“ในด้านสิ่งแวดล้อม เรามีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 40% ภายในปี 2040 เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 ภายในปี 2065” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประเทศไทย แถลงในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการดำเนินการสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ภาพโดย ยสธร ไตรยศ
“ถ้าป่าชุมชนของเราถูกเอาไปทำโครงการคาร์บอนเครดิต เราก็กลัวว่าจะเข้าทำไปกินไม่ได้เหมือนเก่า” นิตยา ม่วงกลาง กล่าว เธออาศัยอยู่ในชุมชนบ้านซับหวาย ตำบล ห้วยแย้ อำเภอ หนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งในช่วงปี 2559 ภายใต้คำสั่งจากนโยบายทวงคืนพื้นป่าในช่วงรัฐบาลทหาร นิตยา และชาวบ้านรวม 14 คนเคยต้องจำคุก เนื่องจากถูกดำเนินคดีจากที่ถูกกล่าวหาว่า ที่ดินทำกินของพวกเขาทับซ้อนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง
ปัจจุบัน นิตยา เป็นแกนนำคนสำคัญ ที่พยายามเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินให้กับคนในชุมชน โดยมีการเคลื่อนไหวต่อสู้ในหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในแนวทางที่นิตยาใช้คือการทำโครงการป่าชุมชน ร่วมกับทางอุทยานเพื่อแสดงให้เห็นว่าชุมชนของเธอสามารถอนุรักษ์และอาศัยอยู่ร่วมกับป่าได้ แต่ข่าวของการที่บริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามาร่วมมือกับหน่วยงานด้านป่าไม้ ทำโครงปลูกป่าทั่วประเทศ เพื่อไปสร้างเป็นคาร์บอนเครดิต ทำให้นิตยากังวลว่าป่าชุมชนจะถูกนำเข้าโครงการคาร์บอนเครดิตด้วย และอาจมีการไล่ยึดที่ดินทำกินเกิดขึ้นอีกครั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า ตอบสนองเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของรัฐบาล
ภาพจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
แนวคิดการซื้อ - ขาย คาร์บอนเครดิตโดยคราว คือการที่ให้กำหนดองค์กรหรือบริษัท ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินค่ามาตรฐาน ต้องชดเชยส่วนเกินนั้นด้วยการสร้างคาร์บอนเครดิต โดยการทำกิจกรรมที่เป็นการดูดซับก๊าซเรือนกระจก อย่างเช่นโครงการปลูกต้นป่า ลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือซื้อสามารถคาร์บอนเครดิตจากองค์กรที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าค่ามาตรฐาน
“เราต้องกังวลร้อยเปอร์เซนต์อยู่แล้ว เพราะการซื้อชายคาร์บอนเครดิตจะเกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแน่นอน เรายังถูกมองว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่รัฐ ถ้ารัฐอยากได้พื้นที่ เขาก็ทำให้เราเป็นคนผิดกฎหมายได้ตลอด” นิตยากล่าว
ความขัดแย้งระลอกใหม่
“ท่านทราบหรือไม่ว่าการแถลงนโยบายเหล่านั้นได้สร้างความระส่ำระส่ายต่อหลากหลายชุมชนท้องถิ่นที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรมากกว่าหลายทศวรรษ” ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ซึ่งถูกอ่านในการชุมนุมประท้วงที่หน้า ศูนย์ประชุมสิริกิตสถานที่จัดงาน “การประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2” (TCAC 2023) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
“เราขอเรียกร้องให้เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หยุดนโยบายคาร์บอนเครดิตโดยทันที และเริ่มฟังเสียงของพวกเรา เห็นหัวของพวกเราประชาชนคนจน เหมือนเห็นหัวพวกพ้องกลุ่มทุนของพวกท่านบ้าง และเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลของท่านต้องเร่งเดินหน้าสังคายนากฎหมาย และนโยบายด้านที่ดินป่าไม้ใหม่ทั้งระบบคืนความเป็นธรรม คืนความเป็นคนให้กับประชาชนคนจนทุกคนที่อยู่ในผืนป่า”
