top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

รมว.ทรัพยากรฯ ระบุ ไทยจะแล้งที่สุดในรอบ 10 ปี


นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า ปีนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะน้ำแล้งที่สุดในรอบ 10 ปี โดยขอความร่วมมือให้ประชาชนทั่วไป และเกษตรกรใช้น้ำอย่างประหยัด และเตรียมใช้น้ำบาดาลทดแทนน้ำบนดิน


นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะน้ำแล้ง แต่เชื่อว่าจะสามารถฝ่าวิกฤตภัยแล้งได้ โดยขอประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ


“ปีนี้จะเป็นปีที่ ผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนคนไทยทราบว่าแล้งหนักมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ประเด็นแรกเราก็อยากขอความร่วมมือไปยังพี่น้องประชาชนคนไทยในการที่จะประหยัดน้ำ ในการใช้น้ำไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ๆ ส่วนพี่น้องเกษตรกรผมเชื่อว่า ประหยัดกันอยู่แล้ว” นายวราวุธ กล่าว


“กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็จะมีกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล วันนี้ผมได้ให้เป้าหมายนะครับว่า เมื่อน้ำบนดินหมดแล้ว หรือว่าอยู่ในสภาวะที่วิกฤต แหล่งน้ำเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศ คือ น้ำใต้ดิน ปัจจุบัน ประเทศไทยมีน้ำใต้ดินอยู่เกือบ 3 หมื่นลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับเขื่อนขนาดเล็ก สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ การนำน้ำบาดาลมาใช้ดูแลพี่น้องประชาชน เรื่องการอุปโภค บริโภค ต่อมาก็จะเป็นการใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร” นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติม


นายวราวุธ ระบุว่า ถ้าประเทศไทยสามารถใช้ทฤษฎีนาแปลงใหญ่ มีบ่อบาดาลควบคู่กันกับกรมทรัพยากรน้ำ เชื่อว่า ช่วงที่เกิดภาวะน้ำแล้งนี้ประเทศไทยจะสามารถฝ่าวิกฤตไปได้ โดยกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะทำงานร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก ทั้งกระทรวงฯ จะทำงานบูรณาการเป็นหน่วยงานเดียวกัน


ด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ทำเนียบการรัฐบาลในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือแล้ว


“ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเตรียมการรับมืออย่างใกล้ชิด ในการขุดบ่อน้ำบาดาล หาแหล่งน้ำสำรอง ตั้งจุดแจกจ่ายน้ำปะปา น้ำอุปโภค บริโภค ผมสั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยเฉพาะตำรวจ ทหาร ส่วนเรื่องของพื้นที่เกษตรกรก็ต้องไปดูว่าจะทำยังไง” พลเอกประยุทธ์ กล่าว


“ให้แนวทางในเรื่องของพลังงานไป ซึ่งมีแผนงานเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชุมชน ต้องหาพื้นที่ให้เหมาะสม และประชาชนมีส่วนร่วม และปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นพืชพลังงานที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่คงทำไม่ได้แล้ว เพราะเต็มแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี แล้ว ใครจะไปพูดว่าจะมีการตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มันไม่มีแล้ว” พลเอกประยุทธ์ ระบุ


—-


ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้งแล้วใน 13 จังหวัด 67 อำเภอ 409 ตำบลทั่วประเทศ คือ จังหวัดเชียงราย น่าน นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และนครราชสีมา


โดย สถาบันสารสนเทศน์ทรัพยากรน้ำ(สสน.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ปริมาณฝนเฉลี่ยโดยรวมของไทยน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 18 โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง พบมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 24 และพบ เขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ถึง 9 เขื่อน คือ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำนางรอง เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งเขื่อนอุบลรัตน์น้ำอยู่ในขั้นวิกฤต ปัจจบัน ใช้น้ำใต้ระดับกักเก็บไปแล้ว 80 ล้านลูกบาศกเมตร อาจต้องใช้น้ำก้นอ่างสำหรับการอุปโภค-บริโกคตลอดหน้าแล้งนี้ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร เช่นเดียวกับภาคใต้มีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ มีน้ำไหลลงเขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลางน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะเขื่อนรัชชประภา


ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดเล็กสะท้อนความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในประเทศในช่วงฤดูร้อนไปจนถึงต้นฤดูฝน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 43 จังหวัด


ปัจจุบัน รัฐบาลได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไข และบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63 ขึ้นแล้ว โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนื อคือ จังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ส่วนภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบปัญหาการใช้น้ำเกินแผนที่จัดสรรไว้ และน้ำมีค่าความเค็มเกินกว่ามาตรฐานจากปริมาณน้ำทะเลที่ลุกล้ำเข้ามา ซึ่งจะแก้ปัญหาโดยการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองคือ เขื่อนวชิราลงกรณ์ มาช่วยในการผลักดันน้ำเค็ม ทั้งนี้ขอความร่วมมือเกษตรกรเลี่ยงการทำนาในช่วงนี้ เนื่องจากเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อน้ำแล้ง และอาจทำให้นาข้าวเสียหายได้


—-


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #แล้ง

8 views0 comments

Comments


bottom of page