"ตอนที่คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ รู้สึกว่า เขาแย่งตำแหน่งนายกฯหญิงฉันไปแล้ว เขาแย่งนายกฯหญิงคนแรกไปแล้ว"
วันวาน
สิบกว่าปีที่แล้วที่โรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์ชัยภูมิ เด็กหญิงแก่นเซี้ยวจากตระกูลการเมืองคนหนึ่ง
เสนอนโยบายข้าวมันไก่คุณภาพดีต้องไม่ถูกทุบชิ้นเนื้อเป็นฝอย ห้วงเวลานั้นเธอได้หมายเลข 12 จากการลงชิงชัยประธานนักเรียน ก่อนคว้าตำแหน่งมาครองอย่างเต็มภาคภูมิ
วันนี้
จากกาลครั้งนั้น เด็กหญิงคนดังกล่าว เติบโตเป็นหญิงสาวที่ใช้ชีวิตอยู่ทั้งในบ้านเกิดและเมืองหลวง หลังเรียนจบทางรัฐศาสตร์มาระยะหนึ่ง ในวัย 26 ปี(ปีที่แล้ว) เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำ กลับบ้านเกิดเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ในสมรภูมิดุเดือดเขต 1 จังหวัดชัยภูมิ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 12 เป็นเบอร์ที่เธอได้รับอีกอย่างกับชวนย้อนกลับไปเยี่ยมวัยเยาว์
สบายดีหรือเปล่า ?
แม้ครั้งนี้ผลเลือกตั้งจะต่างจากผลลัพธ์ในวัยเด็ก แต่ นัตตี้ นัฏฐิกา โล่ห์วีระ ก็เป็นที่จดจำของใครหลายคน ภาพลักษณ์สดใสและหัวจิตหัวใจที่ทุ่มเทกับการออกพบปะชาวบ้าน ด้วยเธออยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นวาระที่ควรให้คนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่ อีกทั้งบทบาทของกลุ่ม New Dem เป็นอีกสิ่งที่น่าสนใจในช่วงการเมืองไทยค่อยๆผลัดใบจากคนรุ่นก่อนหน้า
แต่มากไปกว่านั้นหลังเลือกตั้ง เรื่องราวของเธอมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง เมื่อประกาศยุติบทบาททางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่เธอเห็นว่ามีอุดมการณ์ไม่ตรงกันแล้ว ในวัยวันที่ชีวิตเริ่มซับซ้อนกว่าการเมืองเรื่องข้าวมันไก่ The Isaander ชวนเธอมาย้อนเล่าถึงความเป็นมาของ นัฏฐิกา โล่ห์วีระ ตลอดจนความหวังและความฝันทางการเมืองของเธอนับเนื่องจากนี้
ที่โรงอาหารริมน้ำ ข้างตึกคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันนั้นพวกเราต้องรีบยิงคำถามใส่อดีตนักข่าวอย่างเธอทันที เมื่อจู่ๆนัตตี้ถามว่า The Isaander รับนักข่าวเพิ่มไหม ?
เอาละก่อนที่จะใครสักคนในกอง บก.ของเราจะตกงาน ..เชิญพบกับบทสัมภาษณ์ขนาดยาว ภาพจำ ในฝัน ในความคิด ทั้งชีวิตจิตใจ ของนัฏฐิกา โล่ห์วีระ
อยากรู้ว่าชีวิต 24 ชั่วโมง ของคุณทำอะไรบ้าง ก่อน-หลังเลือกตั้งแตกต่างกันบ้างไหม ?
นัฏฐิกา : ก่อนเลือกตั้งเราเป็นคนที่สนใจการเมืองอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีบทบาททางสังคม พอ คสช. ปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งและเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ เลยอยากไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหนึ่ง แล้วบอกกับครอบครัวไว้ว่าอยากจะลงสมัคร อยากมีบทบาท อยากมีส่วนร่วม
พอได้เป็นผู้สมัครลงเลือกตั้ง เวลาชีวิต 24 ชั่วโมง ก็ไม่ได้แตกต่างมาก แตกต่างในเรื่องภารกิจต่อวัน ก็คือนอนดึกตื่นเช้าเหมือนเดิม แต่การตื่นเช้าของเรา เราต้องออกไปหาเสียง แล้วก็กลับมาดึก ส่วนกิจวัตรที่เปลี่ยนไปคืออาชีพที่ทำอยู่ มันก็ต้องผันไปอีกด้านหนึ่ง ต้องมีคนบางแบ่งเบาภาระในการเป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ สุดท้ายก็ต้องให้พี่สาวมาช่วยรับเรื่องการสอนให้ แล้วเราก็ออกไปทำหน้าที่การหาเสียง
สนใจอยากทำการเมืองตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า ?
นัฏฐิกา : ความสนใจการเมืองเริ่มต้นมาตั้งแต่เป็นเด็ก เราคิดว่าสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เห็นว่าเป็นปัญหาได้ เรียนอยู่ที่ชัยภูมิ ชั้นประถม(โรงเรียนมารีย์อุปถัมถ์ชัยภูมิ) ก็เลยลงประธานนักเรียน ตอนนั้น ไม่พอใจข้าวมันไก่ของโรงเรียน เพราะ ไก่มันเป็นฝอยค่ะ เหมือนข่าวทุจริตข้าวกลางวันเลย โดนทุบเยอะ แล้วมันเป็นฝอยๆ แต่มันไม่ได้เลวร้ายเท่าทุกวันนี้หรอกนะ ตอนที่เรากินอยู่ แต่เรารู้สึกว่า ทำไมไก่ถึงไม่เป็นชิ้น ทำไมไก่เป็นฝอย เลยลงประธานนักเรียนตอนอยู่ ป. 5 แล้วก็หาเสียงเลย
“สวัสดีพ่อแม่พี่น้อง มางี้เลยนะ ดิฉันเด็กหญิง นัฏฐิกา ขอเสนอนโยบายข้าวมันไก่ เด็กนักเรียนก็ เฮ ถูกใจ”
อย่างนั้นเลย ?
นัฏฐิกา : ตอนนั้นก็ได้เบอร์เดียวกับที่ลงเลือกตั้ง ส.ส. เลย เบอร์ 12 แล้วก็ได้เป็นประธานนักเรียน ทีนี้พอเป็นประธานนักเรียนของ นัฏฐิกา ไม่ใช่การพาสวดมนต์ หรือร้องเพลงชาติ แต่เราบอกไว้ว่าจะแก้ไขเรื่องนี้(เรื่องข้าวมันไก่) เราก็เลยเขียนจดหมายถึงซิสเตอร์ ส่งไปให้ว่า จะต้องเป็นอย่างนี้ วางแผนเลยว่า 5 วันควรเป็นยังไงให้ข้อเสนอแนะ(เรื่องข้าวมันไก่) เราก็เห็น ซิสเตอร์เอาจดหมายของเราไปที่โรงครัว ก็รู้สึกว่า ความพยายามของเรามันมีคนเห็นค่า หรือตอนเราเห็นห้องน้ำโรงเรียนสกปรก เราก็เลยเริ่มเขียนจดหมายให้ซิสเตอร์อีก นั่นคือความกล้าหาญเล็กๆน้อยๆของ เด็กประถมคนหนึ่ง
เข้าใจว่าครอบครัวคุณเองก็เป็นตระกูลการเมืองที่ชัยภูมิด้วย มีผลต่อความสนใจบ้างไหม ?
