top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

การต่อซู่ว์ของ กะเทย ผู้กำกับหนัง และ ส.ส. ที่ชื่อ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์



“ประเด็นเร่งด่วนของ LGBT ที่ต้องแก้ พี่มองว่าเป็นเรื่องการเลือกปฏิบัติเรื่องการแต่งกาย คนที่มีความหลากหลายทางเพศควรได้แต่งกายตามเพศสภาพ เพราะการแต่งกายมันมีผลกระทบกับจิตใจ และการทำงาน มันเป็นสิทธิเสรีภาพเหนือเนื้อตัวร่างกายของเรา ซึ่งเราพึงมี ถ้าผู้ชายโดนบังคับให้ใส่กระโปรง แต่งหญิง หรือถ้าผู้หญิงถูกบังคับให้ตัดผมสั้น แล้วแต่งตัวเป็นผู้ชาย ก็น่าจะรู้สึกอึดอัด เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา คนอื่นอาจจะมองว่ามันเรื่องเห็นแก่ตัว แต่เราเตรียมใจไว้แล้ว เตรียมพร้อมที่จะทำความเข้าใจ”


ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส. ป้ายแดง ปากแดง ในชุดกระโปรงสีแดง พูดกับเราด้วยสายตามุ่งมั่น น้ำเสียงของเธอจริงจัง ชัดเจน และฉะฉาน แม้เราจะพยายามบอกเธอแต่แรกว่า ดิ อีสานเด้อ ชอบเล่าเรื่องติดตลกมากกว่าที่จะวางมาดขึงขัง เข้มข้นเป็นนักวิชาการ แต่เธอก็ยังยืนยันที่จะอธิบายสิ่งที่เธอกำลังทำ และปัญหาที่เธอกำลังหาทางแก้ไข ด้วยท่าทีแบบนี้


“เรื่องนี้พี่ตลกไม่ได้จริงๆ” เธอบอกกับเรา


คำสำคัญ : LGBT คือ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยย่อมาจาก Lesbian-หญิงรักหญิง, Gay-ชายรักชาย, Bisexual-รักได้ทั้งชายและหญิง, และ Transgender-ข้ามเพศ(กะเทย หรือทอม)


ในปัจจุบัน มีการใช้คำว่า LGBTQI ด้วย ซึ่ง Q หมายถึง Queer-คนที่ยังไม่แน่ใจว่าเพศอะไร แต่มีเพศไม่ตรงกับที่สังคมกำหนด หรือคนที่ไม่ต้องการระบุว่า ตนเองมีเพศอะไร และ I มาจาก Intersex-คนที่มีลักษณะทางกายภาพแตกต่างจากปกติ ทำให้ไม่สามารถระบุเพศได้ชัดเจน แต่ในข้อเขียนชิ้นนี้ เราขออนุญาตใช้คำว่า LGBT แทนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็แล้วกันเด้อ


ขอทำความเข้าใจครับ เราสามารถเรียกพี่ว่าอะไรได้บ้าง? นอกจาก LGBT หรือ คนข้ามเพศ


“พี่บอกตั้งแต่วันแรกแล้วว่า พี่อยากเป็น ส.ส. กะเทยแต่งหญิงคนแรก”


พจนานุกรมไทย-อังกฤษ-ฝรั่งเศส-ละติน “สัพะ พะจะนะ พาสา ไทย” เขียนโดย Jean-Baptiste Pallegoix (ฌอง บาป์ติ๊สเต่ ปาลูกกั่ว หรือที่ในประเทศไทยเรียกท่านว่า พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ เป็นบาทหลวงฝรั่งเศสที่มาอาศัยอยู่ในไทยช่วง ร.3-ร.4) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2397 คือ หนึ่งในหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของไทย ที่ระบุถึง สิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยใช้คำว่า “กเทย”(กะเทย) ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Hermaphrodite(เห้อมาฟฟ่อได่) ที่สามารถขยายความเป็นภาษาไทยอีกทีได้ว่า คนที่มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง ซึ่งคำว่า Hermaphrodite นี้เอง ในปัจจุบัน พจนานุกรมบางฉบับ ก็แปลว่า ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยเช่นกัน


ไม่ได้รู้สึกว่าถูกเหยียดอะไรใช่ไหมครับ?


“จะเรียกกะเทย คนหลากหลายทางเพศ คนข้ามเพศ พี่ก็ไม่ได้รู้สึกถูกเหยียดอะไรเลย พี่คิดว่า มันเป็นคำที่สังคมรู้จัก สังคมเข้าใจว่าหมายถึงเรา เราก็โอเคหมด ไม่ได้ซีเรียสกับอะไรแบบนั้น เพราะจริงๆแล้ว จะเรียกแบบไหนมันก็เหมือนเดิมนั่นแหละ มันอยู่ที่ทัศนคติ ไม่ใช่คำเรียกอย่างเดียว ก็คำมันมีเท่านี้”


ก่อนจะคว้าตำแหน่ง “กะเทยแต่งหญิงคนแรก” ที่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย เธอเคยคว้าตำแหน่งที่เธอน่าจะไม่อยากได้มาแล้วนั่นคือ “ผู้กำกับภาพยนตร์คนแรก” ที่หนังถูกห้ามฉายในประเทศไทย ด้วยอำนาจของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551


การที่ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเธอ Insects in the Backyard(แมลงรักในสวนหลังบ้าน) ถูกแบน ทางหนึ่งทำให้เธอเป็นที่รู้จักมากกว่าเคย(เพราะนิตยสารหนัง หรือรายการหนังต่างโฟกัส และเอาใจช่วยเธอ) แต่อีกทางหนึ่งก็ทำให้เธอต้องลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อให้หนังที่เธอลงแรงได้ลงโรง


