ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ครู ร.ร.อุดรพิทยานุกูล หอบหลักฐานร้องศูนย์ดำรงธรรมหลังผู้บริหารเลื่อนเงินเดือนไม่โปร่งใส ครูบางคนมาทำงานสายกว่า 40 ครั้งยังได้เลื่อนเงินเดือนเท่ากับครูที่มาทำงานแต่เช้า ซ้ำกลุ่มคนได้เลื่อนเงินเดือนสูงๆ ล้วนเป็นคนสนิท
วันที่ 2 กรกฎาคม 2562 ตัวแทนคณะครูโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จำนวน 8 คน นำโดยนางสุรีย์มาศ นามอาษา และนายวิระศักดิ์ ประจันตะเสน เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อนายเจษฎา ปานะถึก ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุดรธานี กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนครู การพิจารณาของฝ่ายบริหารไม่มีความโปร่งใส โดยนำเอกสารหลักฐานมาแสดงด้วยจำนวนหนึ่ง เช่น คลิปเสียง และเอกสารบันทึกชี้แจง ร้องขอความเป็นธรรม
ตัวอย่างประเด็นน่าสงสัยที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถชี้แจงได้ เช่น เพราะเหตุใดจึงมีผลการประเมินถึง 9 ระดับ และครูบางคนที่มีสถิติการมาปฏิบัติราชการสายกว่า 40 ครั้ง ยังได้รับการเลื่อนเงินเดือนร้อยละ 2.6 เทียบเท่ากับครูหลายคนที่ไม่เคยมาสายและปฏิบัติหน้าที่เต็มที่ คณะครูผู้ร้องเรียนจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือบุคลที่มีอำนาจโดยตรงตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ระหว่างที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงขอให้ผู้มีอำนาจสั่งย้ายผู้บริหารและคณะผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงออกนอกเขตพื้นที่ ป้องกันการกลั่นแกล้งหรือคุกคามผู้ร้องทุกข์ในขณะสืบพยาน
โดยบุคคลที่ต้องย้ายออกนอกพื้นที่ชั่วคราวจนกว่าการตรวจสอบจะแล้วเสร็จ คือ ว่าที่ ร.ต.บรรจง มูลตรีแก้ว ผอ.โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล พร้อมด้วยรองผู้อำนวยการโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล 2 คน ได้แก่ นายจักรพงษ์ ไชยพันธุ์ และนายประวิทย์ จันดาวงศ์ และบุคคลที่ฝ่ายบริหารมอบหมายให้ดำเนินงานเกี่ยวกับการรวบรวมคิดคำนวณคะแนนในการเลื่อนเงินเดือนเพื่อป้องกันไมให้มาเกี่ยวข้องกับหลักฐานเกี่ยวกับคะแนนผลการประเมินฯ
นางสุรีย์มาศ นามอาษา หนึ่งในตัวแทนครู เปิดเผยว่า ด้วยปีงบประมาณ 2562 กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดการพิจารณาการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูแบบใหม่ โดยให้พิจารณาเลื่อนเป็นร้อยละ ซึ่งในการพิจารณาในครั้งนี้มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วยกรรมการ 6 คน ซึ่งปรากฏผลการประเมินผลการปฏิบัติงานได้เลื่อนเงินเดือน 9 ระดับดังนี้ ร้อยละ 4.0 จำนวน 13 คน, ร้อยละ 3.5 จำนวน 20 คน, ร้อยละ 3.3 จำนวน 17 คน, ร้อยละ 3.2 จำนวน 43 คน, ร้อยละ 3.1 จำนวน 18 คน, ร้อยละ 3.0 จำนวน 29 คน, ร้อยละ 2.8 จำนวน 48 คน, ร้อยละ 2.7 จำนวน 18 คน และร้อยละ 2.6 จำนวน 24 คน