Green peace องค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม ชูป้ายที่มีข้อความ “ผืนป่าไม่เท่ากับคาร์บอนเครดิต” ต่อหน้า เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ภายในงานTCAC 2023/ ภาพจาก Greenpeace
ประเด็นความขัดแย้งป่าไม้ที่ดินระหว่างรัฐกับชุมชน เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ ราวปี 2439 ที่ไทยเริ่มจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้น เพื่อจัดระบบเปิดให้สัมปทานขายค้าไม้ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อคนหลายล้านที่อาศัยอยู่พื้นที่ป่าในเขตสัมปทาน
มาจนถึงช่วงตั้งแต่ปี 2528 รัฐบาลได้ประกาศ “นโยบายปิดป่า” ยกเลิกการทำสัมปทานป่าไม้ และเริ่มประกาศเขตป่าอนุรักษ์ต่าง ๆ โดยพื้นที่เขตอนุรักษ์เหล่านั้นจำนวนมากเป็นการประกาศทับซ้อน กับพื้นที่อยู่อาศัยทำกินเดิมของคนในหลายพันชุมชนทั่วประเทศ จึงเริ่มมีการผลักดันไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ทับซ้อนเล่านั้น ทำให้เกิดมีขบวนภาคประชาชนเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ์จราจรต่อรองกับรัฐ เพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินทำกินมาอย่างยาวนาน
“บรรยายช่วงนั้นเป็นการที่รัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้หน่วยงานทางปกครอง เข้าบังคับขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินโดยไม่มีส่วนร่วมฟังเสียงประชาชน” ปราโมทย์ ผลภิญโญ จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เล่าถึงการได้ร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ในประเด็นป่าไม้ที่ดินในภาคอีสานมามากกว่า 30 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลานั้น มีความพยายายามสร้างกระบวนแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างทั้งรัฐและประชาชนมาโดยตลอด
แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารในปี 2557 กระบวนแก้ปัญหาที่มีอยู่ต้องหยุดชะงัก จากการที่รัฐบาลทหารได้ประกาศ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าให้มีสัดส่วน 40% ของประเทศ มีปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไล่ยึดที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินขนานใหญ่ เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ มีการดำเนินคดีกับประชาชนมากกว่า 4,600 คดี โดยหลายพื้นที่กำลังอยู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ
การที่รัฐบาลชุดใหม่ประกาศในงาน TCAC 2023 อย่างชัดเจนว่า จะใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน รวมทั้งตลอดช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน มีโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนกับรัฐ นำพื้นที่ป่ามาพัฒนาเพื่อเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตมากขึ้น ทำให้ภาคประชาชนต่างกังวลว่าจะมีการไล่ยึดที่ดิน เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าเกิดขึ้นอีกครั้ง
โครงการปลูกป่าของบริษัทสามารถนำไปลดการปล่อยคาร์บอนของบริษัทนั้น ในส่วนที่เกินเส้นค่ากำหนดได้ และส่วนที่ลดต่ำลงมาเกินกว่าเส้นค่ากำหนดสามารถจะกลายเป็นคาร์บอนเครดิตนำไปขายให้บริษัทอื่นได้ /ภาพจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
