top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

คุก 4 ปี นิตยา ม่วงกลาง นักสิทธิที่ดินชัยภูมิ ข้อหารุกป่า


15 พฤษภาคม 2562 ศาลจังหวัดชัยภูมิ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก นิตยา ม่วงกลาง นักสิทธิที่ดินเป็นเวลา 4 เดือน และสั่งให้ นิตยา จ่ายเงินชดเชยค่าเสียหาย 4 หมื่นบาท จากข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า


สมนึก ตุ้มสุภาพ ทนายความของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ให้สัมภาษณ์กับ ดิ อีสานเด้อว่า นิตยา ถูกตัดสินจำคุก 4 เดือน และสั่งให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 4 หมื่นบาท เนื่องจาก อุทยานแห่งชาติไทรทอง ฟ้องร้องว่า นิตยา บุกรุกเข้าไปในพื้นที่อุทยาน และสร้างความเสียหาย


“ถูกกล่าวหาบุกรุกที่ดินป่าไม้ โดยเป็นการดำเนินคดีตามนโยบาย ทวงคืนผืนป่า คำสั่ง คสช. ที่ 64/57 ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินว่า มีความผิดจริง ทนายได้อุทธรณ์ โดยใช้ คำสั่ง คสช. ที่ 66/57 ว่า การดําเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทํากิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคําสั่งนี้มีผลบังคับใช้” สมนึก เว้า


“ศาลท่านมองว่า คำสั่งต้องอิงกับการประกาศเขตป่าด้วย ซึ่งตัวจำเลยได้รับที่ดินมาจากพ่อ-แม่ ส่วนพ่อ-แม่ได้มาจากคนอื่นอีกทอดนึง ไม่ได้อยู่มาแต่เดิม ก็เลยไม่ได้รับประโยชน์จากคำสั่ง 66/57… เรายังไม่ยื่นประกันเพราะ โทษเพียง 4 เดือน ห้ามฎีกา แต่ถ้าหากฎีกาจำเป็นต้องมีเหตุผลที่เหมาะสมจริง ซึ่งต้องศึกษาข้อกฎหมายอย่างละเอียด ยื่นฎีกาและศาลรับฎีกา จึงจะยื่นประกันได้” สมนึก ระบุ


สมนึก กล่าวเพิ่มเติมว่า หากยื่นประกันโดยไม่มีเหตุผล และศาลไม่ให้ประกัน การยื่นขอประกันในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้น ทนายความมีเวลา 1 เดือน ในการยื่นฎีกา จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อกฎหมายให้ดี และใช้เหตุผลอย่างเหมาะสมที่สุดก่อนยื่นฎีกา โดยหลังฟังคำพิพากษา นิตยาถูกนำตัวไปควบคุมที่ เรือนจำจังหวัดชัยภูมิทันที


---



ด้าน อรนุช ผลภิญโญ นักสิทธิที่ดินเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ให้ข้อมูลแก่ดิ อีสานเด้อว่า การดำเนินคดีกับ นิตยา จะไม่สร้างความหวาดกลัวให้กับเครือข่ายฯ แต่จะทำให้การเคลื่อนไหวมีความรอบคอบมากขึ้น


“ตั้งแต่มีปัญหาปี 57 จากนโยบายทวงคืนผืนป่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน พี่น้องไทรทอง ไม่ใช่แค่นิตยา ได้รวมตัวต่อสู้ พอคุยกันแล้ว พอจะมีกลไกที่จะแก้ไขปัญหาได้ กลับถูกหัวหน้าอุทยาน(นายวรพล ดีปราสัย) มาฟ้อง 14 คนก็ต้องต่อสู้มากกว่าเดิม นอกจากจะสู้เรื่องนโยบายที่ดินทำกินแล้ว ก็ต้องสู้เรื่องคดีความด้วย เหมือนถูกกระทำสองเท่า ขณะที่นายทุนในบริเวณนั้นไม่ถูกดำเนินคดีอะไร” อรนุช เว้า


“สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านใช้หลักรัฐศาสตร์ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้นิติศาสตร์ เราไม่กลัวที่จะต่อสู้ต่อไป มันยิ่งจะทำให้เราต่อสู้เข้มข้นมากขึ้น และละเอียดรอบคอบมากขึ้นเพราะ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราไม่เป็นธรรม ต้องทำให้เห็นข้อเท็จจริงว่า สิ่งที่รัฐทำตอนนี้ไม่ถูก เรื่องนี้คือ ประเด็นเชิงสาธารณะ ชาวบ้านได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่ไทรทอง แต่ทั่วประเทศ” อรนุช เว้าเพิ่มเติม


