top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ในดินแดนวิปลาส: บันทึกบาดแผลของสามัญชนบนโลกคู่ขนาน




คงจะมีเรื่องราวบาดแผลทางทรงจำอยู่ ที่ดินแดนในดินแดนหนึ่ง ?

เมื่อเรื่องราวได้รับรู้จากสายอาชีพที่ต้องสอดรู้สอดเห็นเป็นปกติ ในโลกคู่ขนานนั้น ผู้อยู่ระหว่างโลกสองใบ การรักษาสภาพจิตใจให้ปกติจึงยากยิ่ง เหตุจากเรื่องราวที่ผุดขึ้นเเละสะสมเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเรี่ยวเเรงในการสร้างผลงานของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อระบายน้ำหนักของกระเป๋าให้ทุเลาลงหากเเต่ไม่ล้าสมัย . คล้ายส่งสาร ชวนผู้คนนึกหวนและเล่าใหม่จากปลายปี 2563 น้ำคิดสู่น้ำหมึกเป็น ”ในเเดนวิปลาส” ที่ตีพิมพ์ขึ้นหลังเกิดการผกผันสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น . ด้วยวิธีการเขียนเป็นความเรียงฉบับนักข่าวเฉพาะตัวที่เขียนเล่าเรื่องราวชะตาชีวิตของผู้คนที่พบพานดังสามัญชนถึงคนธรรมดา . หากยังไม่เปิดอ่าน เพียงปกหนังสือก็ชวนสะดุ้งเเล้ว ซึ่งชัดเจน ซัดลงเเบบตรงตัวตามภาพเป็นที่สุด ข้อมูลทางความคิดออกดอกผลเเปรเปลี่ยนเป็นเนื้อดินที่เพาะปลูกเป็นสวนอักษรภายในเล่ม เผยเรื่องราวชีวิตของคนเป็นเเละคนตายเพียงบางส่วน ด้วยเนื้อหาที่รักษาข้อมูลของเเหล่งข่าวอย่างระเเวดระวัง เสมือนทิ้งร่องรอยไว้ให้ผู้อ่านเเกะรอยตามความสามารถในความสงสัย . ผู้เขียนเก่งกาจด้วยกลยุทธ์การเขียนที่ดึงกระชากจิตวิญญาณของนักสืบในตัวผู้อ่านให้กระหายใคร่รู้ ยอมสละละทิ้งซึ่งการงานทุกอย่างเพื่อเปิดอ่าน . เรื่องราวที่บรรจงถ่ายทอดนั้นจริงเสียจนอยากให้เป็นเรื่องโกหก ตัวอักษรฟาดฟันกันอย่างคมคาย เตะตา สะกิดใจอย่างเชี่ยวชาญ เเละเชื้อเชิญให้ชวนเสพ เพื่อตั้งคำถามเเละขบคิดจากข้อความที่เรียบเรียงเป็นสัดส่วนของเนื้อหามาเป็นอย่างดีเพื่อบอกเล่า สรรเสริญ เเละเย้ยหยั่นต่อความบิดเบี้ยวในดินเเดนเเห่งนี้ จากมุมหนึ่งของโลก . หากโลกเป็นเส้นขนาน เส้นทางความเชื่อ ความรัก ชีวิต เเละความศรัทธา สวนทางกัน ผู้คนจะคงไว้ซึ่งสภาพจิตใจที่คง ‘คน’ ได้หรือ . ”ในเเดนวิปลาส” ที่นำเหตุการณ์หลัง 2563 กลับมาสื่อสารกับผู้อ่านอีกครั้งผ่านชีวิตของคนธรรมดาที่ต่างเป็นเครื่องมือเเละลูกมือของเงามืดในเงาเมฆ ที่ตามขับไล่เเสงเเห่งความเจริญทางความคิดด้วยชีวิตของพ่อ ไพล่ พายุ เพื่อเปิดม่านของความอยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานของสังคมที่กดขี่ คุมขัง เเละคุกคามผู้คนอีกฝั่งของโลกคู่ขนานอยู่เสมอ . จากปลายปากกานักเขียนนิรนาม โดย รัช นักข่าว ณ สำนักงานเล็กเเต่ใจใหญ่ (ตามคำนำผู้เขียนในเล่ม)