นัฏฐิกา : ตอนที่ คุณพ่อเป็นนักการเมือง คุณพ่อเป็นอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตอนนั้นเป็นปี 2535 เราก็เกิดพอดี ความทรงจำไม่ได้มีเยอะมาก แต่มันก็มีช่วงที่คุณอาเป็น สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เป็นรองประธานวุฒิสภา คุณพ่อก็ไปช่วยเรื่องเลือกตั้ง แต่ตอนนั้นเราเรียนอยู่โรงเรียนประจำ เราไม่ได้ไปลงพื้นที่หรอกค่ะ แต่ก็รู้ว่า บริบทครอบครัวเป็นแบบนี้ ความสนใจทางการเมือง ถ้าจะบอกว่า ครอบครัวมีส่วน ก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่ว่าการที่เรามาสัมผัสกับการเมืองโดยตรง ได้อยู่จุดไข่แดงของความขัดแย้ง มันทำให้เป็นการจุดประกายโดยเฉพาะการที่เราเรียนรัฐศาสตร์
แล้วความทรงจำยุคแรกที่รู้สึกว่าได้ปะทะกับเรื่องการเมืองจริงๆคือช่วงไหน ?
นัฏฐิกา : หลังเรียนจบประถมจากชัยภูมิ เราถูกส่งไปอยู่กรุงเทพฯ เข้า ม.1 โรงเรียนราชินีบน ช่วงนั้นปี 2549 เห็นรัฐประหาร ครั้งแรก เห็นรถถังครั้งแรก ก็ไม่เข้าใจหรอก โรงเรียนหยุด เราอยู่ในโรงเรียนประจำ ทีวีก็ไม่ค่อยได้ดู รู้แค่ว่ามีรัฐประหาร เสร็จแล้ว ม.ปลายย้ายไปอยู่โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ ช่วงปี 2553 ก็มีม็อบ เราก็เห็นเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง
อย่างที่บอกครอบครัวมีพื้นฐานทางด้านการเมืองอยู่แล้ว เราจะได้รับความรู้ความคิดเห็น จากคุณพ่อ และจากประสบการณ์ที่เรามาศึกษาอยู่ในเมือง จุดศูนย์กลางของศูนย์อำนาจ ช่วงจะเข้ามหาวิทยาลัย เลยทำให้เราเลือกเรียนรัฐศาสตร์ทั้ง 4 อันดับเลย
ตอนเด็ก นัฏฐิกา เป็นเด็กที่ ?
นัฏฐิกา : เด็กดื้อ แล้วก็ไม่ได้เรียนหนังสือเก่ง โง่เลยแหละ บ๊วยๆ ของห้องเพราะว่า ตอนที่เรียนอยู่โรงเรียนประถม ถึงแม้จะเรียนโรงเรียนเอกชน แต่เราก็ไม่ได้ตั้งใจเรียน แล้วก็เป็นเด็กกิจกรรม พอมาเรียนมัธยมอยู่โรงเรียนราชินีบน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพ มันก็มีความเข้มงวดหลายอย่าง เราก็เลยตั้งใจเรียน คือ ตอนที่อยู่ประจำปรับตัวไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยมีเพื่อนนะคะ เพราะว่าเครียดกับการอยู่โรงเรียนประจำมาก ก็เลยไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยเรียนหนังสือแทน ก็เลยเรียนเก่ง แต่ความคิดอีกทางก็พยายามหาวิถีทางที่จะทำให้ตัวเองออกจากโรงเรียนประจำ
พยายามหาวิถีทางที่จะทำให้ตัวเองออกจากโรงเรียนประจำ เป็นยังไง ?
นัฏฐิกา : ทั้งทำผิดกฎ ต้องเอามือถือเข้าไป ต้องขึ้นลิฟท์ให้ครูเห็น อะไรแบบนี้ค่ะ แล้วก็โดนทำโทษ ให้ไป-กลับอาทิตย์หนึ่ง คุณพ่อก็ต้องมาส่งอยู่อาทิตย์หนึ่ง ตอนเช้าแกก็เหนื่อย จากที่พักย่านลาดพร้าวไปราชินีบน รถก็ติด ก็สงสารเขา เขาต้องมารับภาระในสิ่งที่เราทำ แล้วตอนเย็นวันหนึ่งเขาก็เลยบอกว่า กลับเองแล้วกัน ชิบหาย ก็เลยแบบ ลำบากจังเลย
แล้วก็มีปัญหากับครู คือ การที่เราเรียนดี ทุกวิชา แต่เราจะมีปัญหาถูกงดไม่ให้ไปทัศนศึกษา เพราะมีปัญหาเรื่องทรงผม ผิดระเบียบ มีอีกเรื่องหนึ่งคือ โรงเรียนบังคับให้เด็กประจำ อยู่ร่วมกิจกรรมวันปีใหม่ ขณะที่เด็กไป-กลับ เขาจะมาหรือไม่มาก็ได้ แล้วคุณพ่อเราเนี่ยจะต้องมารับกลับชัยภูมิ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โต ต้องไปขออนุญาต ต้องไปหาฝ่ายปกครอง แล้วฝ่ายปกครองก็เหมือนกับพูดว่า ทำไมลูกคุณถึงไม่ร่วมกิจกรรม คุณพ่อก็เลยบอกว่า เด็กประจำคือเด็กที่อยู่ต่างจังหวัด การเดินทาง ช่วงเทศกาล เป็นการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ ลำบาก โรงเรียนต้องเห็นใจสิ่งนี้ต่างหาก สุดท้ายคุณพ่อก็พากลับ นั่นแหละ การที่เราเห็นคุณพ่อมาปกป้องเรา ทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องต่อสู้ อย่างตอนย้ายไปอยู่ศรีอยุธยาฯ ด้วยความที่ดื้อ พ่อเขาคงเห็นทางแล้วว่า ยายนี่คงไม่อยากอยู่ มีปัญหาตลอด
แล้วจากเรียนประถมที่ชัยภูมิ นัฏฐิกา เรียนรู้อะไรวันนั้นในวัฒธรรมของรั้ว รร.หญิงล้วน ?
นัฏฐิกา : ด้วยความที่เป็นเด็กจากต่างจังหวัด เราไปอยู่ราชินีบน เราก็ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องโซตัสของเด็กผู้หญิงหรอก รู้ว่าคนอื่นที่เขาอยู่เขาไม่ได้รู้สึกว่า เขาอึดอัด เขาถูกหล่อหลอมมา บางคนอยู่ราชินีบนมาตั้งแต่อนุบาลหนึ่ง เราก็ไม่ได้ตำหนิเขานี่คะ แต่ตัวเรา มันปรับตัวไม่ได้เอง เราก็เลยต้องออกมา
จากนั้นชีวิตวัยว้าวุ่นช่วง ม.ปลายของคุณละ ?
นัฏฐิกา : พอย้ายไปอยู่โรงเรียนศรีอยุธยาฯ ตอน ม.4 แม้เป็นเด็กหลังห้องสุด เราก็มีความคิดว่า จะเรียนเก่งเหมือนเดิม แต่พอไปคบกับเพื่อนหลังห้อง พวกเขามีความคิดอีกแบบ ไม่อยากเข้าเรียนตรงเวลาอะไรแบบนี้ ทำให้ช่วงหนึ่งเราไปตามเขา ทำให้เสียการเรียน เกรด 0 ก็มี วิชาวิทยาศาสตร์ อย่างคณิตศาสตร์ได้เกรด 1 แล้วก็ถูกเช็คขาดเพราะเข้าเรียนสาย ก็เลยทำให้เราอยากจริงจังกับการเรียน แต่ว่าสังคมของเด็กผู้หญิง การเปลี่ยนกลุ่มมันเป็นเรื่องอะไรที่ทำไม่ได้หรอก ถ้าคุณทำ ชีวิตคุณพังแน่ คุณเข้าใจใช่ไหม ระบบ Bully ของเด็กผู้หญิงน่ะ
คุณมีประสบการณ์ถูก Bully(กลั่นแกล้ง) ด้วย ?
