“ผู้ตายเป็นนักการเมืองคนสำคัญในพรรคฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลในสมัยนั้น ผู้ตายถูกจับกุม ต้องหาว่าเป็นกบฎต่อรัฐบาล แล้วถูกรับตัวจากที่คุมขังพาไปกำจัดเสีย ตามความประสงค์ของผู้เมาอำนาจขณะนั้น และถูกยิงถึงแก่ความตาย ด้วยน้ำมือของเจ้าพนักงานตำรวจที่ควบคุมตัวผู้ตายไป” คำพิพากษาศาลฎีกา พ.ศ. 2504 สิ่งที่ท่านกำลังจะได้อ่าน คือ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับ ส.ส. อีสาน ผู้เห็นต่างจากรัฐบาลเผด็จการ ส.ส. อีสานที่พบจุดจบก่อนเวลาอันเหมาะสม เพียงเพราะ เลือกที่จะยืนอยู่คนละฝั่งกับผู้มีอำนาจ 4 มีนาคม คือ วันครบรอบ 71 ปี ของเหตุการณ์สังหารรัฐมนตรีอีสาน ถ้าหากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนี้ คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันอยู่บ้าง นั่นคงเป็นเพียงแค่ความไม่บังเอิญในสมัยที่ประเทศกำลังถูกปกครองด้วยรัฐบาลหลงอำนาจ ดิ อีสานเด้อ จะค่อยๆเล่าจุดเริ่มต้น และจุดจบ ของเรื่องทั้งหมดให้ท่านได้อ่าน นับแต่มิลลิวินาทีนี้ ส.ส. อีสาน สู่สภาอันทรงเกียรติ
เมื่อคณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ(ประชาธิปไตย) ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 1 พฤศจิกายน 2476 ประเทศไทยจัดการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายอำเภอหนุ่ม ได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี เข้าไปทำหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติ 7 พฤศจิกายน 2480 ประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งเป็นครั้งที่สอง เตียง ศิริขันธ์ ครูและนักเขียนหนุ่ม ได้รับเลือกเป็น ส.ส. สกลนคร, ถวิล อุดล ทนายความหนุ่มได้เป็น ส.ส. ร้อยเอ็ด และจำลอง ดาวเรือง อดีตโชเฟอร์รถสองแถว และนักมวย ได้เป็น ส.ส. มหาสารคาม ขณะที่ ทองอินทร์ ก็ได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกสมัยเช่นกัน ในสมัยนั้น แม้จะยังไม่มีระบบพรรคการเมือง แต่ ส.ส. อีสาน ทั้ง 4 ก็สนิทสนมกันด้วยอุดมการณ์ และได้รวมกลุ่มกันเพื่อเคลื่อนการเมืองไทยโดยกลุ่มดังกล่าวมี ทองอินทร์ ซึ่งอาวุโสที่สุดเป็นหัวหน้า จำลอง เป็นปฏิคม ถวิล เป็นเลขาธิการ และเตียง เป็นเสนาธิการนักวางแผน
ส.ส. เลือกตั้งจากอีสานเป็น ฝ่ายค้าน VS ส.ส. แต่งตั้งจากคณะราษฎรเป็น ฝ่ายรัฐบาล ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 กำหนดให้ ส.ส. ในสภามีสมาชิก 2 ประเภท ประเภทแรกเป็น ส.ส. จากการเลือกตั้ง และประเภทที่สองมาจากการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีคณะราษฎร ซึ่ง ส.ส. ประเภทที่สองนี้จะถูกยกเลิกไปก็ต่อเมื่อ จำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจบการศึกษาขั้นประถมศึกษาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด หรือในระยะเวลา 10 ปี ด้วยเงื่อนไขนี้ ทำให้สมาชิกคณะราษฎรได้เป็น ส.ส. ตลอดหลายปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และสมาชิกคณะราษฎรก็ได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมานำรัฐบาลด้วย ด้วยระบบสภาดังกล่าว ทำให้ ส.