top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ไทยต้องชนะ!!! บิ๊กตู่ลั่น ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สู้โควิด-19


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ยืนยันว่า ประเทศไทยจะสามารถผ่านวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ไปได้ โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะมีผลพฤหัสบดีนี้จะให้อำนาจนายกฯเป็นผู้สั่งการทั้งหมด ห้ามคนเข้าออกประเทศ ห้ามการเคลื่อนย้ายคน และคุมเรื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตนเองจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงต่างๆ เป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ด้านนั้นๆ และจะใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นเพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ระบาด “วันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด19 และสถานการณ์อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเลวร้ายยิ่งขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่าซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมทั้งรายได้ และการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน ด้วยเหตุนี้ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เราสามารถหยุดการแพร่ระบาดพร้อมกับลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว “ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี ขอให้คำมั่นสัญญากับทุกคนว่า ผมจะเดินหน้าสุดความสามารถ เพื่อนำประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้… เราจะชนะไปด้วยกัน … ผลจากการประกาศดังกล่าวคือ รัฐบาลจะมีช่องทางตามกฎหมาย เข้าควบคุมหรือบริหารสถานการณ์ได้… จะมีการออกข้อกำหนด คือ ข้อห้าม หรือ ข้อปฏิบัติบางอย่างเช่น ห้ามเข้าออกสถานที่บางแห่ง ห้ามหรือจำกัดการเข้าออกราชอาณาจักร และการเคลื่อนย้ายประชาชนจำนวนมากข้ามเขตพื้นที่ การควบคุมการใช้พาหนะ เส้นทางจราจร การควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในหนังสือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ ในวันนี้ ระบุว่า “การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดใช้แดนภาคใต้ให้ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปควบคู่กัน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึง 30 เมษายน 2563” วิษณุ เผยตู่มีอำนาจสั่งการไม่ต้องรอประชุม ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี สามารถออกคำสั่งโดยไม่จำเป็นต้องผ่านมติที่ประชุมได้ “กรณีจำเป็นเร่งด่วนนายกรัฐมนตรีอาจจะพิจารณาสั่งการไปในนามของ ศอฉ.นี้ได้โดยไม่ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการ หรือจะเชิญคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง 4-7 คน มาประชุมแล้วสั่งการ ถือเป็นมติของศูนย์นี้โดยไม่ต้องเรียกประชุมเต็มคณะทั้ง 40 คน แล้วสามารถตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจตั้งที่ปรึกษาได้” นายวิษณุ กล่าว มาตรการของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้ 1. การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ตามที่กำหนดในมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 มีนาคม 2563 หรือตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพ หรือจังหวัดสั่ง 2. ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค สนามกีฬา สถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยว และตลาด โดยอาจมีเงื่อนไขตามความเหมาะสม 3. ปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทุกช่องทาง โดยให้เข้าได้เฉพาะผู้ได้รับอนุญาต หรือคนไทยที่ต้องการจะกลับประเทศแต่จำเป็นต้องมีเอกสารรับรอง 4. ห้ามกักตุนสินค้า ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม สินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน 5. ห้ามชุมนุม ห้ามทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในสถานที่แออัด 6. ห้ามเสนอข่าวหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับ โควิด-19 ที่ไม่เป็นความจริง 7. ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพและจังหวัด กำกับดูแลเขตรับผิดชอบ ให้หน่วยราชการช่วยประชาสัมพันธ์มาตรการ ให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมรับมือผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้น และอาจดัดแปลงสถานที่อื่นใช้รองรับผู้ป่วยด้วย ให้มีการกักตัวประชาชนที่เดินทางข้ามเขตตามมาตรการ 8. ให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กักตัวในที่พักยกเว้นต้องไปพบแพทย์ 9. มาตรการเกี่ยวกับการออกนอกราชอาณาจักร ให้อำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่ไม่มีธุระหรือที่อยู่ในไทยเดินทางออกนอกประเทศ 10. มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพมหานคร ให้มีการตั้งจุดตรวจเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย 11. มาตรการป้องกันโรค ให้ทำความสะอาดอาคาร เจ้าหน้าที่ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ นั่งห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร และไม่ให้ทำกิจกรรมในที่แออัด 12. สถานที่ที่เปิดให้บริการตามปกติ ได้แก่ สถานพยาบาล สถานที่ขายอาหาร สถาบันการเงิน สถานที่ขายเชื้อเพลิง และบริการขนส่งสินค้าและอาหาร 13. คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด 14. การจัดงานบุญ หรืองานศพ หากจะดำเนินการต้องดำเนินตามมาตรการควบคุมโรค 15. โทษ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 – 6 ต้องรับโทษตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ หรือมาตรา 41 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ 16. การใช้บังคับ ข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถออกข้อกำหนดเปลี่ยนแปลง เพิ่มหรือลดมาตรการ/เงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภาพประกอบ : ทำเนียบรัฐบาล

อ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=ZxcxbQUp08s และ https://www.youtube.com/watch?v=SHmRktoxQVA #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ไวรัส #โคโรนา #สายพันธุ์ใหม่ #อู่ฮั่น #ไทย #นายก #เอาอยู่ #Covid19 #โควิด — at ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล.

5 views0 comments
bottom of page