นัฏฐิกา : เวลาพรีเซ้นท์งาน ก็จะถูกต่อว่า "อีดอก" อะไรแบบนี้ค่ะ ทำให้เราเสียหน้า ขณะที่เราพรีเซ้นท์งานอยู่ "คิดว่าเก่งเหรอ" นู่น นี่ นั่น นั่งเรียนอยู่ก็ถูกถีบเก้าอี้ อะไรประมาณนี้ ไอ้ตอนที่เราโดนเวลาปกติเนี่ย เราโอเค แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ถูก Bully โดยที่ กำลังพรีเซ้นท์งานมันเกิดความอับอาย เราก็ไม่มีสมาธิ ก็เลยบอกพ่อว่า อยากลาออก ตอนแรกก็เล่าให้เขาฟัง เขาบอกว่า ไม่ต้องสนใจนะ ไปเรียนหนังสือเถอะ
พอ ม. 5 ก็เลยบอกเขาว่า มันไม่สามารถมีสมาธิในการเรียนได้หรอก ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ คือ เรียนอยู่ศิลป์-ญี่ปุ่น แล้วมันมีห้องภาษาญี่ปุ่นห้องเดียว อย่างน้อยย้ายห้องก็ได้ แต่เมื่อมันย้ายห้องไม่ได้ จะให้ไปย้ายอยู่ศิลป์-เยอรมัน ในกลาง ม.5 มันก็ทำไม่ได้ไง ก็เลยต้องย้ายโรงเรียน
แล้วคุณจัดการเรื่องนี้ยังไง ?
นัฏฐิกา : ตอนที่เขาบอกให้อดทนก็อดทนนั่นแหละ แต่อธิบายให้เขาฟังแล้วว่า มันเรียนไม่ได้ เขาก็เลยโอเคมันถึงเวลาที่เขาจะต้องไปคุยกับคุณครูแล้ว พอคุณพ่อมาคุยกับคุณครูเนี่ย เพื่อนที่ Bully ก็รู้ว่า เรื่องมันถึงผู้ใหญ่แล้ว เขาก็เลยเลิกแกล้งเรา แต่ในวัยที่ผ่านมา มันก็ทำให้รู้สึกว่า ทำไมนัตตี้ถึงไม่ต่อสู้เพื่อสิทธิของนัตตี้เอง แต่ว่าตอนนั้นมันกลัวนะ คือ
เข้าห้องน้ำยังไม่กล้าเข้าคนเดียว มันกลัวโดนตบ เรากลัวความรุนแรงไง
ท้ายที่สุดเรื่องนี้คุณได้เรียนรู้อะไร ?
นัฏฐิกา : เรื่องนั้นทำให้รู้ว่าอะไรคือข้อผิดพลาด ปัญหาในการกลั่นแกล้งเกิดจากอะไร เราคบเพื่อนยังไง แล้วเราก็มีภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน มันก็เลยทำให้รู้สึกว่า ช่วง ม. 5 - ม. 6 ต้องตั้งใจเรียนที่สุด การเข้ามหาวิทยาลัย ดิฉันจะต้องแอดมิชชั่นให้ติด คณะ และมหาวิทยาลัยที่ท็อปที่สุด เพื่อที่จะต้องไม่เจอคนที่ทำแบบนี้กับเราอีก มันก็เลยเป็นแรงผลักดันของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ถ้าจะเข้า มนุษยศาสตร์ มศว เอกภาษาญี่ปุ่น ตามที่เราเรียนห้องภาษาญี่ปุ่น มันก็มีแนวโน้มที่จะไปเจอกับคนพวกเดิม เพราะฉะนั้นหากไม่อยากเจอเลย ก็เปิดช้อยส์มา นั่นแหละค่ะ รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
พอมาเข้าปี 1 ที่ธรรมศาสตร์ บรรยากาศเป็นยังไงบ้าง ?
นัฏฐิกา : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นบรรยากาศที่เปิดให้เรารู้จักสิทธิและเสรีภาพ ทั้งของตนเองและของผู้อื่น พอเรามารู้จักเรื่องพวกนี้ เรารู้จักสิทธิของเรา และรู้จักของผู้อื่น มันทำให้เราไม่ไปละเมิด ผู้อื่น แล้วมันเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ ด้วยกระบวนการเรียน และสังคมภายในมหาวิทยาลัยมันปลูกฝังมาเลย มันก็ทำให้คนคนหนึ่ง ที่ผ่านระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานมา มาเจอแบบนี้ในมหาวิทยาลัยแล้วรู้สึกว่า โลกมันเปลี่ยนไป
คนที่บอกเด็กธรรมศาสตร์เป็นตัวปัญหา เป็นเด็กก้าวร้าว จริงๆแล้ว เด็กธรรมศาสตร์เป็นคนที่มีความคิดเปิดกว้างมาก ในการรับฟัง แต่ว่าการแสดงออกพวกเขาถูกปลูกฝังมาว่า เขามีสิทธิที่เขาจะแสดงออก ต่างหาก มันก็เลยทำให้คนบางคนไม่เข้าใจว่ามันคือสิทธิของเขา ส่วนอาจารย์ที่ชอบมีหลายคน ชอบอาจารย์ ลิขิต ธีรเวคิน ซึ่งเป็นราชบัณฑิต แต่อาจารย์เสียแล้ว ตอนนั้นเรียนวิชา การเมืองการปกครองไทย
อาจารย์ ลิขิต ธีรเวคิน สอนอะไรบ้าง ?
นัฏฐิกา : อาจารย์ สอนวิวัฒนาการของสังคมที่ทำให้เราหลุดจากมายาคติบางเรื่อง ความดี ความงาม ความรัก อะไรแบบนี้ ให้เรามองบนพื้นฐานของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ด้วยบริบทของสังคม แล้วก็ ยังพูดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงว่าสังคมไทยมันมี 4 คลื่น คลื่นลูกที่หนึ่ง เกษตรกรรม ลูกที่สอง อุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน ลูกที่สาม อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คลื่นลูกที่สี่ คือนวัตกรรม ซึ่งสังคมไทยมันก็เปลี่ยนไปตามคลื่นด้วย การเปลี่ยนจากสังคมเกษตร เป็นสังคมอุตสาหกรรมเนี่ย มันมีเหตุผล มีเวลาเข้ามากำหนด ซึ่งสังคมไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงก็เลยประทับใจอาจารย์ลิขิต
มีอาจารย์คนอื่นอีกไหม ที่อยากเล่าถึง ?
นัฏฐิกา : อาจารย์ที่ไม่กล้าเรียนด้วยก็มีนะ เช่น อาจารย์ ธเนศ วงศ์ยานนาวา คือ เป็นเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า อาจารย์เป็นอาร์ทติสต์ ทำให้เราที่เป็นเด็ก IR(สาขาการระหว่างประเทศ) กลัวจะเข้าไม่ถึง เราก็เลยไม่เรียนกับแก เลยไปเรียนกับอาจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์แทน ซึ่งเราก็ประทับใจกับอาจารย์ชัยวัฒน์ เรียนปรัชญาการเมือง ทำให้เราตั้งคำถามว่า ความรัก ความกลัว ความเกลียด คืออะไรในสังคม มันก็เลยตกผลึกเป็นความคิด
สิ่งที่เรียนในรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์มาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอุดมคติ หรือเปล่า พอมาเล่นการเมืองจริงๆ ต่างกันไหม ?
