ในวันพุธนี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยอาจมีโอกาสได้ใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ที่ผลิตภายในประเทศในปี 2564 หลังจากที่การวิจัยเบื้องต้นประสบความสำเร็จในการทดลองกับหนูแล้ว เตรียมทดลองในลิงต่อไป
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า การวิจัยวัคซีนต้านโควิด-19 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินการวิจัยเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่มีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอ โดยรัฐบาลได้เริ่มประสานเพื่อเตรียมการผลิตวัคซีนชุดแรกกับโรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาแล้ว
“วัคซีนของคนไทยเรา คาดว่าจะได้ใช้ปีหน้า คนไทยทำเอง ตอนนี้อยู่ในขั้นทดสอบในสัตว์ คือ หนู เตรียมใช้กับลิงในสัปดาห์หน้า เพราะข่าวว่า วัคซีนชนิด mRNA ทางศูนย์วิจัยวัคซีน ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลังจากประสบความสำเร็จในหนูทดลองแล้ว เตรียมทดสอบกับลิงในสัปดาห์หน้า” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ติดเชื้อเพิ่ม 1 ราย
ในวันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ ยังได้รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยระบุว่า ไทยเหลือผู้ป่วยน้อยกว่า 100 รายแล้วในปัจจุบัน
“ผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่เพิ่มขึ้น 1 ราย อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้… เพศชายอายุ 45 ปี เป็นเชฟร้านอาหารไทยเดินทางกลับจากประเทศบาห์เรน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เข้าพักสเตทควอรันทีนในโรงแรมในกรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 นี้ เขาไม่มีอาการ… ตัวเลขยืนยันสะสมอยู่ที่ 3,034 ราย มีผู้ป่วยหายแล้วเพิ่มขึ้น 31 ราย ทำให้จำนวนตัวเลขของผู้ป่วยหายอยู่ที่ 2,888 ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มยังคงที่อยู่ที่ 56 ราย ยังนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ลดต่ำลงมาเหลืออยู่ 90 รายแล้ว” นพ.ทวีศิลป์ ระบุ
ในการแถลงของ นพ.ทวีศิลป์ ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยตรวจเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว 328,073 ตัวอย่าง จากห้องปฏิบัติการ 167 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-19 พฤษภาคม 2563 กักตัวผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศแล้ว 16,796 ราย มากที่สุดมาจากมาเลเซียโดยการข้ามพรมแดน 11,089 ราย ที่เหลือเป็นการเดินทางมาโดยเครื่องบินจากประเทศอินเดีย 1,639 ราย สหรัฐอเมริกา 1,152 ราย ญี่ปุ่น 519 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 348 ราย อังกฤษ 297 ราย บาห์เรน 238 ราย รัสเซีย 219 ราย เนเธอร์แลนด์ 199 ราย อียิปต์ 199 ราย มาเลเซีย 194 ราย อินโดนิเซีย 137 ราย และประเทศอื่นๆตามลำดับ
และจากการกักตัวนั้น ทำให้พบผู้ป่วย 101 ราย เป็นชาย 90 ราย หญิง 11 ราย อายุเฉลี่ย 37 ปี พบในสถานกักกันโรคของจังหวัดสงขลามากที่สุด 19 ราย สตูล 18 ราย กรุงเทพฯ 17 ราย ปัตตานี 12 ราย ยะลา 8 ราย และนราธิวาส 6 ราย ในนั้นเป็นผู้ติดเชื้อที่กลับมาจากอินโดนิเซีย 65 ราย ปากีสถาน 10 ราย ที่เหลือมาจากประเทศอื่น
รพ.สงขลาฯ ใช้พลาสมารักษาโควิด-19 สำเร็จละ
รศ.นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สามารถรักษาผู้ป่วยด้วยการใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วก่อนหน้าได้เป็นรายแรกของภาคใต้ โดยได้ส่งตัวกลับบ้านแล้วในวันที่ 19 พฤษภาคม 2563
“โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เราได้พิจารณาใช้พลาสมาของผู้ป่วยรายแรกที่หายไปในการรักษา ผลการรักษาผู้ป่วยดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถหายใจเองได้ สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้… เป็นแค่การรายงานตัวอย่างผู้ป่วยรายเดียว ซึ่งก็เข้าได้กับการศึกษาจากต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ดี จำเป็นจะต้องรอการศึกษาอย่างเป็นระบบในการใช้พลาสมา… ข้อมูลความปลอดภัยของการใช้พลาสมาก็ได้รับการตีพิมพ์มาเมื่อเร็วๆนี้แล้ว” รศ.นพ.ศรัญญู ระบุ
