“ว่ากันว่า (พระ)เกี้ยว เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง(แมนจู) ในตอนเหนือของจีน แรกเริ่มเป็นที่นิยมของชนชั้นสูงเท่านั้น ก่อนแผ่อิทธิพลไปทั่วโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2”
ขอโทษที เราใช้วรรณยุกต์ผิด นั่นไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของ พระเกี้ยว หรือ โควิด-19 แต่เป็นประวัติศาสตร์อย่างย่อของ อาหารที่คนไทยเรียกว่า “เกี๊ยว”
ใช่แล้วเกี๊ยวมีอายุเก่าแก่ เกิดก่อนการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์เสียอีก
เพราะ งานฟุตบอลฯ มีขึ้นครั้งแรกในปี 2477 แถมในช่วงแรกที่มีการแข่งขันฯ กลับยังไม่มีการอัญเชิญพระเกี้ยว ซะด้วย
หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่หาได้เกี่ยวกับการอัญเชิญตราสัญลักษณ์ “พระเกี้ยว” ในฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ เพิ่งมีบันทึกไว้ในหนังสือพิมพ์สยามนิกร(พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2507 นี่เอง
และการอัญเชิญครั้งนั้นยังดำเนินการโดยนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และพระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่า พระเกี้ยว ที่ถูกอัญเชิญในช่วงหลังเสียด้วย
“แหมพระเกี้ยวไม่ได้ยิ่งใหญ่ อย่างที่คนรุ่นเก่า พยายามบอกคนรุ่นใหม่นี่”
ขณะที่ พระเกี้ยวถูกแบกหามย่ำอยู่แค่ในกรุงเทพฯโดยนิสิตจุฬาฯ “เกี๊ยว” ขยับขยายเดินทางไปทั่วโลก ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมพื้นเมือง กลายเป็นอาหารที่คุ้นเคยของคนหลากหลายท้องถิ่น
จากชื่อ “Hun Tun” หรือ “Wonton” ในจีน เมื่อถึงญี่ปุ่น มันกลายเป็น “Gyoza” ลงใต้มาไทยถูกเรียกว่า “Kiao” ลงต่ำอีกนิดถูกเรียกว่า “Pangsit” ในอินโดนิเซีย
“Pelmeni” คือชื่อรัสเซียของมัน ขณะที่อินเดียเรียกว่า “Modak” เข้าสู่ตะวันออกกลางถูกตั้งใหม่ว่า “Joshpara” เดินทางบุกอิตาลีก็มีชื่อว่า “Ravioli” ถูกดัดแปลงโดยคนกาน่า หรือโตโกจนถูกเรียกว่า “Banku” ที่เอธิโอเปียเรียกมันว่า “Tihlo”
หลังการปฏิวัติเมจิ ชาวญี่ปุ่นได้อพยพไปยังอเมริกาใต้ นอกจากจะพาลูก-ผัวไปด้วยแล้ว พวกเขายังพาเกี๊ยวซ่าไปอีก ทำให้อาหารชนิดเกี๊ยวถูกดัดแปลงและเรียกใหม่ว่า “Pastéis” ในบราซิล
ส่วนที่อาร์เจนตินา ลิโอเนล เมสซี่จะเรียกมันว่า “Empanadas” แม้กระทั่งออสเตรเลีย ยังมีชื่อเรียกให้อาหารชนิดนี้ว่า “Dimmies” ตามสไตล์ Aussie อีกด้วย
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างบางส่วน เพราะยังมีอีกหลายประเทศที่รับเอาอาหารชนิดนี้ไปปรับใช้จนเราสามารถพูดได้เต็มปากว่า เกี๊ยวถูกพัฒนาต่อยอดและมีชื่อใหม่นับนิ้วมือ-ตีนไม่ถ้วน
ย้อนกลับมาที่พระเกี้ยว หอประวัติฯ ระบุว่า ความเป็นจริงแล้ว นิสิตจุฬาฯ ทุกผู้ทุกนามมีสถานะเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวทั้งหมด แต่เมื่อทุกคนไม่สามารถเชิญได้พร้อมกันทาง Physical ในงานฟุตบอลฯ ทำให้จำเป็นต้องเลือกตัวแทนที่มีรูปร่าง หน้าตา บุคลิก การวางตัว กริยามารยาท ผลการเรียน และความรู้เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเหมาะสม เป็นผู้รับผิดชอบแทน(คุณสมบัติเยอะกว่านายกรัฐมนตรีบางประเทศอีก)
ในขณะที่ศิษย์เก่า ศิษย์แก่ ของสถาบันการศึกษาที่มีหัวใจน้องพี่สีชมพูแห่งนี้ กำลังโกรธแค้น ขุ่นเคืองนิสิตรุ่นน้อง ที่จ้องจะยุติกิจกรรมที่พวกเขาเชื่อว่า ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าประตูอัลลอยกิจกรรมนี้
ต้องสารภาพว่า ผู้เขียนซึ่งมีความเกี่ยวพันธุ์กับจุฬาฯเพียงแค่การเล่นว่าว ไม่เคยรู้มาก่อนว่า ในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีมีกิจกรรมที่เรียกว่า การอัญเชิญพระเกี้ยวอยู่
เพราะในประวัติศาสตร์ชีวิตที่ผ่านมา ผู้เขียนรู้เพียงว่า งานฟุตบอลประเพณีจะมีนักฟุตบอลทีมชาติมาลงแข่งเยอะจนเหมือนทีมรวมดารา มีเชียร์ลีดเดอร์ที่หน้าตาดีผิดมนุษย์ปุถุชน และมีกิจกรรมพาเหรด-แปรอักษรล้อการเมือง That’s it.
ถึงตรงนี้ หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์อย่างลวกๆ ก็พบว่า “เกี้ยว” กับ “เกี๊ยว” อาจไม่มีความเกี่ยวกัน แต่ขณะที่เรื่อง แบกไม่แบก เกี้ยวไม่เกี้ยว กำลังเป็นที่ถกเถียง และช่วงชิงพื้นที่การเมืองในสังคมไทย
เราพบว่ารากศัพท์ของ “เกี๊ยว” คือ Hun Tun หรือ Hundun ในภาษาจีน อาจจะแปลความว่า “Chaos-ความยุ่งเหยิง วุ่นวาย” ก็ได้ด้วย
---
ข้อเขียน : ถ.เปี่ยมจิตร - นักชิมอาหารทุนทรัพย์ต่ำ ลิ้นจระเข้ ที่เกิดมาเพื่อฆ่ามิชลินไกด์
รูป : ขอบคุณกล้องถ่ายรูป
---
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #เกียว #เกี่ยว #เกี้ยว #เกี๊ยว #เกี๋ยว #จุฬา #ธรรมศาสตร์ #แบก #แห่ #หนัก
---
ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้
---
เว็บไซต์ www.theisaander.com
เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander
อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander
ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander
Comments