top of page
Writer's pictureThe Isaander

กินลาบ(ทิพย์)กับ คนอีสานในอิสราเอล ท่ามกลางเสียงระเบิด และเศษกระสุน



“พวกผมก็ทำงานไป เขาก็ยิงข้ามหัวผมไปมา”


พี่เอ้ หนุ่มวัย 36 ปี จากบึงกาฬ อีสาน ประเทศไทย อธิบายสถานการณ์สู้รบในอิสราเอลด้วยประโยคสั้นๆ


บทสนทนาระหว่างเรากับเขาเกิดขึ้นด้วยเหตุที่ทุกคนน่าจะทราบกันดีนั่นคือ การบาดเจ็บของแรงงานไทย 8 คน และการเสียชีวิตของแรงงานไทย 2 คนในอิสราเอล จากการถูกลูกหลงของการสู้รบระหว่าง “อิสราเอลกับปาเลสไตน์” เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนไทยราว 4 พันคนซึ่งอาศัยอยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตร วิตกกังวลกับสวัสดิภาพของตัวเอง แต่ถึงแม้สถานการณ์จะน่าหวาดกลัวเพียงใด พวกเขาจำนวนมากก็หลีกหนีไปจากดินแดนแห่งนี้ไม่ได้


“ผมก็อยากจะกลับไทยอยู่ แต่ยังกลับไม่ได้ ต้องอยู่ใช้หนี้ให้หมดก่อน” พี่เอ้ บอกกับเราผ่านวิดีโอคอล


พี่เอ้ เล่าว่าเขาเดินทางมาที่อิสราเอลในเดือนธันวาคม 2563 เพื่อมาทำสวน ที่ที่เขาอยู่เรียกว่า โมชาฟ(Moshav-นิคมเกษตรกรรม) ทาลมีโยเซฟ(Talmei Yosef) ห่างจากฉนวนกาซาประมาณ 14 กิโลเมตร ที่อิสราเอลพี่เอ้ทำงานหลายอย่าง ตามที่นายจ้างมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็น รดน้ำต้นไม้ ขุดดิน เก็บผลไม้ หรือล้อมรั้วบ้าน แต่ทั้งหมดทั้งมวล เขาเรียกรวมๆว่า “ทำสวน” หน้าเฟซบุ๊คของเขาจึงเต็มไปด้วยรูปแปลงเกษตร และรถไถ


ด้วยโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับอิสราเอล ทำให้ในแต่ละเดือนจะมีคนไทยเดินทางไปที่อิสราเอลเพื่อทำงานในไร่ และสวนคราวละ หลายร้อย แต่ในบรรดาคนหลายร้อยนั้น คงไม่มีใครคาดคิดว่า ชะตากรรมจะพาพวกเขามาพบสถานการณ์ที่เข้าใกล้สงคราม เช่นที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเชื่อว่า คนอีสานอย่างพวกเขาส่วนมากคงคุ้นเคยกับฝนลูกเห็บมากกว่า ห่ากระสุน เสียงฟ้าร้องมากกว่าเสียงระเบิด และถนัดนอนเถียงนามากกว่าหลุมหลบภัย


“ตอนนี้ พวกผมก็ทำงานปกติ อาศัยระวังเอา นายจ้างเขาไม่ได้ให้หยุดงาน มีระเบิดตกใกล้ๆ สวนที่่เราดูแล เขาถึงจะให้หยุด ชั่วคราว แล้วไปอยู่ในหลุมหลบภัย จรวดตกลงมามันก็จะมีสัญญาณเตือน คนก็วิ่งไปอยู่ในหลุมหลบภัย แต่ความจริง ระเบิดมันตกมาได้ 4 วินาที มันก็ระเบิดแล้ว ถ้าใกล้ๆก็หนีไม่ทันหรอก” พี่เอ้ เล่าให้เราฟังเมื่อถามถึงสถานการณ์ที่เขาต้องเจอในช่วงเดือน