ส. จากการเลือกของประชาชนส่วนมากได้เป็นเพียงแค่ฝ่ายค้าน แต่แม้จะเป็นแค่ฝ่ายค้าน 4 ส.ส. อีสานก็มีบทบาทอย่างมากในการคัดค้านนโยบายหลายนโยบายของรัฐบาลคณะราษฎร โดยในสมัยแรก ทองอินทร์ คือ หนึ่งใน ส.ส. ที่คัดค้านนโยบายแบบการทหารนำการเมืองของ จอมพลแปลก(ป.) พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ในสภายุคแรกเริ่มนั้นหาก ส.ส. คนใดจัดจ้านในการอภิปรายมักถูกขนานนามให้เป็น “เสือ” ซึ่ง ส.ส. อีสานทั้งสี่ ก็มีความสามารถในสภาไม่น้อยเช่นกัน พวกเขาทั้งสี่จึงถูกเรียกว่า “4 เสืออีสาน” “การที่รัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีต่อสภานั้น ให้รัฐบาลเสนอรายละเอียดทั้งรายรับรายจ่าย ตามงบประมาณนั้นโดยแจ้งชัด เพื่อให้สมาชิกสภาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติงบประมาณได้ทราบก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติไปตาม ยอดงบประมาณที่รัฐบาลเสนอ" ถวิล คือ ส.ส. ผู้เสนอให้รัฐบาลจำเป็นต้องแจกแจงรายละเอียดของ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งข้อเสนอนี้ทำให้ พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่พอใจมาก แต่สภากลับเห็นชอบข้อเสนอดังกล่าว นำไปสู่การยุบสภาของ พระยาพหลฯ ซึ่งนับเป็นการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ 4 เสืออีสานยังคงได้กลับมาทำหน้าที่ ส.ส. แต่ฝ่ายรัฐบาล อำนาจเปลี่ยนมือไปสู่ จอมพล ป. ซะแล้ว และอดีตสมาชิกคณะราษฎรผู้นี้ยังได้เป็นนายกรัฐมนตรีควบ ตำแหน่ง รมว. กลาโหม เสียด้วย ไทยเข้าสู่สงครามโลก ส.ส. อีสานเข้าร่วมเสรีไทย 7 ธันวาคม 2484 ฝูงบินญี่ปุ่นทิ้งระเบิดใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ที่เพิร์ล ฮาเบอร์ ฮาวาย รุ่งเช้าวันถัดมา เรือรบญี่ปุ่นประชิดชายฝั่งไทย และยกพลขึ้นบกเพื่อผ่านไปโจมตีพม่าซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษ จอมพล ป. ไม่มีทางเลือกจึงลงนามกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นในเวลาถัดมา และในที่สุดได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ถือเป็นการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเข้าพวกกับฝ่ายอักษะ ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ถูกปลดออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งไม่มีอำนาจในคณะรัฐบาล ในอีกทางหนึ่ง ปรีดี ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น และรักษาเอกราชของประเทศไทยอย่างลับๆ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, ควง อภัยวงศ์, ทวี บุณยเกตุ, ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และพลเรือนอีกจำนวนหนึ่งเข้าร่วมขบวนการนี้ ส.ส.อีสาน เช่น ถวิล จำลอง ทองอินทร์ และเตียง ก็กลับไปตั้งเสรีไทยกลุ่มย่อยในจังหวัดบ้านเกิดเช่นกัน “ในเรื่องการจัดตั้งหน่วยกำลังรบภาคอีสานต่อต้านญี่ปุ่นแล้ว ครูเตียงเป็นหัวหน้าใหญ่ ทุกหน่วยที่นักการเมืองเหล่านี้ จัดตั้งขึ้นล้วนแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของคุณครูเตียง ซึ่งจะติดต่อรับทราบนโยบายใหญ่จากท่านปรีดีอีกทีหนึ่ง” วิสุทธ์ บุษยกุล หนึ่งในเสรีไทยเขียนในบันทึก ขณะที่สงครามกำลังดำเนินไป จอมพล ป. ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่สนใจด้านความมั่นคงเหนือสิ่งอื่นใด ได้ผุดแผนย้ายเมืองหลวงไปอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยเหตุผลว่า ระหว่างสงครามโลก กรุงเทพฯ ถูกทิ้งระเบิดหลายครั้ง และตำแหน่งที่ตั้งซึ่งติดทะเลอาจทำให้ถูกโจมตีจากกองทัพเรือศัตรูได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ส.ส. จำนวนไม่น้อยเห็นต่างจาก จอมพล ป. เพราะเชื่อว่า เพชรบูรณ์ในสมัยนั้นยังกันดารเกินกว่าจะเป็นเมืองหลวง
4 เสืออีสานก็เห็นต่างกับ จอมพล ป. เช่นกัน
“คณะ(สี่เสืออีสาน)แสดงตนเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผย” วิสุทธ์ ระบุ
เมื่อ จอมพล ป. เสนอ ร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ เข้าสู่สภาในปี 2487 ส.ส. ส่วนใหญ่จึงลงมติไม่เห็นชอบด้วย นำไปสู่การที่ จอมพล ป. ต้องลาออกจากตำแหน่ง โดย ควง ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน
“ชัยชนะทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของนักการเมืองสี่คนนี้ในรัฐสภา ได้แก่การอภิปรายคัดค้านรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 เกี่ยวกับ...ร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พุทธศักราช 2487” วิสุทธ์ ระบุ
จาก ส.ส. ฝ่ายค้าน สู่รัฐมนตรีอีสาน
เมื่ออำนาจเปลี่ยนมือจากรัฐบาลทหาร สู่รัฐบาลพลเรือนของ ควง ส.ส. เลือกตั้งจึงมีโอกาสได้เป็นรัฐมนตรีบ้าง หลังจากที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านมาตลอดสิบปีแรกของการเปลี่ยนแปลง
ทองอินทร์ พี่ใหญ่ของกลุ่มในฐานะเสรีไทยได้เป็นรัฐมนตรี(ที่ไม่ได้ประจำกระทรวง) ครั้งแรกในปี 2487
กระทั่ง ปี 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ควง และคณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ทวี ได้เป็นนายกรัฐมนตรี 4 ส.ส. อีสานก็ได้เป็นรัฐมนตรีพร้อมหน้า อาจเพราะ เสรีไทยมีส่วนอย่างมากในการทำให้ประเทศไทยไม่อยู่ในสถานะผู้แพ้สงคราม เสรีไทยอีสานจึงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งบริหาร และเมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก ทวี 4 ส.ส. อีสานก็ยังคงได้เป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง และอยู่จนกระทั่งครบวาระของสภา
หลังการเลือกตั้งต้นปี 2489 ควง กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย แต่ไม่นานหลังจากนั้น ทองอินทร์ ในฐานะ ส.ส. อุบลราชธานี ได้เสนอ พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว เพื่อให้มีการติดราคาสินค้าเพราะ นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกจนถึงสงครามยุติ ไทยประสบปัญหาข้าวของแพงบวกกับการที่ พ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควงไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่เมื่อสภาลงมติรับ พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว ควง จึงต้องแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง
ปรีดี คือ ผู้ได้รับการสนับสนุนจากสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ในปีเดียวกัน ทองอินทร์ ถูกแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แน่นอน ส.ส. อีสานกลุ่มนี้มีความใกล้ชิดกับปรีดีมานาน ด้วยเป็นลูกศิษย์ที่ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทั้งยังทำงานร่วมกันตั้งแต่สมัยเป็นฝ่ายค้าน สืบเนื่องถึงการร่วมขบวนการเสรีไทย
ในปี 2489 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้มีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ก่อตั้งพรรคก้าวหน้า ฝ่าย ส.ส. อีสาน ก็ตั้งพรรคสหชีพ ขณะที่ ควง เองก็ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ร่วมก่อตั้งพรรคแนวรัฐธรรมนูญ
เมื่อเกิดเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ปรีดี ถูกโจมตีอย่างหนักจนต้องลาออกจากตำแหน่งนายรัฐมนตรี พล.ร.ต.ถวัลย์ ได้รับความเห็นชอบจากสภาให้ดำรงตำแหน่งแทน ทองอินทร์ จำลอง และเตียง ก็ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง
ระหว่างการดำรงตำแหน่ง นายกฯของ พล.ร.ต.ถวัลย์ มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลจะถูกรัฐประหารเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม พล.ร.ต.ถวัลย์ ยังเชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาลมาก เพราะมี พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในขณะนั้นให้การสนับสนุนอยู่ กระทั่งเคยกล่าวว่า
“นอนรอปฏิวัติมานานแล้ว ไม่เห็นปฏิวัติเสียที”
และแน่นอนว่า ไม่นานเกินนอนรอ 8 พฤศจิกายน 2490 พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำสิ่งที่ พล.ร.ต.ถวัลย์ ไม่เชื่อว่าจะเกิด คือรัฐประหาร ทำให้ ตัวพล.ร.ต.ถวัลย์ เองต้องหนีไปฮ่องกง ขณะที่ปรีดี ต้องลี้ภัยไปสิงคโปร์ ฝ่ายการเมืองปรีดี สิ้นอำนาจ คณะรัฐประหารเลือก ควง ซึ่งทำหน้าที่ ส.ส. ฝ่ายค้านในตอนนั้น มาเป็นนายกรัฐมนตรี
หลังการเลือกตั้งในปี 2491 ควง ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย แต่คณะรัฐประหารที่ยังคงอยู่ในอำนาจแม้มีการเลือกตั้งแล้ว ก็ได้บังคับให้ ควง ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา และเปิดทางให้คนที่คณะรัฐประหารเลือกได้กลับมามีอำนาจ
จอมพล ป. ที่ยุติบทบาททางการเมืองไปพักใหญ่ คือ คนที่คณะรัฐประหารสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจาก ควง ประเทศไทยจึงกลับสู่การบริหารภายใต้กระบอกปืนของทหารอีกครั้ง
4 รัฐมนตรีอีสาน กลายเป็นกบฎ
หลังการรัฐประหาร สี่เสืออีสานซึ่งถูกมองว่าอยู่ฝ่ายปรีดีถูกคุกคามจากรัฐอย่างหนัก ช่วงปี 2490 ทองอินทร์ ถูกจับด้วยข้อหาครอบครองอาวุธ จำลอง ถูกจับข้อหาฆ่าคนตาย ทองอินทร์ ถวิล จำลอง และเตียงถูกจับอีกในข้อหากบฎแบ่งแยกดินแดนมากกว่า 1 ครั้ง อย่างไรก็ตามคนทั้งหมดรอดข้อหาของตำรวจไปได้
ด้านปรีดีที่หลบหนีออกนอกประเทศไปตั้งแต่การรัฐประหาร ได้วางแผนรวบรวมกำลังพลเพื่อกลับมายึดอำนาจคืนจากฝ่าย จอมพล ป. โดยในปี 2492 ปรีดีได้สวมบทพจมาน สว่างวงศ์ ติดหนวดปลอม แอบเข้าประเทศไทยมาได้สำเร็จ