เธอต้องใช้เวลาถึง 7 ปี กว่าที่แมลงตัวนั้นจะได้โบยบินบนจอเงิน การต่อสู้ของเธอเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันกับที่ นักประชาธิปไตยหลายผู้หลายนามต้องลุกขึ้นเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง หลังจากการนั่งของ คสช. มานานถึง 5 ปี และก็เพราะหนังโดนแบนนี่แหละ ทำให้เธอเริ่มคิดว่า เธอควรจะเป็น ส.ส. เพื่อเคลื่อนสิ่งที่เธอเห็นว่าควร การต่อสู้เพื่อหนัง กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จึงมาบรรจบกันตรงนี้


พี่เปิดเผยว่า ตัวเองเป็นกะเทย เมื่อไหร่?


“จริงๆ กับที่บ้าน พี่ก็เปิดเผยมาตั้งแต่มัธยมแล้ว ที่บ้านไม่ได้ว่าอะไร ส่วนนึงอาจเพราะ พ่อตายไปตั้งแต่เรายังอยู่ ม.4 แต่ถามว่า พ่อรู้ไหม? พี่ว่าพ่อก็รู้ แต่พ่อก็ไม่เคย Question (ตั้งคำถาม)กับพี่เลยว่า ทำไมถึงเป็นตุ๊ด แต่ถ้าถามว่า กลัวพ่อรู้ไหม? ก็กลัวแหละ แต่หลังจากพ่อตาย เราก็เต็มที่กับสิ่งที่เราเป็น แม่ก็รู้ แล้วแม่ก็ไม่เคยว่าอะไร เราเติบโตมาโดยที่แม่รับรู้ตลอด”


ธัญญ์วาริน เกิดที่โคราชในปี 2516 ใช้ชีวิตในวัยขบเผาะ เป็นสาวน้อยในร่างหนุ่มที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงเรียนชายล้วน ก่อนที่เธอจะโบยบินจากบ้านสู่ต่างถิ่นเพื่อเรียนในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส และโทภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น


“แม่ก็บอกเราเสมอว่า ไม่ว่ากอล์ฟจะเลือกทำอะไรเป็นอะไร ให้กอล์ฟเลือกทำสิ่งที่กอล์ฟมีความสุข แล้วแม่ก็จะมีความสุขด้วย มันเลยเป็นแรงบันดาลใจให้เราเป็นตัวของตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องแบ่งสมองไปคิดหรือกลัวว่า ที่บ้านจะรู้ว่าเรา เป็นกะเทย เหมือนคนที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนต้องกลัว”


“หลายคนต้องแอบแต่งหญิงนอกบ้าน บางคนต้องปกปิดตัวเอง บางคนต้องแต่งงานมีลูก มีเมีย ทั้งที่ตัวเองชอบผู้ชาย สำหรับพี่ สิ่งเหล่านี้มันเป็นตัวบั่นทอนความรู้ความสามารถพอสมควร เพราะว่า เราต้องแบ่งสมองมากังวลเรื่องนี้ แทนที่จะได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ แล้วก็ทำสิ่งที่เป็นอาชีพ การงาน หรือสิ่งที่เราสนใจให้ประสิทธิภาพที่สุด ตอนปี 40 ที่พี่เป็นครู พี่ยังต้องแต่งตัวเป็นผู้ชาย เพื่อปกปิดว่าเราเป็นตุ๊ดเลย”


หลังจากเรียนจบ(หรือระหว่างที่เรียนอยู่) พี่กอล์ฟ ได้ประกอบอาชีพครู ควบคู่กับงานในวงการหนังและละคร เธอเคยเป็นนักแสดง คนเขียนบท โปรดิวเซอร์ คนสอนการแสดง และแน่นอนเธอเป็นผู้กำกับ(กำกับภาพยนตร์เด้อ บ่แม่นเป็นตำรวจอยู่โรงพัก) ที่กวาดรางวัลมาแล้วมากมายก่ายกอง ตลอดอายุงานในวงการกว่า 20 ปี แม้ปัจจุบัน เธอจะยังยุ่งเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์อยู่ไม่มากก็มาย แต่เชื่อว่า เดี๋ยวนี้ พ่อแม่พี่น้องน่าจดจำเธอในฐานะ ส.ส. แต่งสวย หลายกว่าการเป็นผู้กำกับแล้ว


การเป็น ส.ส. นี่อยู่ใน Storyboard ชีวิตของพี่ไหม?


“ไม่เคยเลย”


แล้วเริ่มคิดเรื่องจะมาเป็น ส.ส. เมื่อไหร่?


“เริ่มคิด ตอนที่รู้สึกว่า มันไม่แฟร์กับการที่เราถูกเลือกปฏิบัติ ยิ่งเราทำหนังที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศ แล้วเราโดนแบน ทำให้เราต้องต่อสู้-ฟ้องศาล มันหล่อหลอมเรา และเกิดคำถามว่า เราจะรอให้ใครมาทำเพื่อเราวะ? เราเลยได้คำถามใหม่ที่ว่า ทำไมเราไม่ทำเพื่อตัวเราเอง?"