ปราโมทย์มองว่ามีความเป็นไปได้ที่พื้นที่ซึ่งถูกไล่ยึดไปจากชาวบ้าน จะถูกนำไปเข้าโครงการคาร์บอนเครดิต เพราะที่ผ่านมาองค์กรด้านป่าไม้ต่าง ๆอย่างเช่น องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้านป่าไม้ เคยพยายามผลักดันให้พื้นที่ป่าที่อยู่ในความดูแล เข้าโครงการคาร์บอนเครดิตมาก่อน รวมทั้งเคยมีอีกหลายกรณีที่มีการนำพื้นที่ซึ่งไล่ยึดจากประชาชนมาปลูกพืชเศรษฐกิจ อย่างกรณีที่ทาง อ.อ.ป. นำพื้นที่พิพาทที่ได้จากการไล่ยึดมาจากชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อนำไปปลูกต้นยูคาลิปตัส ทำให้เห็นว่าการพยายามเพิ่มพื้นที่ป่าของรัฐไม่ได้เป็นไปเพื่อเป้าหมายในการอนุรักษ์เพียงเท่านั้นนั้น แต่ยังแฝงไปด้วยการหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
“มันมีกลไกลระหว่างประเทศอยู่แล้ว ที่ประเทศโลกที่ 1 จะให้เงินประเทศโลกที่ 3 เพื่อตึงการปล่อยคาร์บอน ทำให้หน่วยงานป่าไม้ต่าง ๆอ้างความชอบธรรม เอาพื้นที่ป่าไปเข้าโครงการคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะไปทับซ้อนปัญหาเดิมให้ยุ่งยากเข้าไปอีก” โดยปราโมทย์มองว่า โครงการคาร์บอนเครดิตจะเข้ามาทำให้เกิดความขัดแย้งระลอกใหม่ ทับซ้อนไปกับปัญหาที่มีมาตั้งแต่ช่วงการทวงคืนผืนป่า
สัมปทานป่าไม้รูปแบบใหม่ กับสิทธิชุมชนที่หายไป
“เราอยากให้บริษัทที่เข้าไปปลูกป่าในพื้นที่รัฐ เปิดเผยออกมาว่ามีพื้นที่ไหนบ้าง มีพื้นที่ทับซ้อนที่มีข้อพิพาทอยู่หรือไม่” สุรินทร์ อ้นพรหม ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านป่าไม้ และสิทธิชุมชนกล่าว โดยอธิบายว่าตามปกติแล้วการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย จะต้องดำเนินการผ่านองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งมีเป็นหน่วยของรัฐที่ทำหน้าเป็นตัวกลางจัดสรรการซื้อขายคาร์บอนเครดิต แต่ด้วยที่การซื้อขายผ่าน อบก.นั้นมีกระบวนที่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้บริษัทใหญ่ปรับเปลี่ยนวิธี เป็นการทำ MOU ทำโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับทางหน่วยงานด้านป่าไม้ของรัฐโดยตรง ซึ่งทำให้ไม่สามารถรู้ได้ชัดเจนทั้งหมดว่าพื้นที่เป้าหมายของโครงการเหล่าอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง
“มันเป็นการเอาป่าที่ควรเป็นทรัพยากรของส่วนกลาง มาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของบริษัท” สุรินทร์ แจกแจงว่าจะมีพื้นที่ป่า 2 รูปแบบด้วยที่ถูกนำไปเข้าโครงการ พื้นที่ป่าที่อยู่ในการกำกับของหน่วยงานรัฐ อาจรวมไปถึงพื้นทีข้อพิพาทที่จะมีการเร่งรัดดำเนินการไล่ยึด และพื้นที่ป่าชุมชนต่าง ๆที่อยู่ในการดูแลของประชาชน ซึ่ง สุรินทร์ เปรียบโครงการเหล่านั้นว่าเหมือนการให้สัมปทานป่าไม้ในรูปแบบใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น ที่ไม่ใช่ให้สัมปทานการค้าไม้แบบเดิม แต่เป็นการยกพื้นที่ป่าซึ่งควรเป็นของส่วนรวมให้เอกชนไปผูกขาดการใช้ประโยชน์
“มันจะเป็นการกีดกันชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเดิมเรื่องสิทธิชุมชนก็ไม่เคยถูกยอมรับมาก่อนอยู่แล้ว” ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้ มีการพยายามนำเสนอแนวคิดสิทธิชุมชน โดยให้ประชาชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์และร่วมบริหารจัดการทรัพยากรป่าร่วมกับรัฐได้ แต่การที่รัฐให้(หรือเป็นตัวกลาง)เอกชนเข้าทำโครงการคาร์บอนเครดิตในป่า จะทำให้ชุมชนไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ป่าได้ เนื่องจากสิทธินี้ตกไปอยู่กับเอกชน เช่นเอกชนสามารถเลือกปลูกพันธุ์ไม้เฉพาะพันธุ์ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ดี ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับระบบนิเวศน์ในพื้นที่นั้น
ตัวอย่างจากป่าชายเลนในภาคใต้
ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 2 ฉบับสำคัญ คือ พิธีสารเกียวโต ในปี 2540 และความตกลงปารีสในปี 2558 ที่ได้มีการสร้างกลไกลที่กำหนดให้กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินค่ากำหนด ต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าค่ากำหนด เพื่อเป็นการชดเชย และช่วยสนับสนุนให้ประเทศเหล่านั้นตึงหรือลดการปล่อยก๊าซทดแทน ซึ่งแนวคิดการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งกลไกลที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อชี้วัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“มันเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัว อย่างแรกบริษัทได้ทำโครงการ CSR บอกว่าเขาเป็นผู้อนุรักษ์ธรรมชาติ ต่อมาบริษัทเหล่านี้ที่เป็นผู้ปล่อยคาร์บอนก็สามารถใช้ป่าตรงนี้ไปชดเชยได้ และสุดท้ายก็มีบริษัทที่เป็นนายหน้าขายเครดิตให้กับต่างประเทศ ซึ่งตลาดโลกมีความต้องการสูง” บัณฑิยา อย่างดี จากศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา กล่าวจากกรณีที่มีการเปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ได้นำพื้นที่ป่าชายเลนชุมชน 99 แห่งในภาคใต้ รวมเนื้อที่ กว่า 1.6 แสนไร่ ขึ้นทะเบียน ‘ป่าชุมชนคาร์บอน’ เพื่อจัดสรรให้กับ 35 บริษัทชั้นนำของไทย
บัณฑิยา มองว่าตัวแนวคิดของคาร์บอนเครดิตไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้จริง แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือให้กับเหล่าชาติมหาอำนาจหรือบริษัทใหญ่ ๆ อ้างความชอบธรรมที่จะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป แต่ผลกระทบกลับตกมาอยู่กับชุมชนที่อาศัยพึ่งพิงอยู่กับป่า โดยในกรณีของภาคใต้องค์กรรัฐอย่าง ทช. ได้เข้ามาเป็นตัวกลางนำพื้นที่ป่าชายเลนไปเข้าโครงการคาร์บอนเครดิต และคาดว่าในอนาคตอันไกล้ ภาพการที่ป่ารูปแบบอื่นในภูมิภาคต่าง ๆ จะถูกหน่วยงานด้านป่าไม้อย่าง กรมป่าไม้หรือกรมอุทยาน นำเข้าโครงการคาร์บอนด้วย จะชัดเจนขึ้นเหมือนกันกรณีป่าชายเลนในภาคใต้
“มันเป็นการยกเอาป่าที่ชุมชนดูแลอยู่ไปให้กับบริษัท ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามขึ้นทะเบียนป่าไม้ชายเลน แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่พอมีนโยบายคาร์บอนเครดิตการขึ้นทะเบียนพวกนั้นกลับง่ายขึ้นมาทันที” ภาคประชาชนในภาคใต้มีความกังวลว่า ที่อำนาจบริหารจัดการต่าง ๆจะตกไปอยู่กับบริษัท และชาวบ้านจะถูกจำกัดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากป่า ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปหาอาหาร ตัดกิ่งไม้มาใช้ประโยชน์ รวมไปถึงการกำหนดแล้วทาบการพัฒนาป่าชายแลน ซึ่งเดิมที่ชุมชนมีสิทธิ์ในการร่วมออกแบบ
“ที่จริงรัฐควรจะให้เงินสนับสนุนกับชุมชนในการรักษาฟื้นฟูป่าชายเลน เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเป็นผู้ฟื้นฟูป่าชายเลน ซึ่งเป็นป่าที่ดูดซับคาร์บอนได้ดี โดยไม่ต้องมีโครงการคาร์บอนเครดิต” บัณฑิยา มองว่าการลดการปล่อยแก๊ซเรือนกระจกนั้นมีมาตรการอื่น ๆมากมาย ที่เป็นธรรมและประสิทธิภาพกว่าใช้แนวทางคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียวแบบที่ไทยเป็นอยู่ อย่างเช่นใช้มาตรการทางภาษี หรือการสนับสนุนงบประมาณให้กับชุมชมท้องเป็นผู้ดูแลฟื้นฟูป่า แทนการให้บริษัทเข้ามาจัดการ
เรื่อง : สมานฉันท์ พุทธจักร - อดีตผู้สื่อข่าว The Isaan Record และอดีตบรรณาธิการ เว็บไซต์ข่าวสิ่งแวดล้อม Z-World ปัจจุบัน เป็นผู้ก่อตั้งและดูแลร้านหนังสือ Abdul Book ขอนแก่น ควบคู่กับการดำรงตนเป็นผู้สื่อข่าว และนักเขียนสารคดีอิสระ
Comments