นัฏฐิกา : ในหนังสือทางรัฐศาสตร์เขาก็จะบอกว่า ระบอบการเมืองอย่างประชาธิปไตย เป็นอะไรที่เลวร้ายน้อยที่สุด แต่ว่ามันสะท้อนเจตนารมย์ของประชาชน อันนั้นคือสิ่งที่เราเรียนมา และมันทำให้เราฝักใฝ่ในประชาธิปไตย
แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ตอนที่เรามาเป็นผู้เล่นทางการเมือง โอเค เราสมัครลงเลือกตั้ง และในบริบทที่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการของ คสช. เข้าสู่รัฐบาลเลือกตั้ง มันก็ทำให้เรามองว่า ไอ้สิ่งที่เราเรียนมา ประชาธิปไตยที่เราฝักใฝ่ กับการเป็นคนจริงๆ
ประชาธิปไตยในสนามจริง มันเป็นยังไง มันไม่ได้มีแค่ว่า เจตนาของประชาชนจะเป็นยังไง แต่มันยังรวมถึงกฎกติกาของสังคมว่า มันเป็นประชาธิปไตยด้วยหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ หรือ กระบวนการนับคะแนนของ กกต. การแบ่งเขตเลือกตั้ง ลำพังประชาธิปไตยไม่ได้ เพียงบอกแค่ว่า รับฟังเสียงข้างมาก แต่มันยังรวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการร่างกติกาต่างๆ เราเรียนเพื่อที่เราอยากจะให้สังคม มันเป็นยังไง แล้วมันแตกต่างจากที่เราเรียนยังไง การเรียนมันช่วยจัดเรียง ความคิด ให้เรา เพราะฉะนั้นเราเรียนมาแล้ว เราก็อยากให้สังคมมันเอนไปทางในอุดมคติจริงๆ
สิ่งที่อาจารย์ ลิขิต หรือ อาจารย์ชัยวัฒน์ สอนในห้องเรียนเอาไปใช้ตอนปราศรัย หรือหาเสียงไหม ?
นัฏฐิกา : มันไม่ใช่คำพูดที่ก็อปอาจารย์มาหรอก แต่ว่ามันเป็นความคิด ก็คือว่า เราจะต้องคำนึงถึงสิทธิ และเสรีภาพของประชาชน นั่นแหละค่ะ คือสิ่งที่เราหาเสียง
ในยุค คสช. อะไรที่แย่ที่สุด?
นัฏฐิกา : รัฐธรรมนูญค่ะ !
กระบวนการร่าง ?
นัฏฐิกา : การก้าวเข้ามาก็แย่แล้ว ดำรงตนจากหัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ก็หนักอีก ก็ยังร่างรัฐธรรมนูญมา รวมทั้งการมี ส.ว. จากการแต่งตั้งอะไรทั้งหลายนี่ เรารู้สึกว่า มันคือการสืบทอดอำนาจแล้ว ไม่ว่าคุณ จะบอกว่า มันผ่านการประชามติ หรือ การเลือกตั้งมา แต่ว่าสิ่งที่คุณทำกับกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ มันไม่ปรากฎการมีส่วนร่วมของประชาชนเลย
ตอนที่เข้ามาอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ มีปัจจัยอะไรบ้าง?
นัฏฐิกา : พรรคประชาธิปัตย์มีจุดแข็งตรงที่มีความเป็นสถาบัน เราไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาอยู่ฝั่งไหนนะ แต่จุดแข็งเขา คือ เขาเป็นสถาบัน ทำให้คนทั่วไปมีส่วนร่วมได้ แล้วเราก็มองว่า การที่คุณชวน หลีกภัย เขาเป็นลูกแม่ค้า เขาก็มีส่วนร่วมจนถึงขนาดก้าวไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ในเมื่อพรรคที่มีองค์กรแบบนี้เราคิดว่า มันเป็นสถาบันที่เปิดกว้างที่จะให้คนทั่วไปอย่างเราเข้าถึงได้ บวกกับการที่พรรคมี New Dem มันทำให้สถาบันที่ดูโบราณทันสมัยขึ้นมา แล้วมันมีกลุ่มคนที่มีแนวคิดใหม่ๆขึ้นมา ทำให้เราเลือกเข้าประชาธิปัตย์
ระหว่างนั้นมีเอะใจไหม ว่าไปพรรคนี้ดีหรือไปพรรคนั้นดี ?
นัฏฐิกา : เอะใจไหม มี มีคิด คือ สำหรับเรา เรามองว่า สังคมแบ่งเป็นสองฝั่งความเชื่อ-ความคิด เนื่องจากว่า มันไม่ใช่การเลือกตั้งในบริบททั่วไป มันเป็นการเลือกตั้งในบริบทที่ว่า จะเอาเผด็จการหรือจะเอาประชาธิปไตย เราก็คิดว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่มีท่าทีที่ช้ากว่าเขาเนี่ย จะทำตัวเป็นกลาง จะประสบความสำเร็จไหม
ประชาธิปัตย์ตกต่ำไหม เราก็มองว่า ประชาธิปัตย์ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่อยากพูดว่าตกต่ำ เพราะว่า เราอย่าลืมว่า บริบทอย่างที่เราบอกไป มันมี ช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้ที่มีอำนาจอยู่ แล้วประชาชนก็มีความเชื่อแบบนี้ การตัดสินใจเป็นผู้ที่อยู่ทางสายกลาง ตอนหาเสียง แบบนั้น เราก็คิดว่า มันยังไม่ตอบโจทย์สังคม
เห็นโอกาสอะไรบ้างในการลงรับสมัครครั้งนี้ ?
นัฏฐิกา : สำหรับ ส.ส. เขต ก็คือ มันจะมีกลุ่มฐานเสียงประชาธิปัตย์ อันนี้คือตอนลงนะ ไม่ใช่ตอนที่ผลคะแนนออกมา กลุ่มฐานเสียง กลุ่มคนรุ่นใหม่ แล้วก็กลุ่มคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ มันคือโอกาสที่เรามองเห็น และในเมื่อการเลือกตั้งมันมีหลายพรรคเหลือเกิน หลายเบอร์เหลือเกิน เราก็เลยคิดว่า คะแนนมันจะไม่ห่างกันมาก เพราะมันจะมีหลายกลุ่มดึงไป เราก็เลยคิดว่า มันคือโอกาส
รู้อยู่แล้วว่าภาคอีสาน เบอร์ที่เราต้องแข่งค่อนข้างเฮฟวี่เวท เช่น เพื่อไทย ภูมิใจไทย แต่ก็ยังลงเพราะว่า?
นัฏฐิกา : เราอยากมีส่วนร่วมกับการเมือง เราเห็นโอกาส เราเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ส่วนผู้สมัครคนอื่นๆเนี่ย ภูมิใจไทย หรือเพื่อไทย เขามีฐานเสียงเก่า เขาเป็น ส.ส. เก่า อยู่แล้ว แต่เราคิดว่าเราน่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
(คู่แข่งรุ่นเฮฟวี่เวท)เขารู้จักครอบครัวเรา ?
นัฏฐิกา : เขารู้จักค่ะ เพราะมีตระกูลการเมืองอยู่ไม่กี่กลุ่มหรอกในจังหวัดนี้ แต่การที่เราไม่ได้สังกัดพรรคเจ้าของพื้นที่ มันไม่ได้ทำให้เรา คิดว่า เราไม่มีโอกาส เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มันมาต่างหาก ด้วยความที่เราอธิบายว่า เห็นโอกาส บวกกับสถานการณ์การแข่งขัน
จะว่าไป ส.ส. แบ่งเขตพรรคประชาธิปัตย์ จากจังหวัดชัยภูมิก็เคยมี แต่นานมาแล้ว เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งผู้แทน เรามองว่า ประชาชนยังอยากได้คนที่จะมาเป็นผู้แทนของเขา ส.ส. ในพื้นที่ทำงานไหมแบบนี้ มันเป็นการบ้านของ ส.ส. ในพื้นที่ ในฐานะที่มีผู้สมัคร สส. รุ่นใหม่มา เราก็เลยรู้สึกว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องไปกลัวว่า มันเป็นพื้นที่ของใคร
การเป็น ส.ส. คุณเรียกว่า ความฝันไหม?
นัฏฐิกา : ใช่ ตอนเป็นประธานนักเรียนไม่รู้หรอกว่า ส.ส. คืออะไร แต่ก็พูดว่าตัวเองอยากเป็น ส.ส. อันนั้นมันแปลกมาก เพราะตอนที่เรามาลงสมัคร มันทำให้เรานึกถึงวันที่เราเป็นเด็ก พูดจาไม่รู้จักความ อยากเป็น ทั้ง ส.ส. ทั้ง นายกรัฐมนตรี ตอนที่คุณยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ รู้สึกว่า เขาแย่งตำแหน่งนายกฯหญิงฉันไปแล้ว เขาแย่งนายกฯหญิงคนแรกไปแล้ว
ตอนเป็นนักข่าวกับตอนเริ่มเป็นนักการเมือง ฟีลลิ่งมันต่างกันไหม ตอนเป็นครูด้วย ?
