top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

เปิด 10 งานวิชาการบอกเล่าอีสานร่วมสมัย


ด้วยพื้นที่กว้างใหญ่- ไกลจรดเพื่อนบ้านสองประเทศ ดินแดนอีสานมีเรื่องราวอารยธรรม มากหลายและแปลกต่างเกิดขึ้น และคงจะเป็นเช่นนั้นตลอดไปเท่าที่ยังมีคนอาศัยไม่ว่าจะเป็นอีสานใหม่หรืออีสานเก่า

ความท้าทายแรกๆ เมื่อเราตั้งสำนักข่าวเล็กๆนี้ขึ้นมาคือ เราจะกระจายพื้นที่ข่าวให้ครอบคลุมทุกจังหวัดได้อย่างไร โดยไม่หลงลืมเรื่องราวพวกเขา ?

นอกจากงานข่าว บทความ รายงานพิเศษแล้ว การค้นหาและตามติดความเป็นอีสานร่วมสมัย เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการทำความเข้าใจดินแดนแห่งนี้ วันนี้เราอาจจะเริ่มขยายอาณาเขตความรู้ ผ่านงานวิชาการที่คนอื่นๆเคยทำและเก็บมาร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่า

นี่จึงเป็นเรื่องราวร่วมสมัยที่เราอยากบันทึก และชวนทุกคนได้อ่านกัน หวังว่านี่คงเป็นแค่จุดเริ่มเล็กๆ ของการเผยแพร่งานวิชาการที่เกี่ยวเนื่องกับอีสาน และเผยแพร่ความรู้ ความเชื่อ ภูมิปัญญา เหล่านั้นให้ได้รับรู้โดยทั่วกันอีกครั้ง ขอบคุณสำหรับผลงานดีๆทั้ง 10 ชิ้นเด้อ

ความยากจนของคนอีสานในบทเพลง ลูกทุ่งของต่าย อรทัย


บทความนี้ เก็บข้อมูลและศึกษาจากตัวบทเพลง จำนวน 8 อัลบั้ม จำนวน 80 เพลง ด้วยวิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาวาทกรรมความยากจนของคนอีสานในบทเพลงลูกทุ่งของต่าย อรทัย


พบว่า วาทกรรมความยากจนด้านทรัพย์สินเงินทองปรากฏวาทกรรมย่อย ดังนี้ 1) ด้านรายได้ ทำงานแลกเงินด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน 2) ด้านที่อยู่อาศัย ต้องเข้ามาเช่าห้องเช่าเล็กๆ 3) ด้านอาหารการกิน หวนคิดถึงอาหารอีสานที่แม่เคยทำให้รับประทาน และ 4) ด้านเครื่องนุ่งห่ม สวมเสื้อผ้าที่เก่าๆ หรือเสื้อผ้าที่ราคาไม่แพงมากนัก วาทกรรมความยากจนโอกาสทางการศึกษา เพราะปัญหาความยากจนไม่มีทุนที่จะส่งตนเองเรียน จึงต้องออกมาทำงานหาเงินเพื่อไปจุนเจือครอบครัว


คนอีสานได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-ตอนปลาย แต่หลายรายไม่มีโอกาสเรียนถึงระดับปริญญาตรี และต้องออกมาทำงานเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว วาทกรรมความยากจนอำนาจ ลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง จึงได้รับผลกระทบ ต่อค่าแรงขั้นต่ำในการทำงาน เพราะไม่มีอำนาจในการต่อรอง อีกทั้งวาทกรรมปรากฏการณ์การโหยหาอดีต กล่าวคือคนอีสานที่จากบ้านเกิดเมืองนอนมาทำงานในเมืองหลวง ทำให้หวนคิดถึงบ้านเกิดของตนเอง หวนคิดถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องของตนเอง หวนคิดถึง แผ่นดินเกิด คิดถึงบุญประเพณี เช่น เทศกาลสงกรานต์ งานไหว้พระธาตุ งานบุญต่างๆ


บทความนี้ ยังศึกษาถึงถ้อยคำกลุ่มคำหรือข้อความที่ ถูกสร้างขึ้นมาโดยนักประพันธ์เพลงและนักร้องที่มีเพื่อวัตถุประสงค์ในการถ่ายทอดวาทกรรมความยากจนอันเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตสัมพันธ์ของผู้คนอีสาน มีการสร้างความหมาย กำหนด


และควบคุมความรู้ความคิดผ่านการเลือกใช้องค์ประกอบสร้างทางภาษา มีการสร้างสรรค์ภาษา มีปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลและสังคม เช่น จัดระเบียบ ครอบงำปิดกั้น ต่อสู้ ต่อรอง ฯลฯ วาทกรรมความยากจนซึ่งถูกผลิตขึ้นจากความรู้ได้ครอบงำ กำกับ จัดวาง ความคิด และ พฤติกรรมในทุก ๆ ความเคลื่อนไหวของชีวิตมนุษย์ ครอบคลุม ในทุกกลุ่มคนทุกประเทศ แจกแจงชี้แนะให้เห็นหน้าที่ที่พึงปฏิบัติทั้งกับรัฐบาล นายทุน และคนยากจนผ่านสถาบันทางสังคม


บทคัดย่อจาก บทความ ความยากจนของคนอีสานในบทเพลง ลูกทุ่งของต่าย อรทัย

โดย สันติ ทิพนา และ ราตรี ทิพนา จาก วารสารวิถีสังคมมนุษย์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2561 มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ ---> https://bit.ly/2zdivJh


ที่มาภาษาที่ใช้ในการตั้งชื่ออำเภอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


บทความวิจัยเชิงคุณภาพนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายภาษาที่ใช้ในการตั้งชื่ออำเภอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้วิจัยรวบรวมวิเคราะห์รายชื่ออำเภอจำนวน 306 ชื่อ จาก 20 จังหวัด โดยใช้แนวคิดด้านภาษาของชื่อสถานที่


ผลการศึกษาพบว่า ภาษาที่ใช้ตั้งชื่ออำเภอมีที่มาจาก 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาบาลีสันสกฤต และภาษาเขมร ภาษาที่ปรากฏในชื่ออำเภอเหล่านี้สะท้อนให้เห็นลักษณะเฉพาะบางประการของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยชื่ออำเภอที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาบาลีสันสกฤต และภาษาเขมร ตามภาษาของกลุ่มผู้พูดซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เขมร ส่วนพื้นที่อื่น ๆ นิยมใช้ภาษาไทยถิ่นอีสาน


