top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ข้าวหอมมะลิ พญาอินทรี และการดิ้นรนของชาวนาทุ่งกุลา(1)


ชาวนาขณะเกี่ยวข้าวในแปลงเกษตรทดลอง บางเขน (ที่มา: ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries ถ่ายโดย Robert L. Pendleton)


ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในภาคอีสาน เท่าที่รู้ ไม่มีชาวนาคนไหนตะโกนว่า “How dare you” สักคน ถ้าตะโกนถามกันว่า “Head young you” อาจจะพอมีบ้าง แต่การที่เขาไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องประเด็น Climate change ใช่ว่า พวกเขา “บ่จั๊ก บ่หยัง” กับ ‘ปัญหาโลกร้อน’ เพราะในความจริง พวกเขาเข้าใจผลกระทบของมันตั้งแต่ก่อนที่ เกรตา ธุนเบิร์ก จะคลานจากครรภ์มารดาเสียอีก


สารภาพก็ได้ว่า ขณะที่หล่นนิ้วลงบนแป้นพิมพ์ เพื่อร้อยตัวอักษรให้พวกท่านอ่าน เราก็มีส่วนร่วมในการทำลายสภาพแวดล้อมของโลกด้วยเช่นกัน เพราะไฟฟ้าในประเทศไทยกว่าครึ่งผลิตจากปิโตรเลียม ไม่ใช่เขื่อนอย่างที่เขาหลอกลวง แต่เอาเถอะ มันก็ไม่ต่างกับจังหวะเดียวกันที่น้องเกรตาทวีตบนทวิตเตอร์ของเธอนั่นแหละ เพราะถึงบ้านของเธอจะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ แต่เซิร์ฟเวอร์ทั่วโลกคงไม่ได้ใช้พลังงานสะอาดเสียหมด ว่าแต่ว่า เราจะไปพูดถึงเรื่องไกลตัวทำไม? เรามาพูดเรื่องที่เรา กินอยู่กับปาก อยากอยู่กับท้อง อย่าง ‘ข้าว’ กับ ‘ฝน’ เสียดีกว่า เพราะหากมัวแต่เสียเวลา ‘ฆ่าเวลา’ พระบางท่านอาจกล่าวหาได้ว่ามัน “บาปกว่าฆ่าคน”


หอมมะลิ 105 ข้าวไทยใต้ปีกพญาอินทรี



ถึงคนจำนวนไม่น้อยในภาคอีสานจะใช้ข้าวเหนียว แกล้มก้อยต้อยลาบ มากกว่าใช้ข้าวเจ้า ข้าวสวย แกล้มแนม แต่ข้อเท็จจริงมันก็ทนโท่อยู่ว่า ข้าวสวยหอมมะลิที่งอกจากดินทุ่งกลาร้องไห้มันแซ่บคัก คนมักหลายไม่แพ้ข้าวจากภูมิภาคอื่น ทว่าเมื่อสืบโคตรเหง้า ‘ข้าวหอมมะลิ 105’ กลับมิได้มีปิตุภูมิเป็นดินอีสาน และเพิ่งย้ายรากย้ายกอมาอยู่ทีหลัง แถมการพลัดถิ่นคราวนั้นยังมีสหรัฐอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องเสียด้วย เรียกว่า ถ้าพวกชังอเมริกาได้รู้ คงล้วงคออ้วกแทบไม่ทัน


“โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อราวต้นปี 2493 โดยอเมริกาส่งผู้เชี่ยวชาญมา 2 คน จากนั้นก็คัดเลือกคนเข้าร่วมโครงการ 30 คน โดยมีผมรวมอยู่ด้วยในฐานะพนักงานข้าวที่ฝีมือพอใช้ได้อยู่ในเกณฑ์ พอประมาณต้นฤดูกาล มิถุนา-กรกฎา เริ่มฝึกอบรมเกี่ยวกับวิชาการเรื่องข้าว ผมคิดว่า การฝึกอบรมครั้งนั้นต่อให้จบหลักสูตรปริญญาตรีมาก็ยังสู้ไม่ได้ ทั้งดู ทั้งปฏิบัติในไร่นา อบรม 3 สัปดาห์ต่อครั้ง กระทั่งถึงเดือนตุลาคมก็กำหนดว่า ใครจะไปทำหน้าที่ในจังหวัดไหน ผมได้รับมอบหมายให้ไปเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวตามที่ได้อบรมใน 2 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรากับชลบุรี”


สุนทร สีหะเนิน พนักงานบำรุงข้าวท้องถิ่น ชาวจังหวัดตรัง เล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อเกือบ 70 ปีก่อน ขณะที่เขามีอายุ 27 ปี และรับราชการอยู่ในอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา


ผู้เชี่ยวชาญ 2 คนที่สหรัฐอเมริกาส่งมาให้ช่วยพัฒนาพันธุ์ข้าวในประเทศไทย ตามที่สุนทรระบุ คือ Harry Houser Love และ Robert Larimore Pendleton ซึ่งเมื่อค้นในหนังสือ The United States in Asia ระบุว่า Harry Houser Love เป็นศาสตราจารย์ด้านเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Cornell ที่มาทำวิจัยเรื่อง การเพาะพันธุ์ข้าวท้องถิ่น และทำโครงการเพิ่มผลผลิตข้าวในประเทศไทยภายใต้โครงการที่ใหญ่กว่าชื่อ ‘Economic Cooperation Administration’ ของสหรัฐฯ


ขณะที่ Robert Larimore Pendleton เป็นศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัย John Hopkins เขาคือ ผู้เขียนหนังสือ Thailand: Aspects of landscape and life เขาถูกส่งมายังประเทศไทยโดยโครงการ US Mutual Security Agency's Special Technical and Economic Mission to Thailand โดยทั้งโครงการที่ รอเบิร์ต และแฮรี่ ทำงานให้นั้นอยู่ภายใต้ปีกใหญ่ที่ชื่อ The Marshall Plan ซึ่งสหรัฐฯใช้เป็นแนวทางการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสม์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นกระบวนความ


Robert L. Pendleton(ซ้ายสุด) ถ่ายภาพกับผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมรายอื่นๆ ขณะพำนักอยู่ในประเทศไทย ((ที่มา: ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)


“พันธุ์ข้าวที่จะเลือกไปใช้ในโครงการ คือพันธุ์ขาวที่คนนิยมปลูกในแต่ละอำเภอ แต่ละท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นว่าจะเป็นพันธุ์เดียวกัน ผมทำแผนจะเก็บให้ได้ 25 ตัวอย่าง ตัวอย่างละ 200 รวง ในระหว่างที่เฝ้าทุ่ง มันมีพันธุ์หนึ่งที่ออกกะหลอมกะแหลมๆ อยู่ตามที่ที่ผมผ่านไป มันชักเหลืองๆ ลองไปสืบดูปรากฎว่าเป็นข้าวหอมมะลิ ชาวบ้านเรียก ‘ขาวดอกมะลิ’ ไม่ได้อยู่ใน 25 พันธุ์ (ตามแผน) เพราะมันปลูกน้อย ผมก็คิดว่า เมื่อมาเจอไอ้ข้าวสุกแล้วไม่เก็บมันเรื่องอะไร ผมก็เลยขอเพิ่มจำนวนข้าวที่จะเก็บอีก 1 พันธุ์ คล้ายกับยกเมฆโดยบอกไปว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่คนปลูกมาก ซึ่งไม่ได้อยู่ในรายการที่เสนอไปตอนแรก พอได้พันธุ์ก็ใส่กระสอบจากบางคล้าลงเรือเมล์ ซึ่งรุนแรงไม่ได้ เรียกได้ว่าต้องอุ้มมาเลย แล้วมาขึ้นรถไฟที่สถานีแปดริ้ว พอถึงหัวลำโพง ต้องจ้างรถพิเศษไปส่งที่กรมกสิกรรม” สุนทรเล่าที่มาของการพบพันธุ์ข้าวซึ่งคล้ายว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ


สุนทรในฐานะ ข้าราชการเจ้าของพื้นที่ระบุว่า ‘ขาวดอกมะลิ’ เป็นข้าวดั้งเดิมของอำเภอบางคล้าแต่ชาวนาไม่นิยมปลูกนัก ประเมินในสมัยนั้นว่า มีการปลูกเพียงหนึ่งพันกว่าไร่ โดยข้าวขาวดอกมะลิมีนิสัยชอบที่ดอน เจริญเติบโตได้ดีในนาน้ำฝนบนดินปนทราย แต่ดินฉะเชิงเทราเป็นดินเหนียว และนาส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม แม้ในสมัยนั้น “พวกผู้ดีมีเงิน ชนชั้นสูงนิยมรับประทาน” แต่ชาวนาก็ยังไม่นิยมปลูก สุนทรเล่าว่า ในบางคล้ามีโรงสีเพียง 3 แห่ง มียุ้งพิเศษสำหรับเก็บข้าวขาวดอกมะลิแห่งละไม่เกิน 1 เกวียน (ตัน) ดังนั้นทั้งอำเภอน่าจะมีข้าวขาวดอกมะลิเพียงไม่เกิน 3 ตัน


อย่างไรก็ตาม แม้มีข้อถกเถียงในทางวิชาการว่า ขาวดอกมะลิ อาจเป็นข้าวจากอำเภอบ้านโพธิ์ มิใช่อำเภอบางคล้า เนื่องจากมีเอกสารบางชิ้นระบุว่า ชาวนาชื่อ ‘จรูญ ตัณฑวุฒิ’ เป็นผู้ค้นพบ แต่สุนทรยืนยันโดยอ้างคำพูดของ ‘ขุนทิพย์’ กำนันตำบลท่าทองหลาง อำเภอบางคล้า, ดาวลาย ทับเจริญ แพทย์ประจำตำบล และชื้น สุดประเสริฐ คนเก่าแก่ในพื้นที่ว่า ขาวดอกมะลิถูกปลูกที่บางคล้ามาแล้วกว่า 70 ปี ก่อนที่เขาจะเก็บพันธุ์ดังกล่าวส่งไปยังกรุงเทพฯ


สุนทรยังยืนยันอีกว่า ชาวนาชื่อ ‘จรูญ ตัณฑวุฒิ’ ไม่มีตัวตนจริง แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้าวพันธุ์นี้น่าจะเป็น ‘จรูญ ตัณฑวุฑโฒ’ เจ้าของโรงสีใหญ่ในอำเภอบางคล้า และยังเล่าอีกว่าในสมัยที่ สงวน ตุลารักษ์ หนึ่งในคณะราษฎรไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยในประเทศจีน ได้ขอให้จรูญคัดข้าวขาวดอกมะลิ 50 กระสอบส่งข้ามทะเลไปที่นั่นเพื่อเป็นของกำนัลแด่นายพลผู้มีอำนาจในจีนสมัยนั้น


“ผลการเปรียบเทียบพันธุ์ทุกภาค ทุกจังหวัด ข้าวหอมมะลิเหมาะที่สุดในภาคอีสาน ได้ผลผลิตดีที่สุดในจำนวนแปลงทดลองที่มีทั้งหมดทั่วประเทศ (หลังจากใช้เวลา) ขยายพันธุ์ 3 ปี เปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่น 4 - 5 ปี ประมาณปี 2502 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ของกระทรวงเกษตรจึงลงมติให้กรมการข้าวใช้พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เผยแพร่สู่เกษตรกรได้”


