top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

สู่อมก๋อย: อย่าหลงลืมความเป็นคนของคนอื่น

เรื่องและภาพโดย : กุลระวี สุขีโมกข์



อย่าหลงลืมความเป็นคนของคนอื่น . ผู้แทนจากสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยอธิบายว่า ที่ผ่านมา คนที่มีภาษาพูดอื่นๆ ที่ไม่ใช้ภาษาไทย และอยู่อาศัยในเขตภูเขาสูงต่างได้รับการอธิบายว่าเป็น “คนอื่น” เป็นกลุ่มคนที่มาทีหลังและไม่ใช่คนไทย เมื่อพวกเขาเป็นคนอื่น เป็นคนที่ย้ายมาจากที่อื่น และเป็นคนที่มาทีหลัง การได้รับสิทธิต่างๆ ที่เท่าเทียมกับคนที่มาอยู่ก่อนนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิจารณา บางคนได้รับการพิจารณาให้ได้รับสัญชาติ แต่บางคนไม่ได้รับ คนที่ได้รับก็สามารถเข้ารับสิทธิการบริการขั้นพื้นฐานในระบบตามปกติ ขณะคนที่ไม่ได้รับสัญชาติตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก และยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป . เมื่อการได้รับสัญชาติเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้บุคคลเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน “แต่ทำไมการจะได้รับสัญชาติของคนบางคนจึงถูกทำให้เป็นเรื่องยากเย็นนัก?” . เสียงสนับสนุนว่าคนบางกลุ่มไม่ควรได้รับสัญชาตินั้นยังคงไหลเวียนในสังคมอยู่เสมอ เช่น คนที่มีภาษาพูดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาไทย และอยู่อาศัยในเขตภูเขาสูงเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวยจากการค้าขายสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งความคิดแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะในสังคมบ้านเรา แต่ยังปรากฎอย่างทั่วไปในหลายๆ สังคม กระทั่งเรานึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Birds of Passage กำกับโดย Ciro Guerra และ Cristina Gallego (2018) มีเนื้อหาบอกเล่าถึงเรื่องราวการค้ายาเสพติดกระทั่งร่ำรวยของชนพื้นเมืองที่มีชื่อว่า “วายู” (Wayuu) ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของโคลอมเบีย เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในไทย มีบุคคลหนึ่งแสดงความเห็นว่า “ก็ไม่ต่างอะไรก็คนกลุ่มน้อยทางเหนือของไทย” . สื่อที่ไหลเวียนอยู่ในสังคม สร้างภาพจำในแง่ลบเกี่ยวกับคนที่มีภาษาพูดอื่นๆ ที่ไม่ใช้ภาษาทางการ และอยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลจากส่วนกลางอยู่เสมอ และภาพลบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ก็ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการพิจารณาว่า พวกเขาไม่ควรได้รับอะไรก็ตามเช่นเดียวกับคนที่ใช้ภาษากลางและไม่ได้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พวกเขากลับได้รับการปฏิบัติราวกับมีความเป็นคนไม่เท่ากับคนกลุ่มอื่นๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครสักคนที่มีความเป็นคนมากไปกว่าใคร เพราะ “ความเป็นคน” ก็คือ

“ความเป็นคน”


○ ทำความรู้จักอมก๋อยเชิงพื้นที่ . เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสเดินทางไป “อมก๋อย” เป็นครั้งแรก ก่อนออกเดินทาง เราค้นข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ต โดยใช้คีย์เวิร์ดว่า “อมก๋อย” พบว่าเป็น 1 ใน 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ติดกับแม่ฮ่องสอนและตาก อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ 179 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 4-5 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย . อมก๋อยมีพื้นที่ประมาณ 2,100 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 1.37 ล้านไร่ ภูมิประเทศร้อยละ 80 มีลักษณะเป็นภูเขาสูงซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายต่างๆ เช่น ลำน้ำแม่ต๋อม ลำน้ำแม่ตื่น ลำน้ำแม่หาด ลำน้ำเทย และลำน้ำขุนแม่ตื่นน้อย ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกร้อยละ 20 มีลักษณะเป็นเขตภูเขาเตี้ย ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอเป็นที่สูงและภูเขา ส่งผลให้อากาศโดยทั่วไปของอมก๋อยค่อนข้างเย็น โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 15-25 องศาเซลเซียส


