top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

เด็กขายนมเปรี้ยวกลางแยกไฟแดง ความน่าสงสารหรือช่องทางธุรกิจ

Updated: Jun 27, 2022



เรื่องและภาพ โดย Donlawat Sunsuk , Smanachan Buddhajak สำนักข่าว The Isaander

ได้รับการสนับสนุนจาก Thomson Reuters Foundation


อุดรธานี - 8 มกราคม 2565 วันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของทุกปี เป็นวันเด็กประจำปีของประเทศไทยและวันหยุดโรงเรียน ที่สี่แยกไฟแดงเส้นรอบเมือง เด็กนักเรียนในชุดนักเรียน 8-9 คน เดินขายนมเปรี้ยว ระหว่างที่รถต้องหยุดรอสัญญาณไฟจราจร

กล้า (นามสมมุติ) เด็กชายวัย 15 ปี นักเรียนโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งในจังหวัด หิ้วถุงนมใส่มือ 2 ข้าง แล้วก้มหัวลงไหว้หน้ารถระหว่างสัญญาณไฟจราจร พร้อมชูถุงนมเปรี้ยวยี่ห้อบีทาเก้น ที่บรรจุใส่ถุง ราคา 100 บาท เสนอขายให้กับคนในรถพิจารณา ไล่เรียงคันรถไป จนกว่าสัญญาณไฟจราจรสีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเขียวตามเวลากำหนด แล้วรีบกลับขึ้นไปบนเกาะกลางถนนอีกครั้ง


สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด - 19 ทำให้รัฐบาลไทยประกาศล็อคดาวน์เพื่อป้องกันโรคระบาด ทำให้โรงเรียนหยุดการเรียนการสอน เป็นสิ่งกระตุ้นให้เด็ก ออกมาใช้แรงงานเยอะมากขึ้น เนื่องด้วยเหตุผลของเศรษฐกิจครอบครัวและการหารายได้เสริม พร้อมกับการโฆษณาชวนทำงานของบริษัทและความสงสารของผู้บริโภค ทำให้เกิดธุรกิจในลักษณะนี้กระจายทั่วประเทศไทย


กล้า เป็นหนึ่งในนักเรียนหลายร้อยคน ทั่วประเทศไทย ที่ออกมาขายนมเปรี้ยวตามสี่แยกสัญญาณไฟจราจร เพื่อหารายได้เสริม ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายในเรื่องประเด็นการจ้างแรงงานเด็ก แต่ผู้ประกอบการเลี่ยงกฎหมายด้วยการไม่ทำให้เข้าองค์ประกอบกฎหมายแรงงาน และทำให้เด็กไม่ได้รับการคุ้มครอง ด้านนิติกรสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุว่ายังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนในกรณีนี้ แต่มีการพูดคุยของหน่วยงานในจังหวัดที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้


สำนักข่าว TheIsaander ได้ติดต่อไปที่บริษัท บีทาเก้น จำกัด เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหาร เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ทางบริษัทได้ให้ฝ่ายกฎหมายชี้แจงเบื้องต้นว่า “เพราะช่วยเหลือเด็ก” และขอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับเพื่อให้ผู้บริหารชี้แจง แต่ไม่มีการติดต่อกลับมา ผู้สื่อข่าวจึงได้ติดต่อกลับไปยังบริษัท ได้รับแจ้งว่าผู้บริหารไม่สะดวกให้ข้อมูล


โรคระบาดโควิด19- และช่องว่างรายได้ ทำให้เด็กต้องทำงาน

กล้า ให้สัมภาษณ์ว่า เริ่มต้นเข้ามาทำงานขายนมเปรี้ยวนี้จากการชักชวนของเพื่อนที่โรงเรียนที่บอกว่ารายได้ดี โดยทำมาตั้งแต่อายุ 14 ปี จนถึงวันนี้เกือบจะ 2 ปีแล้ว จะมาขายแทบทุกวันตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น 8.00 น. ถึง 18.00 น. ช่วงแพร่ระบาดของโควิด- 19 โรงเรียนของกล้างดการเรียนการสอน และไม่มีการเรียนการสอนออนไลน์ สั่งทำแค่การบ้านและรายงานเท่านั้น ทำให้ใช้เวลาทำงานได้เกือบทุกวัน