การตั้งชื่ออำเภอโดยใช้ภาษาถิ่นอีสาน จะพิจารณาคำศัพท์ภาษาไทยที่ชาวอีสานใช้กันเป็นปกติ และรวมไปถึงคำศัพท์บางคำที่แสดงให้เห็นว่า โดยส่วนมากแล้ว นิยมใช้คำเหล่านี้แทนอีกคำหนึ่งในภาคอื่น ๆ หรือคำศัพท์เหล่านี้สะท้อนถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ในท้องถิ่นอีสาน


นา เป็นคำแสดงที่นา การทำนา ห้วย เป็นคำแสดงหมายถึง ธารน้ำ ลำธาร

หนอง หมายถึง ที่ลุ่มน้ำขัง ภาคกลางใช้ บึง

ภู หมายถึง ภูเขา ภาคกลางใช้ เขา

ปาก คนอีสาน หมายถึง ปากแม่น้ำ

น้ำ หมายถึง แม่น้ำ

เชียง หมายถึง เมือง มาจากเสียง ซ เซียง

คำ หมายถึง ทอง

โนน หมายถึง ที่สูง

ดง / ดุง หมายถึง ป่า

วัง หมายถึง วังน้ำ

กุด หมายถึง ตาน้ำ


คำศัพท์ข้างต้นที่ปรากฏในชื่ออำเภอของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่หมายถึงแหล่งน้ำมากที่สุด ได้แก่ หนอง ปาก วัง ห้วย น้ำ บึง กุด และลักษณะภูมิประเทศที่เป็นป่า ได้แก่ ดง ดุง และชื่อต้นไม้ที่พบมากในอำเภอนั้น

เช่น นาแก นาหว้า หมายถึง ต้นแก ต้นหว้า เป็นต้น


ชื่ออำเภอที่ตั้งชื่อโดยใช้ภาษาไทยถิ่นอีสานจำนวน 151 ชื่อ เช่น นามน, นิคมคำสร้อย, ดงหลวง ,หนองสูง, ปากคาด, หนองพอก, ภูเรือ, ห้วยทับทัน

วังหิน, บ้านดุง, (มาจากคำว่า บ้านดง) กุดข้าวปุ้น , คำเขื่อนแก้ว ฯลฯ


การใช้ชื่อภาษาอีสานมิได้เป็นเพียงการแสดงตัวตนของคนอีสานผ่านภาษาที่ใช้ในการตั้งชื่อเท่านั้น หากยังแสดงให้เห็นภูมิปัญญาของคนอีสานในการเลือกทำเล ในการตั้งถิ่นฐานที่สอดคล้องกับลักษณะการดำรงชีวิต


ภาษาบาลีสันสกฤต มีอิทธิพลในสังคมไทยมาเป็นเวลาช้านาน โดยเข้ามาในสังคมไทยผ่านความเชื่อทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ส่งผลให้คนไทยใช้ภาษาบาลีสันสกฤตจำนวนไม่น้อย ชื่ออำเภอที่ตั้งด้วยภาษาบาลีสันสกฤตมีจำนวน 75 ชื่อ เช่น สหัสขันธ์, มัญจาคีรี, จัตุรัส, กันทรวิชัย, เบญจลักษ์, กุสุมาลย์ ฯลฯ


ภาษาเขมร นับเป็นอีกภาษาที่มีอิทธิพลต่อคนไทย เพราะไม่เพียงความสัมพันธ์ทางอำนาจในอดีตเท่านั้น หากยังเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่ติดกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยอีกด้วย พบว่ามีการตั้งชื่ออำเภอด้วยภาษาเขมรจำนวน 16 ชื่อ เช่น ประทาย (แปลว่า ป้อม ค่าย) พิมาย (แปลว่า ผู้ปราศจากมายา) พุทไธสง (มาจากคำว่า บัน ทายสรอง แปลว่า กำแพงสูง) สตึก (แปลว่า เมืองน้ำ) ฯลฯ


บทคัดย่อและเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก บทความ ที่มาภาษาที่ใช้ในการตั้งชื่ออำเภอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย วทัญญา เล่ห์กัน ,รัตนา จันทร์เทาว์ จากวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2559 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ ---> (https://bit.ly/2Hm6aH8)

เมียฝรั่ง: ภาษาและการสื่อสาร


ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้การแต่งงานของหญิงไทยกับชายชาติตะวันตกมีอัตรา เพิ่มมากยิ่งขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกรณีของหญิงไทยในชนบทอีสาน


งานวิจัยหลายเรื่องได้ศึกษาการแต่งงานของหญิงในสังคมชนบทอีสานกับชายชาติตะวันตกซึ่งส่วนมากเป็นงานทางด้านสังคมศาสตร์ โดยกล่าวถึงสาเหตุและแรงผลักให้หญิงไทยแต่งงานกับชายต่างชาติว่า เป็นผลเนื่องมาจากความยากจน และความผิดหวังในชีวิตสมรสกับชายชาวไทย


วิธีการเชื่อมโยงของหญิงชนบทอีสานกับชายชาวต่างชาตินั้นมีหลายช่องทางด้วยกันโดยก่อนหน้าบทความนี้ รัตนา บุญมัธยะ ศึกษาผู้หญิงอีสานชาวร้อยเอ็ดที่แต่งงานกับชาวต่างประเทศว่า หญิงที่เป็นปัญญาชนและมาจากชนชั้นกลางมีแนวโน้มในการพบคู่ ของตนเองในระหว่างการไปศึกษาต่อในต่างประเทศหรือพบกันในที่ทำงานตามสาขาอาชีพที่เรียนมา


แต่ผู้หญิงจากหมู่บ้านชนบทอีสานมีแนวโน้มพบคู่สามีฝรั่งของตนเองในระหว่างทำงานเป็นสาวใช้ สาวเสิร์ฟ แคชเชียร์ และหมอนวดในภาคอุตสาหกรรมการบริการ เช่น ตามสถานบันเทิงเริงรมย์ที่กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต สมุย และเชียงใหม่ รวมถึงการผ่านช่องทางการแนะนำจากครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนที่สมรสกับชายต่างชาติมาก่อน เพื่อนๆ หรือ ญาติของสามีที่เป็นชาวต่างประเทศเกิดความสนใจผู้หญิงไทยและวัฒนธรรมหมู่บ้านอีสาน พวกเขาจะติดตามกลุ่มภรรยาฝรั่ง และสามีของเธอมาเที่ยว หลายคนก็ได้พบกับหญิง ไทยในหมู่บ้าน


กระทั่งเมื่อหญิงชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชายชาวตะวันตกได้ทำความรู้จักกันตลอดจนหลายคู่สานต่อความสัมพันธ์จวบจนหญิงและชายตัดสินใจแต่งงานและมีชีวิตคู่นั้น ในช่วงการทำความความรู้จัก และการเรียนรู้กันระหว่างหญิงชนบทอีสานกับชายชาวตะวันตกภาษาอังกฤษมีบทบาทสำคัญ