แววตาเธอเป็นประกาย… เอ่อ เพราะมันสะท้อนป้ายไฟของร้านรวงบนถนนข้าวสารนี่แหละ (ถถถ) ช่าย ดิ อีสานเด้อ เดินคุยกับพี่กอล์ฟ บนถนนข้าวสาร อยากสิหาถนนข้าวเหนียวให้เข้ากับความอีสานอยู่ดอก แต่มันหาบ่พ้อ


“คำว่า ทำเพื่อตัวเราเอง ไม่ใช่แค่ เพื่อเราคนเดียว แต่เพื่อคนแบบเรา ที่มีอีกตั้ง 4 ล้านคนในประเทศนี้ (มีข้อมูลในงานข่าวและงานเขียนหลายชิ้นบนอินเตอร์เน็ตที่ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากร LGBT ที่เปิดเผยราว 4 ล้านคน และหากรวมแบบที่ยังไม่เปิดเผย ประมาณการว่า จะมีมากถึง 7 ล้านคน) เพราะฉะนั้นเนี่ย เราไม่ได้ ทำเพื่อตัวเราเองคนเดียว เราทำเพื่อคนอีกเป็นหลายล้านคน เรากำลังทำให้คนทั่วไปเข้าใจคนที่เป็นแบบเราทั้งหมด ฉะนั้น เราจะไม่รอให้ใครมาสู้เพื่อเรา”


เข้าสู่การเมืองได้ยังไง?


“เราคิดว่า เอาวะโอกาสมันมาแล้ว พรรคอนาคตใหม่มาคุยกับเรา คุยแล้วเราก็รู้สึกว่า ถ้าเราเป็นกะเทย ที่เป็น ส.ส. เข้าไปนั่งในสภา มันเป็นโอกาสที่จะทำให้เห็นในเชิญสัญลักษณ์ มันไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นี่คือครั้งแรก มันจะถูกตั้งคำถาม มันจะต้องถูกสังคมมอง โลกทั้งโลกจะมา Focus(ให้ความสนใจ) ซึ่งก็เป็นจริงอย่างที่เราคิด เพราะ นักข่าวจากหลายสำนักทั่วโลกมาสัมภาษณ์เรา ทำให้เราได้พื้นที่ เราได้แสดงความคิดเห็น นี่แหละสิ่งที่เราต้องการ”


ในประเทศไทย ยลดา เกริกก้อง สวนยศ ถือเป็นนักการเมือง(ท้องถิ่น)ข้ามเพศคนแรก โดยเธอเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)น่าน การแต่งกายด้วยชุดข้าราชการหญิงเข้าประชุมสภา อบจ. เมื่อปี 2555 ของเธอ กลายเป็นที่สนใจบนโลกอินเตอร์เน็ตมาแล้ว และแน่นอน เธอถูกวิจารณ์ทั้งด้านบวก และด้านลบ จากการกระทำที่ท้าทายขนบครั้งนั้น


ในระดับสากล นักการเมือง LGBT มีจำนวนมากจนนับนิ้วมือและเท้าไม่ไหว แต่หากนับเฉพาะ กะเทยแต่งหญิง Georgina Beyer(จอร์จี๊นะ เบเย่อร์) ผู้สมัครจากพรรคแรงงาน(Labour Party) ของ New zealand(นูว์ ซี้ลั่นด์) ที่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. ในปี 1999 คือ ส.ส. กะเทยแต่งหญิงคนแรกของโลก ไม่ใช่เพียงเธอเป็น ส.ส.กะเทยคนแรกเท่านั้น แต่เธอยังเป็นอดีต ผู้ประกอบอาชีพบริการทางเพศ(Sex Worker) และเมื่อได้เข้าทำงานในสภา เธอกลายหนึ่งแรงสำคัญที่ผลักดัน พระราชบัญญัติปฏิรูปการค้าประเวณี(Prostitution Reform Act 2003) ซึ่งส่งผลให้คนทำงานบริการทางเพศใน New zealand ได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น



เตรียมใจไว้ก่อนไหมว่า การแต่งหญิงเข้าสภา จะถูกแรงต้าน?


“พี่รู้อยู่แล้วว่าพี่มาทำอะไร การที่เขาจะไม่เข้าใจไม่แปลก เพราะเรามาเพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่ว่าเขาจะไม่เข้าใจด้วยปฏิกริยาอย่างไรก็ตาม มันเป็นสิ่งที่พี่เตรียมใจไว้แล้ว คิดว่าพร้อมจะรับมือ แน่นอนประเด็นการเปิดตัวว่าจะแต่งหญิงไปทำงานตรงนั้น เราจะต้องถูกสังคมตั้งคำถามอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราวางแผนไว้ เพราะเมื่อมันเกิดกระแสสังคม แสดงว่า มันถูกตั้งคำถาม และหาคำตอบ แน่นอน คำตอบอาจจะไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่อย่างน้อยเขาก็จะได้คิดต่อว่า ทำไมเราต้องทำแบบนี้”


นอกจากการแต่งหญิงเข้าสภาเพื่อเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์แล้ว ในฐานะ ส.ส. ตอนนี้กำลัง ต่อสู้เรื่องอะไร?


“เราพยายามผลักดันให้มี คณะกรรมาธิการสามัญกิจการผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการทำงานในรัฐสภา ส.ส. จะแบ่งขั้วกันเป็น ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายรัฐบาลทำหน้าที่ตามกระทรวง และกรมต่างๆ ในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาต่างๆของประชาชนจะมีคณะกรรมาธิการสามัญดูแลรับผิดชอบด้านนั้นๆ ซึ่งฝ่ายค้านจะสามารถเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการนี้ด้วย เช่น ปัจจุบันมี คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ชาติพันธุ์ และความหลากหลายทางเพศ, คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ หรือ คณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย เป็นต้น”


“คณะกรรมาธิการเหล่านี้มีขึ้นเพื่อคอยแก้ปัญหาต่างๆ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และแน่นอนที่ผ่านมาในอดีต ไม่เคยมีคณะกรรมาธิการอะไรเลยที่พูดถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศโดยตรง แยกออกมาเฉพาะ ซึ่งตัวพี่เองก็จะต่อสู้เพื่อให้เกิดคณะกรรมธิการใหม่นี้ขึ้น เพราะพี่มองว่า ปัญหาของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่เหมือนกับปัญหาเด็ก สตรี คนชรา คนพิการ และชาติพันธุ์”


แตกต่างยังไง?


