top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

แม้ ‘โกลเด้นบอย’ จะได้กลับบ้าน แต่โบราณวัตถุไทยอีกร่วม 100 ชิ้น ยังค้างอยู่ทั่วโลก



การพูดถึงวัตถุโบราณไทยในต่างประเทศกลายเป็นกระแส หลังจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Met) ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อ 15 ธันวาคม 2566 ว่าจะส่งโบราณวัตถุ 2 ชิ้น กลับคืนสู่ประเทศไทยซึ่งเป็นมาตุภูมิ และหนึ่งในนั้น คือโกลเด้นบอย ที่ประเมินว่าหากมีการซื้อขายจะมีราคาสูงถึง 100 ล้านบาท


โบราณวัตถุที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ของไทยร่วมร้อยชิ้นยังคงกระจายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก และไทยยังทวงคืนมาไม่สำเร็จ ทั้งที่ในนั้นมีกว่า 30 ชิ้น ที่รัฐบาลไทยได้รวบรวมหลักฐาน และทำหนังสือขอคืนอย่างเป็นทางการ แต่คำขอร้องกลับถูกเพิกเฉย แม้หลักฐานจะชัดเจนมากว่า โบราณวัตถุเหล่านั้นจะถูกขโมยและนำออกนอกประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย


ดร. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักโบราณคดีผู้มีส่วนสำคัญในการทวงคืน ‘โกลเด้นบอย’ หรือ รูปสำริดพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Met) ในนิวยอร์ก บอกกับเบนาร์นิวส์ว่า นักโบราณคดีกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อให้ไทยได้สมบัติชาติคืน


“ตอนนี้ เราทำเอกสารขอคืนโบราณวัตถุไปยังประเทศต่าง ๆ อย่างเป็นทางการแล้ว 30 กว่ารายการ และมีอีกนับ 10 รายการ ที่ยังไม่ได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ แต่สถานทูตไทยในต่างประเทศกำลังเจรจาเพื่อให้ได้คืน เพราะพิพิธภัณฑ์บางแห่ง ไม่อยากให้เป็นข่าว” ดร. ทนงศักดิ์ กล่าว


ดร. ทนงศักดิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ และเป็นนักวิชาการกลุ่มสำนึก 300 องค์ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการทวงคืนโบราณวัตถุ ระบุว่า ปัจจุบันมีโบราณวัตถุของไทยกระจายอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ และมีหลายชิ้นที่แม้พิสูจน์แล้วว่าเป็นของไทย แต่พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศยังไม่ยอมส่งคืน


ตัวอย่างของโบราณวัตถุที่ไทยพยายามเรียกร้องคืนจาก The Met แต่ยังไม่ได้คืนคือ รูปสำริดพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร จากปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีข้อมูลระบุว่าถูกขายให้กับนักสะสมชาวต่างชาติในปี 2510 และมีการเรียกร้องให้ The Met ส่งคืนตั้งแต่ปี 2559


รูปสำริดพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร, รูปสำริดพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งถูกขุดจากบุรีรัมย์ ไปเก็บไว้พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ซานฟรานซิสโก (Asian Art Musuem of San Francisco) ห้องแสดงงานศิลปะสมาคมเอเชีย (The Asia Society Galleries) ในสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งโบราณวัตถุที่นักโบราณคดีเชื่อว่าถูกขโมยไปจาก อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตันไซมอน (Norton Simon Museum) และมีอีกนับร้อยชิ้นที่นักโบราณคดีไทยพยายามทวงคืน


ดำเนินคดีซื้อขายวัตถุโบราณผิดกฎหมาย


The Met แถลงการณ์ว่า ในปี 2562 อัยการสหรัฐฯ ได้ดำเนินคดีกับ ดักลาส แลตช์ฟอร์ด (Douglas A.J. Latchford) นักค้าโบราณวัตถุชาวอังกฤษ และนักค้าโบราณวัตถุคนอื่น ข้อหาซื้อขายวัตถุโบราณผิดกฎหมาย ซึ่งของผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีจำนวนหนึ่งถูกจัดแสดงที่ The Met และเมื่อ The Met ตรวจสอบข้อมูลกับทางการไทยและกัมพูชา จึงตัดสินใจที่จะส่งคืนโบราณวัตถุ 14 ชิ้นให้กับกัมพูชา และ 2 ชิ้นให้กับไทย


เบนาร์นิวส์ได้สอบถามไปทาง The Met ว่า กระบวนการส่งคืนคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ไม่ได้รับคำตอบกลับมา

