พฤษภาคมนี้ เกษตรกรหลายรายในกาฬสินธุ์ ขนเป็ดทุ่งจากภาคกลางเข้ามาเลี้ยงหลังเก็บเกี่ยวนาปรัง โดยเฉพาะเขตชลประทานลำปาว ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกรงว่า เป็ดหลายพันตัวที่อพยพมาอยู่ใหม่ อาจเป็นพาหะนำโรคได้ โดยเฉพาะหวัดนก
---
ไทยรัฐ รายงานว่า ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ พบว่าแปลงนาหลายหมู่บ้าน ได้กลายเป็นพื้นที่หากินของฝูงเป็ดไล่ทุ่งจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่หวั่นเกรงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคเกี่ยวกับสัตว์ปีก
ทั้งนี้ จากการสอบถามทราบว่า เป็นฝูงเป็ดที่อพยพมาจากจังหวัดในแถบภาคกลาง ซึ่งเจ้าของฝูงเป็ดได้ทำการขนย้ายมาจากหลายจังหวัดในแถบภาคกลาง โดยบรรทุกใส่รถ 6 ล้อขนาดใหญ่มาลงเป็นจุดๆ และกระจายกันไปหากินในท้องที่หลายตำบล
นายเจริญ ภูตรี ผู้ใหญ่บ้านบ้านเชียงสา หมู่ 14 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังเสร็จ พบว่ามีฝูงเป็ดไล่ทุ่งจากต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก
จากการสอบถามชาวบ้านทราบว่าเห็นมากันหลายฝูง เฉลี่ยฝูงละประมาณ 1,500 – 2,000 ตัว กระจายหลายตำบล ในพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว และทำการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งฝูงเป็ดไล่ทุ่งดังกล่าว เดินทางมาจากหลายจังหวัดในแถบภาคกลาง เพื่อมาหากินเมล็ดข้าวเปลือกที่ตกหล่น และหอยเชอรี่ตามท้องนา
ทำให้ตนและชาวบ้านเกิดความสงสัย ในมาตรการควบคุมการขนย้ายสัตว์ปีก และเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก ที่อาจจะแฝงตัวมากับฝูงเป็ดไล่ทุ่ง เนื่องจากระยะหลังๆ ไม่เห็นมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์และแจ้งสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกให้ชาวบ้านได้ทราบเลย พอมีฝูงเป็ดไล่ทุ่งจากต่างจังหวัดเข้ามาในพื้นที่ จึงหวาดผวาว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย และหวาดกลัวว่าฝูงเป็ดไล่ทุ่งจะเป็นพาหะนำโรคติดต่อระบาด จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วย
ด้าน นายสุทิน กาญจนรัช ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีการลำเลียงฝูงเป็ดไล่ทุ่ง เข้ามาเลี้ยงในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์
เบื้องต้นได้จัดเจ้าหน้าที่ออกสำรวจ พบว่ามีฝูงเป็ดไล่ทุ่งเข้ามาในพื้นที่หลายฝูง กระจายอยู่ในพื้นที่หลายตำบล เช่น ต.บัวบาน ต.ดอนสมบูรณ์ ต.นาดี อ.ยางตลาด และ ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งจะได้ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งว่า ฝูงเป็ดไล่ทุ่งเหล่านี้ เข้ามาในพื้นที่ได้อย่างไร ได้รับอนุญาตหรือผ่านด่านกักกันสัตว์ปีกหรือไม่
ปศุสัตว์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ยืนยันว่า ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ยังคงมีมาตรการในการเฝ้าระวัง และตรวจสอบการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกอย่างเคร่งครัด หากตรวจสอบและพบว่ามีการละเมิด พ.ร.บ.การขนย้ายสัตว์ปีก ผู้เป็นเจ้าของเป็ดไล่ทุ่งดังกล่าว จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น
อย่างไรก็ตาม จากการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ พบว่าเจ้าของเป็ดไล่ทุ่ง ที่ขนย้ายมาปล่อยเลี้ยงในพื้นที่ ต.นาดี ถูกดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายกำหนด 1 ราย ข้อหาลักลอบขนย้ายสัตว์ปีกโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมกักบริเวณฝูงเป็ดเพื่อตรวจสอบโรคเป็นเวลา 1 เดือน
ขณะที่ นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะเขตใช้น้ำชลประทานลำปาว อ.ยางตลาด อ.เมือง อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย มีการปลูกข้าวนาปรังเป็นบริเวณกว้าง และมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ตามธรรมชาติ เมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง จึงพบว่ามีฝูงเป็ดไล่ทุ่งจากต่างถิ่น เข้ามาหากินเมล็ดข้าวที่ตกหล่น และอาหารตามธรรมชาติที่มีอยู่ตามท้องนาเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ จากที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านพบว่าเห็นฝูงเป็ดไล่ทุ่งเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก จึงอาจทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวล เกรงว่าจะมีโรคภัยไข้เจ็บแฝงตัวมากับฝูงเป็ดไล่ทุ่ง
นายผดุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขอฝากไปถึงประชาชน อย่าได้วิตกกังวล ทางอำเภอได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เข้าตรวจสอบทั้งเอกสาร ใบอนุญาต หากพบมีการลักลอบขนย้ายเข้ามา และไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การขนย้ายสัตว์ปีก ก็จะต้องถูกกักบริเวณและดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมเก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจหาเชื้อโรคต่อไป ทั้งนี้ ในพื้นที่ยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกแต่อย่างใด ในส่วนของประชาชน หากพบเห็นฝูงเป็ดไล่ทุ่งเข้ามาในพื้นที่ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือสำนักงานปศุสัตว์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้จัดเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ เป็นการเฝ้าระวังและป้องกันภัยจากโรคไข้หวัดนก.
---
ปรับ เจ้าของเป็ดไม่ขึ้นทะเบียนแล้ว 3 ฝูง เจอร์เก้น คล็อปป์ รอด
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2562 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกาฬสินธุ์ เผยแพร่เอกสารชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า ซึ่งดิ อิสานเด้อ สรุปได้ความว่าดังนี้
1. ฝูงเป็ดที่ลงทะเบียนแล้วในจังหวัดมีเพียง 23 ฝูง โดยเป็นเป็ดในพื้นที่ อำเภอเมือง กมลาไสย และฆ้องชัย ไม่มีเป็ดจากเมืองลิเวอร์พูล
2. ปกติ ช่วง เมษายน-มิถุนายน จะมีคนเอาเป็ดมาเลี้ยงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะ ลิเวอร์พูลจะเข้ารอบหรือไม่เข้ารอบ จะลุ้นแชมป์หรือไม่ลุ้นแชมป์ก็ตาม
3. สำนังกานปศุสัตว์ ได้แจ้งเตือนไปยัง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้เฝ้าระวังเรื่องนี้แล้ว ห้ามไม่ให้มีเป็ดที่ไม่ได้ตรวจสอบ และขึ้นทะเบียนเข้ามาในพื้นที่
4. ตั้งแต่ 24 เมษายน - 10 พฤษภาคม 2562 ได้ปรับเจ้าของฝูงไปแล้ว 3 ราย แบ่งเป็นพื้นที่อำเภอกมลาไสย 2 ฝูง และยางตลาด 1 ฝูง โดยปรับรายละ 5 พันบาทเนื่องจากไม่ทำตามเงื่อนไข
ทั้งนี้ ยังชี้แจงอีกว่า ได้มีการสุ่มเก็บตัวอย่างในพื้นที่ กมลาไสย และยางตลาดแล้ว 60 ตัวต่อฝูง เพื่อหาตรวจโรคแล้ว
Commentaires