เราถึงอำเภออมก๋อยและเข้าที่พักในตำบลอมก๋อยประมาณบ่ายๆ เย็นๆ จากนั้นเราก็ออกเดินสำรวจพื้นที่บริเวณโดยรอบที่พักเราพบสถานที่ราชการ ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ โรงเรียน โรงพยาบาล วัด บ้านเรือน ตลาด ร้านค้าขายผักผลไม้ ร้านขายของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน ร้านซ่อมรถ มีร้านขายของฝากประเภทผ้าทออยู่บ้าง แต่ที่เห็นเด่นชัดและเดินไปทางไหนก็เจอคือร้านขายปุ๋ยสำหรับการเกษตร . เมื่อสอบถามคนในพื้นที่เขาก็เล่าว่า คนในอมก๋อยจำนวนมากประกอบอาชีพเพาะปลูกกะหล่ำปลี มะเขือเทศ พริก ฟักทอง ถั่วเหลือง ข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ เสาวรส และทำนาแบบขั้นบันไดตามทิวเขา เพื่อส่งขายไปยังตลาดต่างพื้นที่ ขณะเดียวกันก็มีการเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้กินในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นหมู วัว ควาย และไก่ รวมถึงการหาของกินประเภทเนื้อสัตว์และพืชผักในป่า . เมื่อถึงอมก๋อย เราเพิ่งทราบว่ามีที่พักประเภทรีสอร์ต เปิดให้บริการหลายแห่ง เจ้าของที่พักซึ่งเป็นคนในพื้นที่เล่าว่า อำเภออมก๋อยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง คนส่วนใหญ่แวะพักระหว่างทางที่นี่ ก่อนเดินทางต่อไปม่อนจอง หลังจากมีดาราเดินทางไปม่อนจองและบอกเล่าเรื่องราวความสวยงามของธรรมชาติ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และความสงบของพื้นที่ให้คนต่างพื้นที่รับรู้รับทราบ คนต่างถิ่นก็เลยเดินทางมาเยือนที่ดังกล่าวมากขึ้น


○ พื้นที่-คน-วัฒนธรรมในอมก๋อย . ระหว่างที่เดินไปเดินมาอยู่ในชุมชนอมก๋อย เราสังเกตเห็นบางคนใส่ชุดผ้าฝ้ายทรงกระสอบปักลวดลายสีสัน ทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และเราก็ทราบในเวลาต่อมาว่า ผู้คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “ปกาเกอะญอ” เป็นชาวปกาเกอะญอที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนกลุ่มอื่นๆ (หนึ่งในนั้นคือกลุ่มที่เรียกตนเองว่าคนไทย) ในพื้นที่ . พอพูดถึงการเป็นชาวปกาเกอะญอ หลายคนคงมีภาพจำหรือความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ว่า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะเป็นของตนเอง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าพื้นเมืองเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง และอาศัยอยู่ตามพื้นที่สูงตามลำเนาไพร ทั้งหมดเป็นภาพจำและเป็นความเข้าใจตามที่สื่อเสนอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ความเข้าใจนี้ก็ดูจะอยู่คงที่เหมือนเดิมอย่างไงอย่างนั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดคงเดิมเหมือนราวกับถูกหยุดให้อยู่กับที่ได้ . แต่เมื่อเดินทางไปถึงพื้นที่จริง เราพบว่าชาวปกาเกอะญอมีการติดต่อสื่อสารกับคนกลุ่มอื่นๆ นอกพื้นที่ที่เขาอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารเพื่อการค้าขายของใช้/ของกิน การเรียนหนังสือที่มีหลักสูตรภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การดูรายการโทรทัศน์ วิทยุ และการเข้าใช้อินเทอร์เน็ต การเดินทางไปค้าขายหรือไปซื้อของใช้นอกพื้นที่ รวมถึงการออกไปทำงานอื่นๆ ในตัวเมืองเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ทั้งหมดนี้ ได้ส่งผลให้ชีวิตและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวปกาเกอะญอไม่คงที่ตายตัว แต่เต็มไปด้วยการเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ


คุณป้าเจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่งในอมก๋อยเล่าว่า ทุกวันพุธตอนเย็นทั้งคนในพื้นที่และคนต่างถิ่นจะทยอยเดินทางกันเอาของมาวางขายบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ ของส่วนใหญ่ที่เอามาขายจะเป็นเสื้อ กางเกง กระโปรง กระเป๋าใส่ของ กระเป๋าสตางค์ ของใช้ในชีวิตประจำวันพวกจาน ช้อน ทัพพี ไม้แขวนเสื้อ กะละมังซักผ้า รวมถึงอาหารการกิน เช่น ข้าวราดแกง ขนมเครป ชาไข่มุก และผักผลไม้อื่นๆ ที่พื้นที่ไม่ได้ปลูก . นอกจากวันพุธเย็นของสัปดาห์แล้ว หลายวันภายในหนึ่งสัปดาห์พื้นที่อมก๋อยแห่งนี้ จะมีคนต่างถิ่นที่คนในอมก๋อยเรียกกันว่า “เซลล์” จะเดินทางมาเสนอขายสินค้าให้กับคนในพื้นที่อยู่เนื่องๆ หลักๆ ก็จะเป็นการเสนอขายปุ๋ยสำหรับใช้ในการเกษตร เพราะอย่างที่บอกไปตอนแรกว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาทำไร่กันเป็นส่วนใหญ่ นอกจากปุ๋ยเพื่อการเกษตรแล้ว เซลล์ยังนำสินค้าอื่นๆ มาเสอนขายเจ้าของร้านค้าและคนที่เดินผ่านไปมาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ขนม และของใช้ในชีวิตประจำวันชนิดต่างๆ อีกด้วย . ขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในอมก๋อยเองก็ออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่นด้วย เช่น เดินทางไปซื้อของที่อำเภอฮอด เพราะว่ามีสินค้าที่อำเภออมก๋อยไม่มี หรือเดินทางไปอำเภอเมืองเชียงใหม่ เพราะมีสินค้าที่หลากหลายให้เลือกสรรมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ทั้งคนในและคนนอกพื้นที่อมก๋อยต่างก็มีการติดต่อสัมพันธ์กัน . การติดต่อระหว่างกันของคนที่อยู่อาศัยภายในและภายนอกพื้นที่อมก๋อยนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางข้ามพื้นที่ระหว่างกัน การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า การรับสื่อและความคิดต่างๆ รวมถึงการร่วมกันใช้เทคโนโลยีนั้น ได้เน้นย้ำอีกครั้งว่า พื่นที่อมก๋อย คนอมก๋อย และวัฒนธรรมมชอมก๋อย ไม่เคยวางทับซ้อนกันได้อย่างแนบสนิท เพราะ “อมก๋อยไม่ใช่พื้นที่ปิด” “อมก๋อยไม่ได้มีแต่คนอมก๋อย” และ “อมก๋อยเต็มไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลาย”


○ สู่ชีวิตผู้คนในอมก๋อยกับสิทธิการเป็นพลเมือง . สำหรับอำเภออมก๋อย แบ่งย่อยๆ ออกเป็น 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลอมก๋อย ยางเปียง แม่ตื่น ม่อนจอง สบโขง และนาเกียน แม้จะอยู่ในอำเภอเดียวกัน แต่ด้วยเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภูเขาสูง น้ำปะปา-ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง และถนนหนทางยังเป็นดินลูกรัง ยิ่งในช่วงฤดูฝนยิ่งเดินทางลำบาก เพราะทางสัญจรทั้งแคบ ลื่น และเป็นหลุมเป็นบ่อ การเดินทางไปทุกตำบลจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลามากพอสมควร ดังนั้น ด้วยระยะเวลาที่จำกัด เราจึงเลือกเดินทางไปเพียง 3 พื้นที่ ได้แก่ (1) หมู่ 2 บ้านยางเปาใต้ ตำบลอมก๋อย (2) หมู่ 12 บ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย โดยทั้งสองหมู่บ้านนี้ห่างกันประมาณ 40 กิโลเมตร จากนั้นจะเดินทางไป (3) ตำบลยางเปียง ซึ่งห่างจากตำบลอมก๋อยประมาณประมาณ 20 กิโลเมตร และแล้วเรื่องราวต่างๆ ในใจของคนในพื้นที่ก็พรั่งพรูออกมาสู่เราในฐานะคนต่างถิ่น

. #สิทธิการเป็นพลเมือง: ในหลายพื้นที่ของอำเภออมก๋อยพบผู้ไม่มีสัญชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุหรือเพศใดเพศหนึ่ง แต่คนที่ไม่ได้รับสัญชาติมีอยู่ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน จนตลอดจนผู้สูงอายุ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย เมื่อไม่ได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองในแผ่นดินที่อยู่อาศัย ส่งผลให้การทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันค่อนข้างติดขัด ยากลำบาก และนำไปสู่การมีรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นทั้งที่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การใช้ประโยชน์ที่ดินทำกิน การสมัครเข้าทำงานในระบบ และการแสดงความเห็นต่อประเด็นสาธารณต่างๆ นั้นก็ขาดหายตามไปด้วย.