นัฏฐิกา : ตอนเป็นผู้สื่อข่าว คือ เราต้องรับฟังสามด้าน แหล่งข่าว ผู้เสียหาย และงานด้านวิชาการเพื่อนำเสนอให้สังคมเข้าใจรอบด้าน ตอนนั้นก็อินมาก อินกับบทบาทผู้สื่อข่าวมาก เพราะว่าเราคือ ฟร้อนท์เกต เป็นผู้รับเรื่องข้อเท็จจริงอะไรพวกนี้ แล้วเราก็มีผลกับสังคม มันก็เลยทำให้เราอินกับงานข่าวว่า เราสามารถชี้แนะสังคมได้จริงๆ
อินเวอร์วังอลังการ แบบไปสัมมนาเรื่องการทำข่าวเด็ก ก็รู้สึกว่าเราต้องปกป้องเด็กจริงๆว่ะ ทั้งๆที่ ผู้สื่อข่าวที่ไปด้วยกัก็บ่นๆว่า งานสัมมนานี้เหมือนเรียกผู้สื่อข่าวมาด่าว่า ทำข่าวเปิดโปงเด็กหมด ไปทั่วไปทีบ แต่ตอนนั้นเรากลับรู้สึกว่า การที่องค์กรด้านเด็กเขามาบอกเราว่า มันมีเรื่องการละเมิดเด็กอะไรบ้าง ยิ่งทำให้เราต้องตระหนักกับหน้าที่ของเรา เห็นความสำคัญของหน้าที่ตัวเอง
พอมาเป็นติวเตอร์ เราไม่ได้มีบทบาทต่อสังคมในภาพกว้างในการชี้นำ แต่คือ การเป็นติวเตอร์ มันไม่เหมือนกับครูในโรงเรียน เรามีความใกล้ชิดกับเด็ก แล้วเด็กก็มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเรียน หรือเรื่องอื่นเขาก็ปรึกษาเรานะ เราก็มีหน้าที่แนะนำเด็กคนหนึ่งให้เขาไปในทิศทางที่ดี บางคนก็ถูกลวนลามทางเพศจากผู้ปกครอง ก็ไม่รู้จะพูดกับใคร บางคนก็มาเล่าให้เราฟังเล่นๆ ว่า พาแม่ไปคลินิคความงามแล้วถูกเจ้าหน้าที่แทะโลม แต่ก็ไม่ยอมบอกแม่ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ เราก็มีหน้าที่รับฟังและให้คำแนะนำ
ส่วนการเป็นนักการเมือง มีความรู้สึกว่า การเป็นผู้สื่อข่าว และการเป็นนักการเมืองมีจุดที่คล้ายกัน หนึ่งคือ เราต้องรับฟังให้ครบทุกด้าน และเรายังต้องรับฟังในเรื่องทางวิชาการด้วย แต่หน้าที่และบทบาทต่างกัน ผู้สื่อข่าว คือ ต้องชี้นำสังคมเพื่อนำไปสู่การแก้ไข แต่นักการเมืองจะต้องหาทางแก้ไขด้วย เพราะถ้าบอกแต่ปัญหามันไม่ได้รับการแก้ไข คุณต้องไปหานักวิชาการเพื่อหาวิธีการแก้ไขเพื่อเอาไปนำเสนอพรรค หน้าที่มันแตกต่างกัน แต่เราคิดว่ามันคล้ายกันในเรื่องการนำมาประยุกต์ใช้
สิ่งที่อยู่ในใจ ปัญหาที่อยากแก้ในฐานะนักการเมือง ?
นัฏฐิกา : ในฐานะนักการเมือง ประชาชนที่เข้ามาหาเราไม่ได้ต้อนรับเราเหมือนตอนเราเป็นผู้สื่อข่าว เขาคิดว่าเราไปหาประโยชน์จากเขาด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ mind set ของคนที่เพิ่งเข้ามาเป็นนักการเมืองเนี่ย เราเข้าไปด้วยความที่อยากจะช่วยเหลือ เราสัมภาษณ์ เรามีคลิปๆ หนึ่งที่ทำตอนหาเสียง เราเข้าไปสัมภาษณ์เลยว่า มีปัญหาอะไรที่อยากให้เราช่วยแก้ไขไหม ประชาชนไม่ให้การต้อนรับ ไม่อยากพูดกับเรา เบือนหน้าหนี เขาคิดว่าเราไปหาเสียง ถ้าจะพูดว่าเป็นผู้สื่อข่าวสนุกกว่าก็ใช่ เพราะการเป็นนักการเมืองมันมีมายาคติที่ไม่ดีที่ครอบอยู่
จะเปลี่ยนมายาคตินี้ได้ไหม แล้วยังอยากเป็นนักการเมืองอยู่ไหมสมัยหน้า ?
นัฏฐิกา : ก็ต้องดูบริบทสังคมในสมัยหน้า นักการเมืองยังอยู่ ส.ว.ยังอยู่ แต่ว่าอาจจะมีอะไรหลายๆอย่างเกิดขึ้นใหม่ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พรรคบางพรรคจะถูกยุบหรือไม่ การต่อสู้มันยังมีอีก ถ้าเรายังรู้สึกว่า ยังมีพื้นที่ในการต่อสู้เนี่ย เราก็จะทำเหมือนครั้งนี้ เหมือนที่เราบอกไปครั้งแรกที่ว่า เราลงเพราะว่ามันมีโอกาส ถ้าไม่มีโอกาสเราก็สนับสนุนในส่วนที่เราทำได้
จุดยืนของคุณก็คือไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแน่นอน ?
นัฏฐิกา : ใช่
วันรัฐประหารปี 2557 คุณอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ ?
นัฏฐิกา : ตอนนั้นฝึกงานที่เนชั่น ทำรายการกับคุณทนงค์ ขันทอง ทำรายการการเงินระหว่างประเทศ ฝึกงานอยู่ แล้วก็มีรัฐประหาร เขาก็บอกว่า พรุ่งนี้หนูไม่ต้องมานะ อันตราย ก็ไม่มีงานทำอยู่ช่วงนึงเพราะว่า เขารัฐประหาร ปิดสื่อ
ตอนนั้นก็คิดอยู่ สับสนว่าทำไมสังคมถึงมาเป็นแบบนี้ รู้สึกว่ามันไม่โอเค มันไม่ใช่การที่สังคมควรจะเป็นแบบนี้ สื่อถูกปิด เราต้องทำอย่างไรต่อ ในฐานะที่เราทำงานอยู่ในสถานีสื่อ แล้วประชาชนจะรับรู้อย่างไร คือมันเลวร้ายมากว่า ทำไมถูกปิด คือเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้อมูลข่าวสารที่อยู่ไประหว่างสื่อถูกปิดเป็นอย่างไง
ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรหลังปี 2557 ?
นัฏฐิกา : จากการที่เป็นผู้สื่อข่าว เราคิดว่ามันดีมากในแง่ของการเป็นผู้สื่อข่าวโต๊ะการเมือง ตอนนั้นทำข่าวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญพอดี เราได้ไปรับฟังในหลายๆเรื่อง มันช่วยให้เราได้ตกผลึกทางความคิด ฉะนั้นเมื่อคุณมาเป็นนักการเมือง ประสบการณ์และความรู้จากการทำงานข่าว เช่น คุณอาจทำงานในไอลอว์ มันจะทำให้ก่อรูปความคิดของคุณว่าจะไปในทิศทางไหน
ลงการเมืองเพราะอยากดังหรือเปล่า? คือถ้าอยากดังก็ไปประกวดนางงามแล้ว ถูกไหม ด้วยความที่เป็นผู้หญิงและดิฉันไม่ใช่ตัวท็อปของวงการการเมือง หาว่าอยากดังนั้นนี่คือ ไม่ใช่ เปลืองเนื้อเปลืองตัว ถูกด่าก็มี เราต้องมานึกว่าเราจะเป็นนักการเมืองอย่างไร และประสบการณ์ของการเป็นผู้สื่อข่าวมันก็ทำให้เรารู้ว่าเรามีจุดยืนอย่างไร มันก็มีความชัดเจนมากขึ้น
วาทกรรมโง่-จน-เจ็บ กับคนอีสาน เวลาลงพื้นที่มันต่างจากที่สื่อผลิตบ้างไหม ?
