วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2563) ประชาไทรายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร มีมติ 242 ต่อ 215 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต ที่เสนอโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โดยมีผู้งดออกเสียง 2 เสียง
.
สำหรับเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. ดังกล่าวจะเป็นฝั่งรัฐบาล โดยมีเสียงที่น่าสนใจคือ เสียงจากพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่เพิ่งถอนตัวจากฝ่ายค้าน โดยมีเพียง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. ดังกล่าว ส่วน 4 ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรคอนาคตใหม่ ทั้งหมดไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. นี้ ทั้ง ศรีนวล บุญลือ พรรคภูมิใจไทย ฐนภัทร กิตติวงศา พรรคพลังประชารัฐ และ กวินนาถ ตาคีย์กับจารึก ศรีอ่อน พรรคพลังท้องถิ่นไท
ก่อนลงมติ ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวสรุป ญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต โดยระบุว่า ก่อนอื่นขอขอบคุณ ส.ส.ที่ร่วมอภิปรายญัตตินี้มากถึง 47 ท่าน แสดงว่าเราในฐานะ ส.ส.ให้ความสำคัญกับการต้านรัฐประหาร ทั้งนี้ ตนอยากพูดถึงการรัฐประหาร 2 ครั้งสุดท้ายในประเทศไทยที่เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2540 ถือเป็นฉันทามติสังคมทางการเมืองครั้งสุดท้าย เป็นสิ่งที่พลังการเมืองพร้อมใจกันยอมรับ เราเดินหน้าใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคง เดินหน้าสามารถตรวจสอบได้
แต่ใช้มาระยะหนึ่งก็เกิดพลังการเมืองกลุ่มหนึ่งตั้งข้อกล่าวหาว่า เกิดเสียงข้างมากและปราศจากการตรวจสอบ จนนำมาซึ่งความขัดแย้ง แต่แล้วก็ไม่ใช้วิถีทางประชาธิปไตยแก้ไข สุดท้ายนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จากนั้น ก็มีการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อกำจัดพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเสมอ แต่ก็ไม่สำเร็จ จนนำมาสู่การเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นรัฐประหารซ่อม นี่เป็นจุดเริ่มต้นการเมืองแตกขั้วถึงที่สุด โดยฝ่ายหนึ่งอ้างความชอบธรรมเรื่องการเลือกตั้ง ขณะที่อีกฝ่ายอ้างความชอบธรรมเรื่องอำนาจตรวจสอบและการจำกัดการใช้อำนาจ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอ้างชอบธรรมคนละด้าน แต่เรื่องปกติในระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้น ต้องมีความชอบธรรมทั้ง 2 ด้าน
"รัฐประหาร 2549 ทำลายความชอบธรรมทั้ง 2 ด้านนี้ ความชอบธรรมเรื่องการเลือกตั้งถูกทำลาย ทำให้คนจำนวนมากไม่เชื่อระบบรัฐสภา ความชอบธรรมเรื่องอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจ คนจำนวนมากเห็นว่ามีเรื่องของสองมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐประหารซ่อมที่ตามมาเมื่อพฤษภาคม 2557 ก็ไม่ใช่ทางออก เราไม่สามารถขจัดความขัดแย้ง เราไม่สามารถริเริ่มความปรองดอง เราไม่สามารถรื้อฟื้นระบบรัฐสภา เราไม่สามารถรื้อฟื้นระบบตรวจสอบ เราไม่สามารถสร้างหลักการประชาธิปไตยได้ แต่สิ่งที่เราได้คือนายพลคณะหนึ่งที่มาครองอำนาจและสืบทอดอำนาจยาวนานมาจนทุกวันนี้ นี่เป็นเหตุผลที่ผมร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำหรับสร้างฉันทามติในครั้งนี้" ปิยบุตร กล่าว
ปิยบุตร กล่าวอีกว่า รัฐประหารเกิดขึ้นและสำเร็จได้เมื่อมีการยอมรับและไม่มีการต่อต้าน ดังนั้น ถ้าทหารผู้ใต้บังคับบัญชานายพลที่ยึดอำนาจดื้อแพ่งไม่ทำตาม รัฐประหารไม่มีทางสำเร็จ ถ้าข้าราชการไม่ปฏิบัติตามนายพลคณะนั้นเขาก็จะไม่มีกลไกรัฐ ไม่มีมือไม้สำหรับทำงาน ถ้าเนติบริกรไม่รับใช้นายพลคณะนั้น เขาก็ไม่มีทางรู้ว่าเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันตนเองและสืบทอดอำนาจนั้นทำอย่างไร ถ้าตุลาการไม่ยอมรับและกล้าตัดสินว่ารัฐประหารไม่ชอบ ผู้ก่อการเป็นกบฏ รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จ
