top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ข้าวหอมมะลิ พญาอินทรี และการดิ้นรนของชาวนาทุ่งกุลา(7)




ชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้อยากได้อะไรจากรัฐ


เมื่อความแล้งคือปัญหาหลักของชาวนาทุ่งกุลาร้องไห้ เรื่องน้ำจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการที่สุด ชาวนาหลายคนจึงบอกกับเราว่า ระบบชลประทานเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากได้มากที่สุด และเชื่อว่า มันจะทำให้พวกเขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ในปีที่อากาศร้อนและแล้งเกินกว่าปกติ


“อยากให้มีคลองชลประทาน มีน้ำส่งมา ถ้ามีน้ำ ชาวนาก็น่าจะลืมตาอ้าปากได้ เพราะบางคนจะได้ทำนา 2 ครั้ง ถ้ามีคลองชลประทานส่งถึงก็จะได้มีอาชีพช่วงแล้ง หรือปีที่ฝนทิ้งช่วง” สำราญ ซุยคง ชาวนาจากสุวรรณภูมิ บอกความต้องการของเธอ


“อยากให้ช่วยเรื่องน้ำ ทุ่งกุลาส่วนมากไม่มีแหล่งน้ำ หรือมันตื้นเขิน อย่างในหมู่บ้านนี่เคยขุดลอกแต่ไม่เสร็จ น้ำไม่พอใช้ หมู่บ้านติดกันมีสถานีสูบน้ำ แต่ก็ยังไม่ได้ใช้ อยากให้มีการขุดลอกเพิ่มเติมจะได้มีแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงที่เราทำนาข้าวงอกมา ถ้าเรามีน้ำก็จะสูบไปใส่จะได้ไม่เกิดปัญหาตอนฤดูแล้ง” มาลินี จันทร์เหลือง ชาวนาจากชุมพลบุรี ชี้ปัญหาในท้องถิ่นของเธอ


“ปัญหาหลักๆ จะเป็นระบบน้ำ ถ้าเราสามารถทำระบบน้ำได้ทั่วถึงมันก็จะดีมาก ถ้ามีระบบชลประทาน หรือระบบสูบน้ำบาดาลใต้ดินที่สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ น่าจะพอบรรเทาความลำบากช่วงที่มันแล้งจัดได้ ชาวนาจะได้สูบน้ำไปใช้ระหว่างรอฝนได้บ้าง” กิตติศักดิ์ สิงห์คำ เจ้าของนา 21 ไร่ในราษีไศล กล่าว


“ถ้ามันมีน้ำหน่อยมันน่าจะพอทำนาได้ เพราะปีที่แล้ง ข้าวบางแปลงมันไม่ได้ผลผลิตเลย ส่วนมากแล้วแถวทุ่งกุลา มันไม่มีน้ำ ไม่มีคลองส่งน้ำ รอแต่น้ำฝนอย่างเดียว ถ้ามีระบบชลประทานเข้ามาก็น่าจะดีขึ้น อย่างน้อยก็ดีกว่ารอแต่น้ำฝนอย่างเดียว” อุดม พรมลี ชาวนาผู้ประหยัดคำพูดแห่งพยัคภูมิพิสัย บอกกับ ดิ อีสานเด้อ


ด้านสมภพ ลุนาบุตร เจ้าของนาข้าวขนาด 70 ไร่ในเกษตรวิสัย กล่าวว่า “อยากให้รัฐมาสำรวจให้หน่อยว่า เราขุดบาดาลจุดไหนได้ เพราะชาวบ้านขุดเอง ขุดไปก็เจอแต่น้ำเค็มเอามาใส่ข้าวแล้วข้าวเสียหาย ผมเป็นตัวแทนประสานงานฝนหลวงมา 2 ปี ช่วยได้บ้าง แต่ปริมาณฝนที่ลงก็ไม่มาก เพราะสภาพอากาศอาจจะไม่เอื้ออำนวย”


นอกจากเรื่องน้ำแล้ว การอำนวยความสะดวกในกระบวนการต่างๆ เป็นสิ่งที่ชาวนาต้องการรองลงมา เพราะปัจจุบัน พวกเขาต้องแบกค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยเพื่อใช้เครื่องทุ่นแรง


“อยากให้รัฐสนับสนุน เครื่องอบข้าว เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ข้าว ตอนนี้หมู่บ้านเรามีแค่เครื่องทำความสะอาด แต่เห็นหมู่บ้านข้างๆ มีเครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ คิดว่าถ้าเรามีบ้างก็จะได้แบ่งกันใช้ในหมู่บ้าน น่าจะช่วยลดต้นทุนให้ชาวนา ไม่ต้องขนข้าวไปจ้างให้เขาคัดให้ เพราะปีที่ราคาข้าวตกต่ำ ถ้าเราเก็บข้าวไว้ทำเมล็ดพันธุ์มันก็จะได้เงินมากกว่าการเกี่ยวแล้วขายเป็นข้าวสดมาก” สมพร สุดาปัน ชาวนาวัย 47 ปีจากชุมพลบุรี บอก


ขณะเดียวกัน เด่นชัย ชาวสวน เจ้าของนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากพยัคฆภูมิพิสัยเชื่อว่า เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไปแล้ว ชาวนาก็ควรได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการทำนาอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม


“เมื่อก่อนก็ทำนาแบบเดิมๆ เอาควายไถ พอมีนวัตกรรมการทำนาก็ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ ถ้าเราไม่เปลี่ยน โดนนายทุนหรือโรงสีตัดราคาเรา เราก็ได้รายได้น้อย ถ้าภาครัฐช่วยลงทุนเรื่องเครื่องจักรในการทำนา การทำงานก็จะสะดวกขึ้น ลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายให้ชาวนาได้ ถ้าเราได้เครื่องจักรมาบริหารจัดการในกลุ่มชาวนาด้วยกัน เราก็จะลดต้นทุนได้ มีเงินไว้ใช้จ่ายในครอบครัวมากขึ้น” เด่นชัย กล่าว


ทั้งหมดที่ชาวนาได้กล่าวมา คือทางที่อาจจะทำให้พวกเขายังเป็นชาวนาปลูกข้าวหอมมะลิแสนอร่อยให้คนทั้งประเทศกิน และอยู่รอดได้ในยุคสมัยที่ยากลำบากเช่นปัจจุบัน



สามารถติดตามตอนต่อไปได้ที่ The Isaander



รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network ซึ่ง The Isaander ทำงานร่วมกับ ประชาไท เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://prachatai.com/journal/2021/02/91849


ภาพถ่าย : นนท์ รัฐ / กองบรรณาธิการ ดิ อีสานเด้อ


ผู้เขียน : วีรวรรธน์ สมนึก, สมานฉันท์ พุทธจักร, ดลวรรฒ สุนสุข และสมชาย แซ่ฟาด




ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้


เว็บไซต์ www.theisaander.com


เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander


อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander


ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander

29 views0 comments
bottom of page