลอีกคนหนึ่งคือ อุทัย พิมพ์ใจชน คนอาจจะมองว่าแกพื้น ๆ แต่ว่าไปฟังจริง ๆ แล้วมีอะไรที่ลึกกว่าคนคิดไม่ถึง “ผู้แทนราษฎรคือเงาสะท้อนของประชาชนแกว่า ถ้าประชาชนเป็นนักเลงผู้แทนมันก็เป็นนักเลง ต้องเอานักเลงไปเป็นผู้แทน”


เพราะฉะนั้นถ้าชาวบ้านเป็นนักเลงแล้วเอานักบวชมาเป็นผู้แทนมันไม่ใช่แกว่า เพราะฉะนั้นผู้แทนในสภามันต้องสะท้อนคนไทยทุกรูปแบบ มันจะมีนักเลงบ้าง เจ้าพ่อบ้าง ไม่แปลก คนไทยก็มีเจ้าพ่ออยู่มันต้องมีผู้แทนที่เป็นเจ้าพ่อ ถ้าเป็นชาวนามันก็ต้องมีตัวแทนของชาวนา นักธุรกิจต้องมีผู้แทนของเขา เพราะฉะนั้นผู้แทนราษฎรต้องเป็นเงาสะท้อนของประชาชน อยากรู้ว่าประชาชนเป็นยังไงให้ดูผู้แทน


________________________________________________________________


เรื่อง : The Isaander คุยกับ สุทิน คลังแสง ในเดือนกรกฎาคม 2564

ภาพ : กฤษฎา ผลไชย



#Theisaander #มหาสารคาม #สุทินคลังแสง #มหาวิทยาลัยมหาสารคาม #กระทรวงกลาโหม


85 views0 comments
bottom of page