นัฏฐิกา : คนอีสานไม่ได้เกิดมาโง่-จน-เจ็บ แต่เรามองว่า เขาถูกทำให้ยากจนจากโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำ พอถูกทำให้ยากจนก็ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ การขาดแคลนบุคลากรต่างๆ หลากหลายอย่าง ไม่ใช่จะต้องอีสานหรอก ที่อื่นๆ มันก็มีปัญหานี้เหมือนกัน
ถามว่าเจ็บไหม คือโรคภัยไข้เจ็บ กระบวนการยุติธรรมต่างๆ มันก็เหลื่อมล้ำ คือความเหลื่อมล้ำมันทำให้คนอีสานเป็นแบบนี้ ถ้าเรื่องการเจ็บป่วย จะขออ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเรื่องความเหลื่อมล้ำ เขาบอกว่าเรื่องการแพทย์ คนอีสานเข้าถึงการบริการทางการแพทย์อย่างเหลื่อมล้ำมากที่สุด เราได้อ่านเมื่อ 2 ปีก่อน ระบุว่า แพทย์ 1 คน รับผิดชอบคนไข้หลายร้อยคน ขณะที่แพทย์ที่กรุงเทพฯ รับอยู่ 10 กว่าคน เพราะฉะนั้น คนอีสานไม่ได้เกิดมาแล้วเป็นแบบนี้ แต่ถูกทำให้เขายากจน ถูกทำให้เข้าถึงการศึกษาลำบาก และขาดแคลน เข้าไม่ถึงสวัสดิการหลายๆ อย่าง
อีสานเด้อ อยากลองถามแบบคนอีสาน การเป็นคนอีสานเคยถูกล้อไหม ?
นัฏฐิกา : ไม่ถูกล้อหรอก เพราะว่าสังคมมาไกลเกินเรื่องนั้นแล้ว เนื่องจากภาคอีสานมีการพัฒนา เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น มีมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าไปอยู่ในภาคอีสานเยอะ เช่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็มีวิชาการที่ได้มาตรฐาน แต่เรายังมีเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่าที่ยังจะถูกล้อ แต่โดยรวมสังคมเลยเรื่องนี้ไปแล้ว ไม่ล้อว่าเป็นคนอีสานแล้ว
ในความเห็นคุณ จุดเด่นของอีสานคืออะไร ?
นัฏฐิกา : อีสานมีทรัพยากรมากมายหลายด้าน ทั้งด้านธรรมชาติ แรงงาน การคมนาคมขนส่ง มีสนามบินเยอะ มีชายแดนติดกับหลายประเทศ แต่ถ้าถามว่าอยากให้พัฒนาอย่างไร
ส่วนตัวคิดว่าการเอา GDP มาเป็นตัวชี้วัดในการพัฒนาภาคอีสานมันไม่พอ ถึงแม้ว่าจะมีเมกกะโปรเจค แต่จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ถึงแม้จะมีรถไฟจากกรุงเทพฯ ตรงยาวไปถึงลาว แต่ถามว่าประชาชนหรือคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รถไฟ คนกลุ่มนี้ได้ประโยชน์อะไร คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นอย่างไร ยังต้องนั่งรถทัวร์เข้ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมงซึ่งเสียเวลามาก คือเมกกะโปรเจคมันดึงตัวเลขให้สูงขึ้น แต่มันไม่สามารถเป็นตัวบ่งบอกว่าคุณภาพชีวิตของเราจะดีขึ้น เราอยากให้การพัฒนาอีสานสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สวัสดิการทางสังคม และโลจิสติกส์ แต่จะต้องไม่ใช่โลจิสติส์เพื่อการค้าขายอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นรถไฟระบบรางที่มันเข้าถึง ทั้งๆ ที่เรามีทรัพยากรมากมายขนาดนี้ เรามีแหล่งอารยธรรม แต่เราจะไปเที่ยวอย่างไร ถ้าไม่มีรถ
ชัยภูมิน่าสนใจอย่างไร ?
นัฏฐิกา : สาวชัยภูมิ!
นอกจากสาวชัยภูมิ ในฐานะเมืองรอง ชัยภูมิมีแหล่งท่องเที่ยว มีอารยธรรมที่บริสุทธิ์ มันยังไม่ถูกรุกรานมากนัก ทำให้มันยังเสื่อมโทรม และเป็นเรื่องที่นักลงทุนยังสามารถมาลงทุนได้ เรามีจุดเด่นเรื่องผ้าไหม แต่ว่าเรายังคงเป็นผู้รับจ้าง ถ้ามีผู้ประกอบการที่นำนวัตกรรม และความรู้ใหม่ๆมา เราคิดว่าทรัพยากรของเรามันจะส่งเสริมกัน เป็นเมืองที่มีทุกอย่างพร้อม เหลือเพียงแต่คนที่มีความสามารถจะมาดึงสิ่งที่มีอยู่ไปใช้
เรื่องประทับใจจากการลงพื้นที่ในฐานะนักการเมืองหญิงหน้าใหม่ ?
นัฏฐิกา : ความประทับใจจากประชาชนที่ได้ยินมาคือ มีเหตุผล มีหลักการ ตั้งใจมานำเสนอเพื่อที่จะแก้ปัญหา มาถึงก็พูดถึงปัญหาที่ประชาชนได้รับ และนโยบายของพรรคที่ต้องการแก้ไข เพราะว่าเราไม่ได้มาเพื่อที่จะหาเสียง แบบว่าพ่อแม่พี่น้องช่วยผมหน่อยนะ มันไม่ใช่การขอร้องอ้อนวอน นั้นคือสิ่งที่เขาเห็นในฐานะผู้สมัครหน้าใหม่
ส่วนความประทับใจของเราคือ การได้เรียนรู้ปัญหาของสังคมจริงๆ เราเรียนจากตำรา อ่านจากตัวเลขทางสถิติ โอ้โหมากขนาดนี้ แต่มันก็คือในตำรา แล้วอะไรคือความจริงล่ะ จนได้มาเห็นจริงว่า การที่คนๆ หนึ่งไม่มีรถนะ อยู่ไกล อยู่บนเขา แล้วเราหาเสียงแล้วเจอ เราสงสัยว่ามันไกลขนาดนี้มีชีวิตอยู่กันอย่างไร
อย่างเรื่องร้านค้า เวลาผู้หญิงเป็นประจำเดือน ผ้าอนามัยจะหาซื้ออย่างไร ถ้ามีลูก เด็กได้รับการศึกษาอย่างไร การเดินทาง เพื่อไปส่งเขา เพื่อขึ้นรถประจำทางเข้ามาในเมือง ถ้าไม่สบายต้องทำอย่างไร ร้านค้าต่างๆ ถ้าต้องการได้ของใช้จะต้องทำอย่างไร เขาบอกว่าเดิน เดินจากบ้านเพื่อไปสถานีรถ เพื่อที่จะนั่งรถไปในเมืองเพื่อจะซื้อของ เรื่องที่เกิดขึ้นนี่คืออำเภอเมือง แต่เพราะเขตพื้นที่เมืองในบ้านเรามันเล็กมาก คุณออกไปนิดเดียวคุณก็เข้าสู่ชนบทแล้ว
อีกอย่าง “ปัญหาที่อยู่ในตำรามันไม่เหมือนของจริง” ที่คำว่าเหลื่อมล้ำมาก ขาดแคลนมากก็คือ ไม่มีจะกินแล้ว ตอนเราลงไปในพื้นที่ ชาวบ้านเห็นเรา เราไม่รู้จักกันหรอกค่ะ เพราะเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ พอเห็นเรา เขาร้องไห้ เราก็ไปแนะนำตัวว่า เราเป็นผู้สมัครแวะมาเยี่ยม เขาก็บอกว่า เนี่ยเหรอผู้สมัคร เขาก็ร้องไห้ ทั้งๆ ที่ไม่มีการเตรียมกันก่อน เราก็ไปหาเสียง เขาก็ไม่ได้พูดอะไร แล้วเขาก็ร้องไห้ เราก็รู้สึกว่าชีวิตเขาคงลำบากมากขนาดที่ว่า ใครที่เขาไม่เคยรู้จัก เขาก็ร้องไห้ให้เห็น บางคน เขาอยู่ในมีสภาพเป็นผู้ป่วยติดเตียง ลูกหลานก็ออกไปทำงานนอกบ้าน ทำไร่ทำนา นี่คือสภาพชีวิตของประชาชน คนในเมืองไม่รู้ เขาไม่เห็นแล้ว ลูกหลานที่มาอยู่กรุงเทพฯ เขาก็ไม่เห็นแล้วใช่ไหม แต่ในพื้นที่ชนบทมันเป็นคนละเรื่องกันเลย ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าประทับใจดีไหม แต่เรารู้สึกว่า “การที่เราจะเข้ามาเป็นนักการเมือง สิ่งที่เราจะเข้ามาทำมันมีความหมายสำหรับประชาชนจริงๆ” เรามาหาเสียงเพื่อเขา
วิธีการทำงานหาเสียงของเราต่างจากรุ่นก่อนหน้าไหม ?