ในส่วนของรายได้ กล้าให้ข้อมูลว่า คิดเป็นส่วนแบ่งขายได้ต่อถุง ถุงละ 20 บาท เคยขายได้เยอะที่สุด 66 ถุงในหนึ่งวัน เป็นจำนวนเงิน 1,320 บาท และวันที่ได้น้อยสุด 6 ถุง เป็นจำนวนเงิน 120 บาท


“ที่มาทำงานนี้ เพราะต้องหารายได้เลี้ยงตัวเองและเป็นทุนการศึกษา เพราะถ้าไม่ทำงานก็ไม่มีเงินที่จะเอาไปจ่ายค่าใช้จ่ายเรียน” กล้ากล่าวถึงเรื่องเหตุผลของการมาทำงาน


ลูกข่ายแรงงานจากเด็ก ยุทธศาสตร์การขาย ?


“บริษัทนมเปรี้ยวจะให้คนที่เคยทำงาน ชักชวนเพื่อนหรือคนรู้จักให้เข้ามาขาย ถ้าเราหาได้ 1 คน ทำงานครบ 7 วัน จะได้ค่าชักชวน 200 บาท”

กล้า กล่าวถึงการหาคนเข้ามาทำงานของบริษัทและการหารายได้เพิ่ม


กล้า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี มีเด็กนักเรียนที่ขายนมเปรี้ยวแบบเขาไม่ต่ำกว่า 30-40 คน


การขายนมเปรี้ยวยี่ห้อดังกล่าวตามสี่แยกไฟแดง จะมีถังน้ำแข็งใส่นมเปรี้ยวไว้ในบริเวณใกล้ ๆ เด็กที่ขายต้องใช้ถุงเก็บความเย็น ที่มาจากเงินมัดจำแรกเข้าในราคา 800 บาท เพื่อไปเอานมเปรี้ยวมาไว้ขาย จากการสังเกตพบว่าทุกที่จะมีผู้ใหญ่ ที่เป็นนายหน้านั่งเฝ้าถังเก็บนมอยู่ไม่ห่าง


โดยที่เงินค่ามัดจำ นายหน้าได้บอกว่าจะนำไปซื้อประกันและเป็นค่าประกันสินค้าแรกเข้า


นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้วยังพบว่า มีการรับสมัครในแฟนเพจเฟสบุ๊ก บริษัทดังกล่าวหลายเพจ จะมีโปสเตอร์เด็กใส่ชุดนักเรียนและถือเงินโปรโมทว่ารายได้ดี



( การรับสมัครขายนมเปรี้ยวบีทาเก้น ในแอพพลิเคชั่นเฟสบุ๊ก ที่มา https://facebook.com/บีทาเก้น-ซิ่ง-113237473750623/ สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565)


จากการสืบค้นข้อมูล พบข่าวที่น่าสนใจในสื่อออนไลน์ท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี ในรายงานเรื่อง ‘นร.อุดรชู 2 นิ้วเดินขายนมเปรี้ยวแยกไฟแดง’ ในปี 2563 มีโครงการที่อ้างจากบทสัมภาษณ์ ผู้จัดการเขตอีสานตอนบน บริษัทบีทาเก้น กล่าวถึงโครงการ “บีทาเก้น สานฝัน” ที่จ้างนักเรียนกว่า 30 คน ในการขายนมเปรี้ยวตามแยกสัญญาณไฟจราจร


ข่าวในลักษณะนี้เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเข้ามาสมัครงานมากขึ้น กล้า พูดถึงเรื่องของข่าวเกี่ยวกับการขายนมเปรี้ยวทำให้เพื่อนติดต่อขอเข้ามาขายด้วยเพิ่มมากขึ้น


ธุรกิจที่เล่นกับความสงสารของผู้ซื้อ บนความไม่มั่นคงของผู้ขาย


เมื่อดูข้อมูลจากกรมธุรกิจการค้า บริษัท บีทาเก้น จำกัด มีทุนจดทะเบียน 20,000,000 บาท มีรายได้สุทธิในปี 2564 จำนวน 913,777,671 บาท มีรายได้มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในตลาดนมเปรี้ยว


จากการสัมภาษณ์เด็กขายนมเปรี้ยวจำนวน 5 คน จากจังหวัดอุดรธานี เชียงใหม่ และ สงขลา พบว่า ในการทำงานผู้ว่าจ้างจะให้ผู้ขายใส่ชุดนักเรียนเต็มยศมาขาย เนื่องจากจะทำให้ขายได้ดีกว่าชุดลำลอง


