top of page
Writer's pictureThe Isaander

อีสานกำลังวิกฤต แล้งจัด-ท่วมหนัก รุนแรง



ปีนี้พญาแถนเล่นตลก ผ่านเข้าพรรษามาแล้วฝนยังบ่ตกข้าวนาแห้งแล้ง ข้าวเหนียวดีดตัวขึ้น เพราะข้าวเริ่มขาดพลาด อีสานแล้งกันถ่วนหน้า พอตกมาปลายเดือนสิงหาคม พายุเข้าเกิดน้ำท่วมฉับพลันหลายพื้นที่ แต่มองย้อนไปทุ่งกุลาบางแห่งยังแห้งดินแตกเขิบอยู่ น้ำในเขื่อนแห้งหอดที่สุดในรอบ20ปี สุรินทร์น้ำประปาจวนจะหมดจังหวัด


เมื่อปี พ.ศ. 2561 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยงานวิจัยผลการวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองคาดการณ์สภาพอากาศในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ชี มูล ย้อนหลัง 60ปี พบว่า 11 จังหวัด มีแนวโน้มเกิดภัยพิบัติจากฝน-แล้งรุนแรงขึ้นในอนาคตอีก10ปีต่อจากนี้ไป


โดยมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก 6 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซาก 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มุกดาหาร ชัยภูมิ นครราชสีมา และสุรินทร์


ทั้งนี้จากงานวิจัยดังกล่าวพบข้อมูล พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก 6 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี โดยแบ่งเป็นพื้นที่สีแดงเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ที่มีแนวโน้มทวีรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ส่วนมากจะอยู่บริเวณตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ลุ่มแม่น้ำโขง รองลงมาเป็นพื้นที่สีส้ม ในลุ่มแม่น้ำมูล และพื้นที่สีเหลืองที่เกือบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง


และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งซ้ำซาก 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มุกดาหาร ชัยภูมิ นครราชสีมา และสุรินทร์ ประกอบไปด้วยพื้นสีแดง เป็นพื้นที่เฝ้าระวังการเกิดภัยแล้งรุนแรงขึ้นในอนาคต ส่วนมากจะกระจุกตัวบริเวณตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในลุ่มแม่น้ำชี และบางส่วนของทางตะวันออกของภาค รองลงมาคือพื้นที่สีส้ม ในลุ่มแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง และพื้นที่สีเหลืองที่เกือบจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง


ศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ชาลีรักษ์ตระกูล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ทำวิจัยเรื่อง Modeling and analysis of rainfall processes in the context of climate change for Mekong, Chi, and Mun River Basins (Thailand) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้กับดิอิสานเด้อว่า


“ พื้นที่อีสานมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่สูงขึ้นมากในจากนี้ไปจนถึง10ปีข้างหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น เราต้องเตรียมการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนัก แล้งจัดถี่ขึ้นและความรุนแรงมากขึ้นด้วย เกษตรกรที่ต้องพึ่งพาฝนฟ้าอากาศ จะต้องเตรียมการรับมือ รวมไปถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวของต้องเร่งเตรียมมาตราการรองรับ ”


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการวิเคราะห์เชิงสถิติจากการบันทึกข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝนย้อนหลังเท่านั้น ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความแตกตื่น แต่การศึกษาในครั้งนี้จะมีประโยชน์สำหรับการเตรียมรับมือกับอุทกภัยและภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ ยังสามารถคาดการณ์สถานการณ์น้ำฝนล่วงหน้าในอนาคตได้


#TheIsaander #ข่าวอีสาน #อีสาน #นำ้ท่วม #ภัยแล้ง #ฝนตก #พญาแถน #ข้าวแพง #ข้าวเหนียวห่อละ10บาท #ได้ปั้นเดียว #ทุกข์คัก — at สกลนคร.

51 views0 comments

Comments


bottom of page