top of page
Writer's pictureThe Isaander

จก'ไหปลาร้า' แนมเบิ่งความเปลี่ยนแปลงของ'แม่น้ำโขง'

Updated: Feb 24, 2023

Smanachan Buddhajak เรื่องและภาพ


“ข้าวเต็มนา ปลาเต็มไห” เป็นวลีสุภาษิตที่ใช้กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่

ข้าว-ปลา-เกลือ เป็นองค์ประกอบหลักในการทำปลาร้า วิธีถนอมอาหารที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมของผู้คนในเอเชียอาคเนย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จึงรวมไปถึงผู้คนแถบภาคอีสานของประเทศ ที่เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์เก่าแก่ และมีพื้นที่ปลูกข้าวขนาดใหญ่ เมื่อชาวบ้านหาปลามาได้ หลังจากเอานำไปประกอบอาหารในครัวเรือน ขายหรือแจกจ่าย ปลาที่เหลือจะถูกนำไปหมักด้วยเกลือและข้าว (บางที่ก็ใช้แค่เกลือหมักเท่านั้น)ใส่เอาไว้ในไหทำเป็นปลาร้าเก็บไว้กิน


ไหปลาร้าจึงถูกยกมาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เพราะยิ่งพื้นที่ไหนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาจนกินกันไม่หมด ไหปลาร้าตามบ้านเรือนผู้คนยิ่งจะมีจำนวนมาก แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งพันธุ์ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ จึงมีแหล่งผลิตปลาร้าอยู่มากมายตลอดสองริมฝั่งโขง เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนผู้คนมาอย่างยาวนาน


ปัจจุบันไหปลาที่ว่างเปล่าถูกปล่อยทิ้งร้าง มีให้เห็นอยู่ตามหลายชุมชนริมฝั่งโขง เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำที่แปรปรวนจากการสร้างเขื่อนจำนวนมากในแม่น้ำโขง


เมื่อแม่น้ำไม่มีปลา ไหปลาร้าก็ตกงาน


ก้านก่อง จันลอง ชี้ให้เราดูโอ่งน้ำหน้าบ้าน ที่ครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่เป็นไหปลาร้า แล้วพาเดินสำรวจรอบๆ บ้านของเธอ ตามดูบรรดาอดีตไหปลาร้าที่ถูกวางทิ้งไว้เฉยๆ ตั้งไว้เป็นเครื่องประดับประจำบ้าน ไปจนถึงใช้บรรจุสิ่งสัพเพเหระ


ก้านก่องเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า สมัยก่อนบ้านของเธอมีไหปลาร้าที่ตกทอดมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่กว่าสิบใบ มาถึงปัจจุบันบ้านของเธอเป็นเช่นเดียวกันครัวเรือนอื่นๆ ในตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ชุมชนริมฝั่งโขง ที่ไหปลาร้าถูกทิ้งร้างหรือแปรสภาพไปเช่นนี้

“ตอนนี้กว่าจะหาปลาได้แต่ละตัว หาได้ก็ไม่กล้ากิน ต้องเอาไปขายเพราะราคาแพง อย่าว่าแต่เอาไปทำปลาร้าเลย” ก้านก่องอธิบายให้ฟังถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเลิกทำปลาร้า เนื่องด้วยปลาในแม่น้ำโขงที่ลดจำนวนลงอย่างมาก หลังจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนและลาว


ปัจจุบันมีเขื่อนในแม่น้ำโขงมากถึง 11 แห่ง โดย 9 แห่งอยู่จีนและอีก 2 แห่งอยู่ในลาว โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว ที่ห่างจากอำเภอสังคมเพียงไม่ถึง 100 กิโลเมตร ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงผันผวนขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำ มีงานศึกษามากมายที่พบว่าหลังการสร้างเขื่อน ความหลากหลายของสายพันธุ์และจำนวนของปลาในแม่น้ำโขงลดลงอย่างมากสะท้อนให้เห็นจากจำนวนคนในชุมชนบ้านม่วง หมู่ 2 ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม ที่ยึดการหาปลาเป็นอาชีพหลัก เคยมีมากกว่าราว 20 คน แต่ปัจจุบันมีเหลืออยู่ไม่ถึง 5 คน สวนทางกับราคาปลาแม่น้ำโขงที่สูงขึ้นตามกลไกตลาด เมื่อมีใครจับปลาได้ก็มักนำไปขายในราคาที่สูง ไม่ได้เก็บไว้บริโภคเองจนเหลือไว้ทำปลาร้าเหมือนดังเก่า นอกจากนั้นยังสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้จากอุปกรณ์หาปลา อย่าง “ตุ้ม” ทอุปกรณ์หาปลาแบบดั้งเดิมที่ออกแบบเพื่อใช้จับปลาแต่ละชนิดโดยเฉาพะ อย่างตุ้มปลากด ตุ้มปลาตะเพียน ตุ้มปลาขาว ที่เริ่มหายไปหายจากชุมชนเนื่องจากไม่พบปลาเหล่านั้นแล้ว ชาวประมงหันมาใช้ตาข่ายเป็นหลักเพื่อซจับปลาขนาดเล็ก