_________________________________

จากความน่าจะอ่าน : รัช เป็นนามปากกาที่เท่าไหร่จำไม่ได้ คนรู้จักแทบทุกคนเห็นแล้วล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “อะไรของมึงเนี่ย” มันเป็นคำพยางค์เดียวที่มี 2 ความหมาย ความหมายหนึ่งคือ ความเป็นพระราชา, ราชสมบัติ อีกความหมายหนึ่งคือ ฝุ่น, ผง, ละออง, ธุลี มิตรสหายคนหนึ่งเปิดพจนานุกรมแล้วพูดถึงคำนี้ คนเขียนเลือกได้ในทันที โดยไม่ฟังคำอื่นๆ ที่เขานำเสนออีก . การใช้นามปากกา คือการซ่อนตัวตน เช่นกันกับการไม่ได้มาร่วมงานเพื่อกล่าวขอบคุณด้วยตนเองสำหรับการมอบตำแหน่งแห่งที่ในจิตใจผู้อ่าน ตำแหน่งแห่งที่นี้เป็นเรื่องเซอร์ไพร์สและน่ายินดีมาก สำหรับ ‘ลูกครึ่ง’ นักข่าวก็ไม่เชิง นักเขียนก็ไม่ใช่ . มันอาจดูยโสโอหังหรือพิลึกคน แต่การหลบๆ ซ่อนๆ คืออัตลักษณ์หนึ่งในแดนวิปลาส ตลอดการทำงานเป็นสิบปีก็อยู่ในสภาพเช่นนี้ จะเยี่ยมนักโทษทีก็เดี๋ยวเป็นน้อง เป็นเพื่อน กระทั่งเป็นเมีย จะคุยกับผู้ต้องหาก็ต้องบอกเจ้าหน้าที่ว่าเป็นหลาน เป็นญาติ เป็นผู้ช่วยทนาย ฯลฯ จะเขียนอะไรตรงๆ ไต่เส้น ทดลองขยับเพดานนิดๆ แต่ละที ทั้งตนเองและคณะก็ต้องทำตัวเป็นคนซื่อบื้อ หน้ามึน “มันผิดตรงไหนล่ะ” และที่สำคัญคือ ไร้ชื่อ สำหรับฝ่ายความมั่นคง จะฟ้องก็ฟ้ององค์กรนู่น แม้ปัจจุบันกระแสสำนึกของสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ผู้คนล้วนกล้าหาญจับมือกันฝ่าการกดขี่ ยิ่งกดก็ยิ่งต้าน ยิ่งฟ้องก็ยิ่งทำ อีกทั้งงานเขียนชิ้นนี้ก็ไม่ได้มีอะไรล่อแหลม แต่มันติดนิสัยไปแล้ว แก้ไม่หาย . อีกเหตุผลหนึ่งที่จำคำของคนในแวดวงวรรณกรรมมา ก็คือ ตัวบทมีชีวิตของมันเอง และแยกขาดจากคนเขียน คนเขียนไม่ต้องไปยุ่มย่ามมีอิทธิพลใดๆ ต่อการตีความน่าจะดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตั้งใจแต่แรกว่าเขียนเสร็จแล้วจะหายตัวไปเลย (หลังรับเงินจากสำนักพิมพ์) ไม่ต้องแปะป้ายว่าใครเขียน มาจากองค์กรไหน กระทั่งเขียนถึงใคร แค่เล่าชะตากรรมของบางชีวิตที่ตัวเองพบเจออย่างจริงใจ เปลือยเปล่า เพราะในเบื้องลึก ผู้อ่านที่อยากให้อ่านมากที่สุด คือ ผู้จงรักที่เปี่ยมความเกลียดชัง แต่ว่าก็ว่า จนถึงวันนี้ก็ยังเป็นปริศนาว่าภารกิจในการเชื่อมสายใยความเป็นมนุษย์นี้สำเร็จกี่มากน้อย หรือล้มเหลวโดยสิ้นเชิง . สไตล์ ‘เปลือยเปล่า’ นี้ก็มีเรื่องน่าขำที่อยากบอกเล่า หลังออกจากงานประจำก็ตั้งใจจะเอาประสบการณ์บัดซบที่พบเจอมารังสรรค์นิยายสักเล่ม ตั้งความหวังไว้สูง อยากสร้างโลกทั้งใบขึ้นมาใหม่อย่างวิจิตรซับซ้อน แล้วให้ผู้อ่านรู้สึกด้วยตัวเอง