top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ม. 112 กับคดีอีหยังวะ #4 : แม้แต่ภาพถ่าย ม. 112 ก็คุ้มครอง



Oliver Jufer ชายวัยใกล้เกษียณชาวสวิสเซอร์แลนด์ มีภรรยาคนไทย อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วเลือกที่จะปักหลักใช้ชีวิตมากว่า 10 ปี เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว และดำเนินคดีในข้อหาตาม ม. 112


หลักฐานที่มัดตัวโอลิเวอร์ คือ ภาพจากกล้องวงจรปิดในคืนหนึ่งของวันที่ 5 ธันวาคม 2549 ขณะกำลังพ่นสีสเปรย์สีดำใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร. 9 ที่ประดับประดาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ บีบีซีอ้างคำพูดของ โอลิเวอร์ที่ว่า เขามีอาการเมา และตัดสินใจทำสิ่งนั้น หลังจากที่พยายามจะซื้อเหล้าจากร้านค้าแต่ไม่สำเร็จ ด้านร้านปฏิเสธที่จะขายเหล้าให้กับเขาในสำคัญ


เขาถูกจับในคืนนั้น คืนมหามงคล


ข่าวการถูกจับของโอลิเวอร์ ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศ หลายสำนัก แต่สำหรับสื่อสัญชาติไทยมีเพียงประชาไท เท่านั้นที่รายงานเรื่องนี้ บีบีซี อ้างว่าเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องการให้สื่อติดตามเรื่องนี้ และหากข่าวนี้เป็นที่รับรู้ของคนไทยน่าจะไม่ใช่เรื่องที่ดี


12 มีนาคม 2550 ศาลนัดพิจารณาคดีของ โอลิเวอร์ เขาถูกพาตัวจากเรือนจำมายังศาล เขาอยู่ในชุดเรือนจำสีส้มน้ำตาล และรองเท้าแตะช้างดาว ถูกใส่กุญแจข้อเท้า ไม่ได้พูดอะไรกับสื่อ พยายามเอามือปิดบังใบหน้าเพื่อไม่ถูกถ่ายรูป


วันนั้น เขารับสารภาพ


29 มีนาคม 2550 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ตัดสินว่า เขามีความผิดตาม ม. 112 จำนวน 4 กรรม ต้องโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี รวมแล้ว 20 ปี แต่ด้วยโอลิเวอร์รับสารภาพโทษจึงลดเหลือกึ่งหนึ่งคือ 10 ปี


สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ระบุบนเว็บไซต์ว่า “ทางการสวิสจะไม่ขอให้มีการปล่อยตัวนาย Jufer และจะไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีของศาลไทยในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าผลการตัดสินดังกล่าวสอดคล้องตามหลักกฎหมายพื้นฐานแล้ว”


แม้จะไม่ได้ติดตามทำข่าวการถูกจับกุมตัวและตัดสินลงโทษ แต่ในวันที่ 11 เมษายน 2550 ที่โอลิเวอร์ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ สื่อไทยหลายสำนักพร้อมใจกันรายงานข่าวนี้ โอลิเวอร์ ในเสื้อสีม่วง ถูกนำตัวขึ้นรถกระบำตำรวจสีขาว ออกจาเรือนจำ และให้หลังหนึ่งวัน เขาถูกส่งตัวกลับประเทศสวิสเซอร์แลนด์บ้านเกิด ในช่วงดึก


อ่านข้อมูลเพิ่มเติม




น่ายินดีเหมือนกันนะคะที่ทุกวันนี้ การเรียกร้องให้ยกเลิก ม. 112 กลายเป็นถนนสุขุมวิทของเส้นทางประชาธิปไตยไทย เพราะไม่กี่ปีก่อนหน้า ม. 112 พูดได้ว่า แย่กว่าทางหลวงชนบทก็ไม่ผิด ออกแนวถนนหมู่บ้านที่ อบต. สร้างไม่เสร็จซะด้วยซ้ำ การพูดเรื่อง ม. 112 ในที่สาธารณะ ต้องลดโวลุ่มจนแทบจะเป็นการสื่อสารด้วยโทรจิต คนที่เคลื่อนไหวเรื่อง ม. 112 อย่างจริงจัง มักกลายเป็นเป้าซะยิ่งกว่าสายัณห์ สัญญา สำหรับฝ่ายความมั่นคง



วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยถูกต่อย เพราะแค่เสนอให้แก้ไข ม. 112, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เจ้าของประโยค “ยกเลิก 112 สิ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง” เคยถูกบุกยิงถึงบ้านพักมาแล้ว นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ แต่ชัดเจนที่ชี้ให้เห็นว่า การเอ่ยถึง ม. 112 อันตรายแค่ไหนในอดีต



เมื่อ ม. 112 กลายเป็นกระแสหลัก



ฉันในฐานะ นักข่าวสาววัยรุ่นตอนปลาย-วัยกลางคนตอนต้น ผู้ติดตามปรากฎการณ์เกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้มาอย่างใกล้ชิดบ้าง ไม่ใกล้ชิดบ้าง จึงอยากจะขอเกาะเกี่ยวกระแสของมัน ด้วยการเล่าเพื่อให้ผู้อ่านได้ระลึกถึงความ “อิหยังวะ” และ “ไปทั่วไปทีป” ของ ม. 112 และเป็นการชี้ให้ผู้สนับสนุนอำนาจนิยมได้เข้าใจว่า กฎหมายที่ ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยกำลังเรียกร้องให้แก้ไข หรือยกเลิก มาตรานี้ มันย่ำแย่ยังไง



ขอบอกไว้ก่อนว่า สิ่งที่ฉันจะเล่านั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน ปรากฎการณ์ตื่นรู้ครั้งใหญ่ของสังคมในช่วงปี 2563-2564 นะคะ เพราะฉันเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ ทุกคนน่าจะผ่านหีผ่านตากันมาบ้างแล้ว ไม่จำเป็นต้องเล่าซ้ำ



ความเข้าใจเบื้องต้น สำหรับ ม. 112



1. “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” คือ ข้อความทั้งหมดของกฎหมายข้อนี้



2. ม. 112 มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี แต่ถ้าหากนับความผิดเป็นกรรมๆ อาจรวมๆกันได้หลายสิบปี เช่น คดีของ อัญชัญ ปรีเลิศ ที่ถูกตัดสินให้จำคุก 87 ปี แล้วลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 29 ปี 174 เดือน หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน ซึ่งแม้จะลดโทษแล้วก็ยังมีระยะเวลายาวนานกว่าคดีฆ่าคนตายหลายคดี



3. ม. 112 เป็นคดีอาญาที่ใครฟ้องก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือสำนักพระราชวัง บางครั้งเราจึงเห็นการกลั่นแกล้งด้วยการฟ้องคดีที่ต่างจังหวัด เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องต้องเดินทางไกล และเสียเวลา เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถูกฟ้อง ม. 112 ที่ขอนแก่น ทั้งที่ตัวเขาเองอยู่ กทม. รวมถึงพฤติการณ์แห่งคดีเกิดขึ้นที่ กทม.



4. ม. 112 มักถูกพิจารณาในชั้นศาลแบบปิดลับ ทำให้สื่อมวลชน หรือผู้สังเกตการณ์ไม่อาจทราบได้ว่า ข้อความที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือการพิจารณาดำเนินการไปแบบใด เช่น คดีแชร์ข่าวบีบีซีไทย ของไผ่ ดาวดิน ซึ่งพิจารณาแบบปิดลับ อนุญาตให้เพียงไผ่ และทนายความอยู่ในห้องพิจารณา



5. ด้วยกระบวนการพิจารณาคดีที่ยาวนานเกินปกติ และบ่อยครั้งที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ผู้ต้องหา ม. 112 จำนวนหนึ่ง จึงเลือกที่จะรับสารภาพ แทนที่จะต่อสู้คดี ด้วยฐานคิดที่ว่า "สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน สารภาพติดพอประมาณ" ตัวอย่างของคนที่เลือกสารภาพ คือ ไผ่ ดาวดิน เขาถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ขณะที่ ธเนตร อนันตวงษ์ เลือกที่จะสู้ ซึ่งแม้สุดท้ายศาลจะยกฟ้อง แต่เขาก็ต้องอยู่ในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีไปแล้วกว่า 4 ปี เพราะไม่ได้รับการประกันตัว



บทความ : บุปผา ศรีจันทร์ /คอลัมนิสต์ชะนี ผู้มี #คำผกา เป็นไอดอลด้านการด่า มี #โบว์ณัฏฐา เป็นปรารถนาด้านการหาสามี


ขอบคุณภาพจาก www.taiwannews.com



#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #112 #ม112 #กฎหมายหมิ่น #กฎหมายอาญา #อีหยังวะ #ยกเลิก #แก้ไข #ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ #28กรกฎา



ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้


เว็บไซต์ www.theisaander.com


เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander


อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander


ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander




44 views0 comments
bottom of page