ในอดีตการหาปลาของชาวมีอยู่ตลอดทั้งปี แต่ด้วยความที่ลักษณะของแม่น้ำโขงในแถบอำเภอสังคม นั้นเต็มไปด้วยเกาะแก่ง โขดหิน ในฤดูน้ำแล้ง ตั้งแต่ธันวาคม มาถึงเมษายน จึงเป็นช่วงที่ชาวบ้านลงไปหาปลาซึ่งอาศัยวางไข่ตามเกาะแก่งเหล่านี้ได้มากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆของปี


“น้ำโขงเป็นเหมือนตลาด เป็นแหล่งอาหารของเรา เป็นบ้านของเรา” ก้านก่องเล่าถึงวิถีดั้งเดิมของพื้นที่นี้ว่า เมื่อถึงช่วงที่ปลาในแม่น้ำชุกชุม ผู้ชายจะวางมือจากงานที่ไร่นา ลงหาปลาในแม่น้ำ ต่อจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่จัดการกับปลาที่ได้มา อย่างการนำไปแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง ขาย หรือใช้ประกอบอาหารในครัวเรือน ส่วนที่เหลือจะนำไปทำเป็นปลาร้าใส่ไหเก็บไว้กินตลอดปีหรือข้ามปี


“เราอยู่กินอาศัยแม่น้ำ เมื่อแม่น้ำเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม วิถีชีวิตอะไรๆ ก็เปลี่ยนไปหมด” ก้านก่องกล่าว


ภาพแทนค่าครองชีพคนริมโขงที่สูงขึ้น


“อะไรพวกนี้ไม่เคยซื้อเราก็ได้ซื้อ แต่ก่อนนี้เขาขายให้แต่คนที่อยู่ไปอยู่เมืองนอกไปอยู่กรุงเทพฯ บ้านเรามีอยู่แล้วเราไม่เคยได้ซื้อหรอก” ก้านก่องกล่าวขณะที่ยกปลาร้าสำเร็จรูปที่บรรจุอยู่ในขวดพลาสติกขึ้นโชว์ แต่เดิมคนในชุมชนไม่เคยได้ซื้อปลาร้าบรรจุขวด ที่ก้านก่องมองว่าเป็นปลาร้าบรรจุขวดแบบนี้ควรจะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนไกลบ้าน ไม่มีเวลาหรือไม่สะดวกที่จะหมักปลาร้าเอง แต่เมื่อการทำปลาร้าลดน้อยลง ชาวบ้านจึงเริ่มซื้อปลาร้าขวดมาใช้ทดแทน


ปลาร้าถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของรายการค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้น จากการที่ชาวบ้านไม่สามารถพึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำโขงได้ดังเดิม ไม่ว่าจะเป็นพืชผักที่เคยหาได้ตามธรรมชาติ หรือการปลูกสวนผักริมฝั่งแม่น้ำ ไปจนถึงปลาและเนื้อสัตว์ที่ทุกวันนี้ต้องซื้อกินเป็นส่วนใหญ่


