top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ลมผลัดขน ฝนลอกคราบ : กวีนิพนธ์ชีวิตสามัญชนในคุกที่บอกว่าเสรี



ลมผลัดขน ฝนลอกคราบ จากกากะเยียสำนักพิมพ์ เป็นกวีนิพนธ์ลำดับที่ 3 ของครูกวีนาม ธีรยุทธ บุษบงค์ เจ้าของผลงานหนังสือทำมือ “บ่าใจ” นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ทางหอม นักเขียนผู้ “ปฏิเสธ” อำนาจแห่งวงการสิ่งพิมพ์และวรรณกรรมจากส่วนกลางของรัฐไทย ที่สร้างขึ้นและผูกขาดไว้โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา- กรุงเทพมหานคร ทั้งยังเชื่อว่าดินแดนที่ถูกเรียกว่า “อีสาน” ในนิยามของเขา หรือ “ลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำของ” ในนิยามของเราเอง ก็มีอำนาจและทรัพยากรในทุกๆมิติเพียงพอสำหรับงานสิ่งพิมพ์ วรรณกรรม และมีแนวทางของตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจจากส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯ จึงก่อเกิดหนังสือวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ในลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำของขึ้นหลายเล่มด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น กาเต้นก้อน และ เสียงกลองน้ำ ของอาจารย์ ชัชวาลย์ โคตรสงคราม , ฆาตกร The murderers ของคุณ วิทยากร โสวัตร , บ่าใจ และลมผลัดขน ฝนลอกคราบ ของครู ธีรยุทธ บุษบงค์ เป็นต้น วรรณกรรมเหล่านี้ ล้วนก่อกำเนิดจากแนวคิดที่ไม่ง้ออำนาจส่วนกลางทั้งสิ้น


ลมผลัดขน ฝนลอกคราบ เป็นงานที่อบอวลไปด้วยกลิ่นของดวงดอกไม้แห่งชาติพันธุ์ลาว ที่ผสมปนเปไปกับเรื่องราวชีวิตที่มีทั้งสว่างสดใสและมืดดำของสามัญชนที่ยังต้องดำรงชีพในประเทศที่เปรียบเสมือน คุกที่บอกว่ามีเสรี ดั่งหนึ่งในบทกวีตอนหนึ่งในเล่มที่มีชื่อว่า “คุกเสรี”


บนถนนชีวิตของสามัญชนคนธรรมดาจะต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ความเปลี่ยนแปลง แม้จะดีหรือเลว มันคือการเปลี่ยนแปลง กวีนิพนธ์เล่มนี้ได้พาผมไปพบกับชีวิตของสามัญชนที่ต้องดิ้นรนบนความผันผวนของโลกแห่งบริโภคนิยมและการเข้ามาของเงินตรา ที่ค่อยๆกัดกร่อนและกลืนกินชีวิตและธรรมชาติของสังคมชาวบ้านให้กลายเป็นสังคมเมืองผ่านโครงการพัฒนาที่เข้ามาโดยภาครัฐดังที่เคยกล่าวถึงในเรื่อง ฆาตกร ของคุณวิทยากร โสวัตร ซึ่งผลที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ผู้คนต้องพรากจากบ้านเกิดเพื่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า โลกที่มีเรื่อง “เงิน” เข้ามาเกี่ยวข้องในทุกๆมิติ เกิดการดูดกลืนทรัพยากรผู้คนจากชนบทอย่างลาวล้านช้างฝั่งขวา ให้จำต้องจากบ้านไปเป็นกรรมกรแรงงานในเมืองใหญ่ ดังที่บทกวีในเล่มที่ชื่อว่า “เพลงลา”