แปลงข้าวในภาคตะวันออก (ที่มา: ลิขสิทธิ์ของ The University of Wisconsin-Milwaukee Libraries ถ่ายโดย Robert L. Pendleton)


สุนทร อธิบายว่า ตัวเลข ‘105’ คือ หมายเลขรวงข้าวขาวดอกมะลิจากทั้งหมด 200 รวงที่เขาส่งมายังกรุงเทพฯ โดยหลังจากการทดลองพบเพียงรวงที่ 102 และ 105 เท่านั้นที่เจริญเติบโตได้มาตรฐาน แต่ในขั้นต่อมารวงที่ 102 พบปัญหา จึงเหลือเพียง 105 ที่ได้ผลดีกว่าพันธุ์ดั้งเดิม เช่น ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวเหลืองอ่อน และข้าวขาวตาแห้ง


และนั่นคือที่มาที่ไปของ ‘ข้าวหอมมะลิ 105’ หรือ ‘ข้าวขาวดอกมะลิ 105’ หรือ ‘Khao Dawk Mali 105’


อย่างไรก็ตาม แม้สุนทรจะระบุชัดเจนว่า การค้นพบข้าวดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเพราะชาวอเมริกัน แต่ในเว็บไซต์กรมการข้าวกลับมิได้เอ่ยถึงชาวอเมริกัน 2 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุ์ ‘ข้าวหอมมะลิ 105’ ขณะที่ เว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรมก็เขียนชื่อทั้ง 2 คนผิดเป็น Dr.Robert Panderton และ Dr.Harris H.Love โดยเว็บไซต์ดิ อีสานเด้อ อนุมานว่า น่าจะคลาดเคลื่อนเพราะการออกเสียงของสุนทร ซึ่งเมื่อสืบค้นในเอกสารภาษาต่างประเทศก็ไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับ Dr.Robert Panderton และ Dr.Harris H.Love แต่พบชื่อ Robert L. Pendleton และ Harry H. Love โดยตัวรอเบิร์ตยังได้ถ่ายรูปเมื่อครั้งทำงานอยู่ในประเทศไทยไว้หลายรูป ซึ่งหาชมได้ที่ https://uwm.edu/lib-collections/asia-middle-east


ในส่วนของ ‘สุนทร’ นอกจากจะถูกบันทึกในฐานะผู้ค้นพบข้าวหอมมะลิ 105 แล้ว เขายังถือเป็นผู้ที่ร่วมพัฒนา ข้าว กข 15 และ ข้าว กข 5 รวมถึงทำงานวิชาการด้านเกษตรอีกจำนวนหนึ่งจนมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชศาสตร์ (พืชไร่) ให้แก่เขา อย่างไรก็ตาม สุนทรได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อคืนวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ด้วยวัย 92 ปี และข้อความข้างต้น คือการถอดความจากเทปสัมภาษณ์ระหว่าง ‘สุนทร’ กับ ‘Biothai’ ซึ่งสามารถหาชมทั้งหมดได้ใน youtube


--- สามารถติดตามตอนต่อไปได้ที่ The Isaander ---

รายงานข่าวเชิงลึกชิ้นนี้ ได้รับการสนับสนุนโดย Internews' Earth Journalism Network ซึ่ง The Isaander ทำงานร่วมกับ ประชาไท เผยแพร่ครั้งแรกที่ https://prachatai.com/journal/2021/02/91849 ---


ผู้เขียน : วีรวรรธน์ สมนึก, สมานฉันท์ พุทธจักร, ดลวรรฒ สุนสุข และสมชาย แซ่ฟาด


---


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ข้าว #ข้ามหอมมะลิ #ทุ่งกุลาร้องไห้ #ประเทศไทย #อเมริกา #พญาอินทรี

-


ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้

-


เว็บไซต์ www.theisaander.com


เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander


อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander


ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander


1,372 views0 comments
bottom of page