top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

เขื่อนน้ำโขงแห่งใหม่ของลาวจ่อปรึกษาหารือสร้างเพิ่ม



ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC) ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า รัฐบาลลาวกำลังจะเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าสำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม โดยนักสิ่งแวดล้อมมองว่า เขื่อนแห่งนี้จะซ้ำเติมปัญหาความแห้งแล้งและระบบนิเวศน์ที่มีมากอยู่แล้วในแม่น้ำโขงให้ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก


คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC) เปิดเผยข้อมูล ผ่านเอกสารข่าวในวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ว่า เขื่อนสานะคาม จะตั้งอยู่ในพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างแขวงไซยะบุรี และแขวงเวียงจันทน์ มีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 และกำหนดแล้วเสร็จในปี 2571


“ลาวได้ส่งโครงการ ซึ่งเป็นการใช้น้ำภายในลุ่มน้ำบนแม่น้ำโขงสายประธานตลอดทั้งปี ภายใต้กระบวนการการปรึกษาหารือล่วงหน้า การส่งโครงการนี้มาจะช่วยให้ประเทศสมาชิกที่ได้รับแจ้ง และสาธารณชนมีข้อมูลรายละเอียด และศึกษาการใช้น้ำของโครงการ ร่วมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้” นายอัน พิช ฮัดดา ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง(MRC) ระบุ


โดยในเอกสารข่าวของเอ็มอาร์ซี ระบุว่า เขื่อนสานะคามเป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) ขนาด 684 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าจะมีความยาว 350 เมตร สูง 58 เมตร กังหันผลิตไฟฟ้า 12 ตัว ตั้งอยู่ในเมืองสานะคาม ห่างจากชายแดนไทย-ลาว ที่จังหวัดเลย 2 กิโลเมตร มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท(2,073 ล้านดอลลาร์ ) โดยโครงการจะใช้เงินประมาณ 870 ล้านบาท(27.2 ดอลลาร์) ในการบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม รับผิดชอบโครงการโดย บริษัท ต้าถัง (ลาว) สานะคาม ไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด เป็นส่วนหนึ่งของ บริษัท ต้าถัง รัฐวิสาหกิจของจีนวางแผนว่า จะส่งไฟฟ้ามาขายให้กับประเทศไทยเป็นหลัก


เอ็มอาร์ซี ระบุว่า รัฐบาลลาวได้ส่งโครงการเขื่อนสานะคามมายังเอ็มอาร์ซี ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2562 หลังจากส่งโครงการเขื่อนหลวงพระบางไม่นาน แต่เพื่อให้เกิดกระบวนการปรึกษาหารือที่มีคุณภาพ เอ็มอาร์ซีจึงดำเนินการปรึกษาหลังโครงการเขื่อนหลวงพระบาง โดยการปรึกษาหารือประเด็นสำคัญสำหรับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนสานะคามนั้นจะมีขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 และการปรึกษาหารือล่วงหน้าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน


ต่อประเด็นดังกล่าว นายมนตรี จันทวงศ์ จากกลุ่ม The Mekong Butterfly เปิดเผยแก่ว่า การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับประเทศลาว หรือประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น


“เขื่อนสานะคามแห่งนี้ ใกล้ชายแดนแค่ 2 กิโลเมตร น่าจะมีผลกระทบที่ชัดเจนมากที่ ปากชม (จังหวัดเลย) หรือหนองคาย มันจะชัดเจนยิ่งกว่า เขื่อนไซยะบุรี จำเลยของปัญหาในแม่น้ำโขงจะกลายเป็นเขื่อนสานะคาม แทนที่เขื่อนไซยะบุรี จริงๆรัฐบาลไทยสามารถหยุดโครงการนี้ได้โดยไม่ไปรับซื้อไฟฟ้ามา” นายมนตรี กล่าว


“มันเป็นเรื่องที่เขาไม่รู้จักพอ เพราะ ตอนนี้ มีโครงการที่เข้ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าแล้ว แต่ยังไม่ได้สร้าง 3 โครงการ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเร่งสำหรับกระบวนการใหม่ ในประเทศลาวก็ไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้า และประเทศไทยก็ไม่ได้ขาดแคลน กระบวนการปรึกษาหารือของเอ็มอาร์ซี ล้มเหลวตั้งแต่เขื่อนไซยะบุรี ผ่านมาแล้ว 3-4 ครั้ง ก็ไม่มีอะไรมีขึ้น ยังใช้ข้อบังคับแบบเดิม ไม่ได้มีช่องให้คนเข้าไปมีส่วนร่วมอะไรเลย ถ้าจะให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมต้องไปแก้ข้อตกลงแม่น้ำโขง” นายมนตรี กล่าวเพิ่มเติม