“ที่ว่าไม่เหมือนคือ เด็ก สตรี คนชรา คนพิการ มีปัญหาความเดือดร้อนของเขา จากความไม่เท่าเทียมทางสังคม การถูกเลือกปฏิบัติต่างๆ ซึ่งคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีมิติที่ต่างออกไป มีความลึกซึ้งต่างออกไป เราไม่ได้รับความเท่าเทียม หรือสิทธิ เพราะเขาไม่ได้มองว่าเราเป็นมนุษย์คนนึงที่เท่ากับคนอื่น”


อะไรทำให้พี่คิดอย่างนั้น?


“ยกตัวอย่างปัญหา เช่น ครูคนนึงมีความหลากหลายทางเพศ เป็นกะเทยแต่งหญิง สอบบรรจุข้าราชการได้เป็นครูผู้ช่วย ต้องการจะแต่งตัวเป็นผู้หญิงไปสอน แต่ทำไม่ได้ รัฐให้เราแต่งตัวตามเพศกำเนิด เขาไม่ได้มองเราเป็นมนุษย์คนนึงที่เรามีสิทธิเลือก มีเจตจำนงที่จะเป็นผู้หญิงในแบบของเรา เราทำไม่ได้ แม้ตามรัฐธรรมนูญจะบอกว่า เรามีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน”​


“หรือ สมมติ พี่รักผู้ชายสักคนนึง พี่อยากจะแต่งงาน-จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับเขา แล้วได้สิทธิตามที่คู่สมรสทุกคนควรมี พี่ทำได้ไหม? พี่ยังทำไม่ได้เลยค่ะ ก็แปลว่า กฎหมายของประเทศไทย ยังไม่ให้เราเป็นมนุษย์เท่ากับคนอื่นเลย เราถูก Bully(กลั่นแกล้ง) ถูกเลือกปฏิบัติ เราจะไปสมัครงาน ถ้าเขาเห็นแค่ประวัติการศึกษา เขารับเรา แต่พอเราไปสัมภาษณ์แล้วแต่งตัวเป็นผู้หญิง เขาไม่รับ นี่เราเท่ากับคนอื่นแล้วเหรอ?”


“เรารู้สึกเรื่องพวกนี้ตั้งแต่เด็ก เพราะหนังสือเรียนยังบอกว่า โลกนี้มีแค่เพศชายกับเพศหญิงเลย หนังสือเรียนประเทศเราไม่เคยบอกว่า มีคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ บางทีกลับบอกว่า คนพวกนี้เป็นผู้ป่วยจิตเภท หรือ เป็นคนที่มีความเบี่ยงเบนทางเพศ แปลว่า เราถูกตัดสินไปแล้วว่า เราคือผู้ป่วย เขาไม่ได้มองที่ความรู้ความสามารถ”


สิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่สิ่งที่หล่นร่วงลงมาจากฟ้า ในประวัติศาสตร์แล้ว ความเป็นมนุษย์ที่ว่าแลกมาด้วยการต่อสู้อย่างยากลำบาก ที่สหรัฐอเมริกา ในปี 1970 ริเชิร์ด เบเค่อร์ (Richard J. Baker) และ เจมส์ หมักค้อแหน่ว(James M. McConnell) ได้ยื่นเรื่องขอจดทะเบียนสมรสร่วมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอในรัฐมิเนสโซดะ(Minnesota) แต่เจอเร่าด์ เนวสั่น(Gerald Nelson) นายทะเบียนปฏิเสธคำขอของทั้งคู่ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทั้งสองคนเป็นผู้ชาย


เบเค่อร์ จึงฟ้องต่อศาล เพื่อเอาผิด เนวสั่น โดยอ้างว่า กฎหมายแต่งงานไม่ได้ระบุเกี่ยวกับเพศ(คือ ไม่ได้บอกว่า ต้องเป็นชายหรือหญิงเท่านั้นจึงจะแต่งงานกันได้) อย่างไรก็ดี ศาลชั้นต้น และศาลสูงของรัฐต่างเห็นด้วยกับ เนวสั่น การแต่งงานอย่างถูกกฎหมายของ เบเค่อร์ และ หมักค้อแหน่ว จึงไม่เกิดขึ้น


ปี 1971 เบเค่อร์ และหมักค้อแหน่ว ได้แต่งงานกันตามหลักศาสนา แต่การต่อสู้ในชั้นศาลของพวกเขายังดำเนินไป 3 ปีให้หลัง แมริลั่นด์(Maryland) กลายเป็นรัฐแรกในสหรัฐอเมริกาที่ออกกฎหมายห้ามการแต่งงานเพศเดียวกัน และกฎหมายทำนองนี้ถูกตราขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกาเรื่อยมา จนในปี 1994 ทุกรัฐมีกฎหมายห้ามการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน


ในฝั่งยุโรป ปลายปี 2000 เนเด้อลั่นส์(Netherlands) กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ การแต่งงานของคนรักร่วมเพศถูกกฎหมาย หลังจากที่ ร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ความจริงแล้ว เมืองกังหันลม อนุญาตให้ คนเพศเดียวกันร่วมเพศกันอย่างถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1811 แล้ว(เข้าใจว่าสมัยก่อน ถ้าถูกจับได้ว่า มีความสัมพันธ์ทางเพจระหว่างคนเพศเดียวกันคงผิดกฎหมายและโดนลงโทษ) แต่ก็ยังมีการกีดกันทางเพศอยู่มาก กว่าที่ LGBT จะสามารถทำงานในกองทัพได้ก็ต้องรอถึงปี 1973 ดังนั้นการได้มาซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนรักเพศเดียวกัน จึงไม่ใช่เส้นทางที่สวยหรูนุ่มนิ่ม พาฝัน ลั๊นลา เฮฮา พาร์ที่ ชูวี่ดู๋ ดู้ดู


