ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลกระทบจากภัยแล้งนอกฤดูกาลในครั้งนี้ (พ.ค.-ก.ค.62) จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นราว 0.1% ของจีดีพี นอกจากนั้นยังต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งนอกฤดูกาลที่อาจลากยาวได้อีกในช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค.62
อันอาจกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวนาปี ที่จะออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 และส่งผลต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก
ทั้งนี้ ข้าวนาปีเป็นพืชเกษตรที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากปัญหาภัยแล้งที่ยืดเยื้อยาวนานในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.62 เนื่องจากตรงกับฤดูกาลเพาะปลูก อีกทั้งผลผลิตข้าวนาปีส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นสัดส่วนผลผลิต 46.4% ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งประเทศ
ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่นอกเขตชลประทานมากถึง 90% ของพื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งภัยแล้งในช่วงนอกฤดูกาลดังกล่าวนี้ ทำให้ราคาข้าวนาปีเฉลี่ยขยับขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมราคาข้าวนาปีเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปี 62 เพิ่มขึ้น 6.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยความเสียหายของผลผลิตข้าวนาปีที่ลดลง จะยังเป็นแรงกดดันต่อภาพรวมรายได้เกษตรกร
นอกจากนี้ ต้องจับตาสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ หากลากยาวต่อ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อน ซึ่งจะใช้เป็นน้ำเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้งถัดไปในปี 2563 (พ.ย.62-เม.ย.63) โดยจะกระทบต่อพืชเกษตรหลักที่มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งที่สำคัญคือ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อย ก็จะยิ่งทำให้ตัวเลขมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมีความเสียหายต่อเนื่องไปจนถึงปี 63 และกระทบรายได้เกษตรกรให้ยังคงลำบากต่อเนื่องไปอีก ฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี.
ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1621580
รูปภาพ : Redcharlie /Unsplash
Comments