top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

อธิบดีกรมการค้าภายในฟ้องโฆษกกรมศุลกากรถามหา คำขอโทษจากสมาคมร้านขายยา


วันนี้ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เดินทางไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. เพื่อแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทโดยการประชาสัมพันธ์ เอาผิดนายชัยยุทธ์ คำคูณ โฆษกกรมศุลกากร ที่รายงานว่า มีการส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตัน ตามใบอนุญาตกรมการค้าภายใน และในวันเดียวกัน มีข่าวว่า เรียกร้องให้ สมาคมร้านขายยา ขอโทษที่เปิดเผยข้อมูลว่า ไม่ได้รับการจัดสรรหน้ากาก ก่อนภายหลังจะออกมาปฏิเสธข่าว ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า วันที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เดินทางไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาการหมิ่นประมาทโดยการประชาสัมพันธ์ เพราะเอาข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมาออกสื่อ ทำให้กรมการค้าภายใน ได้รับความเสียหาย กับนายชัยยุทธ คำคูณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ที่รายงานการส่งออกหน้ากากอนามัยในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2563 ว่ามีการส่งออกหน้ากากอนามัยทั้งสิ้นกว่า 330 ตัน คิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท โดยเป็นการให้ส่งออกหน้ากากอนามัย ตามใบอนุญาตของกรมการค้าภายใน โดยย้ำว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน เพราะหลังจากมีการประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม และก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการส่งออกแล้ว ยกเว้นกรณีที่หน้ากากอนามัยที่ไม่ใช้ในไทยและหน้ากากที่มีลิขสิทธิ์ หรือมีเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมียื่นขออนุญาตส่งออกรวม 53 ล้านชิ้น แต่คณะกรรมการฯ พิจารณาให้ส่งออกได้เพียง 12.7 ล้านชิ้น ซึ่งจำนวนการส่งออกจะสำแดงเป็นชิ้น ไม่ใช่คิดเป็นปริมาณตัน “ซึ่งหากผู้ให้ข่าว ไม่มั่นใจในข้อมูล ก็ควรสอบถามมายังกรมการค้าภายในก่อน เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นคลาดเคลื่อน เพราะขณะนี้หากมีเรื่องของหน้ากากอยามัย จะเป็นประเด็นขึ้นทันที พร้อมยืนยันว่า ดำเนินการครั้งนี้เพื่อรักษาเกียรติของกรมการค้าภายใน และดำเนินคดีภายใต้กรมการค้าภายใน และยื่นยันว่าเรื่องนี้ ไม่ได้ไปโยงกับประเด็นทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องในแนวทางปฎิบัติที่กรมฯ รับผิดชอบ แต่หากใครจะตำหนิส่วนตัวก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องของกรมฯ จึงยอมไม่ได้ และอยากให้สังคมรับรู้ความถูกต้องเท่านั้น พร้อมยืนยันว่าไม่ได้มีความบาดหมางหรือรู้จักเป็นการส่วนตัว หรือมีความแค้นส่วนตัว แต่เป็นการดำเนินเพื่อรักษาเกียรติของกรมการค้าภายใน” และ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า จากกรณีที่นายเทพรักษ์ สุรทานต์นนท์ ประธานสภาที่ปรึกษาสมาคมร้านขายยา ออกข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ระบุว่า ตามที่มีมีข่าวปรากฏทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ ว่ากรมการค้าภายในได้จัดสรรหน้ากากอนามัยให้แก่ สมาคมร้านขายยา วันละ 2.5 หมื่นชิ้น เพื่อจำหน่ายกับผู้ที่ต้องการนั้น สมาคมร้านขายยาขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า จนถึงขณะนี้สมาคมฯ ยังไม่ได้เคยได้รับหน้ากากอนามัย จากกรมการค้าภายในเลยแม้แต่น้อย ฉะนั้น เพื่อความยุติธรรม ตลอดจนลดแรงกดดัน และเพื่อให้สมาคมร้านขายยาที่มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ ช่วยลดช่องว่าง ช่วยแบ่งเบาภาระทางราชการในการป้องกันไวรัส COVID-19 สมาคมร้านขายยา ขอเรียกร้อง กรมการค้าภายใน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามที่ปรากฏเป็นข่าวด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง ต่อมา เภสัชกรหญิงจิดาภา ไชยสิทธิ์ ผู้ประสานงานสมาคมฯ ส่งหนังสือถึงสมาชิก ว่า สมาคมฯ ได้ประสานไปขอความอนุเคราะห์กับกรมการค้าภายใน ในการเป็นตัวกลางช่วยกระจายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ในโรคต่างๆ ที่มีการติดต่อไปยังผู้อื่น เช่น โรควัณโรค ไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เบื้องต้นทางสมาคมฯ ได้รับการจัดสรรหน้ากากอนามัยจำนวน 15,000 ชิ้นต่อวัน ในราคาชิ้นละ 2 บาท และกำหนดให้จำหน่ายในราคาชิ้นละ 2.50 บาท หากจำหน่ายเกินราคา จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และสมาคมฯ จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกรับหน้ากากอนามัยไปจำหน่าย โดยจัดสรรให้ร้านละ 200 ชิ้น เป็นเงิน 400 บาท ซึ่งสมาคมฯ จะจัดส่งกระจายหน้ากากอนามัยไปยังร้านขายยาของสมาชิก โดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง วันนี้ (12 มี.