ทั้งนี้ เฟซบุ๊คแฟนเพจของ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ระบุว่า พลาสมา คือเป็นส่วนประกอบของเลือดซึ่งประกอบด้วยน้ำและมีสารที่มีภูมิคุ้มกันของร่างกายที่จะช่วยในการรักษาโรคได้ เป็นลักษณะการตอบสนองต่อเชื้อโรคของร่างกายมนุษย์ คนทั่วไปจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เมื่อสัมผัสกับเชื้อโรค โดยผู้ที่จะสามารถบริจาคพลาสมาสำหรับรักษาโควิด-19 ต้องเป็น 1. ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 และรักษาหายแล้ว ในร่างกายไม่พบเชื้อแล้ว และ 2. พลาสมานั้นต้องมีภูมิคุ้มกันปริมาณมากเพียงพอ โดยต้องตรวจภูมิคุ้มกันว่ามีภูมิคุ้มกันหรือเปล่า และมีปริมาณมากเท่าใด พลาสมาที่ได้รับบริจาคจะต้องเข้าเครื่องพิเศษในการแยกพลาสมาออกจากเลือด
กนง.มีมติ ลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ที่ประชุม กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เหลือร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจาก ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ติดลบร้อยละ 5.3 ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรง จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทั่วโลก โดย กนง.เสียงส่วนใหญ่เห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยสนับสนุนมาตรการทางการคลัง และมาตรการสินเชื่อบรรเทาผลกระทบ และการฟื้นฟูกิจการ แต่จำเป็นต้องเร่งรัดมาตรการทางการเงิน และการติดตามปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายการเงินต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ระดับ 75.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.0 ในเดือนมีนาคม 2563 โดยถือว่าเป็นค่าดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 ซึ่งเชื่อว่า เป็นผลมาจากการดำเนินการใช้มาตรการการแพร่ระบาดของโควิด-19
นายสุพันธุ์ ระบุว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,102 ราย ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศพบว่า 69.5 เปอร์เซ็นต์ มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น เพราะการแพร่ระบาดทำให้ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ทั้งนี้ยังพบว่า ผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 44.9 เปอร์เซ็นต์, อัตราแลกเปลี่ยน(บาทต่อดอลลาร์) ในมุมมองผู้ส่งออก 39.2 เปอร์เซ็นต์, ราคาน้ำมัน 29.7 เปอร์เซ็นต์ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 17.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง สิ่งที่ ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ คือ 1.ขอให้พิจารณาคืนเงินประกันไฟฟ้าให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ที่ใช้มิเตอร์ขนาดไม่เกิน 50 แอมป์ และ 2.ขอให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่เอสเอ็มอีเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีภาษี 2563-2565
ขณะนี้ ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 4,918,938 ราย โดย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย บราซิล และอังกฤษ คือประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดสี่อันดับแรก โดยมีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 188 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 323,653 ราย ซึ่ง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี และฝรั่งเศส คือประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดสี่อันดับแรก ทั้งนี้ มีผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว 1,702,225 ราย องค์การอนามัยโลกยังประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่(Pandemic)
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #โควิด19 #โคโรนา #ประเทศไทย #สู้เด้อสู #วัคซีน
Comments