วิว (นามสมมุติ) นักเรียนขายนมเปรี้ยววัย 17 ปี จังหวัดสงขลา กล่าวว่า การใส่ชุดนักเรียนมาขายจะทำให้ได้ยอดขายดีกว่า การใส่ชุดลำลองมาขาย จากที่เคยทดลองใส่ชุดลำลองมาขายได้วันละ 300-4oo บาท แต่ถ้าใส่ชุดนักเรียนมาขายจะได้วันละ 700-800 บาท



อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยจากศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนมองมิติเชิงวัฒนธรรมที่มีการจัดให้แต่งชุดนักเรียนมาทำงาน เป็นการดึงความเป็นเด็กออกมาทำให้เป็นส่วนหนึ่งสินค้าหรือไม่ ในสังคมไทยที่มีความเห็นอกเห็นใจเด็กที่ขยันขันแข็ง ทำงานส่งตัวเองช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้าน เป็นค่านิยมพื้นฐานที่สังคมเชิดชู จึงอาจถูกมองได้ว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เล่นกับความรู้สึกของคนในสังคม หลายคนจึงไม่ได้ซื้อนมเปรี้ยวเพราะอยากจะดื่ม แต่ต้องการเติมเต็มความรู้สึกบางอย่าง เช่น การรู้สึกได้ช่วยเหลือคน



“โอเคมันก็อาจจะมีคนอยากกินนมเปรี้ยวจริง ๆ แต่คิดว่ามีน้อยที่จะซื้อทีละหลายขวดขนาดนั้น มันเหมือนการนำความเห็นอกเห็นใจของคนที่ซื้อของมาเปลี่ยนเป็นรายได้ของทางบริษัท” อรรคณัฐ กล่าว


นอกจากนั้นยังมองว่ารูปแบบการจ้างงานของบริษัท ยังเป็นเหมือนการผลักความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง ทั้งด้านความไม่มั่นคงทางรายได้ ชั่วโมงการทำงานที่ไม่แน่นอนรวมไปถึงสวัสดิการด้านต่าง ๆ


“จะมองว่ามันเป็นการส่งเสริมได้เด็กมีรายได้ก็ได้ แต่ก็สามารถจ้างเป็นรายชั่วโมง กำหนดว่าวันหนึ่งทำได้กี่ชั่วโมงให้เป็นไปตามกฎหมายก็ทำได้ จะได้ไม่ไปสร้างความกดดันต่อเด็ก บริษัทกลับเลือกใช้การจ้างงานอีกแบบหนึ่งที่ทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงน้อยลง”

อรรคณัฐ ยังให้ความเห็นอีกว่า แม้จะมีกฎหมายแรงงานที่บัญญัติถึงการใช้แรงงานเด็กโดยตรง แต่ก็ไม่ได้ถูกปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับรูปแบบการจ้างงานในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเด็กจะถูกเอาเปรียบ


“เด็กน่าเป็นห่วงกว่าผู้ใหญ่ เพราะบางทีเขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาถูกเอาเปรียบอยู่ ถ้าเราเป็นห่วงเด็กมันก็จะมีมาตรการจากรัฐที่มีความชัดเจนกว่านี้ เช่นออกกฎหมายที่ชัดเจนว่าถ้าจ้างแรงงานเด็กต่ำว่าอายุ 18 เราต้องมีสภาพการจ้างแบบไหนได้บ้าง จ่ายค่าจ้างภายใต้เงื่อนไขแบบไหนให้เป็นมาตรฐานที่เป็นธรรม” อรรคณัฐ กล่าว



(ภาพการขายสินค้าบนถนนระหว่างรถติดสัญญาณไฟจราจร แยกคำน้ำแซบ จังหวัดอุบลราชธานี)


ช่องโหว่ของกฎหมายและการคุ้มครองแรงงานเด็กที่ล้าหลัง


ปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า การใช้แรงงานเด็กในประเทศไทย สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และกฎหมายแรงงาน เด็กต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่กระทบต่อพัฒนาการของเด็ก

ในกรณีการขายสินค้าโดยที่ไม่มีการทำสัญญาว่าจ้างแบบถูกกฎหมาย บริษัทใหญ่ก็อาจจะอ้างได้ว่าเป็นเรื่องของการรับช่วงต่อไปขาย แต่ถ้ามีแบรนด์สินค้า สัญลักษณ์ที่ชัดเจน บริษัทต้องมีความรับผิดชอบ