นัฏฐิกา : เราต้องยอมรับว่า การเลือกตั้งมันมีระบบหัวคะแนน แล้วเราก็ต้องมีระบบของการหาเสียงด้วยนโยบาย แล้วการที่จะมีคนมาช่วยเราหาเสียง เราต้องอาศัยเครือข่าย คือคุณจะมามองว่า โหวตโดยคนที่เขาชอบเราจริงๆ เนี่ย มันจะมีสักเท่าไหร่ในพื้นที่ อันนั้นคือสิ่งที่นักการเมืองรุ่นใหญ่ในพื้นที่เขาทำ เพราะเขามีเครือข่าย แต่เราเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ จะคิดว่าคุณลงพื้นที่อยู่ดีๆ จะหาเสียงอย่างไร
ตอนนั้น เราก็เคว้งคว้างมาก ดังนั้นเราไปมองหาปัญหา เริ่มต้นจากการเดินออกไป เดินไปถาม เดินแนะนำตัวและถามหาปัญหา แล้วถ้ามีปัญหาอะไรที่เข้ากับที่เราศึกษานโยบายมาแล้ว เราก็ให้คำแนะนำเขา นั่นคือสิ่งที่เราทำได้ เรารู้สึกว่าเป็นการหาเสียงแบบที่คนที่เขาไม่มีเครือข่ายสามารถทำได้
เราต้องยอมรับว่า พรรคอนาคตใหม่หาเสียงด้วยนโยบาย ผู้สมัครของเขาหาเสียงโดยให้ประชาชนดูนโยบายเลยแล้วก็กาที่พรรคของเขาตามเบอร์ของเขา แล้วบริบทสังคม คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้เป็นเครือข่ายของใคร มีความเป็นปัจเจกชนสูง ที่เราคิดว่า เครือข่ายของเราจะดึงมาได้เยอะ มันกลับทำไม่ได้กับกลุ่มเป้าหมายนี้
กลุ่มเป้าหมายครั้งนี้อาจจะเลือกอนาคตใหม่ เพราะสังคมบีบให้เลือก แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้ามันมีการเปลี่ยนแปลง มีการยุบพรรค หรือเกิดพรรคใหม่ขึ้นมา กลุ่มเป้าหมายนี้ คุณจะทำอย่างไรให้เราได้คะแนนเสียงจากเขามา โดยที่ต้องยอมรับว่า เครือข่ายจากคนรุ่นก่อนหน้ามันใช้ไม่ได้แล้วกลับคนกลุ่มนี้ แล้วคนกลุ่มนี้กำลังเป็นคนที่จะเติบโตขึ้นไปในสังคม
อนาคตข้างหน้าล่ะ คุณมองแนวโน้มการหาเสียงยากขึ้นหรือง่ายลง ?
นัฏฐิกา : การหาเสียงในอนาคต ส่วนตัวคิดว่ามันจะยากยิ่งขึ้น จะไม่ใช่คะแนนที่แบบที่เราจะมาคำนวนได้มากได้ง่ายขนาดนั้นแล้ว เรารู้สึกว่าบริบททางสังคมจะเปลี่ยนแปลงเยอะมาก และการหาเสียงเลือกตั้งจะหาเสียงด้วยนโยบาย ถ้าเรามองว่าการเมืองจะเดินไปในทางอุดมคติมากขึ้น เราคิดว่าการเมืองต่อไปจะยาก แต่มันดี สังคมกำลังจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดี
เข้าใจว่าอีกภาพจำของใครหลายคนที่มีต่อคุณคือการใช้ Social Media ในการเผยแพร่ความคิดและ หาเสียง ?
นัฏฐิกา : เป็นพื้นที่ที่ทำเอง ไม่มีทีมในการเขียนสปีชอะไร เขียนเองหมดเลย มันมาจากการเป็นผู้สื่อข่าว มันเลยทำให้เรามีประสบการณ์เรื่องพวกนี้ แล้วด้วยความที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ มันช่วยให้เราเข้าถึง Social Media มันทำให้เรารู้จักเรื่องนี้ มันช่วยให้เราโดดเด่นขึ้นมา ทั้งที่เรารู้สึกว่า ไม่หรอก แต่เรามีแง่มุมมีประสบการณ์มากกว่า มันเลยทำให้เราเลือกที่จะนำเสนอตัวตนของเราอย่างไร แต่เราคิดว่าก็ยังไม่ได้ปังขนาดนั้น เพราะพอโพสต์เรื่องการเมืองไปเรื่อยๆ คนก็จะยกเลิกการติดตาม
พูดถึงกลุ่ม New Dem ของพรรคประชาธิปัตย์ให้ฟังหน่อย ?
นัฏฐิกา : ก่อนไปอยู่ New Dem เราก็รู้สึกว่า พวกเขามีนโยบายที่น่าสนใจ เช่น เรื่องของการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นสมัครใจ 100% การเคารพ LGBT แล้วก็เรื่องของ Gamer เราก็มองว่าเป็นกลุ่มที่สร้างสรรค์ ตอนที่เห็น เราก็คิดว่าพรรคการเมืองควรจะมี ส่วนการทำงานถ้าเป็นกลุ่มภายใต้พรรค สุดท้ายกระบวนการทำงานเราก็ต้องเคารพมติพรรค
สุดท้ายแล้วพอถึงวันที่พรรคมีจุดยืนเข้าร่วมรัฐบาล คนที่ไม่โอเคก็ออก สำหรับเราเหตุที่ต้องออกมา คือเรารู้สึกว่าเรามีจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับมติพรรค เราเป็นประเภทที่ไม่เห็นด้วยก็เลยไม่ทำดีกว่า คนในนั้นก็มีหลายประเภท ก็มีคนแบบที่ไม่เห็นด้วยแต่มีโอกาสเข้าไปแก้ปัญหาเขาก็ทำไป เราก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ
ตอนที่ตัดสินใจยุติบทบาทลาออกจากพรรค ตอนนั้นคิดอะไรเยอะแค่ไหน ได้ปรึกษาใครหรือเปล่า ?
