“ตามประวัติศาสตร์ของลาวนั้น ลาวเข้าสู่ดินแดนล้านช้างในฐานะผู้พิชิต คือ พิชิตพวกข้า(ข่า-ชนชาติดั้งเดิมของลุ่มแม่น้ำโขง : ผู้เขียน) ฐานะทางสังคมของลาวมีสภาพเป็นนาย นี่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งปรัชญาของชนชาติลาวในยุคแรกของอาณาจักรล้านช้าง ลาวก็ยังเรียกตัวเองว่า ไท”
จิตร ภูมิศักดิ์ อธิบายไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือ “ความเป็นมาขอคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” งานที่เขาใช้เวลาช่วงที่ติดคุกลาดยาว ปี 2501-2507 เขียน
จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่ชายฮิปสเตอร์ใส่แว่น
เชื่อว่า หลายคนในยุคนี้ คงคุ้นชื่อและหน้าตาของ จิตร ภูมิศักดิ์ ดี แต่ก็เชื่อว่า หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าจิตรทำอะไร นอกจากใส่แว่น และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร บางคนอาจจะรู้จักเขามากขึ้นมาหน่อยในฐานะคนที่ถูกโยนบก เมื่อครั้งเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มากกว่านั้นหน่อยก็คงได้ยินว่า เขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการต่อต้านรัฐบาล หรือเข้ากับคอมมิวนิสต์อะไรเช่นนั้น
ในอีกด้านหนึ่ง จิตร คือ นักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการชื่นชมในวงวิชาการ
สำหรับ “โฉมหน้าศักดินาไทย” หลายคนที่กำลังอ่านข้อเขียนนี้อยู่อาจจะเคยได้ยินชื่อ หรือเคยอ่านมาแล้ว แต่ครั้นจะให้พูดถึงหนังสือเล่มนั้นอีก หรือเล่าแนวคิดของหนังสือเล่มนั้นซ้ำ ก็คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะ ในยุคปัจจุบัน เชื่อว่า คุณ คุณ คุณ และคุณ คงได้เห็นโฉมหน้าของศักดินาไทย ไปแล้วอย่างแจ่มแจ้ง ไม่จำเป็นต้องให้จิตร มาชี้
ในวาระครบรอบ 54 ปี การเสียชีวิตของจิตร The Isaander จึงอยากจะกล่าวถึงเขาในแบบที่พาดป่าย กับลาว-อีสาน มากกว่าแค่การตายที่สกลนคร
ไม่น่าเชื่อว่า ในยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต แถมตัวจิตรยังติดคุก จิตรจะสามารถค้นคว้า และเขียนงานความยาวเกือบ 700 หน้าได้ ข้อความที่ท่านกำลังจะได้อ่านนี้ เป็นการสรุปความจากบางส่วนของ บทที่ 9 : วิวัฒนาการของคำว่าไทและลาว ในหนังสือ “ความเป็นมาขอคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” หนึ่งในงานประวัติศาสตร์ชิ้นใหญ่ที่จิตรได้สร้างเอาไว้
ในการเขียนงานชิ้นนี้ จิตร ใช้การอ้างอิง “งานค้นคว้าว่าด้วยชนชาติไท จ้วง และกวางตุ้ง” ของ ฉวี สงซือ(นักประวัติศาสตร์จีน) พงศาวดารจีน พงศาวดารไทย และพงศาวดารลาว เป็นหลัก
เริ่มกันเลย