ไม่ต้องชี้นำแม้ซักประโยค 2 ปีผ่านไป คิดไม่ตก ไม่ได้ซักบรรทัด เพิ่งตระหนักว่าวรรณกรรมเป็นงานที่หนักหน่วงและปราณีตขนาดไหน ต้องหมกมุ่นขั้นสุด ทุ่มเทพลังกาย สติปัญญา และความอุตสาหะอันยาวนาน ซึ่งล้วนไม่ใช่คุณสมบัติของผู้เขียน สุดท้ายงานที่ออกมาได้กลับตาลปัตร (ต้องขอบคุณมิตรสหายหลายคนที่ทั้งผลักทั้งดัน) เขียนแบบไม่ต้องกะเกณฑ์วางแผนอะไรนัก ไม่ต้องพยายาม สิ่งที่ภูมิใจมากคือ ‘ความสั้น’ แต่ละเรื่องมันสั้นจนคนเขียนเองยังตกใจ . เรื่องราวที่คัดสรรมาเป็นเพียงกระผีกเดียวในมหาสมุทรชีวิตผู้ประสบภัยทางการเมือง ผู้บุกเบิกถางเส้นทาง ‘เสรีภาพ’ อันเป็นแก่นสารสำคัญของมนุษย์และอารยธรรม ยังไม่ต้องพูดถึงเส้นทางประชาธิปไตยที่ซับซ้อนและวกวนเป็นเขาวงกต พวกเขาคือคนที่อยู่รายล้อมตัวเรา อยู่ร่วมสังคมกับเรา ยิ่งในยุคนี้ หยิบจับไปตรงไหนก็เจอ เพียงใช้เวลาเพ่งมองยาวนานพอก็จะเห็นรายละเอียด ที่มาที่ไปที่ล้วนน่าสนใจ เป็นวัตถุดิบอันไพศาลสำหรับ ‘หัวขโมย’ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้สร้างสรรค์งานศิลปะทุกแขนง ส่วนที่จะยากหน่อยคือ หลายเรื่องราวมันก็แอบเสิร์ดเสียจนไม่รู้จะปั้นแต่งยังไงให้มากไปกว่านั้น . เมื่อหนังสือจัดพิมพ์ออกมาโดยทีมงานเพี้ยนๆ 5 ชีวิตที่ล้วนตั้งชื่อที่มีความหมายว่า ‘ฝุ่น’ ยกเว้น บก.สำนักพิมพ์ที่จำเป็นต้องใส่ชื่อจริง สถานการณ์ทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงอีก กราฟขาขึ้นสั้นๆ ก็ดูรีบร้อนเป็นขาลง ลง ลงและลง จึงชักไม่แน่ใจว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้คนอ่านมีพลัง หนักแน่นในเส้นทางวิบากตามที่แอบหวัง หรือหมดพลังเพราะความหดหู่นานารูปแบบจากทั้งในและนอกหนังสือ แต่นั่นมันก็เหนือการควบคุมและเกินสติปัญญาของผู้เขียนไปแล้ว . ไม่ว่าจะอย่างไร ลึกๆ ก็ยังเชื่อมั่นว่า ‘ความเจ็บปวดคือพลัง’ เมื่อเราเชื่อมโยงชีวิตของตนเองเข้ากับชีวิตของผู้อื่นเสียแล้ว ไม่ว่ามากหรือน้อย มันไม่มีทางเลยที่เราจะหยุดพยายามต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าความเหนื่อยล้า โศกเศร้า อึดอัด โกรธแค้น หวาดกลัว จะถมทับเราหนักหน่วงแค่ไหน ไม่ว่าเราจะมีหวังหรือสิ้นหวังระหว่างทาง ไม่ว่าจะเราจะมองเห็นเส้นทางแจ่มชัดหรือคลำอยู่ในความขมุกขมัว

... มันไม่มีทางเลือกอื่น เป็นชะตากรรมของ ‘ประชาชน’ ในแดนวิปลาส

___________________________________________

อ่านอะไรต่อดี: มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ (พรทิพย์ มั่นคง)

80 views0 comments
bottom of page