กลับมาที่สหรัฐฯ หลังจากได้แบนการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันมานาน ปี 2004 มาสสะชู้เส็ดส์(Massachusetts) เป็นรัฐแรกที่ คนเพศเดียวกันได้มีทะเบียนสมรสร่วมอย่างถูกต้อง ปัจจุบัน มี 29 ประเทศ ที่คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถจดทะเบียนสมรสร่วมกันได้(ในเงื่อนไขต่างๆ)


“จริงๆไม่ต้องมองความรู้ความสามารถก็ได้ แค่มองเราเป็นมนุษย์คนนึง เรายังไม่ถูกมองแบบนั้นเลย นี่ไง ปัญหามันเลยไม่เหมือนกับปัญหาของเด็ก สตรี และเยาวชน พวก คนพิการ เด็ก สตรี คนชรา นั่นเขาเป็นมนุษย์แล้วโดยกำเนิด แต่เขาด้อยโอกาสเรื่องต่างๆ แต่เราอ่ะ ยังเป็นมนุษย์ไม่เท่าพวกเขา คนพิการจะแต่งงานกันเขาก็ได้สิทธิการจดทะเบียนสมรส แต่เราจะจดทะเบียนสมรส เรายังทำไม่ได้เลยค่ะ”


“สิ่งที่สำคัญที่สุดของการมีคณะกรรมาธิการเฉพาะคือ การสร้างความเข้าใจกับคนในสังคม เพราะมันต้องเปลี่ยนตั้งแต่ Mindset(กรอบความคิด) และหลักสูตรการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะทุกวันนี้ เราพบว่า ครูบาอาจารย์ยังมองว่า ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กนักเรียน แบบอย่างที่ว่าคือ ต้องแต่งตัวตามเพศกำเนิด แต่งตัวตามเพศกำเนิดถึงจะเป็นครูที่ดี และมีความรู้ความสามารถ”


“เราบอกเดี๋ยวๆ นี่เราใช้อวัยวะเพศเป็นตัวตัดสินว่า คนนี้ดี คนนี้ควรเอาเยี่ยงอย่างแล้วเหรอ ทำไมถึงไม่มีสิทธิที่จะมี ครูดีที่เป็นคนมีความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อพวกเขาจะได้เติบโตขึ้นมาแล้วมี Role model(ต้นแบบ)


จะแก้ปัญหาต่างๆแบบไหน?


“เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานต้องมาก่อน พรรคอนาคตใหม่ต้องการเห็นคนเท่ากัน ไม่ว่าชนชั้นแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เด็ก คนชรา แม้แต่ผู้หญิงในบ้านเราก็ตาม เพราะเรามองว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศเรามันสูงมาก เรื่องสวัสดิการสังคม กระทั่งความเข้าใจที่จะทำให้ประเทศเป็นรัฐสวัสดิการมันก็ยังไม่มี ไม่ต้องพูดถึง LGBT เลย สวัสดิการคนปกติยังไม่เต็มร้อย”


“ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ รัฐเขาเห็นความเป็นคน รัฐจะพูดถึงสิ่งที่ประชาชนควรจะได้ มากกว่าจะพูดว่า รัฐจะได้อะไร ทุกวันนี้รัฐไทยพยายาม พูดถึงแต่ว่า รัฐจะได้อะไร ไม่ได้พยายามถามว่า ประชาชนจะได้อะไร ที่ผ่านมา เราไม่ได้มีรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ และตั้งใจทำเพื่อประชาชนจริงๆ จึงเกิดพรรคอนาคตใหม่ เพราะพรรคเรามีความคิดที่จะเปลี่ยนประเทศ มีความคิดที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ มีความคิดที่จะให้ประชาชนอยู่ดีกินดีจริงๆ พูดแล้วก็เหมือน ส.ส. มาหาเสียง แต่เราก็เห็นอยู่ว่า ประเทศเรามีความเหลื่อมล้ำสูง การจะไปรักษาพยาบาล การเรียนการศึกษา เราต้องปากกัดตีนถีบกว่าจะได้เข้าถึง”


คนจำนวนนึงถามว่า ทำไมต้องมาพูดเรื่อง แต่งหญิง แต่งตัว ทำไมไม่แก้ปัญหาปากท้องก่อน?


“คนที่ตั้งคำถาม เขาอาจจะไม่ได้มองว่า คนเหล่านี้เดือดร้อน เขาไม่ได้มองว่า เราก็เป็นคน กะเทยก็เป็นคนคนหนึ่ง หลายคนอาจจะมองว่า พี่มานั่งทำแต่เรื่องไร้สาระ เห็นแก่ตัว เกิดเป็นวาทะกรรรมไม่ทำเพื่อปากท้องประชาชน เขาไม่รู้หรือว่า ครูกะเทยคนนึงแค่แต่งหญิงไปสอน ถูกอคติทางเพศ ถูกบังคับ หรือถูกกดดันให้ลาออก ไม่ได้รับการประเมินขึ้นเงินเดือน ไม่มีความก้าวหน้า ถามว่ามันมีผลกับการใช้ชีวิตเขาไหม? นี่เรื่องปากท้องไหม? หรือ กระเทยที่จบ ปริญญาโท ปริญญาเอก แล้วไม่ถูกหน่วยงานจ้าง ปากท้องไหม? มันขึ้นกับว่า คุณมองว่า ประชาชนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนหรือเปล่า เป็นมนุษย์เหมือนกันหรือเปล่า”