26 กุมภาพันธ์ 2492 ระหว่างการซ้อมรบของกองทัพบกและกองทัพเรือ ฝ่ายของปรีดีได้บุกยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการ และคนของปรีดีได้บุกยึดสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยออกประกาศปลด จอมพล ป. จากทุกตำแหน่ง และให้ดิเรก ชัยนามรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกขบวนการอีกส่วนเข้ายึดพระบรมมหาราชวังและเตรียมการต่อสู้กับกองทัพบก แต่กองทัพเรือที่ถูกวางไว้ให้เป็นกำลังเสริมของปรีดีกลับมาไม่ถึงกรุงเทพฯ เพราะเรือเกยตื้น แผนของปรีดีจึงล่มลง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการนี้หลายคนถูกจับ
ปรีดี เรียกการก่อการครั้งนี้ว่า “ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์” แต่ความพยายามที่ไม่สำเร็จทำให้มันถูกเรียกว่า “กบฎวังหลวง” ปรีดี ต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง และไม่เคยได้กลับมาประเทศไทยอีก
เพราะเห็นต่าง จึงต้องตาย
หลังเหตุการณ์ “กบฎวังหลวง” คนที่รัฐเชื่อว่า สนับสนุนปรีดีถูกจับกุม ถวิล จำลอง และทองอินทร์ ก็ถูกจับด้วย ส่วน เตียง หลบหนีไปได้ ทั้งหมดถูกนำตัวไปคุมขังแยกกัน ถวิล อยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง จำลอง ที่สถานีตำรวจยานนาวา และทองอินทร์ สถานีตำรวจนครบาลสามเสน
วันที่ 3 มีนาคม 2492 มีคำสั่งให้ย้าย ถวิล จำลอง และทองอินทร์ ไปคุมตัวไว้ที่เดียวกันคือ สถานีตำรวจนครบาลบางเขน เพื่อความปลอดภัย ในคืนนั้น ตำรวจจึงได้ใช้รถยนต์ 3 คัน เดินทางไปรับตัว ถวิล จำลอง และทองอินทร์ รวมทั้ง ทองเปลว ชลภูมิ ส.ส. ปราจีนบุรี อดีตรัฐมนตรีในสมัย พล.ร.ต.ถวัลย์ เพื่อมุ่งหน้าไปยัง สน.บางเขนด้วยถนนพหลโยธิน
“ระหว่างกิโลเมตรที่ 14-15 ของถนนพหลโยธิน เวลาประมาณตี 2 ของวันที่ 4 มีนาคม 2492 รถตำรวจที่คนทั้งสี่นั่งถูกยิง ส.ส. ทั้งหมดเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ”
นายตำรวจซึ่งอยู่ในเหตุการณ์อ้างว่า คืนนั้น โจรมลายูได้บุกเข้าชิงตัวคนทั้งสี่ จึงเกิดการต่อสู้ระหว่างโจรกับตำรวจ รถที่คนทั้งสี่นั่งอยู่ภายในถูกกระสุนปืนจากการปะทะ ทำให้พวกเขาทั้งหมดเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม หลักการปะทะ โจรมลายูทั้งหมดกลับหนีไปได้อย่างไม่ทิ้งร่องรอยใดๆ
"การตายของพวกนาย ทำให้เราเศร้าใจและว้าเหว่มาก… ส่วนด้านประชาชนแล้วรู้สึกว่าจะเป็นเรื่องทำลายขวัญกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประชาชนชาวอีสานการตายของพวกนายมิใช่เป็นการหลู่เกียรติกันอย่างเดียว แต่เป็นการท้าทายประชาชนชาวอีสานทั้งมวล” เตียง บันทึกความรู้สึกเมื่อทราบข่าว การสังหาร ส.ส. อีสานที่กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ดี เตียง ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2492 และได้กลับมาเป็น ส.ส. เข้ายังคงทำงานด้วยอุดมการณ์เดียวกับเพื่อนผู้จากไป แต่ปี 2494 พรรคสหชีพ ที่ ถวิล จำลอง ทองอินทร์ และเตียง สังกัด
“ถูกยุบ”
ต่อมา 13 ธันวาคม 2495 เตียง ถูกจับด้วยข้อหาคอมมิวนิสค์ เขาถูกฆ่ารัดคอ และเผาศพทิ้ง ณ ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
ชื่อ “สี่เสืออีสาน” จึงเหลือแต่ตำนาน
พวกเขาตาย เพราะ ผู้เมาอำนาจสั่ง