“ถ้าถามว่า การส่งคืนมันเกิดขึ้นบ่อยไหม มันเคยเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว คือ การทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ปราสาทกู่สวนแตง บุรีรัมย์ ซึ่งถูกขโมยไปในปี 2507 แล้วได้คืนในปี 2513 ในอดีตการได้โบราณวัตถุคืนมันยากมาก ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของปราสาทพนมรุ้ง ก็ต้องเดินขบวนเรียกร้อง” ดร. ทนงศักดิ์ กล่าว


ดร. ทนงศักดิ์ เปิดเผยว่า กระบวนการทวงคืนโกลเด้นบอย ต้องใช้เวลากว่า 3 ปี ในการพูดคุยกับชาวบ้าน และรวบรวมข้อมูลกระทั่งทำให้ทราบว่า รูปสำริดพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ที่สูง 1.29 เมตร ซึ่งศิลปะเขมรในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ชิ้นนี้ ถูกค้นพบที่บ้านยางโปร่งสะเดา ต.ตาจง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์


“แม้กรมศิลปากรจะถูกตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2467 เพื่อดูแลโบราณสถาน-โบราณวัตถุ แต่ในตอนนั้นก็ยังไม่สามารถดูแลอย่างทั่วถึง ในขณะเดียวกัน นักค้าโบราณวัตถุชาวต่างชาติก็ได้เข้ามาที่ประเทศไทยเพื่อตามหาสมบัติล้ำค่า” ดร. ทนงศักดิ์ ระบุ

ดักลาส แลตช์ฟอร์ด ซึ่งภายหลังได้สัญชาติและชื่อไทย “ภัคพงษ์ เกรียงศักดิ์” เป็นหนึ่งในนักค้าโบราณวัตถุที่มีไทยเป็นจุดหมาย ปี 2518 เขาตั้งสำนักงานในบุรีรัมย์ ห่างจากบ้านยางโปร่งสะเดา 5 กิโลเมตร และเมื่อทราบข่าวการค้นพบโบราณสถานแห่งใหม่จึงเข้าไปจ้างให้ชาวบ้านขุดหาของมีค่าในราคาตารางเมตรละ 100 บาท และเมื่อพบโกลเด้นบอย จึงเสนอซื้อประติมากรรมชิ้นนี้ในราคา 1 ล้านบาท 


จากข้อมูลของ The Met ระบุว่า โกลเด้นบอยถูกนำมาประมูลโดย บริษัท สปิงค์แอนด์ซัน (Spink and Son) ในปี 2531 และวอลเตอร์ อันเนนเบิร์ก (Walter Annenberg) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหราชอาณาจักร เป็นผู้ชนะการประมูล ก่อนที่ในปี 2534 อันเนนเบิร์กจะมอบโกลเด้นบอย ให้กับ The Met พร้อมกับโบราณวัตถุชิ้นอื่นที่เขาสะสมมูลค่าร่วม 1 พันล้านดอลลาร์


“การทวงคืน เริ่มจากในปี 2564 ผมเสนอโบราณวัตถุชิ้นนี้เข้าไปในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ ผมถูกส่งไปที่บ้านยางเพื่อรวบรวมข้อมูล ในการประชุมกับกัมพูชา ฝ่ายกัมพูชาก็อยากได้โบราณวัตถุชิ้นนี้คืนไปยังประเทศเขามากเหมือนกัน เราเลยต้องเอาข้อมูลทั้งคำบอกเล่า รอยชำรุด ข้อความจากหนังสือของแลตช์ฟอร์ด ที่ระบุว่าได้โกลเด้นบอย จากบ้านยางไปยืนยัน จน The Met ส่งตัวแทนเข้ามาเจรจากับไทย และได้คืน” ดร. ทนงศักดิ์ กล่าว


ส่งคืนมาตุภูมิ


นอกจากโกลเด้นบอยแล้ว ประติมากรรมอีกชิ้นที่ The Met ตัดสินใจส่งคืนให้ไทยคือ รูปหล่อสตรีชันเข่าพนมมือ สูง 43 เซนติเมตร ซึ่งเชื่อว่าเป็นศิลปะเขมร ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 สมัยเมืองพระนคร ทำจากโลหะสำริด ประดับเงินและทองคำ ซึ่งเคยอยู่ในความครอบครองของดอริส วีนเนอร์ (Doris Wiener) นักค้าวัตถุโบราณชาวอเมริกัน




“การส่งคืนโบราณวัตถุแก่ไทย หลังตรวจสอบพบว่า มีที่มาจากผู้ครอบครองเดิมที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย เป็นการแสดงถึงจริยธรรมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทัน ที่ให้ความสำคัญกับการครอบครองโบราณวัตถุที่ถูกต้องตามกฎหมาย” เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าว


