top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

กินลาบกับ หมอ-พยาบาล : เรื่องสยองของโควิด-19



“เตียงที่พอ คือ เตียงที่นอนรออยู่บ้านจนตาย”​ เพื่อนของฉันคนหนึ่งเขียนข้อความนี้ลงเฟซบุ๊ค แล้วฉันบังเอิญไปเห็นเข้า


ให้หลังไม่นานนัก ฉันได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการให้ติดตามปัญหาเตียงรับผู้ป่วยโควิด-19 ไม่พอ ฉันจึงโยนคำถามนี้เข้าใส่เพื่อนหมอ และพยาบาลของฉัน ด้วยหวัง จะได้ยินคำบ่นสั้นๆ ง่ายๆ พอให้ฉันได้จับมาเขียนเล็กๆสักข่าว แต่คำตอบที่ได้กลับมากเกินคาด เพราะ เพื่อนหมอหนุ่ม หุ่นนักเพาะกายของฉัน ถึงขั้นโทรศัพท์มาเล่าสถานการณ์ด้วยน้ำเสียงขุ่นเคือง ฉันจึงจำเป็นต้องเขียนข้อเขียนนี้ให้ทุกคนได้อ่าน เผื่อจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย


“ต้องเข้าใจก่อนว่า เตียงว่าง ไม่เท่ากับเตียงที่รับคนไข้โควิดได้นะ รัฐบาลนี้ไม่โง่เลย เขาฉลาดมาก ฉลาดในการเบี่ยงประเด็น พอมีประเด็นเตียงไม่พอ เขาก็รีบออกมาบอกว่า เตียงยังว่าง ซึ่งจริง เตียงธรรมดายังว่าง แต่ที่เป็นปัญหาคือ เตียงในห้องไอซียู ที่ตอนนี้ล้นแล้ว กรุงเทพฯ วิกฤตแล้ว พอกรุงเทพฯ วิกฤตมันก็จะเริ่มกระทบในหัวเมืองต่างๆ ตามมา”


“ปกติ​ โรงพยาบาลรัฐก็คนแน่นอยู่แล้ว คิดดูว่า ช่วงนี้มีโควิดเข้าไปอีก โรงพยาบาลจะแน่นขนาดไหน หมอพยาบาลจะมีงานเยอะขนาดไหน ขนาดเราทำโรงพยาบาลเอกชน งานยังเยอะเลย แล้วคิดดูโรงพยาบาลรัฐจะขนาดไหน”


“เตียงในบางแผนกของโรงพยาบาลอาจจะว่าง แต่เตียงว่างในแผนกต่างๆ มันเอาคนไข้โควิดเข้าไปนอนไม่ได้ เพราะเดี๋ยวติดเชื้อ ดังนั้น ถ้าถามว่า เตียงว่าไหม มันก็ตอบได้ว่าว่าง แต่ถามว่า รับผู้ป่วยโควิดได้ไหม ก็ต้องบอกว่า รับไม่ได้ แผนกเราก็พยายามให้คนไข้ที่ไม่ต้องดูแลใกล้ชิดมาก กลับไปที่บ้านเพื่อเคลียร์เตียงให้ว่าง รับผู้ป่วยที่ต้องนอนจริงๆเข้ามา”


“การเพิ่มเตียงสนามมันทำได้ง่าย แป๊บเดียวก็ได้หลายร้อย หลายพันเตียง แต่มันไม่ได้รับผู้ป่วยได้ทุกคน ถ้าอุปกรณ์ไม่พอก็เท่านั้น ถ้าไม่มีหมอก็ไม่มีประโยชน์ ได้เพิ่มมาแค่เตียง แต่ไม่มีหมอดูแลคนไข้ก็ช่วยอะไรไม่ได้”


“หมอก็ขาดแคลน หมอบางแผนกถูกโยกไปดูแลคนไข้โควิด แต่มันโยกไปไม่ได้ เพราะย้ายไปก็กลับมาดูแลแผนกที่ตัวเองรับผิดชอบไม่ได้ เสี่ยงติดเชื้อเอง เสี่ยงเอาเชื้อมาติดคนไข้ ตอนนี้ กรุงเทพฯ เลยดึงหมอจากต่างจังหวัดเข้ามาช่วยเยอะมาก เอาเป็นว่า ตอนนี้หมอเต็มกรุงเทพฯแล้ว”


“แต่ไม่ใช่หมอทุกคนจะดูคนไข้โควิดได้ หมอทั่วไปอาจจะเฝ้าโรงพยาบาลสนาม ดูแลคนไข้ที่มีอาการไม่เยอะได้ แต่ผู้ป่วยวิกฤต ต้องใช้หมอเฉพาะทางดู ซึ่งตอนนี้ หมอทุกคนทำงานหนักมาก หมอเฉพาะทางขาดแคลนสุดๆ”