ค.) รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า การประสานงานระหว่างสมาคมร้านขายยา ไปยังกรมการค้าภายในต้องพบกับอุปสรรค เนื่องจากถูกกรมการค้าภายในยื่นข้อเสนอว่าให้สมาคมร้านขายยาต้องทำหนังสือขอโทษไปยังนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กรณีที่ออกข่าวว่าสมาคมฯ ยังไม่ได้เคยได้รับหน้ากากอนามัยจากกรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ก่อน ถึงจะจัดสรรหน้ากากอนามัยให้ อ้างว่าข่าวที่ออกไปทำให้อธิบดีกรมการค้าภายในเสื่อมเสียเกียรติ ทั้งที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับการจัดสรรหน้ากากอนามัยแม้แต่ครั้งเดียว ก่อนหน้านี้สมาคมฯ ได้ส่งผู้ประสานงานไปรอขอความอนุเคราะห์ทุกวัน กลับบ้านดึกดื่น รวมทั้งได้รวบรวมรายชื่อร้านขายยาที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ มาให้พิจารณาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นที่วิจารณ์ในหมู่สมาชิกสมาคมฯ ว่าทำไมสมาคมต้องขอโทษอธิบดีกรมการค้าภายใน ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด และสมาคมฯ ก็ไม่เคยได้รับการจัดสรรหน้ากากอนามัยจริง ด้านเฟซบุ๊ก Teprak Suratannont ของนายเทพรักษ์ สุรทานต์นนท์ ประธานสภาที่ปรึกษาสมาคมร้านขายยา ระบุว่า “ผมผิดไหมที่ปกป้องเกียรติ ศักดิ์ศรีสมาคมร้านขายยา ร้านขายยาทั่วประเทศ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนในประเทศ” และยังคอมเมนต์ว่า “ผมต้องการให้หน้ากากอนามัยมีขายทั่วประเทศ และราคายุติธรรมครับ” ทำให้สมาชิกร้านขายยาทั่วประเทศให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ตนได้ประสานกับนายกสมาคมร้านขายยาและได้จัดสรรหน้ากากอนามัยให้กับสมาคมไปแล้วตามที่สมาคมแจ้งมา คือ 25,000 ชิ้น และไม่เข้าใจว่านายเทพรักษ์ สุรทานต์นนท์ ประธานสภาที่ปรึกษาสมาคมร้านขายยาได้คุยกับประธานสมาคมหรือไม่ ส่วนที่มีข่าวออกมาว่าการประสานงานระหว่างสมาคมร้านขายยากับร้านขายยามีปัญหาอุปสรรค เพราะตนยื่นข้อเสนอว่าให้สมาคมร้านขายยาต้องทำหนังสือขอโทษก่อน กรณีที่ออกข่าวว่าสมาคมฯ ยังไม่ได้เคยได้รับหน้ากากอนามัยจากกรมการค้าภายใน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ถึงจะจัดสรรหน้ากากอนามัยให้ เนื่องจากอ้างว่าข่าวที่ออกไปทำให้อธิบดีกรมการค้าภายในเสื่อมเสียเกียรตินั้น ยืนยันว่าตนไม่เคยทำเช่นนั้น เพราะถือว่าจัดสรรหน้ากากให้สมาคมฯ ไปตามที่เสนอมาเรื่องจบแล้ว ในวันเดียวกัน นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงเรื่องหน้ากากอนามัย ว่า จากการเปิดเผยตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังต่างประเทศ จากการพิจารณาเบื้องต้นพบว่ามีความคลาดเคลื่อนไปมาก เพราะหากจากดูเวลาการประกาศควบคุมการส่งออกกระทรวงพาณิชย์ คุมการส่งออกในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่หากเป็นการส่งออกก่อนหน้านี้จะยังถือว่าเป็นการส่งออกในการค้าปกติ ที่ยังไม่พบปัญหาไวรัสโควิด- 19 ขณะที่ตัวเลข 330 ตัน เท่ากับจำนวนชิ้นหน้ากากถึง 80 ล้านชิ้น ซึ่งความเป็นไปได้ยากมาก อีกทั้งพิกัดการส่งออกนั้น เป็นพิกัดที่ผสมหรือรวมหลายสินค้า แต่หากดูเฉพาะหน้ากากสีเขียวที่มีการจำกัดจะถูกแยกไม่ได้รวมกัน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าหน้ากากอนามัยในประเทศมีมากถึง 71 ชนิด แต่หากดูเฉพาะชนิดที่ห้ามส่งออกนั้นคือเป็นชนิดที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และประเทศไทยใช้เป็นส่วนใหญ่ และการพิจารณาการส่งออกจะต้องผ่านคณะกรรมการและเงื่อนไขที่กำหนด เช่น มีลิขสิทธิ์ มีทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นชนิดหน้ากากที่ไม่ใช้ภายในประเทศ โดยคณะกรรมการพิจารณาและอนุญาตให้มีการส่งออกไปได้นั้นมีแค่อยู่ในช่วง 17-28 กุมภาพันธ์ 2563 ส่วนการขออนุญาตส่งออกในเดือนมีนาคม 2563 