นัฏฐิกา : คิดเยอะเหมือนกัน ช่วงที่พรรคมีแนวโน้มจะเข้าไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ เราก็คิดแล้วว่าจะอยู่ต่อหรือไม่ ถ้าอยู่ต่อโอกาสจะทำงานในพื้นที่มีเยอะอยู่แล้ว เพราะเราเป็นสาขาพรรค ได้ทำงานต่อ รับรู้ปัญหาของประชาชน แต่ว่าถ้าไม่อยู่ต่อ ความต่อเนื่องจะน้อยลง คงต้องขวนขวาย ใช้อินเนอร์ของตัวเองเหมือนที่ทำมา
การที่เราจะทำต่อเนี่ย เรารู้สึกว่า อุดมการณ์มันต้องไปด้วยกัน รายละเอียดปลีกเล็กปลีกย่อยมันจะส่งเสริมกันเอง ถ้าสมมุติพรรคเป็นฝ่ายค้าน เราได้เป็นคณะกรรมการดูแลพื้นที่ในชัยภูมิ เราก็คงรู้สึกว่าอยากไปรับฟังปัญหาชาวบ้าน มันคงเป็นความรู้สึกในใจ แต่ถ้าอุดมการณ์มันไม่ใช่ ดิฉันก็ไม่อยากทำ เรื่องความชัดเจน ในเมื่อสังคมมีความหลากหลาย พรรคมีบุคลากรที่เหมาะสมในการทำก็ทำกันไป เราไม่อยากไปสร้างบรรยากาศในพรรคให้มันเสีย จะกลายเป็นว่าค้านไปซะทุกเรื่อง ก็ปล่อยให้องค์กรเขาดำเนินไป
สิ่งที่ผิดหวังที่สุดต่อเรื่องนี้ ?
นัฏฐิกา : เราอยากให้พรรคเป็นฝ่ายค้านอิสระ ไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ มีคนอยากให้พรรคไปจับมือกับคนนั้นคนนี้ แต่ด้วยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำได้ไหมละ อยากให้เป็นฝ่ายค้านอิสระเพราะอยากให้ทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แต่ในเมื่อพรรคตัดสินใจแบบนี้แล้ว เรารู้สึกอยากให้พรรคได้สร้างโอกาสตามที่มติของพรรคต้องการ เราก็คิดว่าเราหาที่ยืนของเราใหม่
มีคนบอกว่าให้อยู่พรรคอื่นหรือแนะนำที่อื่นไหม ?
นัฏฐิกา : ถ้าเรื่องเข้าสังกัดพรรค ตอนนี้ขอเก็บไว้พิจารณา ก็มีคนบอกนะ แต่เราก็ต้องศึกษากระบวนการทำงานของพรรคอื่นๆด้วย ต้องรอดู อย่างตัดสินใจเข้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเรามองว่าเป็นสถาบัน ส่วนพรรคอื่น เราก็คงมองว่า เราจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าอยากสังกัดพรรคการเมืองหนึ่ง เราคงอยากเข้าไปพรรคที่เราสามารถมีส่วนร่วมได้
ทางบ้านว่าอย่างไรบ้าง มีผลกระทบบ้างไหม ตอนที่ออกได้ปรึกษาไหม ?
นัฏฐิกา : ตอนที่ลงเลือกตั้งทางบ้านก็สนับสนุน ตอนที่ออกทางบ้านก็ไม่มีปัญหา เขาก็เข้าใจว่า ความคิดเห็นเราไม่ตรงกับมติของพรรค เขาก็ไม่บอกว่าให้อยู่เถอะเพื่อที่จะทำงาน ทางครอบครัวก็มีความคิดตรงกันว่า เราสามารถทำงานให้กับสังคมในมิติอื่นๆได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ออกมา
ตอนนี้อายุ 27 ปี อายุยังไม่ถึงกับการเลือกตั้งท้องถิ่น นายกเทศบาล อบจ. คิดว่าตัวเองอยู่ในการค้นหาตัวเองอยู่ไหม ชอบบทบาทอะไรมากที่สุด ?
นัฏฐิกา : ชอบบทบาทผู้สื่อข่าว เพราะว่าได้เปิดโลก บริบทที่เราต้องติดตามสถานการณ์ ส่วนติวเตอร์ เรารู้สึกถึงคุณค่าของการเป็นครู แม้เราไม่ได้เรียนครู เราก็รู้สึกว่า เราได้ช่วยเด็กสักคนหนึ่ง เราไม่ได้แค่ปั้นแค่ให้เด็กเก่งภาษาอังกฤษ เรารู้สึกว่าเราได้ช่วยเด็กที่ตามไม่ทันระบบการศึกษา เรารู้สึกว่าเด็กแบบนี้จะมีปัญหา บางคนไม่สามารถเรียง จันทร์-ศุกร์ เดือนเป็นภาษาอังกฤษได้ อ๋อรู้แล้วทำไม ภาษาไทยเขายังเรียงไม่ถูกเลย นี่คือเด็กที่เราเจอมา
ส่วนการเป็นนักการเมือง เราแค่อยากแก้ปัญหาพัฒนาชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้น อย่างคุณพ่อเรา ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่ก็มีคนมาหาเขาเพราะเดือดร้อน สุดท้ายก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ เช่น มีคนมาขอให้พ่อช่วยขณะที่เราเป็นผู้สื่อข่าว พ่อก็ให้เราช่วยออกข่าวเรื่องการโกงเงินชาวบ้าน เราก็เก็บหลักฐาน หาข้อมูล เสนอสำนักข่าว สำนักข่าวก็ส่งคนมาทำข่าว นำเสนอจนเกิดการแก้ปัญหาในที่สุด
นัฏฐิกา ในวันเวลานี้ เป็นนักการเมืองด้วยอุดมการณ์ใช่ไหม ?
นัฏฐิกา : ใช่ เราไม่ได้มีอาชีพเป็นนักการเมือง แต่ถ้าคุณอยากทำคุณก็ต้องทำให้มันไปสู่ทิศทางที่ดี เข้ามาทำการเมืองตั้งแต่อายุน้อยมาก ต้องอาศัย passion อย่างมาก
แล้วไม่อยากกลับมาทำนักข่าวอีกหรือ ?
นัฏฐิกา : ทำให้ The Isaanderได้ไหม (หัวเราะ) (The Isaander-ทุกวันนี้ยังกินข้าวกับเกลืออยู่เลยอะฮะ)
แล้วหลังจากนี้ทำอะไรต่อ ?
นัฏฐิกา : ทำธุรกิจต่อ เก็บตังค์เอาไว้ลงเลือกตั้งครั้งหน้า เอาไว้เลี้ยงตัวเองตอนหาเสียง เราทำธุรกิจเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง ส่วนเรื่องการเมืองคือความสนใจ ไม่ใช่แค่ช่วยคนอื่น แต่เราอยากได้สังคมที่เราอยากจะเป็น ประเทศไทยต้องไม่ใช่แบบนี้ ที่ คุณช่อ อนาคตใหม่เคยพูดที่ไหนไม่รู้ว่า เราไม่ได้เข้ามาทำเพื่อคนอื่น แต่เราทำเพื่อสังคมที่อยากจะให้เป็น เรามีเพื่อน รังสิมันต์ โรม เราเห็นเขาโดนจับ ตอนรณรงค์เรื่องโหวตโน(ประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ) เราไม่อยากเห็นประชาชนถูกปิดกั้นเสรีภาพ แค่เรื่องนี้ยังปิดกั้น เรื่องอื่นๆนอกจากนี้ล่ะ เรายังถูกริดรอนสิทธิอยู่ นี่หรือสังคมที่เราอยากจะเป็น
หลังสัมภาษณ์วันนี้เสร็จคุณจะทำอะไรต่อ ?
นัฏฐิกา : หนี กอ.รมน. สิคะ(หัวเราะ)
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #นัตตี้ #นัฏฐิกาโล่ห์วีระ #ประชาธิปัตย์ #newdem #ว่าที่นายกฯหญิงคนที่สอง #เป็นนายกคนแรกไม่ได้ #เป็นFirstladyก็ได้ว่าซั่นเด๋
Comments