top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

#เราซู้คนแม่นจ่านิว นักสิทธิร้องรัฐ-ตำรวจ นำคนร้ายที่ทำร้ายนักเคลื่อนไหวมาลงดำเนินดดี



ในวันพุธนี้ ประชาชน และตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เดินทางเข้ายื่นจดหมายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล และตำรวจสอบสวนการทำร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดเห็นของประชาชน


เมื่อเวลา 10.00 น. ประชาชนและตัวแทนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ประมาณ 10 คนได้เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เข้ายื่นจดหมายโดยมี พล.ต.ต. ทนัย อภิชาติเสนีย์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจสันติบาล และพ.ต.อ. คมสัน สุขมาก รองผู้บังคับการคดีปกครองและคดีแพ่ง สำนักงานกฎหมายและคดี เป็นตัวแทนรับจดหมาย โดยตัวแทนผู้ยื่นจดหมายได้ใส่เสื้อซึ่งมีข้อความว่า “#เราทุกคนคือจ่านิว” และสวมหน้ากากรูป นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกทำร้ายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา


นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หนึ่งในตัวแทนยื่นจดหมายกล่าวว่า ต้องการให้รัฐและตำรวจคุ้มครองนายสิรวิชญ์, นายเอกชัย หงส์กังวาน และนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เส้นทางสีแดง นักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งถูกทำร้ายหลายครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา


“รัฐบาลต้องให้การคุ้มครองประชาชนให้สามารถใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมอย่างสงบโดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการคุกคาม การตอบโต้ หรือการแก้แค้น และให้ยุติการดำเนินคดีอาญาอันเป็นการแทรกแซงสิทธิเหล่านี้” นางปิยนุช กล่าว


“ทางการไทยต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม สอดคล้องกับพันธกรณีที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในการให้การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต้องเตรียมมาตรการรับมือกรณีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร้องขอความคุ้มครองด้านความปลอดภัยอย่างเร่งด่วน และเมื่อเกิดเหตุการคุกคาม ทำร้ายร่างกาย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสืบสวนหาผู้กระทำความผิดโดยเร็วที่สุด” ปิยนุชกล่าว เพิ่มเติม


ทั้งนี้ จดหมายที่แอมเนสตี้ ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเนื้อความโดยสรุประบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2562 นายสิรวิชญ์, นายเอกชัย และนายอนุรักษ์ ถูกทำร้ายร่างกายและคุกคามรวมกันทั้งหมด 9 ครั้ง โดยการกระทำเหล่านั้น มีตั้งแต่การทำร้ายร่างกายด้วยอาวุธไปจนถึงการทำลายทรัพย์สิน ขณะที่การสืบสวนสอบสวยยังไม่มีความคืบหน้า แม้ว่า นักกิจกรรมซึ่งถูกคุกคามจะได้ส่งหลักฐานต่างๆให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วก็ตาม


“ขอกระตุ้นให้รัฐบาลไทยดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วน อย่างมีประสิทธิผล ไม่ลำเอียง และเป็นอิสระต่อเหตุการณ์ และให้นำตัวผู้กระทำผิดมาไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานความเป็นธรรมระหว่างประเทศ” จดหมายดังกล่าว ระบุ


ด้าน พล.ต.ต.ทนัย อภิชาติเสนีย์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจสันติบาล กล่าวแก่สื่อมวลชน และตัวแทนผู้ยื่นจดหมายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) จะดำเนินการสอบสวนและสืบสวน และจะเปิดเผยความคืบหน้าให้แก่สังคมทราบ


“เชื่อว่าประชาชนทุกคนรวมถึง ตัวท่านนายกฯเอง รองนายกฯ ก็ให้ความห่วงใย ต้องการสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มที่ ท่าน ผบ.ตร.ท่านก็ลงมาดูด้วยตัวเอง ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ทาง แอมเนสตี้, ท่าน ผอ. แล้วก็ทุกภาคส่วนของประเทศไทยให้ความสนใจ แล้วก็ไม่ปล่อยไปเหมือนครั้งผ่านๆ มา” พล.ต.ต.ทนัย กล่าว


“ทราบว่าคดีที่ผ่านมาก็อยู่ระหว่างการสอบสวนอยู่ ก็ได้นำมารวบรวมสำนวนต่อเนื่อง เชื่อว่าจะสามารถที่จะรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบต่อไป ในส่วนนี้ก็จะขอรับหนังสือจากท่าน ผอ. แอมเนสตี้ไว้ แล้วก็จะนำเรียนท่าน ผบ.ตร. เพื่อสั่งการให้ผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนต่อไป ก็ขอบคุณแอมเนสตี้ที่เป็นหูเป็นตาและห่วงใย ก็ขอขอบคุณ” พล.ต.ต.ทนัย ระบุ


ในวันเดียวกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานเสวนาเรื่อง “ทุเลาความรุนแรงและความเกลียดชังในสังคมไทย” โดย นักวิชาการระบุว่า ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองทั่วประเทศ มีส่วนที่คล้ายกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้มีการเสนอแนวทางแก้ไขไว้ด้วย


รศ.ดร.ฉันทนา บรรพสิริโชติ หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในการศึกษาความขัดแย้งในประเทศไทยจะพบว่า ความขัดแย้งในปัจจุบัน เริ่มพัฒนาไปสู่ความรุนแรง และมีความเป็นแบบแผน


