top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

พิธีพระบรมราชาภิเษก ในหลวง ร.10



พิธีพระบรมราชาภิเษกเริ่มแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงถวายราชสักการะสมเด็จพระบรมราชบุพการี ถวายราชสักการะ ปฐมบรมราชานุสรณ์ และบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 5 ณ พระลานพระราชวังดุสิต ในเวลาฤกษ์ 16.09 น. จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะ ปฐมบรมราชานุสรณ์ ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวังเพื่อทรงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเสร็จสิ้นพระราชพิธีในเวลา 20.30 น.


เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 ผ่านแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังว่า ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ทรงเป็นประธานงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการทำพิธีทำน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน 107 แห่ง และทำพิธีระหว่างวันที่ 6 - 19 เมษายน มีการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร วันที่ 22-23 เมษายน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


โดยพระราชพิธีขั้นต่อไปในวันที่ 3 พฤษภาคม คือ พิธีแห่เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร ประจำรัชกาลจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อทูลเกล้าฯถวายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงนมัสการพระรัตนตรัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายบังคมพระบรมอัฐิพระอัฐิ ณ หอพระธาตุมณเฑียร


วันที่ 4 พฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสรงพระมุรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนาน บริเวณชาลา พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ จากนั้นทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์และพระแสงราชศัสตราวุธ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ และจะเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล จากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่


ถัดมา ทรงเสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็น พุทธศาสนูปถัมภก เสด็จฯไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร และเสด็จฯไปถวายบังคมพระบรมอัฐิพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จเถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร และทรงพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค


วันที่ 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในการพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยพระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธาน และพระบรมราชสรีรางคาร


วันที่ 6 พฤษภาคม เวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้นำศาสนาและผู้แทนคณะพาณิชย์เฝ้าฯถวาย พระพรชัยมงคล แล้วเสด็จออก ณ สีหบัญชร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้นเสด็จออกให้คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท


และจะทรงเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ในปลายเดือนตุลาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวราราม เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน


พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 เวลา 17.45 น.


มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี


เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงถวายพระนามตามดวงพระชะตาว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร


ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา ณ โรงเรียนจิตรลดาชั้นอนุบาล และทรงศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซัมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2513 และเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม 2514


ปี 2515 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี


ในปีเดียวกันทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา โดยสำเร็จภาควิชาการทหารในยศร้อยโท และภาคการศึกษาวิชาสามัญระดับปริญญาตรี สาขาวิชาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ โดยทรงสำเร็จการศึกษาในปี 2519


และทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย


ปี 2520-2521 ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ปี 2527-2530 ทรงศึกษาด้านกฎหมาย ทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งราชอาณาจักร


นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหารและการบินต่างๆ อาทิ หลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษการทำลายและยุทธวิธีการรบนอกแบบ


ขณะเดียวกัน พระองค์ยังทรงผ่านการฝึกอบรมเครื่องบินรบ จนมีพระปรีชาสามารถ และมีจำนวนชั่วโมงบินสูงมาก รวมทั้งทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี


วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงตอบรับการอัญเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10


อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม 2493 โดยในวันที่ 4 พฤษภาคม 2493 มีพิธีประกาศการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเจริญพระพุทธมนต์ 5 พฤษภาคม 2493 การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 6 พฤษภาคม 2493 พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร 7 พฤษภาคม 2493 เสด็จออกสีหบัญชร และ 8 พฤษภาคม 2493 พิธีสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์ ซึ่งในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ประกาศให้วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล และหยุดราชการ


28 views0 comments
bottom of page