“เราต่อสู้ เรื่องการแต่งกายเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ซึ่งมันมีผลต่ออาชีพการงาน มันคือเรื่องปากท้องประชาชนเหมือนกัน เพราะพี่มองว่า กะเทยก็เป็นคนเหมือนกัน มันเป็นมุมที่ง่ายมากนะในการทำความเข้าใจ แต่เราถูกสอนมาให้คิดแบบชายเป็นใหญ่ พอเราถูกสอนแบบชายเป็นใหญ่ เราก็จะไม่เข้าใจเพศอื่นๆ และมองว่า วิธีคิดแบบที่ถูกสอนถูกต้องที่สุด ไม่ได้มองว่า คนอื่นต่างจากตัวเอง”


“เมื่อเราเป็นกะเทยแต่งหญิง แล้วถูกบังคับให้แต่งชุดข้าราชการผู้ชาย ถูกบังคับให้ตัดผมสั้น เราจะมีความสุขในการทำงานไหม เพราะฉะนั้นนี่เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่เราต้องทำความเข้าใจกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เรื่องการที่นักศึกษาจะขอแต่งหญิง เรื่องการที่คุณครู เจ้าหน้าที่ราชการ หน่วยงานต่างๆ จะขอแต่งกายตามเพศสภาพ พี่ว่านี่มันเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมาก เราทำงาน เราไม่ควรจะต้องถูกบังคับจิตใจ และร่างกาย”


เริ่มยังไง ?


“สิ่งที่ยากที่สุดในการแก้ไขปัญหาความหลากหลายทางเพศ คือความเข้าใจ ถ้าเกิดความเข้าใจแล้ว มันก็จะทำหลายๆอย่างง่ายๆ ขึ้น ดังนั้น เริ่มจากกระทรวงศึกษาฯ นี่แหละ ตอนนี้ หนังสือเรียนวิชาสุขศึกษา ป.1- ม.6 มีที่ให้ทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว ใช้มาตั้งแต่พฤษภาคม แต่สถานศึกษาต่างๆ ยังไม่ตื่นตัว โดยก่อนที่หนังสือพวกนี้จะถูกนำไปใช้สอน ครูที่สอนจะต้องทำความเข้าใจ หรือได้รับการอบรมเพื่อที่จะมีความเข้าใจไปสอนเด็ก จากการลงพื้นที่ เรายังพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาหรือคุณครู ยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ยังมองว่า ครูที่อยากจะแต่งหญิงเห็นแก่ตัว มองว่ามันเป็นแค่ประโยชน์ส่วนตัว ยังไม่ได้มองว่า การห้ามเขาแต่งตัวเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพ”


ผมขอสารภาพบาป ตอนที่ผมสอบเข้าคณะศึกษาศาสตร์ ก่อนที่ผมจะไปสอบสัมภาษณ์ มันมีข่าวว่า รัฐบาลจะห้ามคนที่ผิดเพศหรือเบี่ยงเบนทางเพศ(คำเรียกในตอนนั้น)เป็นครู ออกตัวก่อนเลยว่า ตอนนั้น(หมายถึงตอนนี้ด้วย) ผมมีเพื่อนเป็นกะเทยและผมก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาอะไรกับการมีเพื่อนแบบนั้น แต่เมื่อต้องตอบคำถามในการสอบสัมภาษณ์ที่ว่า “คุณเป็นเกย์หรือเปล่า?” ผมกลับตอบไปว่า “ผมไม่ได้เป็นเกย์ เพราะผมรู้สึกว่าการเป็นเกย์หรือกะเทยมันเสียชาติเกิด” ซึ่งคำตอบนี้ยังทำให้ผมรู้สึกผิดอยู่ และทุกวันนี้ ผมไม่ได้คิดแบบนั้นแล้ว พี่มีอะไรอยากจะอธิบาย แนะนำ หรือต่อว่าผมไหม?


“อันนี้ เป็นสิ่งที่พี่ไม่ได้ตกใจ ไม่ได้ประหลาดใจ แล้วก็ไม่ได้เสียใจ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้พี่ต้องมาเป็น ส.ส. ด้วย สิ่งที่พี่ต้องการทำคือ สร้างความเข้าใจ เพราะ เรารู้อยู่แล้วว่า คนไทยทุกวันนี้ยังอยู่ในระบบการศึกษาที่ไม่เคยสอนให้คนเข้าใจเรื่องความเป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลายทางเพศ บทเรียนของเราที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็กสอนว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือ คนเบี่ยงเบนทางเพศ หรือป่วยทางจิต เวลาไปเกณฑ์ทหาร เรายังต้องไปพบจิตแพทย์ เพื่อให้เขารับรองว่า เราเป็นกะเทยจริงๆ นี่เราป่วยเหรอถึงต้องให้แพทย์รับรอง”


“พี่ไม่แปลกใจหรอก ถ้าจะมองว่าเสียชาติเกิด เพราะเราอยู่ในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ สังคมที่บอกว่า เพศมีแค่สองเพศ แล้วคนก็ควรที่จะอยู่ในสองเพศเท่านั้น เพราะฉะนั้น เขาเลยไม่มองว่า คนที่มีรสนิยมทางเพศแบบอื่นเป็นมนุษย์เหมือนกัน มันก็เลยเป็นหน้าที่ที่พี่จะพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า เห็นไหมพี่เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ต่างกับทุกคน”