เนื่องจากเป็นภาษาแรกที่ใช้ในการสื่อสาร ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของฝ่ายหญิงส่วนมากเป็นการสื่อสารในระดับคำและรูปประโยคอย่างง่าย บางกรณีใช้ภาษาท่าทาง และการวาดภาพ


หลังจากแต่งงานฝ่ายหญิงต้องปรับตัวอย่างมากในการเรียนรู้ภาษาของสามี(นอร์เวย์ เยอรมัน และสวีเดน เป็นต้น) จากสถาบันสอนภาษา ที่เปิดสอนในประเทศไทย หรือในประเทศสามี


ในลักษณะของครอบครัว หญิงชนบทอีสาน ผู้เป็นแม่ จะมีบทบาทสำคัญในการอบรมและสอนภาษาไทยให้แก่ลูก ในขณะที่ชายชาวตะวันตกผู้เป็นพ่อจะเป็นผู้ถูกถ่ายทอดวัฒนธรรมทางภาษาของตนให้แก่ลูก


ทั้งนี้ การที่สามีชาวต่างชาติบางคนตัดสินใจมาใช้ชีวิตร่วมกับฝ่ายหญิงในชุมชนอีสานยัง ผลให้เกิด ภาวะหลายภาษาในหมู่บ้าน ประกอบด้วย ภาษาไทยถิ่นอีสาน ภาษาไทยกลาง ภาษาอังกฤษ และภาษาของสามี ด้วยความหลากหลายดังกล่าว


ส่งผลให้เกิดการเลือกใช้ภาษา และการสลับภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน โดยมุ่งเน้นความหมายเป็นหลักมากกว่าความถูกต้องทางไวยากรณ์


ความแตกต่างทางด้านภาษาเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าด้วยความแตกต่างและการทำความเข้าใจในการสื่อสารซึ่งกันและกันนั้นพวกเขาสื่อสารกันอย่างไร จากประเด็นปัญหาข้างต้นผู้วิจัยมีความสนใจจึงได้ทำการศึกษา เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน ข้ามวัฒนธรรมหรือการแต่งงานข้ามชาติ การใช้ระเบียบวิธีวิจัยภาคสนามทางมานุษยวิทยา รวมถึงการสัมภาษณ์แบบเชิงลึกและสังเกตแบบทั่วไป ในพฤติกรรมการใช้ภาษาของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสามีชาวต่างชาติและภรรยาชาวอีสานกลุ่มตัวอย่างหญิงชาวอีสาน


บทคัดย่อและส่วนหนึ่งจากบทความ เมียฝรั่ง: ภาษาและการสื่อสาร โดย ทินวัฒน์ สร้อยกุดเรือ จากวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2555


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ ---> https://bit.ly/2Ze7Ahe

กลับอีสาน: ภาพฝันอันหลอกหลอนและความรุนแรงของมหานคร ในภาพยนตร์เรื่อง คืนพระจันทร์เต็มดวง และ ลุงบุญมีระลึกชาติ


ศึกษาพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทในภาพยนตร์ไทยร่วมสมัย 2 เรื่องคือ คืนพระจันทร์เต็มดวงของมิ่งมงคล โสณกุล (2545) และลุงบุญมีระลึกชาติ ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (2553) ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวกับ การเดินทางออกจากกรุงเทพมหานครสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสาน


อันนําไปสู่การทบทวนความหมายของพื้นที่เมืองในฐานะภาพฝันอันหลอกหลอนและประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรง แม้ว่าเนื้อหาของภาพยนตร์จะเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับปัจจุบัน


แต่ใช้กลวิธีต่างๆ เพื่ออ้างถึงบริบททางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามเย็นอันเป็นช่วงเวลาที่อีสานเป็นเป้าหมายของนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ทั้งโดยการใช้วาทกรรมการพัฒนาและการใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม


ในภาพยนตร์เรื่องคืนพระจันทร์เต็มดวง ละครวิทยุเป็นสัญลักษณ์ของ “ความทันสมัย” และ “การพัฒนา” ในยุคสงครามเย็นและเป็นเครื่องมือเผยแพร่ภาพฝันเกี่ยวกับชีวิตที่ดีสู่ชนบท ขนบละครประโลมโลกของละครวิทยุถูกนำเสนอผ่านองค์ประกอบของสุนทรียศาสตร์แบบแคมป์ เช่น ความล้นเกินและ การเล่นสวมบทบาทเพื่อบ่อนเซาะภาพฝันอันเกิดจากวาทกรรมการพัฒนาที่ยังคงหลอกหลอนคนชนบทจนถึงปัจจุบัน


ส่วนในภาพยนตร์ลุงบุญมีระลึกชาติ ประวัติศาสตร์ความรุนแรงเกี่ยวกับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็นถูกรื้อฟื้นผ่านเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ ผี และการเวียนว่ายตายเกิด ความสัมพันธ์ข้ามสายพันธุ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นกระบวนการแบ่งแยกชาติพันธุ์และการลดทอนความเป็นมนุษย์ซึ่งรัฐใช้อ้างความชอบธรรมในการควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์ลาว-อีสาน การทบทวนบาดแผลฝังจำทางประวัติศาสตร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการวิพากษ์อำนาจรัฐผ่านการปลุก “ผี” จากอดีตให้กลับมาหลอกหลอนปัจจุบัน กล่าวได้ว่าการทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองและชนบทในภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีลักษณะร่วมกันคือ การวิพากษ์มุมมองแบบกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางและการรื้อฟื้นความรุนแรงที่ศูนย์กลางกระทําต่อชนบททั้งโดยกระบวนการทางวัฒนธรรมและการใช้อํานาจ


บทคัดย่อจากบทความ กลับอีสาน: ภาพฝันอันหลอกหลอนและความรุนแรงของมหานคร ในภาพยนตร์เรื่อง คืนพระจันทร์เต็มดวง และ ลุงบุญมีระลึกชาติ โดย ชัยรัตน์ พลมุข

จาก วารสารอักษรศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 44 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม 2558


บทความฉบับเต็มกำลังหาแบบออนไลน์คือกัน

สหายชาวบ้านกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในภาคอีสานของประเทศไทย


วิทยานิพนธ์ค้นคว้าและอธิบายเรื่องราวภายหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในสามประเด็นหลักคือ (1) มุ่งเน้นศึกษาเหล่าอดีตสหายชาวบ้านซึ่งถูกละเลยมาโดยตลอดในการศึกษาประวัติศาสตร์ขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย (2) ศึกษาถึงกลุ่ม/ขบวนการ/รูปแบบสายสัมพันธ์ที่ยังหลงเหลืออยู่ของสหายชาวบ้าน และ (3) ต้องการศึกษาว่า การปลูกฝังแนวความคิดและอุดมการณ์ใน “เชิงปฎิบัติ”


โดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสามารถสืบทอดลักษณะบางอย่าง เช่น วิธีคิดและทัศนคติของ“ครอบครัวนักปฎิวัติ”ผ่านกระบวนการต่างๆอย่างไรโดยกระทำผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชาติพันธุ์และประวัติรวมถึงวิถีชีวิตส่วนตัวของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยด้วยวิธีการศึกษาจากเอกสาร และการลงพื้นที่สัมภาษณ์และ “จุ่มตัว”ตามกระบวนการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม


บทสรุปจากการศึกษาปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมของชาวอีสานอันยืนอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนาด้วยแบบแผนด้านคุณธรรมหรือเกณฑ์ของสังคมแบบฮีต-คองประเพณีการศึกษาลักษณะเบื้องต้นและข้อมูลพื้นฐานของท้องถิ่นในพื้นที่ชายขอบที่มีประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์จากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่ถูกบังคับให้ต้องศิโรราบกับรัฐศูนย์กลางในภายหลังการปฎิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่5 เป็นต้นมาและการศึกษาลักษณะปัจจัยของความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย อันเป็น “สิ่งกระตุ้นเร้าพื้นฐาน” ที่รวมเข้ากับการศึกษาถึงปัจจัยทางการศึกษาและฝึกอบรมโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย


ทำให้สรุปได้ว่า สหายชาวบ้านมีสำนึกเรื่องการต่อต้านการกดขี่และความไม่เป็นธรรมและสำนึกที่เรียกร้องความเสมอภาคและเท่าเทียมเสมอมาตั้งแต่อดีตที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน และยังสรุปได้ว่าสหายชาวบ้านเป็นผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคมากกว่าสหายกลุ่มอื่นอันส่งผลให้กลุ่มสหายเหล่านี้ยังยึดในวินัยของทหารป่า มีความซื่อสัตย์ต่อพรรค และยึดมั่นในแนวคิดของประธานเหมาเจ๋อตุงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ประกอบด้วยแนวคิดอื่นๆอีกเช่น การไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและไม่มีลักษณะความเชื่อในแนวทางแบบสันติวิธีความต้องการสวัสดิการ ความเท่าเทียมและการได้รับการศึกษาและสวัสดิการทางสังคมจากรัฐและการต่อต้านระบอบศักดินา ระบอบทหาร แต่ไม่ปฏิเสธทุนนิยมอย่างชัดเจน


และยังพบข้อสรุปว่า การเกิดเครือข่ายของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และอดีตสหายที่ยังมีกลุ่มก้อนและสายงานร่วมกันมาจนปัจจุบัน เป็นการสร้างสนามของพลังทางสังคมใหม่ที่สำคัญทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น และด้วยต้นทุนของเครือข่ายทางวัฒนธรรมเช่นนี้ ถือเป็นต้นทุนในทางอ้อมในการที่เด็กได้รับรู้พื้นเพของตนเอง ซึมซับรับรู้ประวัติศาสตร์ทางตรงของครอบครัว อีกทั้งการเรียนรู้ในสังคมและพื้นที่ทางสังคมหนึ่งๆมาเป็นระยะเวลายาวนาน


แม้จะปรากฎความแตกต่างที่สำคัญสองประการคือ การได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นและการไม่ได้ต่อสู้กับรัฐโดยตรงเช่นในอดีต แต่ก็ยังสังเกตเห็นความคล้ายคลึงเชิงทัศนคติในรุ่นลูกของอดีตสหายในสามประเด็นคือ 1.ความยุติธรรมและความเท่าเทียมในสังคม 2.ความต้องการสวัสดิการ 3. ความเสมอภาคทางการเมืองสังคมและเศรษฐกิจ


บทคัดย่อจากวิทยานิพนธ์ สหายชาวบ้านกับขบวนการคอมมิวนิสต์ในภาคอีสานของประเทศไทย โดย ปฐมพร ศรีมันตะ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2559

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับเต็มได้ที่ ---> https://bit.ly/30q5wzR

ประวัติบัลเลต์ในเขตภาคอีสาน


ศิลปะการเต้นบัลเลต์ถูกนำเข้ามาเผยแพร่สู่ภาคอีสานเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2519 โดย คุณหญิงเจเนเวียฟ เลสปันยอล เดมอน นักบัลเลต์ชาวฝรั่งเศส ขณะที่อาจารย์เอกชัย ไก่แก้วและอาจารย์กนกนาฏ โหมาศวิน กลายเป็นครูผู้บุกเบิกการเต้นบัลเลต์ของภูมิภาคอีสานในเวลาต่อมา ปัจจุบันพบสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่เปิดสอนวิชาหรือหลักสูตรบัลเลต์จำนวน 7 จังหวัดประกอบด้วย ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี มหาสารคาม ชัยภูมิ และบุรีรัมย์


โดยมีรูปแบบการสอนแบบอิสระและแบบอิงหลักสูตรบัลเลต์จากต่างประเทศ


ซึ่งในสถานศึกษาบางจังหวัดไม่มีการเรียนการสอนแล้วเนื่องจากขาดแคลนครูผู้สอน และมีเพียงศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น โครงการ TO BE NUMBER ONE FRIENDS CORNER เทศบาลนครขอนแก่นเท่านั้นที่จัดกิจกรรมบัลเลต์ภายใต้การบริหารขององค์กรปกครองท้องถิ่นเพียงแห่งเดียวในเขตภาคอีสาน


ด้านกิจกรรมการแสดงมีการจัดแสดงบัลเลต์ในรูปแบบคอนเวนชั่นแนลบัลเลต์และคอนเท็มโพรารี่บัลเลต์ ส่วนบทบาทบัลเลต์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมอีสานปรากฏเด่นชัด 4 ด้านประกอบด้วย 1.ด้านเศรษฐกิจ มีการขยายตัวของธุรกิจการเปิดสถาบันสอนเต้นบัลเลต์และจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับบัลเลต์เพิ่มมากขึ้น 2.ด้านสังคม เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาศิลปะการเต้นบัลเลต์เพิ่มมากขึ้น 3. ด้านการศึกษา มีการเปิดสอนหลักสูตรหรือวิชาบัลเลต์เพิ่มมากขึ้นในทุกระดับขั้นการศึกษา 4. ด้านวัฒนธรรม เกิดการพัฒนารูปแบบบัลเลต์ร่วมสมัยโดยประยุกต์เข้ากับแนวคิดทางวัฒนธรรมไทยหรืออีสาน