ถ้า ส.ส.ตระหนักว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร และเป็นผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง ทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ขัดแย้งกันได้ภายใต้กฎกติกาและพร้อมจับมือกันต่อต้าน รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จ ถ้านักธุรกิจใหญ่ นายทุนใหญ่ไม่ลงขัน ไม่เป็นทุน ไม่เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้นายพลคณะนั้น การรัฐประหารย่อมไม่สำเร็จ ถ้าสื่อมวลชนพร้อมใจนำเสนอข่าวต่อต้าน ไม่เรียกบิ๊ก ไม่เรียกลุง ไม่เรียกอา รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จ และถ้าประชาชนคนไทยยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย และเห็นว่าการัฐประหารเป็นสิ่งแปลกปลอม และร่วมกันต่อต้าน รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จ
ปิยบุตร กล่าวว่า เราในฐานะ ส.ส.ชุดที่ 25 ที่ผ่านมามีมติตั้ง กมธ. ที่สำคัญหลายคณะ เราสามารถสร้างฉันทามติร่วมกันระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลได้ และคณะหนึ่งที่มีความสำคัญ นั่นคือ กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีอีกญัตติหนึ่งนั่นคือ ขอตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำประกาศและคำสั่งของ คสช.และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ซึ่งไม่สามารถตั้งได้ สำหรับญัตติที่ตนกำลังอภิปรายนี้ ควรเป็นญัตติที่หาฉันทามติร่วมกันได้
เพราะญัตตินี้ไม่ใช่เรื่องฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของ ส.ส.ทุกท่าน นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องการเอาชนะคะคานกัน แต่เป็นการประกาศศักดิ์ศรี ส.ส. ว่า เราเป็น ส.ส. ที่จะไม่ยอมจำนนรัฐประหาร เราไม่ใช่ผู้แทนคณะรัฐประหาร ดังนั้น ขอสมาชิกมองข้ามเรื่องมติวิปรัฐบาล แต่มองให้เห็นว่า ญัตตินี้ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงรัฐบาล การมี กมธ.ชุดนี้ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ รัฐบาลยังคงเดินหน้าทำงานต่อไปได้ แต่หากญัตตินี้จะกระทบใครก็คงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ยึดอำนาจมา คงกระทบรัฐมนตรีที่เป็นนายพลจำนวนมากที่ได้ดำรงตำแหน่งเพราะยึดมา
"ถ้าเราเพื่อนสมาชิกเอาเรื่องความมั่นคงรัฐบาลมาเป็นกังวลใจไม่ให้เห็นชอบ จะกลายป็นว่า ตกลงเราเป็นผู้แทนราษฎร หรือเป็นทหารที่ต้องรับฟังคำสั่งของนายพลที่ยึดอำนาจมา หากมติของที่ประชุมคือไม่ตั้ง กมธ.ชุดนี้ แสดงว่าคราบไคลรัฐประหารยังอยู่กับเรา แสดงว่าเงาทมึนของคณะรัฐประหารยังอยู่รอบสภา แต่ตรงกันข้าม ถ้าตั้งได้ ย่อมแสดงว่า ส.ส.เราพร้อมจับมือร่วมเดินหน้าไม่ให้เกิดรัฐประหารเกิดอีก เป็นการสร้างความหวังให้กับประชาชนอย่างแท้จริง"
ส.ส.อนค.ชวน ปธ.สภาฯร่วมโหวตยืนยันเชื่อมั่นในระบบ สรุปมติ 242 - 215 ไม่เห็นด้วยตั้ง กมธ.
ปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า การอภิปรายสรุปญัตติครั้งนี้ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการอภิปรายสรุปครั้งสุดท้ายของตนเองหรือไม่ เพราะถึงแม้ตนจะมั่นใจในข้อกฎหมายว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ถูกยุบอย่างแน่นอน แต่สุดท้ายชะตากรรมของตนก็อยู่ในมือศาลรัฐธรรนูญ ตนอยากขอแรง ส.ส. ร่วมสนับสนุนญัตตินี้ เพราะนี่ไม่ใช่วาระของตน นี่ไม่ใช่วาระพรรคอนาคตใหม่ นี่ไม่ใช่วาระพรรคฝ่ายค้าน นี่ไม่ใช่วาระฝ่ายรัฐบาล แต่นี่เป็นวาระแห่งชาติ ที่ ส.ส. ต้องร่วมมือกัน มนุษย์เป็นผู้ขีดเขียนประวัติศาสตร์ ของให้ สส ร่วมกันยกมือเห็นชอบเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน
_____________________
Comentários