“ถ้าเราติดตามมาตั้งแต่ สงครามเสื้อสี แล้วก็สามจังหวัดภาคใต้ เราเริ่มเห็นแบบแผน คือการทำร้ายร่างกายของคนที่แสดงความเห็นที่แตกต่างจากตัว อาจจะพบการโต้ตอบกันด้วยภาษาที่รุนแรง ซึ่งในระดับนั้นทางการเมืองก็ยังยอมรับได้ แต่ถ้ามาถึงขั้นทำร้ายร่างกาย หรือมุ่งหวังชีวิตแล้วอันนี้คือ ความรุนแรง และเริ่มเป็นแบบแผนแล้ว เพราะมีหลายกรณีเกิดขึ้นในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา อันนี้ เป็นสิ่งที่คนที่ต้องอยู่ในอำนาจตัดสินใจต้องให้ความสนใจ” รศ. ดร.ฉันทนา กล่าว


รศ.ดร.ฉันทนา ระบุว่า รูปแบบความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย คล้ายว่ามีใบอนุญาตให้ทำร้ายร่างกายคนที่คิดว่าเป็นคนที่น่ารังเกียจในสังคมได้ และสังคมเพิกเฉยกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรเร่งแก้ไข โดย รศ.ดร.ฉันทนา ระบุว่า มีแนวทางการป้องกันความขัดแย้ง 4 ข้อหลัก


“1.ต้องไม่ต้องการความรุนแรง 2.ต้องสร้างความไว้วางใจ 3.ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง(นำผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย) และ 4.ต้องมีความอดทนอดกลั้นมากที่สุด ในกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง เรามีความขัดแย้งมา 10 กว่าปี เรามีรัฐบาลจากรัฐประหาร เราคิดว่าสถานการณ์แก้ไขไปแล้ว แต่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นก็พบว่าไม่จริง” รศ.ดร.ฉันทนา กล่าวเพิ่มเติม


ในเสวนามีการนำเสนอผลการศึกษาชื่อ “การศึกษาขันติธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สตูล สงขลา และ กทม. 2549-2550” โดยระบุว่า การศึกษาพบว่า คนไทยมีความอดกลั้นในระดับกลาง กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษามีอคติหลายอย่าง เช่น เกลียดนักรณรงค์สิทธิสตรี นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย-ขวา คนเคร่งศาสนามาก ผู้มีชาติพันธุ์อื่น เช่น มลายู-มุสลิม หรือคนจีน รวมถึง แรงงานต่างด้าว และคนต่างชาติ


“เกือบ 50% ของกลุ่มตัวอย่างมีอคติกับ คนที่แตกต่าง โดยเฉพาะกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมือง ไม่ใช่สัญชาติไทย และมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน, อคติเกี่ยวกับชาติพันธุ์และศาสนาไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ, ไม่เกิน 40% ของกลุ่มที่มีอคติ ยังไม่ยอมรับกับกลุ่มที่มีบทบาททางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่สุดขั้ว, ไม่เกิน 20% ของกลุ่มตัวอย่าง ยอมรับนโยบายที่มีความก้าวหน้า เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยกลุ่มนี้มีขันติธรรมสูง” ส่วนหนึ่งของข้อสรุปจากการศึกษานี้ ระบุ


การศึกษายังชี้ให้เห็น ระดับขันติธรรมของคนในแต่ละพื้นที่ และศาสนา มีความแตกต่างกัน โดยระบุว่า กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีขันติธรรมที่สุด รองลงมาคือสงขลา และต่ำสุดคือกรุงเทพ กลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลามมีขันติธรรมมากกว่าคนนับถือศาสนาพุทธ คนอายุน้อยกว่าและการศึกษาสูงกว่าจะมีขันติธรรมมากกว่า คนอายุมากกว่า และการศึกษาต่ำกว่า ขณะที่ เพศหญิงหรือชายมีขันติธรรมไม่แตกต่างกัน


ด้าน ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า ความขัดแย้งในประเทศไทยเข้าสู่ความยืดเยื้อ ซึ่งเกิดจากความไม่เท่าเทียมในสังคม และส่งผลให้เกิดการแสดงออกอย่างหยาบคายบนโลกออนไลน์


“ความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อ บริบทหลักคือ อำนาจที่เหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมกัน พออำนาจเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันก็รังแกกันง่าย สรุปแล้ว ความขัดแย้งยืดเยื้อในขณะนี้ทำให้เราออกไม่ได้ คล้ายปัญหาคู่สามี-ภรรยา ผลคือ เต็มไปด้วยความทุกข์ แล้วระบายความทุกข์ด้วยการแสดงความหยาบคาย ป่าเถื่อน ไม่ควรเกิดขึ้น คนเป็นทุกข์เลยปรากฎชัดในออนไลน์” ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว


เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2562 นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกคนร้ายรุมทำร้ายบริเวณปากซอยบ้านพักของตนเองย่านรามอินทรา กรุงเทพฯ ได้รับบาดเจ็บสาหัส จมูกและกระดูกใบหน้าหัก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นมีคนร้าย 4 คน ใช้ท่อนไม้ตี จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่า คนร้ายใส่หมวกนิรภัยปิดบังใบหน้า และใช้ยานพาหนะเป็นจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ทำให้ปัจจุบัน ตำรวจยังไม่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาดำเนินการสอบสวนได้


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #เป็นหมวดนิวไม่ได้เหรอ #ทำไมตำรวจไม่ช่วยตำรวจด้วยกัน #หรือจ่านิวเป็นจ่าทหาร #เอกชัยไม่ใช่แค่ถนน #ฟอร์ดไม่ได้เป่าแซกโซโฟน #ดำเนินคดีคนร้ายที #ซ่อยแหน่เด้อ — at สำนักงานตำรวจแห่งชาติ.

12 views0 comments
bottom of page