บนหน้าเฟซบุ๊คของพี่เอ้ เราเห็นความฝันชายหนุ่มคนนี้ชัดเจน มันไม่ได้เป็นฝันแบบที่อยากมีร้านกาแฟชิคๆ อยากเป็นยูทูปเบอร์ หรือร่ำรวยจากกาขุดคริปโต ฝันของเขาแค่ การมีวัวสวยๆ ให้เลี้ยง แทบจะทุกวัน เราจึงเห็นเขาโพสต์ทั้งรูป และเรื่องเกี่ยวกับวัว ไม่เป็นรูป “วัวเนื้อสวยๆ” ของคนอื่น ก็เป็นวัวของเขาที่ซื้อเอาไว้ ณ บ้านเกิดก่อนจะจากมายังอิสราเอล


ในขณะที่ชายหนุ่มวัยเดียวกับเขาบ่นคิดถึงคนรัก พี่เอ้ บ่นถึงวัวที่บ้านอย่างบ่อยถี่บนเฟซบุ๊ค “ความสุขของคนเลี้ยงวัว คือปล่อยวัวหากินเองตามสบาย ส่วนคนก็แขวนเปลนอนดูวัว”, “คิดฮอดงัว อยากกลับไปเลี้ยงงัวแล้วหล่ะ อาชีพอิสระสบายที่สุดในโลกแล้ว” หรือบางวันเขาก็ ถ่ายทอดความฝันของตัวเองเป็นข้อความ “อยากได้แม่พันธ์ุบีฟมาสเตอร์”


นอกจากเรื่องวัว ชีวิตประจำวันของพี่เอ้ในบ้านเกิดพระเยซู ถูกโพสต์ให้เพื่อนของเขาเห็นเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมระหว่างวัน การดูแลสวน การขับรถไถ การหยอกล้อกับเพื่อนร่วมงานชาวนครพนม มื้ออาหาร หรือกระทั่งสถานการณ์การสู้รบที่เกิดขึ้นไม่ห่างที่ทำงานของเขา แม้จะไม่ได้เขียนอะไรตรงๆว่า เหงา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลายครั้ง ข้อความและภาพตลกๆบนหน้าเฟซบุ๊คของแรงงานไทยไกลบ้าน เปื้อนเต็มไปด้วยความรู้สึก “คิดถึงบ้าน”


เราพบว่า ความเหงาน่ากลัวไม่แพ้สงคราม สำหรับคนที่ต้องห่างครอบครัว ญาติสนิท มิตรสหาย เพราะ เมื่อเราได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊คของแรงงานไทยในอิสราเอลก็พบว่า ได้มีแรงงานบางคนที่ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง หลังจากไปแสวงโชคในต่างแดนไม่นาน


ที่เราสังเกตได้อีกอย่างคือ คนไทยส่วนมากที่ไปเป็นชาวสวนที่นั่นมาจาก “อีสาน” และหลังจากที่มีแรงงานไทยเสียชีวิตจากลูกหลงของสงคราม ความคิดเห็นที่เราได้อ่านมากที่สุดใต้โพสต์ของแรงงานไทยที่นั่น จึงเป็นคำว่า “กลับบ้านเฮาสา” (กลับบ้านเราเถอะ) และเมื่อมีเพื่อนเรียกร้องให้พี่เอ้กลับไทย คำตอบที่ได้ คือ “มีแต่คนอยากกลับแต่กลับบ่ได้จักคน”


“พวกผมหยุดงานก็ไม่ได้เงิน หยุดงานเขาก็ไม่จ่ายเงิน แล้วผมจะเอาที่ไหนใช้หนี้” คือ คำตอบของพี่เอ้ เมื่อเราถามว่า “ทำไมไม่กลับบ้าน” ในขณะที่กลางเดือนพฤษภาคม สถานการณ์การสู้รบทวีความรุนแรงขึ้น พี่เอ้บอกกับเราว่า เสียงจรวด และกระสุนปืนทำให้บางคืนเขาแทบไม่ได้นอน