สรุปได้ว่า ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ศิลปะการเต้นบัลเลต์ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในเขตภาคอีสาน ได้มีการจัดการเรียนการสอนและการแสดงบัลเลต์ทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบร่วมสมัย จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเมืองของชาวอีสานหลากหลายมิติ และยังสะท้อนถึงการปรับตัวของศิลปะการเต้นบัลเลต์ให้สามารถคงอยู่ร่วมกับผู้คนชาวอีสานได้อย่างกลมกลืนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคม การศึกษาและวัฒนธรรมในอีสานที่เกิดขึ้นนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


บทคัดย่อจากบทความ ประวัติบัลเลต์ในเขตภาคอีสาน โดย ศิริมงคล นาฏยกุล จาก วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม- มิถุนายน 2557


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ ---> https://bit.ly/2P8PUzM

หน้าที่ของการสลับภาษาระหว่างภาษาไทยกลางและภาษาไทยถิ่นอีสานของหนูหิ่น ในการ์ตูนเรื่อง หนูหิ่น อินเดอะซิตี้


บทความวิจัยนี้ศึกษาหน้าที่การสลับภาษาของหนูหิ่น ในการ์ตูนเรื่องหนูหิ่น อินเดอะซิตี้ โดยผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลจากหนังสือการ์ตูนพ็อกเก็ตบุ๊ค 4 สี เรื่องหนูหิ่น อินเดอะซิตี้ ของสำนักพิมพ์บันลือสาสน์ แต่งโดย ผดุง ไกรศรี (เอ๊าะ) จำนวน 88 เล่ม


พบว่า ในหนังสือการ์ตูนเรื่องหนูหิ่น อินเดอะซิตี้ มีหน้าที่ของการสลับภาษาของหนูหิ่น จำนวน 5 หน้าที่ คือ หน้าที่การยกถ้อยคำ หน้าที่การเจาะจงผู้รับสาร หน้าที่การอุทาน หน้าที่การซ้ำถ้อยคำเพื่อเน้นย้ำ และหน้าที่การขยายความ


-การยกถ้อยคำ (Quotation)


เป็นการสลับภาษาที่เกิดจากผู้รู้สองภาษาไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่า ควรจะใช้คำใดในการสื่อสาร จึงเลือกใช้ภาษาที่ตนเองมีความถนัดที่สุด บทความอธิบายว่าการยกถ้อยคำเกิดจากผู้รู้สองภาษาไม่รู้ว่าจะใช้ถ้อยคำใด ให้เหมาะสมกับเรื่องที่กำลังพูดอยู่ด้วยภาษานั้น จึงเกิดการสลับไปใช้อีกภาษาหนึ่ง

ที่คิดว่าเหมาะสมตรงกับหัวข้อที่กำลังสนทนามากกว่าโดยเป็นการยกถ้อยคำของบุคคลอื่น หรือถ้อยคำที่ใช้ทั่วไปในสังคม หรือถ้อยคำและสำนวนที่มาจากหนังสือและผู้รู้สองภาษา มีความตระหนักในการใช้ภาษามากที่สุด จากข้อมูลปรากฏหน้าที่การยกถ้อยคำในการสนทนาของหนูหิ่นที่ใช้ภาษาไทย

ถิ่นอีสานสลับกับภาษาไทยกลาง ทั้งหมด 95 คำ


ตัวอย่าง การยกถ้อยคำ


พี่ทอง: ว่าไง...แบกกระเป๋าใบโต...จะกลับบ้านต่างจังหวัดเหรอคุณหนูหิ่น...

หนูหิ่น: เปล่าค่า...หนูหิ่นจะมาขอทำงานที่บ้านพี่ทอง

พี่ทอง: ทะเลาะกับคุณมิลค์มาเหรอหนูหิ่น

หนูหิ่น: ม่ายช่ายค่า หนูลาออกเอง

พี่ทอง: โอเคๆ เข้ามาสิ ที่นี่งานหนักนะ

หนูหิ่น: บ่ฮิ ค่า หนูหิ่นสู้ตายค่ะ

(เล่ม 37 หน้า 70)


บทสนทนาข้างต้นเป็นการสนทนาระหว่างพี่ทองและหนูหิ่น เมื่อหนูหิ่นน้อยใจที่คุณมิลค์จ้างแม่ครัวคนใหม่ จึงลาออกแล้วมาขอทำงานที่บ้านพี่ทอง

ซึ่งบ้านอยู่ติดกันกับคุณมิลค์ การสลับภาษาข้างต้นใช้คำว่า “บ่ฮิ” ในความหมายว่า

“ไม่เกี่ยง” เป็นการสลับภาษาเพื่อยกถ้อยคำ ซึ่งคำว่า “บ่ฮิ” เป็นภาษาไทยถิ่นอีสาน

ที่หนูหิ่น มีความรู้ในความหมายของคำ

ศัพท์มากกว่า คำว่า “ไม่เกี่ยง” ในภาษาไทยกลาง


-การเจาะจงผู้รับสาร (Addressee Specification)


เป็นการสลับภาษาที่เกิดจากความตั้งใจของผู้พูดที่เจาะจงเลือกใช้ภาษาใด

กับคู่สนทนา การเจาะจงผู้รับสาร เป็นการสลับภาษาที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของผู้พูดที่จะส่งสารให้กับคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะอาจเป็นการบอกกล่าวการตั้งคำถามหรือเป็นการออกคำสั่งก็ได้


จากข้อมูลปรากฏหน้าที่การเจาะจงผู้รับสาร ในการสนทนาของหนูหิ่น

ที่ใช้ภาษาไทยถิ่นอีสานสลับกับภาษาไทยกลาง ทั้งหมด 4 เหตุการณ์


ตัวอย่าง การเจาะจงผู้รับสาร


ด่อน: หนูขอโทษ...หนูหยิบไปเอง ฮือๆๆ อย่าจับหนูเข้าคุกเลยนะคะ

คุณมิลค์:อืม! มิน่า...นึกว่าลืมที่เก็บ...ก็ยังดีที่เธอสำนึกได้แล้วเอามาคืน...