ขณะที่ นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยแก่ว่า ปัจจุบัน สทนช. ในฐานะตัวแทนฝ่ายไทย ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแม่น้ำโขงแล้ว และจะนำประเด็นดังกล่าวเข้าพูดคุยกับประเทศสมาชิกในการประชุมครั้งต่อไป


“การดำเนินการของรัฐบาลลาวเป็นกระบวนการตามข้อตกลงแม่น้ำโขงอยู่แล้ว ขั้นตอนต่อไป ฝ่ายเลขาฯ ก็จะต้องประมวลข้อมูลเบื้องต้น และนำเสนอ สี่ประเทศสมาชิก ซึ่งจะประชุมกันในต้นเดือนหน้า เบื้องต้น เราทราบแล้ว และได้แจ้งเขาไปแล้วว่า ก่อนที่จะเสนอโครงการเข้ามา อยากให้แต่ละประเทศไปดูเรื่องของความเห็นต่างๆว่า ว่าเขื่อนอาจจะส่งผลกระทบ หรือหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิม ซึ่งในการประชุมร่วมกันเราก็จะแจ้งเขาอีก ซึ่งเป็นกระบวนการที่เราก็ทำกับเขื่อนหลวงพระบางเช่นกัน” นายสมเกียรติ กล่าว


ทั้งนี้ เขื่อนสานะคาม เป็นโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายประธานแห่งที่ 6 ของในแผนของ สปป.ลาว แต่ที่ผ่านมามีแค่เขื่อนไซยะบุรีแห่งเดียวที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ขณะที่ เขื่อนปากแบง ปากลาย ปากชม หลวงพระบาง และสานะคาม ยังอยู่ในแผน โดยมีเขื่อนดอนสะโฮง ในแขวงจำปาสัก ของลาวกั้นบางส่วนของแม่น้ำโขง เอ็มอาร์ซีระบุว่า ปัจจุบันมีเขื่อนอีก 49 แห่งบนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยเป็นเขื่อนในประเทศลาว 30 โครงการ เวียดนาม 14 โครงการ กัมพูชา 3 โครงการ และไทย 2 โครงการ


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 นายอลัน บาสิสท์ ประธานบริษัท อายส์ ออน เอิร์ธ อิงค์ ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา กล่าวแก่ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนสร้างเขื่อน 11 แห่ง บนแม่น้ำโขงตอนบน และก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายถึงผลเสียที่จะเกิดกับประเทศท้ายน้ำ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนของจีน กลับไม่ถูกเผยแพร่เท่าที่ควร


“พวกเขา (จีน) ไม่ได้ก่อให้เกิดความแห้งแล้งโดยตรง แต่พวกเขาทำให้มันรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก… น้ำโขงที่ไหลผ่านระหว่างลาวและไทยนั้นมีระดับน้ำโขงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นถึง 3 เมตรหรือมากกว่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีน ไม่ได้ปล่อยน้ำจำนวนมากให้ลงมาตั้งแต่ในช่วงฤดูฝนแล้ว และยิ่งปล่อยน้ำน้อยลงในช่วงต่อมา ทำให้ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในประเทศท้ายน้ำรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก” นายอลัน กล่าว


โดย อายส์ ออน เอิร์ธ ซึ่งใช้ข้อมูลดาวเทียมในช่วง 28 ปี เพื่อคำนวณหาว่า จีนกักน้ำไว้ในเขื่อนทั้งหลายเท่าไรกันแน่ โดยข้อมูลบอกว่าเขื่อนจีนทั้ง 11 นี้กักน้ำจำนวนมหาศาล มีความจุน้ำรวมกันถึง 47,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร


แม่น้ำโขงมีความยาว 4,350 กิโลเมตรจากประเทศจีนสู่ประเทศเวียดนาม ถือเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดอันดับ 12 ของโลก ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่ และเป็นที่อาศัยของพันธุ์ปลาอย่างน้อย 1,100 ชนิด ปัจจุบัน มีเขื่อนที่ถูกสร้างบนแม่น้ำโขงในประเทศจีน 10 แห่ง รวมกำลังผลิต 19,990 เมกกะวัตต์ ในลาว 2 แห่ง รวมกำลังผลิต 1,545 เมกกะวัตต์



#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #แล้ง #แม่น้ำโขง #เขื่อน #จีน #ไทย #ลาว #แร้นแค้น #กัมพูชา #เมียนมา #สาเหต#น้ำน้อย #ย่อมแพ้ไป


18 views0 comments
bottom of page