ไทยร่วม จีน-ลาว ทำรถไฟเชื่อมกรุงเทพ-หนองคาย
กระทรวงคมนาคม รายงานข่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างไทย - ลาว - จีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ นับเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จภายใต้กรอบความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BELT AND ROAD Cooperation)
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายหู จู่ฉาย รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน และนายบุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ ในระหว่างการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ครั้งที่ 2 ในวันที่ 25 เมษายน 2562 โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมพิธี ณ China National Convention Center กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
บันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการเชื่อมต่อโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย - จีน และโครงการรถไฟระหว่างจีน - ลาว ทั้งนี้ ทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน (standard gauge) ของโครงการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ จะใช้มาตรฐานทางเทคนิครถไฟของจีน โดยจะดำเนินการสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ ซึ่งจะตั้งอยู่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย - เวียงจันทน์) และจะมีทางรถไฟทั้งขนาดทางมาตรฐานและขนาดทาง 1 เมตร นอกจากนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายลาวจะดำเนินการตามกระบวนการภายในของแต่ละประเทศ เพื่อขอความเห็นชอบการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหนองคาย - เวียงจันทน์ โดยฝ่ายจีนจะเข้ามามีส่วนร่วมการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นโครงข่ายเขื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียน และจีนที่สำคัญในอนาคตต่อไป
---
โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และ ส่วนที่สอง นครราชสีมา-หนองคาย ปัจจุบัน โครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. เตรียมเริ่มโครงการ 30 เมษายน 2562 นี้
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง บริษัทแรกที่ประมูลเป็นผู้รับเหมาในสัญญาการก่อสร้างงานโยธาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มูลค่า 3,114.98 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา(เฟสแรก) ระยะทาง 253 กม. มูลค่ารวม 179,412 ล้านบาท เปิดเผยแก่อีสานเด้อว่า โครงการจะเริ่มดำเนินการได้จริงในวันที่ 30 เมษายน 2562 นี้หลังจาก การรถไฟแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เข้าพื้นที่
“ตอนนี้เตรียมพร้อมที่จะเข้าพื้นที่ งาน 11 กิโลเมตรหลักๆ คือส่วนทางราบที่อยู่กับพื้นดิน 7 กิโลเมตร และยกระดับประมาณ 4 กิโลเมตร เราเซ็นสัญญาไปเมื่อปีที่แล้ว สัญญา 18 เดือน และรถไฟจะมอบให้เราเข้าพื้นที่ทำงานได้ 30 เมษายน แต่ก่อนหน้านี้เราได้มีการประสาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบบแล้วก็บริษัทที่ปรึกษาที่เป็นคนจีน รวมทั้งการรถไฟ ตรวจเข้าพื้นที่ ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว
นายปิยะดิษฐ์ ชี้แจงว่า เฟส 1 ของโครงการ คือ เส้น กรุงเทพ-นครราชสีมา ขณะที่ เฟส 2 คือ นครราชสีมา-หนองคาย งบประมาณในส่วนแรกทอนุมัติไปแล้ว จีนออกแบบและคุมงาน แต่ผู้รับเหมาคือบริษัทไทย หรือบริษัทร่วมทุนไทย เฟสต่อมาบริษัทไทยจะคุมงานและออกแบบเอง
“เท่าที่รู้ตอนนี้ มี 12 สัญญา จริงๆมี 14 แต่ 2 ออกไปแล้ว ตอนแรกเป็น กรมทางหลวง ทำเอง 2 กิโลเมตร ผมเป็นตอนที่สอง 11 กิโลเมตร ที่เหลืออีก 12 ตอน ไล่ประมูลอยู่ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เคาะไปแล้ว 2 ตัว อีก 10 ตัวผมก็เชื่อว่า คงมีผู้รับเหมา ก็คงค่อยๆเข้ามาประมูล… แหล่งทุน ณ ตอนนี้ แบงค์ไทยสนับสนุนดี เอาว่าหลักๆเราคือกรุงไทย” นายปิยะดิษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม
Kommentare