เอ้อแล้วจะยืมมั้ย...เงิน

หนูหิ่น: โห! คุณมิลค์...ใจดีจริงๆ นางฟ้านางเอกสุดๆ งี้อยู่กันจนตาย

เลยละ

คุณมิลค์: เออ! คำโบราณตากระตุกของเธอน่ะใช้ได้นะ

หนูหิ่น: นี่! เซาไห้ได้แล้ว หนหวย

ด่อน: งื่อๆ

(เล่ม 28 หน้า 43)


บทสนทนาข้างต้นนี้เป็นการสนทนาระหว่างด่อน คุณมิลค์และหนูหิ่น ที่กำลังสนทนาถึงนาฬิกาของคุณมิลค์ ที่ด่อนหยิบไป ในครั้งแรกมีเจตนาขโมย เพื่อนำไปขาย เพราะต้องการเงินไปรักษา แม่ที่ป่วย แต่เมื่อสำนึกได้จึงนำนาฬิกามาคืน การสลับภาษาข้างต้นใช้คำว่า “เซาให้ได้แล้ว หนหวย” ในความหมายว่า “หยุดร้องไห้ ได้แล้ว รำคาญ” เป็นการสลับภาษาเพื่อระบุผู้รับสารอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะเห็นว่า ก่อนหน้านั้นหนูหิ่นสนทนาด้วยภาษาไทยกลางกับคุณมิลค์ แต่เมื่อสนทนากับด่อน หนูหิ่นเลือกใช้ภาษาไทยถิ่นอีสาน ทั้งนี้เพราะหนูหิ่นและด่อนมีความเข้าใจและเป็น ผู้รู้ในภาษาไทยถิ่นอีสานเช่นเดียวกัน


-การอุทาน (Interjection)


เป็นการสลับภาษาที่ใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งในการอุทาน เป็นการสลับภาษาด้วยคำอุทานในภาษาใด ภาษาหนึ่งเพื่อแสดงความรู้สึกและอารมณ์ของผู้พูด จากข้อมูลปรากฏหน้าที่การอุทานในการสนทนาของหนูหิ่นที่ใช้ภาษาไทย


ตัวอย่าง การอุทาน


คุณมิลค์: ฮึ่ม! เจ็บใจนัก

หนูหิ่น: เจิ๊ด! ครูบาตกส่าง เจ็บใจอะไรใครมาเหรอคะคุณมิลค์

คุณมิลค์: ก็ยายลูกหมานั้นน่ะ

(เล่ม 19 หน้า 61)

บทสนทนาข้างต้นนี้เป็นการสนทนาระหว่างคุณมิลค์กับหนูหิ่น ซึ่งคุณมิลค์

กำลังโมโหให้รุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย เลยฟาดกระเป๋าถือใส่โซฟา ทำให้หนูหิ่นที่ทำ

ความสะอาดอยู่บริเวณนั้นตกใจ การสลับภาษาข้างต้นใช้คำว่า “เจิ๊ด! ครูบาตกส่าง”

ซึ่งแปลว่า “พระตกบ่อนำ” แต่เมื่อ “เจิ๊ด! ครูบาตกส่าง” มาเป็นคำ

อุทาน เมื่อมีอาการตกใจจนสะดุ้ง ไม่ได้มีความหมายตรงตัวว่า พระตกบ่อน้ำ แต่อย่างใด


-การซ้ำถ้อยคำเพื่อเน้นยำ (Reiteration)


เป็นการสลับภาษาที่ผู้รู้สองภาษาใช้ภาษาที่ต่างกันพูดคำที่มีความหมาย

เดียวกัน เพื่อเน้นย้ำให้ข้อความมีความชัดเจนยิ่งขึ้น


ตัวอย่าง การซ้ำถ้อยคำเพื่อเน้นยำ


หนูหิ่น: ถ้าคุณมิลค์จะไม่ให้หนูไปจ่ายตลาด คุณมิลค์ต้องแจ้งล่วงหน้าสามวัน ตามกฎของ กระทรวงแรงงานฯ

คุณมิลค์: นั้น...ฟังมันมั่วนิ่ม ที่ไม่ยอมน่ะ...จริงๆแล้วนัดเจอใครที่ตลาดรึเปล่ายะคุณหนูหิ่น

หนูหิ่น: อุ๊ย! ไม่ใช่นะคะ ไม่จริง บ่แม่น หื่อ โน ค่ะ

(เล่ม 3 หน้า 50)


บทสนทนาข้างต้นนี้เป็นการสนทนาระหว่างคุณมิลค์ กับหนูหิ่น เมื่อคุณมิลค์

สังเกตได้ถึงความผิดปกติของหนูหิ่น เพราะต้องออกไปตลาดทุกวัน ทั้งที่ไม่ได้ไปซื้อ

อะไร คุณมิลค์จึงสันนิษฐานว่า หนูหิ่นต้องออกไปพบใครสักคนแน่ๆ จึงพูดดักคอไว้ว่า

จะออกไปซื้อของเอง หนูหิ่นไม่ต้องไป การสลับภาษาข้างต้น ใช้คำว่า “บ่แม่น หื่อ”

ในความหมายว่า “ไม่ใช่” เมื่อสังเกตจากคำพูดข้างต้นจะพบว่า หนูหิ่นใช้คำว่า ไม่ใช่

ไม่จริง ก่อนคำว่า บ่แม่น หื่อ และยังมีการใช้คำว่า โน ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ หลังคำว่า

บ่แม่น หื่อ ซึ่งคำหล่านั้นมีความหมายเดียวกัน


-การขยายความ (Message Qualification)


เป็นการสลับภาษาที่มีการอธิบายถ้อยคำให้มีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นการขยายถ้อยคำที่กล่าว


มาแล้วในภาษาหนึ่งให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยอีกภาษาซึ่งเกิดจากผู้รู้สองภาษาใช้การสลับภาษาอย่างตั้งใจเพื่อขยายความของถ้อยคำให้มีความชัดเจนและทำให้ผู้ฟังเข้าใจมากขึ้น


ตัวอย่าง การขยายความ


หนูหิ่น: มาแล้วค่า

คุณส้มโอ: ไปทำอะไรมา!

หนูมิลค์: ไอ้นี่...ประสาท

หนูหิ่น:บ่แม่นค่า ไม่ประสาทค่า...ไปใส่พระมา หลวงพ่อคูณ,

หาร, บวก, ลบ รุ่นผีเห็นเปิดแท่แล่

คุณมิลค์: อะไรเปิดแท่แล่

หนูหิ่น: อ๋อ! แปลว่า เผ่นแนบ แบบไม่เห็นฝุ่น อะไรทำนองนั้นล่ะค่า...

