top of page
Writer's pictureThe Isaander

'อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย' หลักฐานการตื่นรู้ร่วมสมัยของคน'ภูเขียว'


อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ / The Isaander


ภูเขียว เป็นอำเภอหนึ่งตั้งทางทิศเหนือของจังหวัดชัยภูมิ ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่มีประชากรมากและอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง จึงมีความเจริญเป็นศูนย์กลางกลายๆของพื้นที่ตอนบนจังหวัด หากพูดถึงของขึ้นชื่อในภูเขียวนอกจาก "หม่ำภูเขียว" วัฒนธรรมการถนอมอาหารอันเลิศรสของคนที่นี่แล้ว ทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะพืชอย่าง อ้อยหวานที่นี่ปลูกเป็นจำนวนมากและมีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนการเมืองการปกครองนั้น อำเภอภูเขียวมีส่วนราชการสำคัญ เป็นพิเศษมากกว่าอำเภออื่นๆ ทั้งศาลจังหวัดภูเขียว สถานีขนส่งจังหวัดชัยภูมิ สาขาภูเขียว สำนักงานที่ดินจังหวัดชัยภูมิ สาขาภูเขียว เรือนจำภูเขียว ฯลฯ


กว่า 200 ปีเท่าที่เมืองภูเขียวปรากฎในหน้าประวัติศาสตร์ ทั้งในชื่อผักปังและภูเขียวสลับไปมา ปี 2481 ทางราชการเห็นว่าอำเภอภูเขียวมีภูมิประเทศกว้างขวาง มีประชาชนจำนวนมาก และมีระยะทางห่างไกลจากตัวจังหวัดอยู่พอสมควร การคมนาคมไม่สะดวก ต้องเดินทางด้วยเท้าหรือใช้ช้างม้าเป็นพาหนะ จึงให้ก่อตั้งศาลจังหวัด ที่ทำการอัยการจังหวัด และเรือนจำประจำอำเภอโดยใช้เวลาก่อสร้างอยู่ประมาณ 5 ปี กระทั่งประกาศเปิดทำการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 ซึ่งเป็นวันครบรอบสิบปี อภิวัฒน์สยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475


ทั้งนี้ย้อนไปก่อนหน้า ในยุคฉลองวันชาติที่มักใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองเป็นฉากสำคัญ ส่วนราชการอำเภอภูเขียวเป็นหนึ่งในพื้นที่นั้นที่จัดงาน ต่อมาคณะกรรมการจังหวัดชัยภูมิมีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยว่า คณะกรมการอำเภอภูเขียวประสงค์จะก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแบบถาวร โดยแนวคิดนี้เริ่มเมื่อปี 2484 จากขุนประเสริฐสรรพกิจ นายอำเภอภูเขียว โดยจะก่อสร้างบริเวณสี่แยกถนนราษฎร์บำรุงกับตรอกสะดวกราษฎร์ โดยใช้มาตราส่วน 1 ใน 10 และทางอำเภอมีเงินก่อสร้างแล้ว 355 บาท 27 สตางค์


จากนั้นกระทรวงมหาดไทยนำเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพิจารณา การพิจารณาของคณะกรรมการแจ้งว่า การสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลอง ไม่ใช่นโยบายของคณะกรรมการจัดสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามที่กระทรวงมหาดไทยเข้าใจ แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลโดยตรง จึงนำเรื่องเข้าปรึกษากับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก่อน จอมพล ป. พิบูลสงครามสั่งว่าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยควรมีแห่งเดียว เงินที่จะสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตามจังหวัดควรเอาไปทำถนน บ่อน้ำ สุขศาลาจะดีกว่า หรือหากจะสร้างอนุสาวรีย์ก็น่าจะทำอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อบรรจุกระดูกทหารในจังหวัดนั้นๆที่เสียชีวิต


แม้ว่าทางรัฐบาลไม่เห็นด้วยแต่สุดท้ายแล้ว ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ที่เล็งเห็นความสำคัญของของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้ร่วมระดมเงินและเริ่มก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจำลองแบบมาจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพมหานคร แต่มีขนาดย่อมกว่ามาก ต่อมาอนุสาวรีย์นี้เป็นที่รวมจิตใจของประชาชนชาวภูเขียวในสมัยสงครามอินโดจีน รวมทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 และการปราบปรามผู้ก่อการร้าย