---


ปี 2559 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.นิตยา และชาวบ้านเขต ต.ห้วยแย้ และ ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ รวม 14 ราย ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่า ฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ 2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นในปี 2560 และอ่านคำพิพากษาจำคุกชาวบ้าน รวมถึงนิตยาในปี 2561 โดย น.ส.นิตยา เป็นจำเลยคนแรกที่ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ และรายอื่นๆจะมีนัดฟังคำพิพากษาอีกในต้นเดือนมิถุนายน 2562


---


ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊คแฟนเพจ Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน รวบรวมข้อมูลพบว่า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. อนุมัติโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าทั้งหมด รวมทั้งสิ้น 6243 ไร่ 3 งาน 131 ตร.ว.


1. ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 17/2558 เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติแม่สะเมา อ. แม่สอด จ. ตาก และประกาศเพิกถอนป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. อ. แม่สอด จ. ตาก จำนวนรวม 2182 ไร่ เพื่อรองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก


ทั้ง 2 กรณีเป็นการกระทำให้โครงการเดียวกันนั่นคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก ปัจจุบัน ที่ดินส่วนใหญ่ถูกแปลงสถานเป็นที่ดินราชพัสดุเพื่อให้เอกชนมาเช่าใช้ประโยชน์แล้ว

.

2. เพิกถอนที่ดินสาธารณะ ซึ่งเป็นป่าชุมชนของชุมชนบ้านไชยา หมู่ที่ 4 ต.สระใคร อ.สระใคร จ.หนองคาย การออกคำสั่งที่รวดเร็วและฉับไวนั้นเองที่ละเลยคุณค่าของการถ่วงดุลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่จะต้องนำไปรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 716 ไร่ นั้น เป็นพื้นที่ที่กรมป่าไม้เคยอนุญาตให้ชุมชนจัดตั้งเป็นป่าชุมชนเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น เป็นแหล่งอาหารและรายได้ของคนในชุมชน มาตั้งแต่ 20 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นมา

.

จากการลงพื้นที่ของกลุ่มจับตาปัญหาที่ดินพบว่า ป่าชุมชนแห่งนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชนแล้ว ในฤดูที่เหมาะสม ชาวบ้านก็สามารถที่จะเข้าไปเก็บเห็ดนำไปขายสร้างรายได้ให้ชาวบ้านครั้งละเป็นพันบาท จึงเป็นเรื่องน่าสนใจมากว่าหากพื้นที่ดังกล่าวต้องเป็นพื้นที่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษชาวบ้านจะได้อะไร

.

3. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เซ็นอนุมัติให้บริษัทลูกของกระทิงแดงเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดินสาธารณะประโยชน์ห้วยเม็ก จำนวนกว่า 31 ไร่ โดยหลังจากถูกกระแสกดดันจากสังคมทำให้ บ.กระทิงแดง แสดงความไม่ประสงค์ที่จะใช้ที่ดินผืนนั้นแล้ว

.

4. กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี อนุมัติให้บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย ใช้พื้นที่ป่าสงวน ทับกวาง-ป่ามวกเหล็ก ทั้งหมด 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตร.ว. สิ่งที่น่าสนใจคือเป็นการอนุมัติให้เข้าไปทำกิจการเหมือง ซึ่งแน่นอนว่า จากพื้นที่ที่เคยเขียวขจีตรงนี้จะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้เหลืออีกต่อไป ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการออกมาให้ข้อมูลว่า เหมืองดังกล่าวมีการขออนุญาตประทานบัติไปจนถึงพ.ศ. 2579 แต่อายุในการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าหมดลงเมื่อปี 2554 ดังนั้นจึงเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่าช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินกิจการเหมืองหรือไม่ ?

.


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ชัยภูมิ #นิตยา #สิทธิที่ดิน #ปฏิรูปที่ดิน #จำคุก #นักสิทธิ #ศาล #ตัดสิน #พิพากษา #รุกป่า #คสช #ทวงคืนผืนป่า #ส่งให้ใครหว่า — at ศาลจังหวัดชัยภูมิ.

17 views0 comments

Comments


bottom of page