อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผย ปี 2565 ประเทศไทยกำลังจะเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมใส่อาหาร หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะในประเทศ หลังจากสองปีที่แล้ว ถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ทิ้งขยะสู่ทะเลมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก
เมื่อปี 2560 กรีนพีซ เปิดเผยข้อมูลว่า ไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุด โดยทิ้งขยะลงทะเลถึงประมาณ 1.03 ล้านตันต่อปี เป็นรองแค่ จีน อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกาเท่านั้น โดยประเทศไทยซึ่งมีประชากรแค่ 60 กว่าล้านคน กลับทิ้งขยะลงทะเลมากกว่า ประเทศที่มีประชากรระดับพันล้าน และหลายร้อยล้านอย่าง อินเดีย หรือสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน บ่อขยะในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ และอีสาน ยังสร้างผลกระทบให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และปีนี้อย่างที่ดิ อีสานเด้อเคยรายงานไปแล้วว่า มีไฟไหม้บ่อขยะเกิดขึ้นอย่างน้อย 15 ครั้ง แค่ไม่กี่เดือนของปีเท่านั้น
นอกจาก ปัญหาขยะภายในประเทศแล้ว หลังมาตรการห้ามนำเข้าขยะของประเทศจีน ทำให้ประเทศไทย ต้องรับขยะพลาสติก และอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว แม้บางส่วนจะนำมาแปรรูปใช้ใหม่ได้ แต่อีกจำนวนมากที่กลายเป็นขยะตกค้างในประเทศไทย
---
ด้วยเหตุนี้ ดิ อีสานเด้อ จึงถือโอกาสพูดคุยกับ ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และโฆษกกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปัญหาที่ปัจจุบัน ไปไกลถึงระดับสากลแล้วนั่นเอง
สถานการณ์ขยะในประเทศไทยเป็นอย่างไร ?
“คนไทยผลิตขยะเฉลี่ยแล้ว คนละ 1.3 กิโลกรัมต่อวัน ทำให้ตลอดปีมีขยะ 27.8 ล้านตันจากทั้งประเทศ ในนั้นเป็นขยะพลาสติกประมาณ 2 ล้านตัน ตัวเลขจากสมาคมพลาสติก ระบุว่า ประเทศไทยผลิต ถุงพลาสติกถึงปีละกว่า 4.5 หมื่นล้านใบ”
แก้ไขปัญหาขยะจากต่างประเทศยังไง ?
“มาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติก จำนวน 422 รายการ ขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณา อาจมีการบังคับใช้ใน 2-3 ปีข้างหน้า แต่ในปีนี้ ได้ตกลงกับกรมอุตสาหกรรมแล้วว่า ขอให้ลดปริมาณนำเข้าขยะจากต่างประเทศที่แต่เดิมมีโควต้า ปีละกว่า 1 แสนตัน ให้เหลือไม่เกิน 7 หมื่นตันต่อปี”
แก้ปัญหาขยะในประเทศอย่างไรดี?
“กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม ทำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วว่า มีมาตรการจะลดขยะ โดยจะเลิกใช้พลาสติกดังนี้ ปี 2562 จะเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก 3 ชนิดคือ 1.ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ (Oxo-degradable) ซึ่งมีส่วนประกอบคือโลหะหนัก ที่หากปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนโดยตรง 2.เม็ดบีทขัดผิว ซึ่งนิยมใช้ในอุตสหกรรมเครื่องสำอาง แม้จะมีขนาดเล็กแต่หากปนเปื้อนลงแหล่งน้ำก็มีผลกระทบกับระบบนิเวศ และสัตว์น้ำ และ 3. พลาสติกหุ้มขวดน้ำ ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็กแต่ถือว่าเป็นขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน”
“ปี 2565 จะมีการเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกอีก 4 ชนิด คือ 1. ถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่ใช้แบบครั้งเดียวทิ้งหรือ บางกว่า 36 ไมครอน ส่วนใหญ่มักไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งย่อยสลายยากในธรรมชาติ 2. กล่องโฟมบรรจุอาหาร แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งติดไฟง่าย และใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลาย 3. หลอดพลาสติก โดยจะมีการรณรงค์ให้ใช้หลอดสแตนเลส หรือหลอดจากไม้แทน และ 4. แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยปัจจุบันในกรมฯ เริ่มแล้วด้วยการห้ามใช้และให้เจ้าหน้าที่พกขวดน้ำส่วนตัว”
“ปี 2573 ประเทศไทยตั้งเป้าว่า จะไม่มีขยะพลาสติกอีกเลย นั่นคือเป้าหมาย”
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาไม่สามารถประสบความสำเร็จได้จากความร่วมมือของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว จำเป็นต้องอย่างยิ่งที่ประชาชนต้องตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ด้วย
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #รักษ์โลก #พลาสติก #ขยะ #สะสม #ระดับโลก #ช่วยกันแก้ปัญหาหน่อย
Comments