จิตร ระบุว่า ตามข้อมูลจากจีน คำว่า “ไท” หรือ “ไต” หรือ “ไต่” แปลว่า “ดิน” ถ้าใช้เรียกคนจะแปลว่า “คนพื้นเมือง” หรือ “คนท้องถิ่น” มีรากศัพท์มาจากภาษาพื้นเมืองในจีน ต่อมา “คนไท” อพยพจากจีนลงมายัง พม่าตอนเหนือ ยูนนานตอนใต้ และล้านช้าง (ทั้งหมดคือ ตอนเหนือของประเทศไทย-ลาวในปัจจุบัน) เข้ายึดครองที่ดิน ตั้งรกราก ขับไล่ชนพื้นเมืองเข้าป่า ในยุคนั้นเอง ความหมายของคำว่า “คนไท” จึงหมายถึง “ชนชาติที่มีอารยะ” เพราะเรียนรู้ที่จะอยู่เป็นหลักแหล่ง และหัดทำการเกษตร ซึ่งถือว่า มีอารยธรรมมากกว่า คนพื้นเมืองเดิมที่เป็นพวกเร่ร่อนล่าสัตว์
จิตร อธิบายว่า “คนไท” จากจีน สามารถแบ่งได้เป็น 3 สายหลักๆ คือ ไทโหลง(ไทหลวงหรือไทใหญ่) ไทลุ่มน้ำยมและเจ้าพระยา(ไทยสยาม) และลาว (ซึ่งอาศัยในดินแดนล้านช้าง หรือลาวปัจจุบัน)
เมื่อคราวอพยพมา “ไทโหลง” เข้ายึดครองดินแดนตอนเหนือของไทยและพม่า ขับไล่ “ละว้า”(ว้า) ออกจากพื้นที่ บ้างก็เอาว้ามาเป็นทาสเพื่อช่วยงานเกษตรกรรม ขณะที่ “ลาว” เข้ายึดครองดินแดนล้านช้าง(ประเทศลาวในปัจจุบัน) ขับไล่ “ข่า” ออกจากพื้นที่ และเอามาเป็นทาสเช่นกัน ส่วน “ไทยสยาม” เข้ามายังลุ่มน้ำยม และแม่น้ำเจ้าพระยา(ภาคกลางของไทยในปัจจุบัน) มีฐานะเป็นผู้อาศัย บ้างก็เป็นทาสของชนชาติเขมร (อ้าว อยู่ดีไม่ว่าดี) ซึ่งปกครองดินแดนแถบนี้อยู่ก่อนแล้ว
การจับ “ว้า” หรือ “ข่า” มาเป็นทาส ทำให้สถานะของ “ไท” สูงกว่าชนพื้นเมืองเดิมเหล่านั้น ตอนนั้นเอง ความหมายของคำว่า “ไท” จึงใช้เรียก “เสรีชน” ขณะที่ “ว้า” หรือ “ข่า” ถูกเรียกว่า “ข้า” ซึ่งมีนัยของการเหยียด และแบ่งแยกชนชั้นอยู่
และในยุคนั้น “คนไท” ที่อพยพจากจีนลงมายังดินแดนล้านช้าง ยังเรียกตัวเองว่า “ไท” ไม่ใช่ “ลาว” เช่นทุกวันนี้
“ตามประวัติศาสตร์ของลาวนั้น ลาวเข้าสู่ดินแดนล้านช้างในฐานะผู้พิชิต คือ พิชิตพวกข้า ฐานะทางสังคมของลาวมีสภาพเป็นนาย นี่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งปรัชญาของชนชาติลาวในยุคแรกของอาณาจักรล้านช้าง ลาวก็ยังเรียกตัวเองว่า ไท จะเห็นได้จากนามของกษัตริย์ลาวที่ใช้ว่า พระเจ้าสามแสนไทไตรภูวนาถ” จิตร ระบุ
จิตร ได้ยกบางตอนของวรรณคดีล้านช้างโบราณเรื่อง “ท้าวฮุ่งหรือเจือง” เพื่ออธิบายว่า “ลาว” เองก็ใช้คำว่า “ไท” ในความหมายของ “เสรีชน” ด้วย โดยตอนหนึ่งของวรรณคดีเรื่องดังกล่าวบอกว่า “เจืองก็ พายเบ็งชรผ่อไท ทังข้า” ซึ่งแปลว่า “เจืองก็เปิดบัญชร มองเห็นทั้ง ไท(เสรีชน) และข้า(ทาส)” เป็นต้น
โดย จิตร อธิบายว่า ในภาษาลาวล้านช้างโบราณ ใช้คำว่า “ไท” เป็นฐานันดรของประชาชนในสังคม ใช้เรียกคนที่ไม่ได้เป็น “ทาส” และ “ไพร่” โดยจะเรียกเฉพาะคนที่เป็น “ลูกผู้มีศักดินา 400 ขึ้นไป และมีสิทธิที่ไม่ต้องถูกสักข้อมือขึ้นทะเบียนเป็นแรงงาน”