#ที่ดินทำกิน: ประโยชน์จากการใช้ที่ดินทำกินทั้งการใช้ที่ดินในฐานะที่อยู่อาศัยและการใช้ที่ดินในฐานะพื้นที่การเกษตร เมื่อเขาไม่ได้รับสิทธิการเป็นพลเมือง การจะเข้าครอบครองพื้นที่ทำกินต่างๆ ก็เป็นไปได้อย่างยากลำบาก บ้างมีที่ดินทำกิน แต่ในเวลาต่อมาที่ดินดังกล่าวก็ถูกยึดทั้งที่ทำอยู่ทำกินมานานแล้ว และไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากทางราชการได้ เพราะที่ดินผืนที่ว่านี้ไม่มีโฉนด ถึงแม้จะเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดได้ในภายหลัง บุคคลเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิที่จะครอบครองที่ดินที่ว่านี้ได้อยู่ดี เนื่องจากเป็นบุคคลไร้สัญชาติ

. นอกจากนี้ การที่พวกเขาใช้ชีวิตติดอยู่กับป่ากับเขา กลับถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มสำคัญที่ทำให้ความอุดมสมบรูณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้และสัตว์ป่าเสื่อมโทรม สิ่งที่ตามมาก็คือคนกลุ่มนี้ถูกบังคับให้ออกจากป่า เริ่มจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และตามมาด้วยประกาศเขตหน้าล่าสัตว์ป่าในเวลาต่อมา


ไม่มีใครปฏิเสธว่าพันธุ์ไม้และพันธุ์สัตว์ในประเทศไทยลดน้อยลงเรื่อยๆ แต่การอธิบายว่าคนบางกลุ่มที่ใช้ชีวิตอยู่กับป่ามาแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นกลุ่มหลักที่ทำลายผืนป่าจนกระทั่งป่าเสื่อมโทรม และล่าสัตว์จนสัตว์หลายชนิดตกอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธ์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ . หากลองพิจารณาดูอีกครั้งจะพบว่า เหตุใดกันแน่... ระหว่างการหาอยู่หากินจากป่ามื้อต่อมื้อตามฤดูกาลของคนในพื้นที่ กับการตัดไม้และล่าสุตว์เพื่อการค้าของกลุ่มธุรกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พันธุ์พืชเสื่อมโทรมและพันธุ์สัตว์ตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์

. บ่อยครั้งที่เราได้ยินคำพูดที่ว่า “คนอยู่กับป่าได้” จากเดิมที่เรามีโอกาสแค่ได้ยินคำพูดที่ว่า แต่การเดินทางมาอมก๋อยในครั้งนี้ เราได้มาเรียนรู้ว่า “คนอยู่กับป่าได้จริงๆ เป็นอย่างไร” เราได้มีโอกาสได้นั่งคุยเล่นกับน้องจันดีและเพื่อนๆ ของน้องอีก 2-3 คน เด็กๆ กลุ่มนี้เล่าให้ฟังว่า เย็นนี้พ่อกับแม่จะพาพวกเขาเข้าป่าไปจับกบและหนูมาย่างกิน แล้วก็หาผักมาต้มกินด้วย ที่ผ่านมา แม่จะคอยบอกว่าผักชนิดไหนกินได้ ผักชนิดไหนกินไม่ได้ บางทีพวกหนูก็ไม่รู้จักชื่อ แต่รู้ว่าชนิดไหนกินได้ ชนิดไหนอันตรายห้ามกิน บางวันพ่อก็พาไปจับจิ้งหรีดมากิน ตอนฤดูที่จิ้งหรีดเยอะๆ เราก็จะได้กินเยอะ แต่ถ้าฤดูไหนมีจิ้งหรีดน้อย เราก็ไปหาอย่างอื่นกินแทน



