top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

น้องเต้ อยากแยกพี่ตู่ ขู่ 5 พรรคหนีเป็นฝ่ายค้าน - ธรรมนัส กร้าว รัฐบาลต้องฟังเขา ไม่ฟังจะเสียใจ


ในวันพฤหัสบดีนี้ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส. พรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวแก่สื่อมวลชนในนามพรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กว่า ต้องการแยกตัวจากฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากพรรคเล็กไม่ได้ตำแหน่งทางการเมือง และไม่สามารถผลักดันนโยบายของแต่ละพรรคได้ ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ขู่หากไม่ฟัง รัฐบาลจะต้องเสียใจ

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร(ส.ส.) ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวแก่สื่อมวลชนในนามตัวแทนกลุ่ม 10 พรรคเล็กที่ได้ ส.ส. พรรคละ 1 ที่นั่ง ประกอบด้วย พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชานิยม, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังชาติไทย และพรรคประชาธรรมไทย ว่า ปัจจุบัน มีอย่างน้อย 5 พรรคที่ต้องการแยกตัวจากการร่วมรัฐบาล

“ตอนนี้ชัวร์ๆ 5 พรรคแล้ว พรรคพลังไทยรักไทย ไทยศรีวิไลย์ ประชาธิปไตยใหม่ ประชาธรรมไทย ครูไทยเพื่อประชาชน บวกที่ค่อนข้างชัวร์ว่า ไปไหนไปด้วยกันก็ประมาณ 9 เพราะ พรรคประชาภิวัฒน์ แก ลาออกจาก ส.ส. แล้ว น่าจะไปอยู่ในตำแหน่งทางการเมือง… พรรคเล็กทั้งหมด 10 พรรคถอยมามากแล้ว แก้วที่มันร้าว มันร้าวมากแล้ว เผอิญกาวตราช้างก็ไม่มีนะ” นายมงคลกิตติ์ กล่าว

“เราไม่ได้ขัดแย้งกัน เราคุยกันตลอดเวลา เป็นฝ่ายค้านในรัฐบาล หรือว่าฝ่ายค้านอิสระ เมื่อสามเดือนที่แล้ว ท่านอุตตม-สนธิรัตน์ ก็มาเชิญเราอย่างมีเกียรติ… ทำให้คะแนนเสียงของพรรครัฐบาลเกิน 126… แต่พอแต่งตั้ง ครม. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเราก็ได้รับการตอบสนองค่อนข้างน้อย เรื่องนโยบายก็ไม่ชัดเจน” นายมงคลกิตติ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายมงคลกิตติ์ ระบุว่า การแยกตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระ จะทำให้พรรคขนาดเล็กสามารถวิพากษ์-วิจารณ์ หรืออภิปรายการทำงานของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจวิปรัฐบาล

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ กล่าวหลังการแถลงของนายมงคลกิตติ์ว่า การแยกตัวของพรรคเล็กจะไม่เป็นปัญหาสำหรับรัฐบาล

“เราคุยกันตลอดไม่มีปัญหา มงคลกิตติ์เขาอยากเป็นฝ่ายตรวจสอบมั้ง เราเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นความคิดความอ่านของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนเขาก็มีความคิดเป็นของตัวเอง เราไม่สามารถไปบังคับอะไรเขาได้ แต่ผมดูแลตรงนี้อยู่ คือ ทุกเรื่องมันมีที่มาที่ไป พี่น้องที่เข้ามาร่วมรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องฟัง 10 พรรค คุณไม่ฟังจะเสียใจ” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ขณะเดียวกัน พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ส.ส. และ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย หนึ่งในสิบพรรคเล็ก ระบุว่า กลุ่มพรรคเล็กยังคงร่วมรัฐบาลอยู่

“เรายังยืนยันร่วมรัฐบาลอยู่เหมือนเดิม ท่านมงคลกิตติ์ก็เป็นเรื่องความเห็นส่วนตัวของท่านเอง ไม่แตก ถ้าเสียงแตกจะไม่มีคำว่ามติ เรายังยอมรับมติอยู่ เรื่องของการต่อรองแต่แรกเรายืนยันจะไม่ต่อรองอะไรทั้งนั้น อยู่ที่ท่านนายกฯจะจัดให้ ทุกคนอยากเอานโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาชนไปใช้ประโยชน์ในการที่เป็นรัฐบาล ผมเชื่อมั่นว่า ในที่สุดเรื่องทุกอย่างก็คงกลับมาคุยกัน แล้วก็น่าจะจบลงได้” พล.ต.ทรงกลด กล่าว

