top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

เขื่อนไซยะบุรี การเปลี่ยนแปลงของน้ำโขงที่ไม่หวนคืน



วันนี้(29 ตุลาคม 2562) หนังสือพิมพ์หลายฉบับในประเทศไทยพร้อมใจกันขึ้นโฆษณา ด้วยข้อความว่า


“โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โรงไฟฟ้าแห่งแรกบนแม่น้ำโขง ที่มีวิถีธรรมชาติเป็นต้นแบบ”


จักแม่นบ่แม่น ?


แต่เมื่อวานนี้ (28 ตุลาคม 2562) The Maekong Butterfly รายงานว่า ที่ศาลาประชาคมอำเภอปากชม จังหวัดเลย เครือข่ายชาวบ้าน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้อ่านแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนแม่น้ำโขงให้ปกป้องสิทธิของประชาชนและปกป้องสิ่งแวดล้อม


โดยใจความของแถลงการณ์ว่า


แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านตั้งแต่ทิเบต จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นแม่น้ำนานาชาติ ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนที่ได้พึ่งพาแม่น้ำโขง ทั้งการใช้น้ำทำการเกษตร การหาปลา ความหลากหลายของพันธุ์ปลา มีความสำคัญในเรื่องวัฒนธรรม ความเชื่อ เช่น การบุญประเพณีบั้งไฟพญานาค รวมถึงพิธีกรรมที่ชุมชนได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตลอดสองฝั่งแม่น้ำโขง สะท้อนว่าแม่น้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้คน


แม่น้ำโขง ถูกนำไปใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนาต่าง ๆ มากมาย เช่น การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีน อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี ได้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อพวกเรามานับสิบกว่าปี ต่อมามีการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงสองแห่งบนแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนไซยะบุรี ที่อยู่เหนือชายแดนของไทยลาวขึ้นไปเพียง 200 กิโลเมตร การทดลองผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีเมื่อเดือนกรกฎาคม2562 ได้ทำให้เกิดภาวะน้ำโขงแห้งอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็ว การอพยพของปลาที่ผิดฤดูกาลและพืชพันธุ์แห้งตายตลอดสายน้ำโขง ได้สร้างความวิตกและกังวลต่อพวกเราชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมน้ำโขงเป็นอย่างมาก


วันนี้ ถือเป็นวันสุดท้ายที่เราจะเห็นชีวิตแม่น้ำโขงตอนล่าง พวกเราประชาชนลุ่มน้ำโขง คนปลูกผักริมโขง ชาวนา ผู้ใช้น้ำ คนหาปลา คนเลี้ยงปลา พ่อค้า คนขับเรือส่งสินค้าข้ามฟาก ขอเรียกร้องให้ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรี ดังนี้


1. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ลงมาแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งโขงที่กำลังเกิดขึ้น


2. ขอเรียกร้องให้ภาคเอกชนไทย ที่เป็นเจ้าของโครงการ และธนาคารไทย ผู้สนับสนุนโครงการ ได้แสดงความรับผิดชอบและมีมาตราการแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


3. ประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนและความรับผิดชอบ ในการดำเนินธุรกิจของเอกชนข้ามพรมแดน ต้องถูกหยิบยกเป็นวาระสำคัญการประชุมผู้นำอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วนของภูมิภาค


ปรากฎการณ์ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของพวกเราคนหาปลา คนปลูกผัก พ่อค้าแม่ค้า ประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงในขณะนี้ และยังส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมประเพณีของคนลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจพวกเราเป็นอย่างยิ่ง และพวกเราขอเรียกร้องให้เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน


ภาพจาก: Penpun Lek


#theisaander #ปากชม #เลย #เขื่อนไซยะบุรี #ใครว่าหนังสือพิมพ์กำลังจะตาย #อ่านTheIsaanderไม่เคยรับใช้ทุนเขื่อน #รักแม่น้ำโขง #SavetheMekong #หยุดเขื่อนไซยะบุรี #nodam #เขื่อนไซยะบุรี #เขื่อนบนแม่น้ำโขง #MekongRiverisNotforSale


41 views0 comments
bottom of page