นี้ยังไม่มีการพิจารณาใดๆ ส่วนที่มีการปฏิเสธไม่ให้อนุญาตส่งออกมีถึง 41 ล้านชิ้น ส่วนที่อนุญาตไปนั้นมีเพียง 12.7 ล้านชิ้นพิจารณาเป็นอยู่ที่ 40 ตัน อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้รับชี้แจงจากโรงงาน 11 โรงงานว่าสามารถเพิ่มสายการผลิตจาก 1.2 ล้านชิ้น เป็น 1.56 ล้านชิ้น ทำให้ปริมาณการจัดสรรไปยังหน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ในส่วนของโรงพยาบาลในทุกสังกัด จะเพิ่มขึ้นจาก 7 แสนชิ้นเป็น 8 แสนชิ้น ขณะที่ในส่วนของค้าปลีก ประชาชนทั่วไปจากเดิม 5 แสนชิ้น เป็น 7.6 แสนชิ้น ขณะที่กระแสข่าวหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น หรือมีการสต๊อกหรือขายแพงขนาดนี้ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นนั้นยังไม่พบจำนวนดังกล่าว แต่ที่พบคืออยู่ที่ 10,000 ชิ้น และก็ดำเนินการตรวจสอบและแจ้งข้อกล่าวหาไม่ดำเนินการแจ้งสต๊อกไป ส่วนการนำเข้าปัจจุบันพบว่าลดลงเหลือเพียง 9 แสนชิ้น จากอดีตที่สามารถนำเข้าได้ถึง 16 ล้านชิ้น สำหรับการสรุปผลการจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยเพิ่มเป็น 123 ราย ประจำวันที่ 12 มีนาคม 2563 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โดยสถิติการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิดถึงวันที่ 11 มีนาคม 2563 มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 123 ราย แบ่งเป็นการจับกุมในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 82 ราย และในต่างจังหวัด 41 ราย นอกจากได้จับกุมคนขายหน้ากากอนามัยแพงอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ กระทรวงยังได้ตรวจสอบจับกุมผู้กระทำความผิดขายเจลล้างมือและแอลกอฮอล์ล้างมือที่เป็นสินค้าควบคุมในข้อหาขายแพงเกินสมควร ได้อีก 2 คดี ที่จังหวัดนครปฐม 1 คดี และจังหวัดปทุมธานี 1 คดี ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำชับให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเข้มงวดตรวจสอบจับกุมผู้ค้าหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ทั้งร้านค้าปกติและร้านค้าผ่านออนไลน์ ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวด สำหรับโทษที่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ในข้อหาขายเกินราคาควบคุม จะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขายมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ในข้อหาขายแพงเกินสมควรมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท และหากเป็นผู้นำเข้าหรือตัวแทนจำหน่ายก็ต้องแจ้งปริมาณการถือครองสินค้าต่อกรมการค้าภายใน หากฝ่าฝืนจะมีความผิดซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ด้วย หากพบเห็นผู้กระทำผิด โปรดแจ้งข้อมูลและหลักฐานมายังสายด่วน 1569 หรือสื่อโซเชียลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ส่วนผลการจับกุม ณ วันที่ 11 มีนาคม 2563 จำนวน 8 ราย ดังนี้ กรุงเทพฯ จำนวน 2 ราย โดยเป็นการล่อซื้อและจับกุมผู้ค้า Online บน Platform Lasada ที่กระทำผิดในข้อหาขายเกินราคาควบคุมและข้อหาขายแพงเกินสมควรทั้ง 2 ราย ซึ่งได้มีการดำเนินคดีกับ Lasada ที่เป็น Platform การค้าออนไลน์ด้วย ต่างจังหวัด จำนวน 6 ราย ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ 1 ราย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 ราย จังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย จังหวัดนครปฐม 1 ราย โดยเป็นผู้ค้า Online บน Platform Lasada ซึ่งถูกดำเนินคดีด้วย และจังหวัดปทุมธานีอีก 2 ราย โดยทั้ง 6 ราย เป็นการกระทำผิดทั้งในข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขายหน้ากากอนามัย ข้อหาขายหน้ากากอนามัยเกินราคาควบคุม และในจำนวนนี้เป็นการจับดำเนินคดีกับผู้ขายแอลกอฮอล์แพงเกินสมควรด้วย #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ไวรัส #โคโรนา #สายพันธุ์ใหม่ #อู่ฮั่น #ไทย #นายก #เอาอยู่ #Covid19 #โควิด #หน้า #กาก อ้างอิง https://www.prachachat.net/economy/news-431134 https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000025070?fbclid=IwAR23ISG7rPbuMHlFrx7HSLSB8EjUtjnPH2AH1fXUUtGQjy0U7Htp2d0Z9KY https://www.mcot.net/viewtna/5e6a1b7ce3f8e40af141f7b4 — at กรมการค้าภายใน.

4 views0 comments
bottom of page