กระบวนการประเมินผลการปฏิบัติงานดังกล่าว ผู้บริหารได้มอบหมายให้หัวหน้ากลุ่มสาระ การเรียนรู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของครูในกลุ่มสาระฯ อีกหนึ่งส่วน แล้วนำส่งคณะผู้บริหาร ผลการประเมินดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานและหน้าที่พิเศษที่ได้รับผิดชอบจริง จึงทำให้บุคลากรเกิดความสงสัยว่ามีกรรมการ 5 ท่านเท่านั้น เป็นผู้สรุปผลการประเมิน โดยไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกลั่นกรองคุณภาพงานของบุคลากรในองค์กร
ทั้งนี้ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีครูและบุคลากรจำนวน 230 คน เมื่อครูได้รับหนังสือแจ้งผลการเลื่อนเงินเดือนเป็นรายบุคคล เกิดความสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงมีผลการประเมินถึง 9 ระดับ และผู้บริหารโรงเรียน ไม่สามารถอธิบายได้ว่าแต่ละระดับมีผลการปฏิบัติงานแตกต่างกันอย่างไร ไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายให้เกิดความกระจ่างชัดได้ ครูบางคนที่มีสถิติการมาปฏิบัติราชการสายกว่า 40 ครั้งยังได้รับการเลื่อนเงินเดือนร้อยละ 2.6 เทียบเท่ากับครูหลายคนที่ไม่เคยมาสายและปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยไม่มีข้อบกพร่อง
นอกจากนี้ ครูที่ถูกผู้ปกครองร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน จนถูกตั้งคณะกรรมกาสอบยังได้รับการเลื่อนเงินเดือนระดับสูงสุด คือ ร้อยละ 4.0 และอีกทั้งผลการประเมินฯ ยังพบว่าผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้บริหารได้เลื่อนเงินเดือนในระดับที่สูงกว่าบุคลากรทั่วไปทำให้เกิดข้อสงสัยในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่คณะผู้บริหารอาจะมีการประเมินฯ เอื้อผลประโยนเฉพาะกลุ่มพวกพ้องคนสนิท และลุแก่อำนาจ
นางสุรีย์มาศบอกอีกว่า คณะครูที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงได้รวมกลุ่มกันเพื่อขอคำชี้แจงจากคณะผู้บริหาร แต่คณะผู้บริหารไม่สามารถตอบข้อสงสัยได้ ซ้ำผู้บริหารบางคนยังแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่สามารถคุมอารมณ์ได้ กล่าวอ้างว่าผลการประเมินฯ ได้มาจากคะแนนที่หัวหน้ากลุ่มสาระฯ ส่งให้ฝายบริหาร ทำให้หัวหน้ากลุ่มสาระฯ บางกลุ่มได้ทำหนังสือบันทึกลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้ากลุ่มสาระฯ เพราะถูกตำหนิจากบุคลากรในกลุ่มสาระฯ
จากนั้นคณะตัวแทนครูที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงได้ยื่นหนังสือบันทึกขอดูคะแนนจากผู้บริหาร และเมื่อได้รับผลคะแนน ผลคะแนนดังกล่าวไม่เป็นที่พึงพอใจของตัวแทนครู เพราะไม่มีรายละเอียดคะแนนของคณะผู้ประเมินแต่ละคนทำให้เกิดข้อกังขามีความสงสัยมากยิ่งขึ้นว่าการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือนครั้งนี้ไม่มีความเป็นธรรมและไม่โปร่งใส
ด้วยเหตุนี้ คณะผู้ร้องเรียนจึงมีความประสงค์ขอความเป็นธรรมจากศูนย์ดำรงธรรมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือบุคคลที่มีอำนาจโดยตรงในการให้ความเป็นธรรมเข้ามาตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว และในขณะที่ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงขอให้ผู้มีอำนาจสั่งย้าย ผู้บริหารและคณะผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงออกนอกเขตพื้นที่ ป้องกันการกลั่นแกล้งหรือคุกคามผู้ร้องเรียนร้องทุกข์ในขณะสืบพยานเพื่อหาข้อเท็จจริง
ข่าวต้นฉบับจาก : https://mgronline.com/local/detail/9620000062736
Comments