ในกระบวนการยุติธรรม คดีการสังหารคนทั้งหมดไม่มีความคืบหน้า แม้สังคมจะความคลางแคลงสงสัยมากมายเพียงใด กระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก จอมพล ป. ในปี 2501 และ จอมพล ป. ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ คดีสังหารรัฐมนตรีอีสานจึงถูกรื้อขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ปี 2503 เริ่มมีการพิจารณาในศาลชั้นต้น ต่อด้วยอุทธรณ์
จนวันที่ 29 สิงหาคม 2504 ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยซึ่งเป็น ตำรวจ 5 นาย ที่ปฏิบัติหน้าที่ในคืนวันที่ 3-4 มีนาคม 2492 ในข้อหา
“ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา”
คำพิพากษาระบุว่า ศาลชั้นต้น ตัดสินให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ตำรวจ 3 นาย เนื่องจากเชื่อว่า กระทำความผิดโดยลงมือยิงอดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 คนจริง ขณะที่ตำรวจอีก 2 นายหลักฐานไม่ชัดเจนจึงยกประโยชน์ให้จำเลย หลังจากนั้น จำเลยและโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดีต่อ อย่างไรก็ตามศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยคำบรรยายฟ้องได้ระบุเหตุการณ์ในคืนสังหารดังนี้
“ผู้ตายท้งสี่เคยเป็นเสรีไทยและเป็นนักการเมืองทางฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นนนักการเมืองคนละฝ่ายกับจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และนายพลตำรวจเอกเผ่าศรียานนท์… นายจำลอง นายถวิล นายทองอินทร์ ได้ถูกจับตัวโดยนายพลตำรวจเอกเผ่า ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้สั่งให้ออกหมายจับ”
“ครั้นเวลาประมาณ 2 นาฬิกา(4 มีนาคม 2492)... มีเสียงปืนลั่นขึ้น 3 หรือ 2 นัด รถยนต์คันนั้นก็หยุด… เจ้าหน้าที่ตำรวจลงจากรถทั้งหมด ตำรวจบอกให้ผู้ตายทั้ง 4 ลงจากรถโดยพูดว่า รถคันหน้าถูกยิง แต่ผู้ตายไม่มีใครยอมลง และได้มีคนหนึ่งในพวกผู้ตายได้พูดขอชีวิต”
“จำเลยที่ 1 ได้พูดขึ้นว่า “อ้ายพวกนี้กบฎแบ่งแยกดินแดน เอาไว้ทำไม” จำเลยที่ 2 ก็พูดว่า “อ้ายพวกนี้เป็นกบฎเอาไว้ทำไม”... จำเลยที่ 5 ประทับปืนยิงผู้ตาย 1 ชุด ต่อจากนั้นยังมีการยิงผู้ตายอีก 2-3 ชุด”
“นายร้อยตำรวจ(จำเลย) ได้สั่งให้นายสิบตำรวจ(จำเลย) ลากเอาศพผู้ตายลงจากรถ นายร้อยตำรวจ(จำเลยคนเดิม) ได้เอาปืนพกประจำตัวยิงศพนั้น 2 นัด ยังสั่งให้ใช้ปืนยิงที่ข้างรถคันหน้ากับคนที่ผู้ตายนั่งไปอีก เพื่อให้เห็นว่า ได้ถูกคนร้ายยิงมาจากด้านนอกรถ”
“ตามรูปคดีน่าเชื่อว่า ผู้ตายทั้ง 4 คน ถูกนำตัวไปกำจัดเสีย ตามความประสงค์ของผู้เมาอำนาจขณะนั้น และผู้ตายถูกยิงถึงแก่ความตายด้วยน้ำมือของเจ้าพนักงานตำรวจที่ควบคุมตัวผู้ตายไปนั่นเอง”
แม้ความยุติธรรม จะมาถึงช้า แต่ผู้ตายทั้งหมดก็ได้ความยุติธรรมในที่สุด และแม้จะผ่านเวลามากว่า 70 ปี แต่ดูเหมือนสภาพสังคมการเมืองไทย ยังคงไม่เปลี่ยนไปจากเดิม ผู้มีอำนาจยังคงใช้จ่ายอำนาจอย่างสะดวกมือ ผู้เห็นต่างยังคงถูกโบยตีด้วยเครื่องมือซึ่งซื้อจากเงินภาษีของพวกเขาเอง
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #การเมือง #สี่เสืออีสาน #สี่รัฐมนตรีอีสาน #ถวิล #จำลอง #เตียง #ทองอินทร์ #สังหารสี่รัฐมนตรี #จอมพลป #เผด็จการ #71ปีไม่เปลี่ยน #ประชาธิปไตยยังต้องสู้
— at อนุสาวรีปราบกบฏ.
Comments