(เล่ม 1 หน้า 35)


การสนทนาระหว่างหนูหิ่น คุณส้มโอ และคุณมิลค์ ที่กำลังพูดถึงอาการกลัวผีของหนูหิ่น จนต้องไปวิ่งใส่สร้อยพระ การสลับภาษาข้างต้นใช้คำว่า “เปิดแท่แล่” ในความหมายว่า “เผ่นแบบไม่เห็นฝุ่น” เป็นการสลับภาษา

เพื่อขยายความ ซึ่งหนูหิ่นสามารถอธิบายความหมายได้อย่างถูกต้อง เพราะเข้าใจ

ความหมายของทั้งสองภาษาเป็นอย่างดี


จากบทคัดย่อและเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก บทความหน้าที่ของการสลับภาษาระหว่างภาษาไทยกลางและภาษาไทยถิ่นอีสาน ของหนูหิ่น ในการ์ตูนเรื่อง หนูหิ่น อินเดอะซิตี้ โดย พิมพ์โพยม พิทักษ์ และ บัญญัติ สาลี จากวารสารบัณฑิตศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม- ธันวาคม ปี 2559 มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ ---> https://bit.ly/2ZknVAN


ทบ.2 ลูกอีสาน..‘โฮมซิก’ ของทหารเกณฑ์ไกลบ้าน


เรื่องราวความขัดแย้งอันยืดเยื้อของ ‘ไฟใต้’ ได้เข้าไปสัมพันธ์กับผู้คนหลายระดับ ผลสะเทือนไม่อาจจำกัดวงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองเท่านั้น แต่ความขัดแย้งครั้งนี้ได้ขยายวงและนำพาผู้คนจาก ต่างถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกำลังพลที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนลงมาดูแลพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มาจากกองกำลัง ประจำถิ่นอย่างกองทัพภาคที่ 4 เท่านั้น

หากต้องอาศัยกองกำลังจากกองทัพภาคอื่นๆ เข้าเสริมอีกด้วย ทำให้กองกำลังขนาดใหญ่อย่างกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งมีภารกิจหลัก ในการดูแลพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จำต้องเข้ามามีส่วน ในการดำเนินภารกิจครั้งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้


การมาของกองทัพภาคที่ 2 ได้นำพา ‘ชายฉกรรจ์’ ชาวบ้านธรรมดาสามัญจากภาคอีสานที่อายุเพิ่งครบ 20 บริบูรณ์ ถูกส่งมาประจำการในดินแดนอันแสนไกล เรื่องราวอันเร้นลับของเทือกเขาบูโด พี่น้องมลายูมุสลิมที่มีความแตกต่างทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมกันอย่างสิ้นเชิง จากเด็ก หนุ่มชาวบ้านธรรมดาๆ เมื่อต้องสวมเครื่องแบบ จับปืนถูกส่งมาประจำการถึงชายแดนภาคใต้อาจเป็นเรื่องไกลเกินกว่าจะจินตนาการของทหารลูก ชาวบ้านคนหนึ่ง ที่กองทัพอาจไม่ได้อบรมให้ เรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงปมความขัดแย้งอันยาวนาน

ว่ามาจากเหตุอันใด


พวกเขาอาจมาเพราะภารกิจ ที่มิอาจปฏิเสธ พกพาความแปลกแยกเจือด้วย ความหวาดกลัวและความหวังว่าวันหนึ่งหลังผลัด เปลี่ยนกำลังพล พวกเขาจะได้ ‘กลับบ้าน’ อย่างปลอดภัย การมาของพวกเขาจึงไม่ได้มี ‘อุดมการณ์’ ชาตินิยมอย่างเข้มข้น พวกเขามาเพราะภารกิจ ในฐานะกลไกของรัฐระดับล่างสุด ที่ไม่ได้ลึกซึ้งกับความขัดแย้งในครั้งนี้มากนัก การดำเนินชีวิตของพวกเขาจึงขอแค่พาชีวิตให้รอดและมีความ หวังสูงสุดคือการได้ ‘กลับบ้าน’ เท่านั้น

กับชีวิตที่ต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเช่นนี้ ก่อน มาปักษ์ใต้ญาติพี่น้องอาจมอบเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ไว้คุ้มครองตัว หน่วยงานต้นสังกัดอาจเลี้ยงส่งและเสริมขวัญกำลังใจเขาด้วยการคล้องพวงมาลัย ในขณะที่ขากลับอาจไม่แน่นอน เขาอาจกลับไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายหลังปลดประจำการหรือเลวร้ายกว่านั้นหากพวกเขาต้องกลับบ้านอย่างเอิกเกริกพร้อมธงไตรรงค์คลุมหีบศพ


และนี่คือที่มาของบทความ ทบ.2 ลูกอีสาน..‘โฮมซิก’


‘ทบ.2 ลูกอีสาน’ จึงเป็นภาพสะท้อนของคนนอกพื้นที่ที่ ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับ ความขัดแย้งในสามจังหวัดมากมายนัก อาจเป็น เรื่องราวและภารกิจคนธรรมดาๆ ซึ่งเหมือนกับ

ผู้คนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยัง “งุนงง” และไม่รู้ ว่าความ “ขัดแย้ง” ไม่รู้ว่าเป็นปัญหาของใคร กันแน่ การมาของพวกเขาในระยะเวลาสั้นๆ

จึงเป็นภารกิจจำเป็นและหวังเพียงวันหนึ่งจะได้ ‘กลับบ้าน’ เท่านั้น


เนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ ทบ.2 ลูกอีสาน..‘โฮมซิก’ ของทหารเกณฑ์ไกลบ้าน โดย สมัชชา นิลปัทม์ จาก วารสารรูสมิแล ปีที่ 33 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม-สิงหาคม) 2555 อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ ---> https://bit.ly/30AIruk

ภูมิปัญญาอาหารชาติพันธุ์เพื่อสุขภาพของชาวไทยเขมร ไทยกูยและไทยลาวในเขตอีสานใต้


อาหารชาติพันธุ์ของชาวไทยเขมรและไทยกูย ได้แก่ อาหารจำพวก แกง ต้ม ห่อหมก น้ำพริกและปิ้งย่าง การเรียกชื่ออาหาร เรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่น เช่น ละแวกะดาม (แกงคั่วปู) ส่วนอาหารชาติพันธุ์ของชาวไทยลาว ได้แก่ อาหารจำพวก ลาบ ก้อย หมก อู๋ อ่อม แกง ต้ม ซุป ปิ้ง ย่าง ดอง คั่ว ลวก นึ่ง ตา แจ่ว ป่น เมี่ยง เครื่องปรุงที่จะขาดไม่ได้ในการประกอบหาร คือ น้ำปลาร้า อาหารประเภทต้ม อ่อม อู๋ หมก มักจะมีส่วนผสมของผักแขยงเป็นส่วนผสมหลัก ส่วนอาหารประเภทแกง เช่น แกงหน่อไม้ แกงเห็ด มักจะมีส่วนผสมของย่านางเป็นส่วนผสมหลัก