ชื่อของกษัตริย์ลาวในอดีต เช่น “พระเจ้าสามแสนไทไตรภูวนาถ” ก็เป็นเครื่องยืนยันว่า ลาวใช้คำว่า “ไท” แทนคำว่า “คนลาว” โดยชื่อ “สามแสนไท” บ่งบอกว่า ในยุคนั้นลาวมีชายฉกรรจ์ขึ้นทะเบียนสำมะโนครัวอยู่ 3 แสนคน
นอกจากคนลาวจะเรียกตัวเองว่า “ไท” แล้ว “ภาษาลาว” ในสมัยนั้น ยังถูกเรียกว่า “ภาษาไท” อีกด้วย โดยจิตรยก วรรณคดีลาวเรื่อง สินไซ(สังข์ศิลปชัย) ของ “เจ้าปางคำ” ซึ่งแปลจากชาดกในคัมภีร์บาลี เมื่อปี 2184 มาอธิบายเรื่องนี้
“เมื่อนั้น ปางคำคลุ้มคนึงธรรม ทรงมาก
เห็นฮุ่ง ญาณยอดแก้วเทียวใช้ ชาติพระองค์
จักใคร่ ตกแต่งตั้งแปลปล่าน เป็นไท
ชลีเชิญช่อยญาณ ยามแค้น
จตุโลกถ้ำไอศวร แสนทวีป ก็ดี
กราบทั้ง ครุฑนาคเหน้านางท้าว เทพคุณ”
ซึ่งแปลว่า “เจ้าปางคำครุ่นคิดคำนึงถึงธรรมะต่างๆ ที่เรียนรู้ไว้มาก ได้มองเห็นแจ่มแจ้งถึงเรื่องของพระสัพพัญุตาญาณที่ทรงเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดใช้ชาติอยู่ จึงคิดใคร่จะแต่งเรื่องนั้นโดย “แปลออกทำเป็นคำไท” ขออัญชลีอัญเชิญให้ทรงช่วยนำทางในปัญญาขณะที่คิดไม่ออกติดขัดด้วย ท้าวจตุโลกบาล พระอีศวรผู้เป็นใหญ่เหนือทวีปทั้งมวลก็ดี ข้าๆ ขอกราบไหว้บูชา พร้อมทั้งครุฑ นาค และนางเทพธิาดผู้ทรงคุณทั้งหลาย”
อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน “ลาว” ก็ใช้คำว่า “ไท” ในความหมายว่า “คนจากเมือง…” ด้วย เช่น ไทเงินยาง แปลว่า คนจากเมืองยาง หรือ ไทปะกัน แปลว่า คนจากเมืองปะกัน ซึ่ง “ปะกัน” ในยุคนั้นหมายถึง เวียดนาม ไม่ใช่ Insurance
ทั้งนี้ จิตร ระบุว่า “ลาว” ในภาษาจ้วง และภาษาพื้นเมืองในมณฑลกวางตุ้ง และกวางซี ก็มีความหมายว่า “อารยชน” หรือ “ชนผู้เป็นนาย” คล้ายกับคำว่า “ไท” โดยพงศาวดารจีน ได้กล่าวถึง “ชนชาติลาว” ตั้งแต่ยุคฮั่นตะวันออก พ.ศ. 650 โดยออกเสียงว่า “หลาว” หรือ “อายหลาว” ซึ่งนับเป็นชนชาติในตระกูลภาษาไตสาขาหนึ่ง ต่อมา จีน เรียกคนหลาวว่า “หล่าว” ขณะที่ “ชาวห้อ” ในมณฑลยูนนานก็เรียก “ชาวไทยภาคเหนือ” ว่า “ลาว” ด้วยเช่นกัน แต่ออกเสียงสั้นกว่า คือ “เลา” และมักใช้คำว่า “ลาว” นำหน้าชื่อคนในความหมายเหมือนคำว่า “นาย” ซึ่งถือว่าให้การยกย่องระดับหนึ่ง จิตรสรุปว่า ด้วยเหตุนี้เอง “ภาษาอีสาน” ซึ่งมาจาก “ภาษาลาว” จึงใช้คำว่า “ลาว” เป็นสรรพนามบุรุษที่สาม สำหรับเรียกคนแบบให้ความเคารพ คล้ายกับคำว่า “ท่าน”
จิตรสรุปว่า “ลาว” ดั้งเดิมมีความหมายว่า “คนผู้เจริญแล้ว” ซึ่งเป็นความหมายในทางยกย่อง เมื่อผ่านเวลาไป “ชนชาติลาว” กลายเป็น “ผู้พิชิต” มีความเป็นนายเป็น “ผู้มีอำนาจ” กษัตริย์ลาวในอดีตจึงใช้คำว่า “ลาว” นำหน้าชื่อ ก่อนที่ต่อมาจะใช้คำว่า “ขุน” “ท้าว” หรือ “พญา” และด้วยเหตุนี้เอง ยุคต่อมา ลาวจึงใช้คำว่า “ลาว” แทนที่คำว่า “ไท” เพราะถือเป็น คำให้เกียรติ และให้ความหมายไปในทางชื่นชม โดยในเวลาต่อมา คำว่า “ไท” ในภาษาลาวก็ถูกลบความหมายของความเป็น “เสรีชน” ออกไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ ในปัจจุบัน คำว่า “ไท” ใน “ภาษาลาว” หรือ “ภาษาอีสาน” ไม่ได้มีความหมายว่า “เสรีชน”