“คืนนี้ พวกเราได้วิ่งเข้ามานอนในหลุมหลบภัย เนื่องจากโดนโจมตีเวลา 21.00 น. กำลังจะหลับพอดี เสี่ยงสนั่นมาก ดูความลำบากของพวกเราครับ” คือ หนึ่งในข้อความบนหน้าเฟซบุ๊คพี่เอ้ ที่ถูกเขียนเพื่อประกอบภาพของตัวเขาและเพื่อน ในคืนวันที่ 19 พฤษภาคม


ในวันเดียวกันนั้น พี่เอ้ยังได้เขียนข้อความว่า “บ่ต้องห่วงผมเด้อคนทางบ้าน ผมเอาตัวรอดได้ เเต่เดือนหน้าอาจจะบ่ได้ส่งเงินกลับบ้าน”, “เข้าบ้านก่อน บ่เอาชีวิตอันน้อยมาเสี่ยงกับเงินค่าแรงแค่นี้ดอก”, “เป็นจั่งใด๋น้อโมชาฟยาเต็ด เมื่อกี้เห็นระเบิดลงสองลูก ดินไงกุบ เสียงสนั่นหวั่นไหว”


ก่อนหน้านั้นไม่นาน พี่เอ้เคยโพสต์ภาพ “เศษจรวด” ที่ตกลงมาในเรือนเพาะชำ หรือภาพ “กระสุนปืน” หลากหลายขนาดที่พี่เอ้เก็บได้จากแปลงปลูก แม้ตัวเขาเองจะไม่ได้เขียนถึงมันด้วยน้ำเสียงหวาดกลัวใดๆ แต่มันก็ได้สะท้อนว่า ชีวิตของพวกเขา คนไทยในอิสราเอลไม่ได้ปลอดภัย หรือสุขสบาย แม้จะมีรายได้ต่อเดือนสูงกว่านักศึกษาจบใหม่ในประเทศไทยถึง 3 เท่าก็ตาม


“หลูโตนสาวฝรั่ง บ้านเขาเกิดสงคราม อยากพากลับไปเลี้ยงงัวอยู่ไทยเด้เนาะ” แม้จะอยู่ท่ามกลางสภาพสงคราม แต่สเตตัสของเขาก็ยังคงสามารถตลกขบขันได้ หลายข้อความทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า คนอีสานเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี และมีอารมณ์สนุกฝังอยู่ในนิสัยมากกว่าคนจากภูมิภาคอื่นโดยไม่ทราบสาเหตุ


เราถามพี่เอ้ว่า นายจ้าง หรือรัฐบาลประเทศเขามีปฏิกริยา หรือท่าทียังไงกับแรงงานไทย เมื่อสถานการณ์ที่นั่นเริ่มล่อแหลม น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ


“พอจะเริ่มยิงกัน นายจ้างเขาก็พาลูก พาเมียหนีไปอยู่ที่อื่นแล้ว พวกผมก็ทำงานต่อไป ระเบิดตกในระยะ 100 เมตรถึงค่อยให้หยุด วันก่อนระเบิดก็ตกใกล้ๆ โชคดีไม่โดน ก็ต้องระวัง คอยมองฟ้าเอา” พี่เอ้ บอกกับเราผ่านวิดีโอคอล


ระหว่างที่คุยกัน พี่เอ้ชี้มือให้ดูหลายจุดสำคัญรอบสวนที่เขาดูแล “ที่ผมอยู่ห่างจากปาเลสไตน์นิดเดียว” คำว่านิดเดียวของเขาคือ สามารถถีบจักรยานไปถึง หรือเพียงแค่ขึ้นไปยืนอยู่บนเนินก็มองเห็น “ฐานอิสราเอลก็อยู่ตรงเนี้ย” เขาชี้มือไปอีกทาง “ที่ระเบิดลงวันก่อน ที่มีคนไทยตาย อยู่ถัดไปนี่” เขาหมายถึง โมชาฟโอฮาด(Ohad) ด้วยภูมิศาสตร์เช่นนี้ เราจึงสามารถบอกได้ว่า ที่ที่พี่เอ้อยู่ คือ ส่วนหนึ่งของสนามรบโดยแท้