โครงการวิจัย “ชุมชนบ้านม่วงกับการสร้างแผนเชิงรุกในการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงสู่การเพิ่มขีดความสามารถความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” โดย ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งมีชาวตำบลบ้านม่วงหลายคนรวมถึง ก้านก่องเป็นนักวิจัยชุมชนทำหน้าที่เก็บข้อมูลร่วมด้วย ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้แจกแจงให้เห็นว่า ก่อนปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่สองเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงในประเทศจีน คือ เขื่อนเสี่ยวหวานและเขื่อนนั่วจาตู้ จะสร้างเสร็จ ทำให้แม่น้ำโขงผันผวนอย่างมาก ในช่วงเวลานั้นชาวบ้านพึ่งพาแม่น้ำโขงเป็นแหล่งรายได้และแหล่งอาหารทั้งจากการจับสัตว์น้ำ เก็บผัก ปลูกผักมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 10 ล้านบาทต่อปี หลังปี 2557 แหล่งอาหารจากแม่น้ำโขงลดลง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ไม่แน่นอน และพบว่าชาวตำบลบ้านม่วงมีรายได้น้อยกว่าช่วงก่อนปี 2557


“เราเก็บข้อมูลไปก็นึกเสียดายว่าแต่ก่อนชีวิตเราไม่เป็นแบบนี้ ตอนนี้ต่างคนต่างไป บางคนกรีดยางไม่ก็ไปรับจ้าง ไม่ได้เจอหน้ากัน ก่อนมีเขื่อนเราก็ทำนะรับจ้างหรือปลูกยาง แต่ตอนนั้นมีแม่น้ำให้พึ่งพิง ถ้าไม่มีงานหรือยางราคาตก เราก็หากินกับแม่น้ำได้” การเก็บข้อมูลในฐานะ “นักวิจัยชุมชน” ในครั้งนั้น ทำให้ก้านก่องมีโอกาสได้ทบทวนถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้เห็นรายละเอียดต่างๆของสิ่งที่ชุมชนสูญเสียไป


งานวิจัยชิ้นนี้ยังเผยข้อมูลอีกว่า คนตำบลบ้านม่วงเปลี่ยนมาพึ่งพารายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจ อย่างเช่นยางพารา มากขึ้น และเมื่อแม่น้ำโขงเปลี่ยนไป ชุมชนก็สูญเสียความมั่นคงทางอาหารไปด้วย


“ผลกระทบมันไม่ได้อยู่แค่ในแม่น้ำ มันเห็นอยู่ในชีวิตพวกเราอย่างชัดเจน เป็นสิ่งที่นักสร้างเขื่อนไม่เคยคิด” ก้านก่องกล่าว


วัฒนธรรมปลาร้าแม่น้ำสงครามเหือดแห้ง


แม่น้ำสงครามกำเนิดในเทือกเขาภูพาน ไหลผ่าน 5 จังหวัดในภาคอีสาน ก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขงที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็น 1 ใน 37 แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง บ่ายที่มีฝนในฤดูที่ยังหนาวของวันที่ 10 มกราคม 2566 ฉงน บงบุตร นำทางเข้าไปดูไหปลาร้าว่างเปล่าร่วม 100 ใบ ในอาคารที่ทำการของ “กลุ่มเศรษฐกิจชุมชนปากยาม” ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ชุมชนที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำสงคราม ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการผลิตปลาร้าคุณภาพเยี่ยมส่งขาย



“เรื่องมันง่ายๆ เมื่อแม่น้ำโขงไม่มีปลา แม่น้ำสาขาปลาก็หายไปด้วย” ฉงน ประธานกลุ่ม สรุปประเด็นปัญหา


ฉงน เล่าย้อนให้ฟังว่า คนในแถบลุ่มแม่น้ำสงครามนิยมทำปลาร้าเป็นส่วนนึงของวิถีชีวิตมานาน “ที่ไหนมีแม่น้ำมีปลาก็มีปลาร้าทั้งนั้นละ” ส่วนใหญ่เป็นการทำเก็บไว้กินในครัวเรือน จนเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน หนุมาน บงบุตร พ่อของฉงน ขายที่นานำเงิน 20,000 บาทมาซื้อ ไหปลาร้า 200 ใบ ด้วยที่เห็นช่องทางจะสามารถส่งปลาร้าจากบ้านปากยาม ออกไปขายภายนอกชุมชนได้ จึงชวนเครือญาติมาช่วยกันทำในช่วงเริ่มแรก ก่อนจะขยายไปสู่คนอื่นๆ ในชุมชน ต่อมาชาวบ้านได้ร่วมกันออกหุ้นตั้ง กลุ่มเศรษฐกิจชุมชนบ้านปากยาม ทำปลาร้าขาย จนมีชื่อเสียงเป็นสินค้าโด่งดัง ถึงกับถูกเลือกเป็นสินค้า “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” หรือ OTOPระจำตำบลสามผง