“พี่ชอบถามเสมอว่า ลองหยิกตัวเองดูสิ๊ เจ็บไหม? ถ้าคุณเจ็บ ฉันก็หยิกตัวเองแล้วเจ็บ เพราะฉะนั้นเราก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ดังนั้น คุณอย่าเอาความรู้สึกของตัวเองไปตัดสินความเป็นมนุษย์ของคนอื่น”


เมื่อฟังคำตอบของพี่กอล์ฟ ทำให้ขนลุกอย่างไม่รู้ตัว และแน่นอน เราจะไม่เล่นมุกว่า เพราะปวดท้อง!(ผ่าม) เพราะท้องเสีย!! (ผ่าม พาม) หรือเพราะอากาศมันหนาว!!! (ผ่าม พาม ผ๊าม) ด้วยจังหวะนี้ มันต้องมีแต่ซึ้ง กับซึ้ง ซะแล้ว แน่นอน คำตอบดีงามขนาดนี้ มันต้องมีซึ้งจะได้นึ่งเข่าเหนียว


แต่งหญิงเข้าสภาคนแรกแล้ว อยากเป็นนายกฯ ข้ามเพศคนแรกไหม?


“อยากเป็นค่ะ อยากเป็นนายกรัฐมนตรีกะเทยแต่งหญิง, ข้ามเพศ, หลากหลายทางเพศ แล้วแต่จะเรียก ถ้าเป็นได้คงจะดังไปทั่วโลกเนาะ เป็นคนแรกของโลกแน่นอน เพราะที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีกะเทยแต่งหญิงเป็นนายกฯ”



ปัจจุบัน มี LGBT ที่ได้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร(นายกรัฐมนตรี) แล้ว 5 คน คือ Jóhanna Sigurðardóttir(โยฮันนะ เซกือฮราดอททริ-อ่านยากโพด) จาก Iceland(ไอ้ซ์ลั่นด์) Elio Di Rupo(เอลิโอ่ ดิ อุปปุ์) แห่ง Belgium(เบ๊วชั่ม) Xavier Bettel(ซาวิเอ่อ บิทเทว) ณ Luxembourg(ลักเซ่มเบิร์ก) Leo Varadkar(ลิโอ วะรัดคะ) ทีโช(Taioseach-ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี)คน Ireland(ไอ๊ร์ลั่นด์) และ Ana Brnabić(อะน่า บาร์นะบริช) แต่ Serbia(เซ๊อเบี่ย) โดย 3 คนท้ายนี้ ปัจจุบัน ยังดำรงตำหน่งอยู่ด้วย อย่างไรก็ดี เหมือนที่พี่กอล์ฟบอก กะเทยแต่งหญิง ยังไม่เคยได้ยืนเป็น นายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี ของประเทศไหน แต่เกย์ ทอม หรือเลสเบี้ยน ได้ไปถึงจุดนั้นก่อนแล้ว


ถ้ากฎหมายยังเป็นแบบนี้ คนเพศเดียวกันยังจดทะเบียนสมรสไม่ได้ สำหรับพี่ การเป็นกะเทย หรือคนข้ามเพศ ต้องเตรียมใจกับการอยู่คนเดียวไหม?


“พี่ไม่ได้มีปัญหากับการที่แก่ไปต้องอยู่คนเดียว หรืออยู่คนเดียวไปจนตายอะไรอย่างนี้ เพราะพี่ไม่เชื่อเรื่องความรักนิรันดร์อยู่แล้ว พี่เชื่อว่า ความรักมันมีวันหมดอายุ วันนี้มันรักกัน พรุ่งนี้มันอาจจะเลิกกันก็ได้ เราจะไปยึดติดกับความสัมพันธ์ หรือไปรับผิดชอบความสัมพันธ์ที่เคยเกิดขึ้น หรือมันผ่านไปแล้วทำไม รักมันมีวันที่จะหมดอายุ หรือผ่านพ้นไป แล้วเราจะไปคาดหวังให้มันอยู่กับเรายั้งยืนยงมันเป็นไปไม่ได้”


“พี่เชื่อของพี่แบบนี้ ก็เลยไม่มีปัญหากับการที่เราจะมองว่า อนาคตเราจะอยู่คนเดียว เพราะเราไม่ได้ Depend on(ผูกติดกับ)ใคร เรา Depend on ตัวเราเอง จะให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเราก็ไม่ได้คาดหวังเลย เพราะแม้แต่ผู้หญิง-ผู้ชายที่เขามีครอบครัว เราก็เห็นเยอะแยะที่ลูกไม่ได้เลี้ยงดูพ่อ-แม่ ถ้าเรารู้ตัวอยู่แล้วว่า เราต้องอยู่คนเดียว เราก็เตรียมตัวสำหรับชีวิตบั้นปลายสิคะ ตอนตายไปแล้วก็ไม่รู้อะไรหรอกค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ต้อง Serious(เครียด)


“ทุกวันนี้ เรามีความรัก เรารู้สึกว่า เราก็พยายามมีความรักให้เต็มที่ เขาจะรักเราหรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของเขา เพราะเราบังคับให้ไม่รักใครก็ไม่ได้ แต่บังคับคนอื่นให้มารักเรามันก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของสองคน จะรักคนที่เขาไม่รักเราก็รักไปเถอะ เพราะรักมันหมดอายุได้ หมดรักแล้วก็จบ แต่ถ้าเราคาดหวังว่า เราต้องเป็นเจ้าของ เมื่อรักแล้วเขาต้องเป็นของเรา ต้องมาอยู่กับเรา แสดงว่า เรารักผิด พี่มองอย่างนั้น”