แม้กระทั่งระบบการศึกษาที่บอกว่า เรียนฟรี 15 ปี ก็ยังไม่เคยที่จะฟรีจริง ทั้งที่รากฐานของบ้านคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือ “การศึกษา” แต่รัฐไทย ไม่ว่าจะผ่านมากี่สิบปี การศึกษาไม่เคยฟรีจริง ไม่เคยมีรัฐสวัสดิการจริงๆที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระของสามัญชนผู้ที่เป็นเกษตรกร หรือชนชั้นรากหญ้าผู้หาเช้ากินค่ำ ไม่เคยมีมากไปกว่าเงินไม่กี่ร้อยต่อเทอม แทนค่าเครื่องแต่งกายหรืออุปกรณ์การเรียน แม้การศึกษาจะไม่เคยฟรีและมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ “ในนามแห่งหน้าที่” บทกวีที่บอกเล่าถึงคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่ไม่ต้องการให้ลูกลำบากอย่างตน กลับยอมสละทุกสิ่งอย่าง เพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี ไม่ต้องมาลำบากหรือด้อยการศึกษาแบบตน บนฤดูกาลที่อากาศร้อนผ่าวที่สุดที่ในฤดูเดียวกันนั้นก็เป็นฤดูกาลเปิดเทอม ลูกๆต้องได้เครื่องแต่งกายใหม่ตามการเจริญเติบโตของร่างกาย ต้องชำระค่าเทอม ต้องจ่ายค่าอุปกรณ์การเรียน เพราะสิ่งที่กล่าวมานี้ไม่เคยมีรัฐบาลไหนบอกว่า “เป็นรัฐสวัสดิการ” รัฐไม่เคยกระทำให้ชัดเจนและเป็นที่ประจักษ์มากกว่าเพียงคำพูดว่า “ทุกคนต้องได้เรียนฟรี” ทำให้การศึกษาสำหรับสามัญชนนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายที่แพงมากเมื่อเทียบกับคุณภาพชีวิต ค่าแรงที่ได้รับ และสิ่งที่ต้องแบกรับในแต่ละฤดูกาลเพียงเพื่อเขาต้องการ “ซื้ออนาคตให้ลูก” ของเขา และลูกของเขาก็ยังต้องดิ้นรน ทำงานช่วยครอบครัวเพื่อที่จะมีเงินทุนในการศึกษาต่อในระบบการศึกษาที่หลอกกันว่า “เรียนฟรี”


บนโลกแห่งบริโภคนิยมจึงบีบให้คนต้องดิ้นรนบนคุกที่บอกว่าเสรี คุกที่พัศดีบอกว่าเรามีเสรีเต็มที่ คุกที่เต็มไปด้วยความจริงและความฝัน มีทั้งดีและแย่บนการแข่งขันเพื่อมีชีวิต มีกิจวัตรที่คนคุกพึงกระทำซ้ำๆในแต่ละวันเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนอันน้อยนิด เพื่อให้ยังชีพต่อไปได้ โดยการกระทำที่ว่าก็สร้างคุณูปการอันมหาศาลต่อผู้ที่เป็น “เหล่าเจ้าของคุก” ที่แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน โดยที่เราทุกคนที่เปรียบดั่งคนคุกเป็นได้เพียงแค่ “เครื่องมือ”


สุดท้ายแล้วสมควรแก่เวลาหรือยัง ที่สามัญชนผู้ผ่านพบความวุ่นวายที่ถูกกดทับและบีบรัดโดยคุกเสรีและโลกแห่งการบริโภคนิยม จะหลุดพ้นจากวัฏจักรที่รีดเค้นพลังกายพลังใจและเรี่ยวแรงของเราที่เคยมีไปจนหมด พร้อมทั้งหวนกลับระลึกและกลับมาพินิจพิจารณาว่า เรายังเหลืออะไรอยู่บ้างบนแผ่นดินแม่ที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน ยังคงเหลือที่ทาง “เพียงพอ” หรือไม่ที่จะกลับมาชุบชีวิตสังคมชายขอบให้กลับมามีมนตร์สเน่พร้อมกับฟื้นคืนชีวิตชีวาอีกครั้ง และบอกลากลไกอำนาจรัฐส่วนกลางที่ใช้เราเป็นเพียงเครื่องมือ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะกลับมายืนบนผืนดินแห่งบรรพชนให้เต็มขา สร้างเสริมและเติมแต่งที่ทางกับชนรุ่นหลังพร้อมกับบอกพวกเขาว่า เขาไม่จำเป็นต้องพลัดถิ่นไปหาอนาคตที่ไหนอีกต่อไปแล้ว บนผืนดินแห่งบรรพชนแห่งนี้มีพื้นที่ให้ดอกไม้ทุกชนิดได้งอกงามตามต้องการ ดอกไม้เหล่านี้เองที่จะเติบโตและปลดแอกตนเองจากพันธนาการที่ผูกมัดไว้ในนาม “คุกเสรี” อย่างสมบูรณ์


หนังสือ ลมผลัดขน ฝนลอกคราบ

พิมพ์ครั้งแรกปี 2557

จัดพิมพ์โดย กากะเยียสำนักพิมพ์ บรรณาธิการ ‘บรรจง บุรินประโคน’

อ่านอะไรต่อดี: ทางหอม (ธีรยุทธ บุษบงค์)


ข้อเขียนโดย อัยการ ศรีดาวงศ์

ฝากติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆ เว็บไซต์ www.theisaander.com เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander และกลุ่ม หมู่เฮาอีสานเด้อ www.facebook.com/groups/226598875311155


ปี 2565 นี้ ดิ อีสานเด้อ สัญญาว่า จะผลิตผลงานให้ทุกท่านได้อ่านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ชิ้นไม่ขาดหายไปแน่


56 views0 comments
bottom of page