ทนงศักดิ์ เชื่อว่า เหตุผลที่กัมพูชาสามารถทวงคืนโบราณวัตถุจำนวนมากจากต่างประเทศได้ เพราะรัฐบาลกัมพูชาประกาศว่า กัมพูชาไม่เคยยินยอมให้นำโบราณวัตถุศิลปะเขมรออกนอกประเทศ ดังนั้นโบราณวัตถุศิลปะเขมรที่อยู่ทั่วโลก จึงมีสถานะเป็นของผิดกฎหมาย


“กัมพูชาเขาพูดชัดว่า ไม่เคยอนุญาตให้นำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร ต่างจากของไทยที่มีการอนุญาตมาโดยตลอด โดยให้เป็นดุลยพินิจของอธิบดีกรมศิลปากร การนำคืนโบราณวัตถุของไทยจึงซับซ้อนกว่ากัมพูชา เพราะต้องพิสูจน์ว่าเป็นของที่ถูกขโมยมาจริงหรือไม่” ทนงศักดิ์ กล่าว 


หลังจากทราบข่าวการส่งคืน พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ต้องขอบคุณ The Met ที่ตัดสินใจส่งประติมากรรมคืนมาให้ไทย ซึ่งขั้นตอนต่อไปกระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก จะเป็นผู้ประสานกับ The Met เพื่อรับประติมากรรมกลับประเทศ  


“จะนำส่งคืนในวัน หรือเวลาใดยังไม่มีความชัดเจน แต่คิดว่าไม่นาน เพราะพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิทันเป็นผู้ประสานส่งคืนด้วยตัวเอง สำหรับโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ ยืนยันว่า กรมไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่อาจจะดูเหมือนล่าช้า เพราะโบราณวัตถุแต่ละชิ้นที่จะติดตามทวงคืน ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องว่ามีการนำออกจากประเทศไทยโดยผิดกฎหมายอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมา” พนมบุตร กล่าว


กลุ่มสำนึก 300 องค์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสร้างพิพิธภัณฑ์ในบุรีรัมย์ เพื่อเก็บศิลปะที่เคยสูญหายเอาไว้ใกล้กับแหล่งกำเนิดของโบราณวัตถุเหล่านั้นให้มากที่สุด 


สำหรับกรณีการทวงคืนโบราณวัตถุที่มีชื่อเสียงที่สุดของไทย คือ ปรากฏการณ์เรียกร้องทวงคืน ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งถูกโจรกรรมไปจากของปราสาทเขาพนมรุ้ง ในปี 2504 ก่อนจะพบว่า โบราณวัตถุชิ้นดังกล่าวถูกจัดแสดงอยู่ในสถาบันศิลปะชิคาโก (The Art Institute of Chicago) ในสหรัฐอเมริกา จากเอกสารอ้างอิงกรมศิลปากร คาดว่าปราสาทเขาพนมรุ้ง ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จ.บุรีรัมย์ มีอายุในราวปีพุทธศักราช 1650 


กระแสการเรียกร้องถูกจุดขึ้นในประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2531 หลังจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับพร้อมใจกันตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกในนามประชาชนไทย เรียกร้องให้สหรัฐฯ ส่งคืนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับมาตุภูมิ 


แม้รัฐบาลสหรัฐฯ จะแถลงว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขโมยทับหลังฯ ไปจากไทย แต่ในเดือนพฤษภาคม 2531 มีคนไทยกว่า 500 คน ไปชุมนุมที่หน้าสถาบันศิลปะชิคาโกเพื่อทวงคืนทับหลังฯ และในปีเดียวกัน วงคาราบาว ได้ออกอัลบัม “ทับหลัง” ที่ปกมีภาพเทพีเสรีภาพถือทับหลังฯ อยู่ในมือ และมีเพลงทับหลัง ที่ตอนหนึ่งร้องว่า “เอาไมเคิล แจ็คสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา” รวมอยู่ด้วย


กระแสเรียกร้องที่รุนแรงทำให้ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 ทับหลังฯ ถูกส่งคืนกลับมายังประเทศไทย ด้วยการช่วยเหลือของ อัลลัน เดรบิน (Allan Drebin) แห่งมูลนิธิเอลิซาเบธ ชีนีย์ (Elizabeth F. Cheney Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนด้านวัฒนธรรมในชิคาโก โดยเดรบิน เสนอว่าจะจัดหาโบราณวัตถุมูลค่า 50 ล้านบาท หรือเทียบเท่ากับทับหลังฯ ทดแทนให้กับสถาบันศิลปะชิคาโก เพื่อจบความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 


เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ Benarnews.org




bottom of page