. เราถามต่อว่า ถ้าวันไหนพ่อกับแม่บอกให้ไปหากบ หนู จิ้งหรีด และผักมากินโดยที่พ่อแม่ไม่ได้ไปด้วย พวกหนูจะไปเองได้ไหม? น้องๆ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ได้ค่ะ” แล้วพวกหนูก็เคยไปเองมาหลายครั้งแล้วด้วย วันก่อนก็เพิ่งไปมา ประโยคสนทนาข้างต้นนี้ ได้แสดงให้เราเห็นว่า เด็กๆ กลุ่มนี้มีความสามารถที่จะหาอยู่หากินกับป่าได้ในแบบที่เราไม่เคยได้เรียนรู้ และเมื่อพวกเขาเป็นคนที่หาอยู่หากินกับป่า พวกเขาจะทำลายแหล่งอาหารของตนเองไปทำไม . #การเข้ามาของเหมืองแร่ถ่านหิน: มีข่าวคราวว่าพื้นที่บ้านกะเบอดินที่เป็นแหล่งต้นน้ำสายสำคัญของอำเภออมก๋อยมีแร่ถ่านหินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์กระทั่งเป็นที่หมายตาของบริษัทที่กำลังหาทำเลตั้งเหมืองแร่ ร่างโครงการเสนอสร้างเหมืองแร่ในพื้นที่คืบหน้าไปมาก แต่คนในพื้นที่กลับไม่รู้มาก่อนเลยว่า พื้นที่ที่ตัวเองอยู่จะมีเหมืองแร่มาตั้ง บ้างก็เริ่มรู้คร่าวๆ ว่าจะมีเหมืองแร่มาตั้ง แต่ก็ไม่ทราบว่าเหมืองแร่ที่ว่านี้มีโทษหรือมีประโยชน์อะไรอย่างไรบ้างแม้แต่น้อย . กระทั่งก่อนทำเปิดเวทีทำประชาพิจารณ์เพียง 1 สัปดาห์ กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ได้จัดเวทีให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบที่คาดว่าจะได้รับหากมีการจัดตั้งเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ หนึ่งในผู้ให้ข้อมูลเล่าว่า คนในพื้นที่หลายคนไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งเหมืองแร่ที่จะเกิดขึ้น เช่น ลุงในพื้นที่คนหนึ่งบอกเราว่า ถ้าเป็นคำสั่งจากเจ้าแผ่นดิน (รัฐส่วนกลางจากกรุงเทพ) สั่งมา เราก็จะต้องทำตาม เป็นต้น


สำหรับตัวอย่างข้อมูลที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนลงไปให้ข้อมูลกับประชาชน ก็เช่นระหว่างการก่อสร้างเหมืองแร่จะมีรถขนอุปกรณ์ก่อสร้างจากต่างถิ่นเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับเด็กเล็ก รวมถึงหมูและวัวที่เลี้ยงไว้กิน เมื่อสร้างเสร็จ สารพิษที่เกิดขึ้นมาจากเหมืองแร่ก็จะไหลลงสู่แหล่งน้ำสายหลัก และกระจายลงสู่แม่น้ำสาขาย่อย เพราะตำแหน่งที่ตั้งของเหมืองแร่คือแหล่งต้นน้ำสำคัญของอำเภออมก๋อย ดังนั้น ผลกระทบจากเหมืองแร่จึงไม่ใช่แค่คนที่มีบ้านเรือนใกล้ชิดกับเหมืองแร่เท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนทุกคน และสัตว์ทุกชนิดที่อยู่ในระบบนิเวศทั้งป่าและน้ำเดียวกันกับเหมืองแร่ต่างก็ได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น . หลังจากได้รับทราบถึงผลกระทบจากการการก่อสร้างเหมืองแร่ เราได้ลองพูดคุยกับบางคนและสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับโครงการก่อสร้างเหมืองแร่ในพื้นที่ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่อยากให้มาทำเหมืองแร่” กลัวว่าพื้นที่ป่าจะถูกทำลาย พร้อมเล่าต่อว่า ต้นไม้ทุกต้น แม่น้ำทุกสาย ภูเขา ผืนฟ้า และผืนดินต่างก็มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ พวกเราที่หาอยู่หากินกับป่าต่างก็แสดงความเคารพบูชา อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นคนในพื้นที่แท้ๆ และไม่เห็นด้วยกับเหมืองแร่ที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ แต่ถ้าเขาเป็นบุคคลไร้สัญชาติ เสียงของเขาก็จะไม่เคยถูกนับราวกับไม่เคยบอกใครให้รับรู้ .


#เดินหน้าเข้าถึงการมีสถานะบุคคล: จากสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การใช้ประโยชน์ที่ดินทำกิน การสมัครเข้าทำงานในระบบ และการแสดงความเห็นต่อประเด็นสาธารณต่างๆ ต่างก็เกี่ยวข้องกับการไม่ได้รับการรองรับว่าเป็นพลเมืองของรัฐ ส่งผลให้เครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล (Plan International) ได้จัดทำแบบสำรวจข้อมูลของบุคคลเพื่อพัฒนาไปสู่การมีสถานะบุคคล/ได้รับสัญชาติต่อไป เพราะคนที่ได้จะรับสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านต่างๆ นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติ . ย้อนมาคำถามเดิมที่ว่า เมื่อการได้รับสัญชาติเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้บุคคลเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน “แต่ทำไมการจะได้รับสัญชาติของคนบางคนจึงถูกทำให้เป็นเรื่องยากเย็นนัก?”

. เราอาจหลงลืมอะไรบางอย่าง แต่อย่าหลงลืมความเป็นคนของคนอื่น...

.

#อมก๋อย #สู่อมก๋อย

437 views0 comments
bottom of page