ให้หลังการเสียชีวิตของคนไทยในอิสราเอล ไม่นาน กระทรวงแรงงานไทยให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนว่า สถาบันประกันแห่งชาติอิสราเอล จะจ่ายค่าทดแทนกรณีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือพิการ เพิ่มเติมจากค่าจ้างในช่วงที่ทำงานไม่ได้เพราะบาดเจ็บ โดยถ้าบาดเจ็บหรือพิการ 10-19% จะได้รับเงินก้อนครั้งเดียว ไม่เกิน 150,000 เชคเกล (ประมาณ 1,500,000 บาท)


ถ้าบาดเจ็บหรือพิการ เกิน 20% ขึ้นไป จะได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือนทุกเดือน จนกว่าจะเสียชีวิต โดยคำนวณจากเปอร์เซ็นต์สูญเสีย โดยคำนวณว่าหาก 100% จะได้รับเดือนละประมาณ 6,000 เชคเกล (ประมาณ 60,000 บาท)


กรณีเสียชีวิต ภรรยาและบุตรของผู้เสียชีวิตทุกคนจะได้รับเงินช่วยเหลือทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ หรือลูกมีอายุครบ 18 ปี โดยภรรยาจะได้รับประมาณ 60% ของ 6,000 เชคเกลทุกเดือน (ประมาณ 36,000 บาท) บุตร จะได้รับประมาณ 10-20% ของ 6,000 เชคเกลทุกเดือน (ประมาณ 6,000-12,000 บาท)


ขณะที่ กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศของรัฐบาลไทยจะจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง ไม่เกินคนละ 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศจะได้เงินช่วยเหลือ 80,000 บาท แบ่งออกเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 40,000 บาท ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท


“ถ้าช่วยได้ ก็อยากให้คุยกับนายจ้าง แล้วย้ายพวกผมให้ไปอยู่ภาคกลางที่สงครามมันไปไม่ถึงหน่อย” พี่เอ้ ตอบคำถามที่เราถามว่า ต้องการอะไรจากรัฐบาลไทย หรือสถานทูตไทย


หลังเกิดเหตุ แม้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน จะบอกว่า มีนโยบายที่จะย้ายคนไทยออกจากพื้นที่สู้รบ แต่เหมือนมันจะเป็นเพียง “ความอยากของรัฐบาล” เพราะในความเป็นจริง ทุกวันนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยน ทุกคนยังคงต้องทำงานในพื้นที่ที่เสี่ยงเหมือนเดิม พี่เอ้ก็เช่นกัน


ความจริงชีวิตของแรงงานไทยในอิสราเอล ฟังดูเหมือนจะลำบากในช่วงนี้ แต่ส่วนที่ดีกว่า คือ “ผมมาถึงก็ไม่ต้องกักตัวแล้ว เขาฉีดไฟเซอร์ให้เลย 2 เข็ม”


หลังจากฟังประโยคดังกล่าว เรารู้สึกเหมือนโดนเกทับ ยังไงก็ไม่รู้


---

ขอบคุณภาพประกอบจาก พี่เอ้ ใครอยากติดต่อสนับสนุนวัวให้เขา สามารถทักเข้ามาในข้อความเราได้

---


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #โควิด19 #แรงงาน #ปาเลสไตน#ฮามาส #อิสราเอล #เทลเอวีฟ #ทำสวน #สงคราม #สู้รบ #กลับบ้านเฮาสา #บึงกาฬ

---


ติดตาม The Isaander ได้ในหลายช่องทางดังนี้

---


เว็บไซต์ www.theisaander.com


เฟซบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander


อินสตาแกรม www.instagram.com/theisaander


ทวิตเตอร์ twitter.com/TIsaander


67 views0 comments

Kommentare


bottom of page