“ที่ผ่านมา หมอ พยาบาลได้ฉีดวัคซีนซิโนแวค ซึ่งประสิทธิภาพต่ำ ถ้าจะฉีดซิโนแวคเข็ม 3 ให้กับหมอ ก็ทำไม่ได้ เพราะประชาชนยังได้ฉีดกันไม่ครบ ต่อจากนี้ก็คงจะมีหมอที่ติดเชื้อ แล้วก็ป่วย ต้องรักษาตัวเอง ดูแลคนไข้ไม่ได้ บุคลากรที่จะดูแลคนไข้ก็จะยิ่งขาดแคลน ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หมอลดลง ยอดป่วย ยอดตายก็คงจะเพิ่มขึ้น”


“หมอที่ป่วย บางคนก็อาจจะตาย รักษาโควิดเอง ตายจากโควิดเอง”


ฉันพูดแทรกนางแทบไม่ทัน ฉันได้แต่ถอนหายใจกับสิ่งที่ได้ยิน คิดแล้วก็น่าโกรธ จากประเทศที่เจอโควิด-19 ประเทศแรกนอกแผ่นดินจีน ประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างยอดเยี่ยม ต้องกลายเป็นประเทศที่มีอัตราติดเชื้อต่อประชากรมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ยอดติดเชื้อแซงประเทศจีน ต้นกำเนิดไปแล้วเสียด้วย


“เรากำลังจะไปสู่จุดที่ต้องเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่ม แต่มีหมอที่ดูแลผู้ป่วยไม่พอ วัคซีนที่ฉีดไปสร้างภูมิได้น้อยมาก สุดทางแล้วจริงๆ”


“ทุกวันนี้ ฉีดวัคซีนให้คนเป็น 1,000 แต่ฉีดไปแล้ว วัคซีนไม่มีประสิทธิภาพ ป้องกันการติดโรคไม่ได้ ให้พวกเราเหนื่อยทำไม เราเหนื่อยไปเพื่ออะไร”


เพื่อนพยาบาลสาวขี้เมา บอกฉันในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเหนื่อยมากขึ้นอย่างมหาศาล ในการรับมือกับวิกฤตที่เธอเองก็ไม่ได้มีส่วนก่อให้มันเเกิด


“ทั้งหมดนี่ เหมือนจะเป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการก่อนหน้านี้ ใช่ไหม” ฉันถามพวกนาง แต่ไม่มีใครตอบ เพราะ ยังคงบ่นเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลอยู่


ฉันโทรไปคุยกับหมออีกคนที่อยู่ทางใต้ เพราะได้ข่าวว่า ที่นั่นก็สถานการณ์ก็วิกฤตไม่น้อย สั่งเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกบ้านบางเวลาไปแล้วเรียบร้อย


“ในต่างจังหวัดโรงพยาบาลรัฐ ปกติก็แน่นอยู่แล้ว ทั้งผู้ป่วยอาการหนัก ทั้งห้องไอซียู ยิ่งมีโควิดยิ่งไปกันใหญ่ เข้าใจว่า การระบาดครั้งนี้ เป็นการระบาดคล้ายกับที่ประเทศอื่นระบาด เพียงแต่ของไทยมาช้ากว่าเขา การระบาดมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไทยมีช่วงที่ไม่ระบาดมาตั้งเกือบ 1 ปี น่าเสียดายที่โอกาสตรงนั้น รัฐบาลไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้เตรียมจัดหาวัคซีนให้พร้อม และเพียงพอ”


“จริงอยู่ ปีที่แล้วช่วงที่เราคุมโรคได้ ไม่ระบาด โลกยังไม่มีวัคซีน แต่เรามีโอกาสที่จะติดต่อ จัดหา สั่งซื้อวัคซีนให้ได้เยอะ และเร็วที่สุด แต่เราใจเย็นเกินไป ถ้าบริหารจัดการให้ดีกว่านี้ เราน่าจะมีวัคซีนใช้ น่าจะฉีดให้กับประชาชนไปได้เยอะแล้ว ถ้าเป็นแบบนั้น การระบาดก็จะไม่รุนแรงเท่านี้ เพราะคนเริ่มมีภูมิคุ้มกันหมู่”


“กรณีหมอหัวหงอก ที่เขาออกมาเชียร์วัคซีนซิโนแวค เราต้องแยกประเด็นนะว่า ถ้าเขาไม่เกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีน ไม่มีอำนาจตัดสินใจ สิ่งที่เขาทำอยู่ คือ การพยายามเสนอข้อดี สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการฉีดวัคซีน เท่าที่พอจะมีให้ฉีด แต่ถ้าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อ ทั้งๆที่รู้ว่า วัคซีนประสิทธิภาพไม่ดี เขาคือ คนเหี้ย คนเลวคนนึง”


ในฐานะนักข่าวสาวพราวเสน่ห์ ฉันรีบยิงคำถามสำคัญ ฉันถามพวกนางว่า ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ นางและนางและนาง อยากให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร


“อันดับแรกเลยต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด”


“ต้องควบคุมการระบาดไม่ให้มีผู้ป่วยวิกฤตมากกว่านี้ แน่นอนเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์ แต่ระดับ 1-2 พันคนต่อวันยังพอได้ แต่ถ้าจะ 4-5 พันคนต่อวันมันไม่ไหว”


“ไม่เห็นด้วยกับการล็อคดาวน์ทั้งประเทศแบบเหมารวม แต่ควรพิจารณาเป็นพื้นที่ๆ อิงตามสถิติ และต้องมีการตัดสินใจที่รวดเร็ว อาจล็อคดาวน์รายจังหวัด หรือรายอำเภอที่มีการระบาด”


“การล็อคดาวน์ทั้งประเทศมีสิ่งที่ต้องแลกหลายอย่างที่อาจจะไม่คุ้มค่า โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ เพราะการที่จะล็อคจนไม่ให้ประชาชนทำมาหากินอะไรได้ พวกเขาจะไม่ไหว เขายังต้องกินต้องใช้ ถ้าสั่งล็อคอย่างเดียว สุดท้ายคำสั่งหรือประกาศก็จะไม่มีความหมาย การควบคุมโรคก็จะทำไม่ได้ไปด้วย(ซึ่งเหมือน ตอนนี้จะเป็นเช่นนั้น ดูจาก #กูจะเปิดมึงจะทำไม-ฉันเอง ฉันเพิ่มเติมเอง)”


นั่นคือคำตอบของ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนุ่มไฟแรง คนนั้น คนที่ฉันแอบชื่นชอบในอุดมการณ์ และเอเนอยี่การเคลื่อนไหวของนางเสมอมา แม้ฉันพยายามจะห้ามใจอยู่หลายครั้ง


“เริ่มจากเอาหัวหน้าออกไปก่อนเลย ต้องเอาคนที่รู้ระบบสาธารณสุข มีวิสัยทัศน์ที่กว้างกว่านี้เข้ามาบริหาร พอคุยกันในกลุ่มคนรู้สาธารณสุข มันจะเร็วกว่านี้ ไม่ใช่การดึงปัญหายืดแบบนี้ คนนึงมองผลประโยชน์เป็นหลัก มันมองคนละจุดกันกับหมอ-พยาบาล ต้องแก้ปัญหาที่จะตัดวงจรที่ไม่ให้เกิดคนไข้ใหม่ และไม่ให้เกิดคนไข้หนักมากกว่านี้ ต้องเข้าใจว่าจะทำยังไงให้ตัดปริมาณคนที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ให้เร็วที่สุด แต่ตอนนี้ ปัญหาติดอยู่ที่คอขวด”


“โรงพยาบาลร้องขอวัคซีนที่ดี แต่กลับได้วัคซีนไม่ดี เหมือนขอปืนไป แต่ได้ไม้ไผ่มา”


“ถ้าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอาวัคซีนเข้ามาได้ ไม่ถึงเดือนได้ฉีดแล้ว แล้วเอกชนเอาวัคซีนเข้ามาได้แบบนั้นบ้าง จะช่วยแบ่งเบาภาระให้รัฐได้ ช่วยให้คนมีวัคซีนฉีดให้กับประชาชนได้เร็วขึ้น ดังนั้น เปิดเลยให้เอกชนที่มีศักยภาพเอาวัคซีนเข้ามา จะช้าอยู่ทำไม ถึงบอกต้องเปลี่ยนผู้บริหาร เพราะตอนนี้มันติดที่คอขวด”


“อย่าเล่นการเมือง บนความทุกข์ของประชาชน อย่าห่วงแต่ผลประโยชน์ บนซากศพของผู้คน” หมอหนุ่มผู้รักการออกกำลังกายบอกกับฉัน ก่อนวางสาย


(เพื่อสวัสดิภาพของหมอและพยาบาลที่ให้ข้อมูลนี้ ฉันไม่สามารถเปิดเผยชื่อ หรือโรงพยาบาลที่เขาสังกัดได้ เพราะ ฉันไม่อยากทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องหายไปจากระบบเพิ่มขึ้น)


---

อนุเคราะห์บทความโดย : บุปผา ศรีจันทร์ /คอลัมนิสต์ชะนี ผู้มี #คำผกา เป็นไอดอลด้านการด่า มี #โบว์ณัฏฐา เป็นปรารถนาด้านการหาสามี


---

ขอบคุณภาพจาก Annie Spratt/Unsplash

---


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #โควิด19 #หมอ #พยาบาล #รัฐบาล #หัว #ค #ว #ย #รัฐบาลส้นตีนคนเชียร์ก็ส้นตีน

---


ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้

---


เว็บไซต์ www.theisaander.com


เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander


อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander


ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander

25 views0 comments
bottom of page