พื้นที่ลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่างในจังหวัดนครพนม ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การสหประชาชาติ ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระหว่างประเทศ เป็นพื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก มีลักษณะเป็น“ป่าบุ่งป่าทาม” ซึ่งหมายถึงระบบนิเวศป่าในพื้นที่ราบที่น้ำท่วมถึง และยังมีระบบนิเวศย่อยอยู่อีกถึง 28 ระบบ เป็นที่อยู่อาศัย วางไข่และอนุบาลอย่างดีของปลากว่า 124 สายพันธุ์ที่สำรวจพบในพื้นที่แถบนี้ แตกต่างจากในอำเภอสังคม พื้นที่อำเภอสีสงครามปลาจะชุกชุมมากในช่วงน้ำหลาก ที่ปลาอพยพขึ้นมาจากแม่น้ำโขง และปลาท้องถิ่นจะวางไข่ตามป่าบุ่งป่าทามที่ถูกน้ำท่วม


ชุมนุมริมแม่น้ำสงครามตอนล่างจึงเป็นแหล่งการทำปลาร้าขึ้นชื่อมาตั้งแต่โบราณ แม้ในเวลานั้นจะยังไม่มีการทำขายเป็นอุตสาหกรรม แต่ชุมชนแถบนี้ก็เป็นแหล่งกระจายปลาร้าคุณภาพดี โดยจะมีผู้คนจากชุมชนใกล้เคียงเดินทางนำข้าวสาร เกลือ ใบยาสูบ มาแลกปลาร้าจากแม่น้ำสงครามกลับไป เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนอีสานอันเป็นที่มาของวลี “ปลาแดกแลกข้าว” ปลาร้าลุ่มแม่น้ำสงครามไม่เพียงมีมากเหลือ แต่ยังมีคุณภาพแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ฉงนอธิบายให้ฟังว่าปลาที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำที่ไหลอยู่ตลอดเวลา เมื่อเอามาทำปลาร้าจะได้กลิ่นที่ดีกว่า ไม่เหม็นคาว ต่างจากปลาที่เลี้ยงในบ่อ หรือพื้นที่น้ำกร่อย แม้จะเป็นปลาชนิดเดียวกันแต่อาศัยอยู่ในน้ำที่ต่างกันกลิ่นและรสชาติก็จะต่างกันออกไป



“ปลาเริ่มลดลงมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ที่เห็นได้ชัดๆ คือ 3-5 ปีที่ผ่านมานี้” ฉงนตั้งข้อสังเกตและขยายความว่า ทางกลุ่มเริ่มเห็นว่าปลาในแม่น้ำลดน้อยลงเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ 3-5 ปีที่ผ่านมา จำนวนปลาลดฮวบลงเกินกว่า 70% จนส่งผลกระทบต่อกิจการปลาร้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจชุมชนบ้านปากยาม ที่ต้องลดการทำปลาร้าลงมาเรื่อยๆ ตามจำนวนปลาที่หายไป จนต้องหยุดพักไม่ได้ทำปลาร้ามาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ทุกวันนี้ไหปลาร้าอายุกว่า 50 ปี ของพ่อหนุมาน (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) จึงว่างเปล่าและถูกทิ้งไว้ในอาคารที่ทำการของกลุ่มอย่างที่เห็น


ฉงน วัย 50 ปีเติบโตมากับสายน้ำสงครามจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำมาโดยตลอด เขามองว่าสาเหตุที่ทำให้ปลาในแม่น้ำสงครามลดลง มีจากหลายปัจจัยด้วยกัน อย่างเช่น การปนเปื้อนของสารเคมีทางการเกษตรในแม่น้ำ หรือการลักลอบจับปลาในฤดูวางไข่ แต่ฉงนเห็นว่าการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุด เพราะระบบนิเวศน์แม่น้ำนั้นเชื่อมโยงกัน ปลาในแม่น้ำสงครามจำนวนมากเป็นปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง เมื่อปลาในแม้น้ำโขงลดจำนวนลงปลาในเม่น้ำสงครามลดจำนวนลงไปด้วย


รวมไปถึงส่งผลต่อระบบนิเวศน์ของแม่น้ำสงครามโดยตรง จากในช่วงภาวะปกติ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากราวเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของทุกปี มวลน้ำจากแม่น้ำโขงจะหนุนย้อนเข้ามาในแม่น้ำสงครามกินระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร เข้าท่วมที่ลุ่มริมแม่น้ำที่เป็นป่าบุ่งป่าทามจนกลายเป็นแอ่งรับน้ำขนาดใหญ่ และพัดพาตะกอนดินโคลนที่เป็นสารอาหารอย่างดีให้กับพืชพันธุ์


ความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ทำให้หลายฤดูน้ำหลากที่ผ่านมามวลน้ำจากแม่น้ำโขงไม่สามารถให้ย้อนขึ้นไปถึงท่วมถึงป่าบุ่งป่าทามได้ ทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยวางไข่ของทั้งปลาท้องถิ่นและที่ปลาอพยพ


ภารกิจพิทักษ์ไห และปรับตัวในการทำปลาร้า



ราว 1 กิโลเมตร ณ ทุ่งร่าง ห่างออกมาจากตัวชุมชนบ้านปากยาม ฉงนพาเรามาดูไหของกลุ่มวิสาหกิจชุมชุนอีกบางส่วน ที่ถูกเอามาเก็บไว้ โดยมีพี่ชายของฉงนคอยเฝ้าอยู่


“ไหที่เขาเอาไปตกแต่งตามอาคาร โรงแรมในกรุงเทพฯ ก็มาจากไหพวกนี้นั้นล่ะ” ฉงนเล่าถึงสถานการณ์หลังจากการทำปลาร้าเริ่มลดลง เขาบอกว่าชาวบ้านเริ่มนำไหปลาร้าทไปขาย ด้วยความที่ไหเหล่านี้เป็นของโบราณ ตกทอดมาจากคนรุ่นปู่ย่า มีรูปทรงและวิธีการผลิตต่างจากไหในปัจจุบัน บ้างทำจากหิน หรือดินเผาแบบโบราณ จึงมีคนมาขอซื้อไปเป็นเครื่องประดับอาคารในราคาตั้งแต่ 2,000 ถึง 10,000 บาท


เมื่อไหปลาร้าเก่ากลายเป็นวัตถุมีราคา หลายบ้านพบปัญหาว่าลูกหลานแอบเอาไปขาย ฉงนจึงคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเก็บรักษาไหปลาร้าที่คนรุ่นพ่อแม่เคยใช้ไว้ในชุมชนได้


“เราอยากอนุรักษ์ไหของพ่อไว้ เก็บไว้ให้ลูกหลานใช้” ฉงนเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เขารวบรวมไหปลาร้าเก่าๆ ของสมาชิกกลุ่มผลิตปลาร้ามารวมไว้ ไหปลาร้าส่วนใหญ่เป็นไหรุ่นเดียวกับกับที่พ่อของเขาซื้อเอาไว้เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว แต่ก็หนีไม่พ้นมือของลูกหลานในเครือญาติของฉงนเองที่แอบเอาไหไปขาย ทำให้พี่ชายของฉงนต้องมาอยู่ยามเฝ้าไห ระหว่างที่สมาชิกยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะจัดการไหเหล่านี้อย่างไร ทางเลือกหนึ่งคือให้สมาชิกของกลุ่มนำกลับไป แต่มีเงื่อนไขว่าห้ามนำไปขาย


ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ไหปลาร้าเก่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจชุมชนบ้านปากยาม เริ่มปรับตัวเพื่อให้สามารถกลับมาผลิตปลาร้าขายได้อีกครั้ง โดยการซื้อปลาหลายร้อยกิโลกรัมมาจากกระชังปลาที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อนำมาหมักปลาร้า แม้ว่าปลาเลี้ยงในกระชังจะต่างจากปลาแม่น้ำซึ่งเมื่อนำไปทำปลาร้าจะมีกลิ่นหอมกว่า จึงต้องมีการปรับปรุงสูตรการหมักปลาร้า หากการปรับตัวรื้อฟื้นกิจการทำปลาร้านี้เป็นไปในทางที่ดี ทางกลุ่มมีแผนจะให้สมาชิกที่มีความพร้อมเพาะเลี้ยงปลาในกระซังเพื่อส่งขายให้ทางกลุ่มนำมาทำปลาร้า ชาวบ้านตำบลสามผงหวังว่า การปรับตัวครั้งนี้จะช่วยฟื้นทั้งวัฒนธรรมปลาร้าและเศรษฐกิจชุมชนใน


รายงานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Internews’ Earth Journalism Network




510 views0 comments

Comments


bottom of page