จิตร เชื่อว่า อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนลาวทิ้งชื่อ “ไท” เนื่องจาก ชนชาติอื่นในภูมิภาค ไม่นิยมเรียกคนลาวว่า “ไท” แต่มักเรียกคนลาวว่า “ลาว” และ การยกทัพไปทำลายอาณาจักรเวียงจันทน์หลายต่อหลายครั้งของกองทัพไทย ก็ทำให้คนลาวรู้สึกห่างเหินกับ “ความเป็นไทย” ด้วย เหตุนี้เอง “คนลาว” จึงรู้สึกแปลกแยกจาก “ความเป็นไท”
ขณะเดียวกันเจ้าขุนมูลนายไทยที่ปกครองล้านช้างเป็นเมืองขึ้นในยุคหนึ่งก็มักเรียก “คนลาว” ว่า “ลาว” แต่เป็นการเรียก “ลาว” ในทางเหยียดหยาม บ้างเรียก “ลาวพุงดำ” บ้างก็เรียก “ลาวพุงขาว” และไม่ให้การยอมรับคนลาวเป็น “ไท” การแบ่งแยกที่เกิดขึ้นจึงทำให้คนลาวเองก็ไม่ยอมรับความเป็น “ไท” ด้วย และถือว่า ตนเองเป็นคนละพวกกับ “คนไทย”
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คำว่า “ไท” ใน “ภาษาลาว” กลายความหมายเป็นเพียง “คนแปลกหน้า” หรือ “แขกผู้มาเยือน” เท่านั้น
ขณะที่ ด้านลุ่มน้ำยม และน้ำเจ้าพระยา “ไทสยาม” ซึ่งอพยพมาเป็นทาส ใช้เวลากว่าร้อยปีต่อสู้ เพื่อให้ได้เป็น “ไท” สมชื่อ เมื่อตั้งกรุงสุโขทัย ไทเหล่านี้จึงไม่ยอมทิ้งชื่อ “ไท” เพราะภาคภูมิใจกับ “ความเป็นไท” ที่พวกเขาต้องใช้ชีวิตแลกมาอย่างลำบาก โดย จิตรระบุว่า เหตุที่คำว่า “ไทย” มี ย. ยักษ์ ต่อท้ายนั้นเพิ่งเกิดขึ้นภายหลัง โดยเริ่มใช้ในยุคที่ดินแดนแห่งนี้กำลังเห่อการใช้ภาษาบาลี
ด้วยเหตุทั้งหมดที่กล่าวมา จิตร ได้สรุปวิวัฒนาการ และความหมายของคำว่า “ไท” ว่า
1. ไทเป็นชื่อชนชาติตระกูลภาษาไท-ไต มีความหมายดั้งเดิมว่า คนเมือง หรือคนสังคม
2. ไทเป็นชื่อวรรณะหรือฐานันดรทางสังคม ซึ่งแปลว่า เสรีชน
3. ไทเป็นคำวิเศษแปลว่า อิสระ หรือเอกราช
4. ไทเป็นคำวิเศษ และคำนาม แปลว่า ผู้เป็นใหญ่
และนี่คือส่วนหนึ่งจากมันสมองของนักประวัติศาสตร์ไทย นามว่า จิตร ภูมิศักดิ์
ข้อเขียน : มหาสมุทร บุปผา / ไม่มีพระเจ้าบนแผ่นดิน ถ้าเชื่อว่าคนเท่ากับคน
ขอบคุณภาพจาก : หนังสือ ความเป็นมาขอคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ
ฝากติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆ เว็บไซต์ www.theisaander.com เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander และกลุ่ม หมู่เฮาอีสานเด้อ
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #จิตรภูมิศักดิ์ #สกลนคร #วาริชภูมิ #จิตร #ไทย #ลาว #ไท #เสรีชน
Comments