การวิจัยเรื่องภูมิปัญญาอาหารชาติพันธุ์เพื่อสุขภาพของชาวไทยเขมร ไทยกูยและไทยลาวในเขตอีสานใต้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เป้าหมายกับนักวิจัย ใช้วิธีสืบค้นข้อมูลจากเอกสารและข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีการสัมภาษณ์โดยใช้โครงสร้างการสัมภาษณ์ เจาะจงเฉพาะผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการประกอบอาหารชาติพันธุ์ การสนทนากลุ่ม และการปฏิบัติการทดลองประกอบอาหารตามสูตรที่กำหนดร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาภูมิปัญญาอาหารชาติพันธุ์เพื่อสุขภาพของชาวไทย-เขมร ไทย-กูย และไทย-ลาวและวัตถุดิบที่นามาใช้ในการประกอบอาหาร 2) เพื่อศึกษาสำรับอาหารเพื่อสุขภาพที่นำมารับประทานในชีวิตประจำวัน ของกลุ่มชาติพันธุ์เขมร กูย และลาว 3) เพื่อศึกษาคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณของพืชผักต่างๆ ที่นำมาประกอบอาหารเพื่อการดูแลสุขภาพของชาติพันธุ์เขมร กูย และลาว


การศึกษาพบว่า อาหารเพื่อสุขภาพของชาวไทยเขมร และไทยกูยในเขตอีสานใต้ อาหารประเภทต่างๆ ส่วนผสมหลักจะใช้น้ำปลาร้าเป็นเครื่องปรุงเกือบทุกประเภทและชนิดของอาหาร ส่วนพืชผักที่เป็นพื้นฐานของการประกอบอาหารจะประกอบไปด้วยสมุนไพร เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ พริก หอมแดง เกือบทุกประเภทของอาหารเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีพืชผักชนิด ที่หาได้จากท้องถิ่น จะนำมาปรุงเข้ากับเนื้อสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่นนำมาประกอบเป็นอาหารรับประทานในชีวิตประจำวันตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน


นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยเขมรและไทยกูยมักจะมีน้ำพริกเป็นเมนูประจำเกือบทุกมื้ออาหาร โดยการรับประทานกับพืชผัก ผักเหล่านั้นมียังสรรพคุณที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นยารักษาหรือป้องกันโรคอีกทั้งทำให้ระบบ ของร่างกายทำงานเป็นปกติ เช่น ใบแมงลัก ช่วยขับลม บรรเทาอาการจุกเสียดท้องและท้องอืดท้องเฟ้อ ฟักเขียว ช่วยขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้โลหิตเป็นพิษ บวมน้ำ หลอดลมอักเสบฟักทองช่วยบำรุงสายตา ป้องกันอาการตาอักเสบ หอมแดงหรือหัวหอม ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยย่อยและเจริญอาหารน้ำย่านาง มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก ช่วยลดและชะลอการเกิดริ้วและความแก่ชรา มะระขี้นก มีสารที่ทาให้น้ำตาลในเลือดลดลงมีฤทธิ์ต้านมะเร็งต้านไวรัส HIV


บทคัดย่อจากบทความ ภูมิปัญญาอาหารชาติพันธุ์เพื่อสุขภาพของชาวไทยเขมร ไทยกูยและไทยลาวในเขตอีสานใต้ โดย ทวีศักดิ์ แสวงสาย และ ฤดีมาศ แสวงสาย จากวารสารวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ฉบับพิเศษ 2559


อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ ---> https://bit.ly/30Bnlfm


หมอลำ : พื้นที่แห่งตัวตนคนข้ามเพศอีสาน


หมอลำนับได้ว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย โดยเฉพาะในเขต พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถสะท้อนให้เห็นได้ถึงความเป็นส่วนตัวของคนข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมความงามทางเรือนร่าง การพบปะสังสรรค์ พูดคุย หรือแม้แต่การสร้าง เครือข่ายของคนข้ามเพศ แต่เหนือสิ่งอื่นใดความหมายที่แอบแฝงอยู่ในพื้นที่เวทีหมอลำนั้นทำให้


ผู้เขียนพยายามสะท้อนให้เห็นว่าการสร้างตัวตนของคนข้ามเพศนั้นมีความเหมือนและความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่ซึ่งขึ้นอยู่กับความหมายและเวลาของพื้นที่ในขณะนั้น ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้เครื่องมือสำคัญคือ แบบสัมภาษณ์ และแบบสังเกต และยังใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึก ทั้งการสังเกตแบบมีส่วนรวมและไม่มีส่วนร่วม


ในบทความนี้ผู้เขียนทำความเข้าใจถึงความหมายของเวทีหมอลำที่มีความหลากหลายและมีความแตกต่างกันตามจุดประสงค์ของการตั้งคณะหมอลำ และรูปแบบของสมาชิก ในคณะหมอลำ ซึ่งคนข้ามเพศที่นั้นต่างก็เข้าไปทำกิจกรรมบนพื้นที่แห่งนี้ตามวัตถุประสงค์ และความรู้ ความสามารถที่หลากหลายต่างกัน


อีกทั้งเวทีหมอลำนี้เปรียบเสมือนสถานที่พิเศษสำหรับคนข้ามเพศที่ไม่เปิดเผยตัวตนในสังคม มีแต่คนข้ามเพศด้วยกันเท่านั้นที่รับรู้ว่าเวทีหมอลำนี้ได้ให้โอกาสทางสังคม และยังเป็นพื้นที่ของการเปลี่ยนแปลงตัวตนอีกพื้นที่หนึ่งที่สำคัญ


ด้วยเหตุนี้เวทีหมอลำจึงเป็นเหมือนพื้นที่ของการปะทะกันของตัวตนคนข้ามเพศในหลาย ๆ แบบ ตัวตนคนข้ามเพศถูกก่อกำเนิดและหล่อหลอมด้วยเงื่อนไข ทางวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ดังนั้นพื้นที่ของเวทีหมอลำจึงเป็นรูปแบบของการใช้ชีวิตแบบหนึ่งที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่แห่งการแสดงออกซึ่งตัวตนของคนข้ามเพศทั้งในรูปแบบของผู้กระทำการและถูกกระทำการได้ในเวลาเดียวกัน


บทคัดย่อจาก บทความ หมอลำ : พื้นที่แห่งตัวตนคนข้ามเพศอีสาน โดย ชนินธร ม้าทองและ ปิยลักษณ์ โพธิวรรณ์ จากวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปีที่ 33 ฉบับที่ 4 ปี 2557 อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ ---> https://bit.ly/2NomdYN #theiSaander #เดอะอีสานเด้อ #10งานวิชาการ #อีสาน #สำนักข่าวเล็กๆ #สำหรับผู้ใช้ภาษาอีสาน #สำหรับผู้ใช้ภาษาไทย — at “พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก” ลำทวนยโสธร.

1,427 views0 comments
bottom of page