“พอรักแล้วมีความสุขไหม? ก็มี แต่เมื่ออกหัก ไม่รักแล้ว เรามีความทุกข์ไหม? ก็มี แต่เราก็จะปล่อยให้ความรู้สึกแบบนั้นคงอยู่ เพราะเราเป็นมนุษย์ เพียงแค่เราจะไม่จมดิ่งกับความรัก จมดิ่งกับความทุกข์ ทุกอย่างมันเข้ามาได้ มันก็ผ่านไปได้ ไม่มีอะไรที่มันหยุดอยู่กับที่ เหมือนเวลานั่นแหละ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ความสุขผ่านเข้ามา แล้วก็ผ่านไป ความทุกข์ก็เช่นกัน”


อื้อหือ คำตอบนี้ทำให้เราเชื่อว่า ต่อให้เธอไม่ได้เป็น นักการเมือง ไม่ได้เป็น ส.ส. เธอก็น่าจะประสบความสำเร็จในฐานะ Life Coach(ที่ปรึกษาเรื่องชีวิต อาชีพยอดนิยมที่คนรุ่นใหม่มักต้องพึ่งพาเวลาที่จนปัญญา จนแต้มบุญ) ได้ไม่ยาก


สุดท้าย ตัดเรื่องการเป็น ส.ส. ไปในฐานะที่พี่เป็นคนข้ามเพศ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และเป็นคนที่กำลังรณรงค์ให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ อยากให้แนะนำหนังสัก 3 เรื่องที่ทำให้คนเข้าใจความเป็นคนของคนหลากหลายทางเพศกันหน่อย ถ้าพี่ตอบ Insect in the Backyard ของพี่เองจะฮาไป เอาเรื่องอื่นนะครับ


“ก็ต้องหนังพี่นี่แหละค่ะ(ขายเก่งงงง) ไม่ได้ขอให้มารัก- It gets better ค่ะ ดูง่าย แล้วก็น่าจะเข้าใจความหลากหลายทางเพศ เข้าใจถึงคนที่อยู่รอบข้างคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะประเด็นที่ไม่ได้ขอให้มารักพูดถึงคือ ครอบครัว”


It gets better(2555) ปัจจุบัน หาดูได้ที่ Monomax หนังเรื่องนี้ นำแสดงโดย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล เข้าชิง รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 22 หลายสาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และได้รับรางวัลในสาขา ผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยม โดย ปรมะ อิ่มอโนทัย(ปั้นจั่น)


เรื่องเดียวเองเหรอ มีเรื่องอื่นไหม หนังต่างประเทศก็ได้นะพี่?


“เอ่อ (นึกอยู่นานพอสมควร) หนังต่างประเทศที่พูดถึง LGBT พี่ชอบ ที่ดูแล้วเข้าใจด้วยเนาะ Trans America ก็ดีนะ เป็น Fiction(เรื่องแต่ง)เลยค่ะ เป็นหนัง Hollywood เลย แล้วก็ Best Picture Oscar(ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์) เรื่อง Moonlight ดีๆ สามเรื่องพอละ นึกไม่ออก”


Transamerica(2005) กำกับโดย Duncan Tucker(ดั๊นแข่น ทัคเคอร์) หนังเข้าชิงรางวัลยิบย่อยมากมายหลากสาขา หลายเวที เด่นๆคือ เวทีออสการ์(Academy Awards) และลูกโลกทองคำ(Golden Globe Awards) โดย Felicity Huffman(เฟลิสิถี่ ฮับฟ์แหม่น) ดารานำหญิงของเรื่องเข้าชิงทั้งสองรายการ และคว้าลูกโลกทองคำมาได้


Moonlight(2016) กำกับโดย Barry Jenkins(แบร์รี่ เจนกิ่นส์) คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากทั้ง เวทีออสการ์ และลูกโลกทองคำ มาแล้ว ไม่น่าจะต้องบรรยายสรรพคุณกันให้เยอะอักษร


ผมตั้งชื่อบทสัมภาษณ์ไว้แล้วว่า “แมลงจากหลังบ้านที่บินสู่สภาอันทรงเกียรติ”(เฉยชะมัด สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้) ถ้าเป็นแมลง พี่อยากเป็นตัวอะไร?


“ขอเป็นแมลงสวยๆ ผีเสื้อแล้วกัน แต่ก่อนจะสวยก็เป็นหนอนมาก่อน”



ขอขอบคุณ พี่กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้ด้วยเด้อครับ ผู้ใด๋อยากติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของเธอ ติดตามที่ https://www.facebook.com/TanwarinOfficial/ ในโอกาสนี้ ดิ อีสานเด้อ ขอขอบพระคุณกองถ่ายรายการ วันวันดู ที่เอื้อเฟื้อเวลาของกองให้เราได้พูดคุยกับพี่กอล์ฟ มา ณ ที่นี้ เด้อครับ ติดตามเทปสัมภาษณ์พี่กอล์ฟในรายการวันวันดูได้ที่ https://www.facebook.com/wanwandoo/


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #อ่านแหน่เด้อ #LGBT #LGBTQI #หลากหลายทางเพศ #ข้ามเพศ #รักร่วมเพศ #ตุ๊ด #กะเทย #เกย#ทอม #ดี้ #เลสเบี้ยน #เควียร์ #กอล์ฟ #ธัญญ์วาริน #สส #สภา #ผู้กำกับ #ผู้กอง #สารวัตร #InsectsintheBackyard #ไม่ได้ขอให้มารัก #ไม่ได้ขอให้มาลัก #หมดบ้านกูแล้ว #ฮักนะสารคาม #จริงจังอีหลี #ยาวอีกแล้วห่าขั่ว

619 views0 comments
bottom of page