“จะเห็นกรณีใช้แรงงานเด็ก โดยไม่มีการว่าจ้างเป็นสัญญา อาจจะอ้างว่าเด็กสมัครใจมาขาย ทำให้ตรงนี้เป็นช่องโหว่ทางกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถตรวจสอบได้”

ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวต่อว่า กฎหมายแรงงานเด็กไม่ได้ระบุไว้ลงลึกขนาดที่ผู้จ้างงานต้องรับผิดชอบ ซึ่งในความเห็นส่วนตัวก็ต้องพัฒนากฎหมายให้เท่าทันต่อสถานการณ์การใช้แรงงาน


โดยเฉพาะแรงงานเด็ก ในสถิติทุกปีของสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตัวเลขไม่มีขยับขึ้น แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด ที่มีเด็กออกมาใช้แรงงานมากขึ้น ทำให้เห็นได้ว่า แรงงานเด็กตกสำรวจและไม่ได้อยู่ในระบบจำนวนมาก จะมีแค่บริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้น ที่จะมีการจ้างงานเด็กแบบถูกกฎหมายที่สามารถตรวจสอบได้


แต่แรงงานเด็กที่ไม่ได้ทำงานอย่างเป็นทางการ เช่น พวกงานรับมาขายต่อ หรือ ทำชั่วครั้งคราว ลักษณะเช่นนี้ ไม่มีตัวเลขเลยว่ามีเท่าไร ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงมาก ๆ ที่ทำให้มีการละเมิดการใช้แรงงานเด็ก และตัวเลขของการละเมิดแรงงานเด็กในไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ๆ หรือแทบจะไม่มีเลย ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง


ปภพ กล่าวอีกว่า มูลนิธิ เคยเจอหลายเหตุการณ์ ที่มีการการละเมิดแรงงานเด็ก แรงงานเหล่านี้ ไม่ได้รับการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย หรือไม่มีแม้แต่สัญญาจ้าง ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครอง และเรียกร้องสิทธิไม่ได้ ซึ่งจากการทำวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ พบว่าคดีที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กร้ายแรง ยังเป็น 0 อยู่ ถึงแม้กฎหมายจะใช้มาหลายปีแล้ว สาเหตุเพราะว่ากฎหมายของไทยไปไม่ถึง ถ้ายังใช้รูปแบบการตรวจสอบแบบปัจจุบันอยู่


รู้ว่าเสี่ยง แต่ต้องทำเพื่อรายได้


กล้า เล่าถึงเรื่องความปลอดภัยของงาน และเขาเคยถามเรื่องของประกันอุบัติเหตุกับนายหน้า ที่จ่ายค่ามัดจำไปจำนวน 800 บาท และได้คำตอบว่าอยู่ในค่ามัดจำแล้ว ซึ่งก็ไม่มีกรมธรรม์หรืออะไรยืนยันว่ามีอยู่จริง


“สิ่งที่กังวลมากที่สุดในการทำงานขายนมเปรี้ยวกลางสี่แยก คือเรื่องของความปลอดภัย เราต้องระวังให้ดี ๆ ต้องให้รถจอดสนิทก่อนแล้วค่อยลงมาบนถนน ตอนกลางคืนก็ต้องใส่เสื้อสะท้อนแสง”


การขายสินค้าในพื้นที่ท้องถนน ตามแยกสัญญาณไฟจราจร มีความผิดตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เรื่องการห้ามประกอบการค้าบนผิวการจราจร มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง พ.ศ. 2535 ปรับไม่เกิน 2,000 บาท


พ.ต.อ. จามร อันดี ผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรเมืองอุดรธานี กล่าวว่า ในทางหลักการนิติศาสตร์เกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายจราจร และในส่วนของแรงงานที่ต้องดูองค์ประกอบการจ้างแรงงานเด็ก ในจังหวัดอุดรธานี มีการขายสินค้าในพื้นที่กลางแยกไฟแดง เช่น กรณีเด็กขายนมเปรี้ยว แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ประชาชนต้องออกมาทำมาหากิน ต้องแบ่งปันกัน ถ้าเขาไม่ได้ละเมิดกฎหมาย เช่น การไปปิดกั้นถนน หรือขีดขวางการจราจร ก็ถือว่าพึ่งพาซึ่งกันละกัน


“เราเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ในกรณีนี้ เราต้องบังคับกับชาวบ้าน ต้องดูไปเป็นกรณี ถ้าไม่สร้างความเดือดร้อน เราก็ถือว่าพึ่งพาอาศัยกัน ใช้หลักของรัฐศาสตร์การปกครองเข้ามา ภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ถ้าเราไปบังคับใช้กฎหมายกับชาวบ้าน ข้าราชการเองก็จะเป็นศัตรูกับชาวบ้าน” พ.ต.อ.จามร กล่าว


(ภาพการขายนมเปรี้ยวและพวงมาลัยบริเวณแยกไฟแดงจังหวัดอุดรธานี)


หน่วยงานรัฐ ยังไม่พบการร้องเรียน


วิเศษ ทองใบ นิติกรชำนาญการ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ในกรณีการขายนมเปรี้ยวกลางสี่แยกไฟแดง มีการยกขึ้นมาพูดคุยกันในการประชุม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรจังหวัด (กอรมน.) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีความกังวลในเรื่องของการใช้แรงงานเด็ก ความปลอดภัยและภาพลักษณ์ของจังหวัด


จากข้อมูลสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอุดรธานี ในขณะนี้ยังไม่พบเรื่องร้องเรียนจากกรณีดังกล่าวว่าถูกละเมิดเรื่องสิทธิและสวัสดิการแรงงาน ถ้าหากผู้ใช้แรงงานถูกนายจ้างละเมิด สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ


ด้าน ปภพ เสียมหาญ ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า จากข้อมูลเห็นได้ชัดว่าแรงงานในประเทศไทยเป็นแรงงานเด็กที่ไม่อยู่ในระบบ มีแค่บริษัทใหญ่ๆเท่านั้น ที่จ้างงานแบบถูกต้อง ส่วนแรงงานเด็กที่จ้างแบบไม่กึ่งทางการ จ้างงานแบบปากเปล่า ยังอยู่ใต้ดินจำนวนมาก


“ แรงงานเหล่านี้ไม่ได้การคุ้มครองเลย และไม่มีหลักฐานการจ้างงาน ทำให้แรงงานเด็กไม่สามารถจะร้องเรียนได้ สาเหตุเพราะว่ากฎหมายยังไปไม่ถึง ถ้ายังใช้รูปแบบและวิธีการร้องเรียนแบบเดิมในกฎหมายคุ้มครองแรงงานปัจจุบัน ตัวเลขของการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายก็ยังไม่โผล่ขึ้นมา”


เสียงจากแรงงานเด็ก ที่ยังต้องสู้ต่อ


ในวันเด็กและวันหยุดประจำสัปดาห์ กล้า ยังคงขายนมเปรี้ยวกลางสี่แยก เมื่อถูกถามว่าคิดอย่างไรกับวันนี้ที่ต้องมาทำงาน

“ที่บ้านฐานะไม่ค่อยดี ถ้าไม่มาทำงาน ก็คงไม่มีเงินไว้ซื้อของ ไว้เรียนต่อ”


กล้ายังคงจะทำงานนี้ไปอีกสักพัก จนกว่าจะได้งานที่ปลอดภัยและมีรายได้มั่นคงกว่านี้ และคงไม่ทำอาชีพนี้จนถึงขั้นบรรจุเป็นพนักงาน


“ถ้ามีงานที่ปลอดภัยและดีกว่านี้ ก็จะไปทำ แต่ตอนนี้ตรงนี้คือโอกาส ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน” กล้าตอบ


เช่นเดียวกันกับ วิว ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องการขายนมเปรี้ยวว่า รู้ว่ามันอันตรากว่างานอื่นที่ทำ แต่ด้วยสถานะทางการเงินของบ้าน ทำให้ต้องทำงานตรงนี้ต่อไป เพราะรายได้ดี ทำให้มีเงินไปจุนเจือครอบครัว แต่ถ้ามีอาชีพที่เด็กทำงานรายได้ดีและมีความปลอดภัยจะเลิกขายนมเปรี้ยว


“ถ้ามันงานที่ดีปลอดภัยกว่านี้ รายได้เท่านี้ หนูก็คงไปทำ แต่ตอนนี้ยังไม่มีที่ไหนรายได้เท่านี้เลย” วิวกล่าวทิ้งท้าย












bottom of page