อนุสาวรีย์ถูกปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ครั้งล่าสุดโดยเทศบาลตำบลผักปัง เมื่อปี 2545 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานคู่เมืองภูเขียวและรำลึกถึงความทรงจำของผู้คนบ้านนี้เมืองนี้ที่ศรัทธาต่อระบบการปกครองประชาธิปไตยตลอดไป ปัจจุบันอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขียว มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์การเดินทางมานั้นหากเข้ามาในอำเภอภูเขียว ให้ใช้ถนนเส้นหลัก ตรงเข้ามาตลาดสดอำเภอภูเขียว และพยายามสังเกตวัดนครบาล อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภูเขียวอยู่บริเวณด้านหน้าวัด

นอกจากอดีตที่ทิ้งเรื่องราวเบื้องหลังเอาไว้ ปัจจุบันอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขียวก็ยังคงทำหน้าที่สัญลักษณ์ให้ประชาชนบางส่วนมาแสดงออกทางการเมือง



กลุ่มคนเสื้อหลากสี ออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในเดือนเมษายน 2553 / Nuphong26


- เมษายน 2553 กลุ่มคนเสื้อหลากสี ได้ออกมาแสดงพลังเพื่อปกป้องสถาบัน คัดค้านการชุมชนที่ผิดกฏหมายและใช้ความรุนแรง


- เมษายน 2553 ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่กรุงเทพมหานคร กลุ่มคนเสื้อหลากสี ที่อำเภอภูเขียว ออกมาแสดงพลังเพื่อปกป้องสถาบัน คัดค้านการชุมชนที่ผิดกฏหมายและใช้ความรุนแรงที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะเดียวกันกลุ่ม นปช. ทั้งจากอำเภอบ้านแท่น และอำเภอภูเขียว ก็ได้ใช้พื้นที่บริเวณรอบๆอนุสาวรีย์ออกมาแสดงพลังให้รัฐบาลขณะนั้นยุบสภา


- สิงหาคม 2559 ก่อนการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เพียงหนึ่งวัน จตุภัทร์ และ วศิน สองนักกิจกรรมและนักศึกษา เดินแจกใบปลิวที่ตลาดสด อำเภอภูเขียว โดยเริ่มเดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะถูกจับกุมด้วยข้อหา พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ทั้งสองต่อสู้คดีจนศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาให้ยกฟ้อง


- กุมภาพันธ์ 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พร้อมทีมงาม เดินทางไปเปิดเวทีปราศรัย ที่บริเวณลานด้านหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ร่วมกับ ส.ส.ทั้ง 6 เขต ท่ามกลางกระแสต้อนรับอย่างดี บรรยากาศคึกคักเป็นอย่างมาก ประชาชนให้ความสนใจฟังปราศรัย


ภาพกิจกรรมแจกเอกสารรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญของนายจตุภัทร์(ไผ่ดาวดิน)และนายวศิน ส.ค.59 /ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


นอกจากที่อำเภอภูเขียวแล้ว ในภาคอีสานยังมีการสร้างวัตถุทรงจำต่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกหลายที่ เช่น ที่จังหวัดมหาสารคาม,สุรินทร์,บุรีรัมย์,ขอนแก่น,ร้อยเอ็ด อันสะท้อนถึงการตื่นตัวและอยากมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะบางแห่งนั้นสร้างก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในกรุงเทพมหานครเสียอีก ทั้งนี้ The Isaander จะนำมาบอกเล่าในโอกาสต่อไป ในสัปดาห์รำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475


ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก: มองสำนึกพลเมืองยุคคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน(ศรัญญู เทพสงเคราะห์)


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ภูเขียว #หม่ำภูเขียว #ศาลจังหวัดภูเขียว #อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย #อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยภูเขียว #วัดนครบาล #ไผ่ดาวดิน #จอมพลป #ชัยภูมิ #อนาคตใหม#ไทภูเขียว #หนองปัง #ต้มเก้า #แห่นาคโหด

1,473 views2 comments

Comments


bottom of page