ทั้งนี้ พรรคฝ่ายรัฐบาล นำโดย พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. 116 ที่นั่ง, ประชาธิปัตย์ 53 ที่นั่ง, ภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง, ชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง, รวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง, ชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง, พลังท้องถิ่นไทย 3 ที่นั่ง, รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง, ประชาชนปฏิรูป, พลังชาติไทย, ประชาภิวัฒน์, ไทยศรีวิไลย์, พลังไทยรักไทย, ครูไทยเพื่อประชาชน, ประชานิยม, ประชาธรรมไทย, พลเมืองไทย, ประชาธิปไตยใหม่ และพลังธรรมใหม่ พรรคละ 1 ที่นั่ง รวม 254 ที่นั่ง

ขณะที่ พรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย มี ส.ส. 136 ที่นั่ง, อนาคตใหม่ 81 ที่นั่ง, เสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง, ประชาชาติ 7 ที่นั่ง, เศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง, เพื่อชาติ 5 ที่นั่ง และพลังปวงชนไทย 1 ที่นั่ง รวม 246 ที่นั่ง

หาก 5 พรรคเล็กแยกตัวจากฝ่ายรัฐบาล จะทำให้ ฝ่ายค้านมีเสียง 251 เสียง ซึ่งมากกว่าฝ่ายรัฐบาลที่จะเหลือเสียงเพียง 249 เสียง รัฐบาลจะมีสถานะเป็นเสียงข้างน้อย และการผ่านร่างกฎหมายจะมีปัญหาในอนาคต

นอกจากปัญหาพรรคเล็กต้องการแยกตัวจากรัฐบาลไปเป็นฝ่ายค้านแล้ว ปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังต้องเจอกับปัญหาที่ฝ่ายค้านอภิปรายในรัฐสภาว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่ง เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยคำถวายสัตย์ฯ ตามรัฐธรรมนุญต้องระบุว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” แต่คำพูด พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคำว่า

“ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” โดยเติมคำว่า “ตลอดไป” แทนที่ ซึ่งกลายเป็นข้อสงสัยทางกฎหมายว่า รัฐบาลปัจจุบันจะมีสถานะสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่

โดย ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงความคิดเห็นต่อปัญหาของ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลว่า ปัญหาการถวายสัตย์ฯ ไม่ควรถูกนำมาเป็นประเด็นสำคัญทางการเมือง ขณะที่มองว่า การประกาศแยกตัวของพรรคเล็กเป็นแค่ส่วนนึงของการต่อรองบทบาทในฝ่ายรัฐบาล

“ผมมองว่า การแถลงของพรรคเล็กเป็นแค่เกมต่อรองเพื่อจะให้ได้บทบาทในรัฐบาล หรือตำแหน่งทางการเมือง เพราะการออกมาเห็นชัดว่า เหตุผลคือไม่ได้มีบทบาทสำคัญ สะท้อนให้เห็นว่า 5 พรรคไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ เพราะถ้าฝ่ายนี้เชื่อในประชาธิปไตย หรือผลประโยชน์ประเทศเป็นหลักน่าจะไม่ร่วมรัฐบาลแต่แรกอยู่แล้ว เชื่อว่า สุดท้ายน่าจะต่อรองกันได้” ดร.ฐิติพล กล่าว

“การถวายสัตย์ฯ ไม่น่าจะเป็นประเด็นทางการเมือง น่าจะดูที่การทำงานมากกว่า แม้มีคนเสนอให้ใช้มาตรา 112 ต่อประเด็นนี้ แต่ผมเห็นว่า น่าจะแก้ไขปัญหาได้ด้วยการถวายสัตย์ฯใหม่ ฝ่ายค้านควรจะโฟกัสในเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญกับประชาธิปไตย หรือประชาชนจริงๆมากกว่า” ดร.ฐิติพล กล่าวเพิ่มเติม

2 views0 comments
bottom of page