top of page
Writer's pictureThe Isaander

แรงงานข้ามชาติ เหยื่อโควิด-19 ที่ถูกลืม



“มีแรงงานข้ามชาติล้านกว่าคนที่จ่ายเงินประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานไทย แต่การกรอกข้อมูลรับสิทธิประโยชน์กลับไม่มีภาษาของแรงงานข้ามชาติ มีแต่ภาษาไทย กับภาษาอังกฤษ แถมยังต้องกรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลักซึ่งเขาไม่มี ทำให้เขาไม่ได้รับเงินเยียวยาตามสิทธิที่ควรได้” อดิศร เกิดมงคล กล่าว


การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019(COVID-19) ในประเทศไทย ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจ หลายกิจการจำเป็นต้องหยุดชั่วคราว แรงงานไทยได้รับผลกระทบไม่น้อยจากการถูกลดภาระงาน การหยุดงานแบบไม่จ่ายค่าแรง หรือแม้กระทั่งการเลิกจ้าง ขณะที่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ซ้ำยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากรัฐบาลไทย


“ตอนนี้ พี่น้องแรงงานส่วนใหญ่อยากกลับบ้าน เพราะไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร จำนวนมากตกงาน แต่ด่านไม่ให้ข้ามกลับประเทศ เงินที่เก็บไว้หมดไปแล้ว คนที่อยากกลับบ้านน่าจะประมาณเกือบแสนคนแล้ว ที่ลงทะเบียนกับสถานทูตพม่าก็เกือบ 30,000 กว่าคนแล้ว ยังมีกลุ่มที่ไม่มีเอกสารอีก พวกนี้เขาไม่อยากจะอยู่แล้ว” จอห์นนี่ อาดิคารี แกนนำแรงงานเมียนมาในประเทศไทย กล่าว


ขณะที่ ไอ บี แรงงานก่อสร้างชาวเมียนมา อายุ 24 ปี เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เขาได้รับผลกระทบเรื่องรายได้


“ได้รับผลกระทบ คือ โดนบังคับหยุดวันอาทิตย์ หรือ ทำวันเว้นวัน ถ้าเป็นคนงานทั่วไป ทำให้รายได้น้อยลง เพราะเราทำงานก่อสร้าง ได้รายได้เป็นรายวันวันละ 300 กว่าบาทนิดๆ ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เมื่อก่อนการไปทำงาน เราใช้รถมอเตอร์ไซค์ เขาจะจ่ายค่าน้ำมันให้ แต่ตอนนี้ ไซต์จ่ายค่าน้ำมันให้เพียงแค่ครึ่งเดียวจากเมื่อก่อน ที่ผ่านมาบริษัทก่อสร้าง หรือรัฐบาล ไม่เคยช่วยเหลืออะไร ถ้ารัฐบาลไทยช่วยได้ อยากให้ช่วยเยียวยาเหมือนคนไทย ไม่ต้องแบ่งอาชีพโน้น อาชีพนี้ ก็อยากให้ดูแลถ้วนหน้าทุกคน” ไอ บี กล่าว


สถิติของกระทรวงแรงงานถึงเดือนมีนาคม 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวเมียนมา ลาว และกัมพูชา 2,814,481 คน โดยแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการก่อสร้าง และเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 หลังจากที่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากรายวัน ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ส่งหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ปิดด่านชายแดน และจุดผ่อนปรน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด


อดิศร เกิดมงคุล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ(MWG) ประเมินว่า มีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 5 แสนรายที่ถูกเลิกจ้าง หรือได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19


“มีกิจการที่ได้รับผลกระทบ กิจการที่ปิดตัว คือ งานภาคบริการ โรงแรม ร้านค้า ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 2 แสนกว่าคน ภาคส่วนอื่นๆ เช่น การผลิตอาหาร เสื้อผ้าสำเร็จรูปอยู่ที่ 2 แสนนิดๆ งานก่อสร้างประมาณ 2 แสนกว่าคน ดังนั้นตัวเลขอาจจะมากกว่า 5 แสนคน คาดว่ามีแรงงานเดินทางกลับบ้านแล้วประมาณ 2 แสนกว่าราย เป็นตัวเลขที่ประเมินจากด่านตรวจคนเข้าเมืองต่างๆ และเช็คกับรัฐบาลประเทศต้นทาง” อดิศร กล่าว


ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศไทย และออกมาตรการ ปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทุกช่องทาง โดยให้เข้าได้เฉพาะผู้ได้รับอนุญาต หรือคนไทยที่ต้องการจะกลับประเทศแต่จำเป็นต้องมีเอกสารรับรอง


สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบ โดย ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เปิดเผยว่า แรงงานข้ามชาติในกรุงเทพฯ และบางจังหวัดของภาคกลาง ถูกเลิกจ้าง และไม่ได้รับเงินชดเชย


“สภาพกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคกลาง ปัญหามี 2 ระดับ คิือ ระดับที่ 1 แรงงานมีช่วงที่ได้ทำงานบ้าง ไม่ได้ทำงานบ้าง บางส่วนทำงานอาทิตย์ละหนึ่งวัน หรือสลับกันมาทำงาน รายได้น้อยลง แต่ไม่ได้รับเงินเยียวยา ระดับที่ 2 คือ เลิกจ้างไปเลย ไม่มีเงินชดเชยให้ ต้องไปหางานใหม่ แอลพีเอ็นใช้การแจกถุงยังชีพ เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำความรู้จักแรงงานที่ได้รับผลกระทบแจกไปประมาณ 3 พันกว่าราย กรุงเทพฯ นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร พบว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ถูกเลิกจ้าง” ปฏิมา กล่าว


“การเลิกจ้างต้องชดเชย แต่ตอนนี้ แรงงานไม่รู้ข้อมูล ไม่รู้สิทธิของตัวเอง ในขณะเดียวกันหางานใหม่ ต้องทำเอกสารต่างๆมากมายให้ถูกกฎหมาย ต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 พันบาท แรงงานบางคนหมดสัญญาในเดือนมีนาคม บริษัทก็ถือโอกาสไม่ต่อสัญญา ประเภทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบคือ โรงแรม ก่อสร้าง โรงงานขนาดเล็ก ลูกจ้างเอสเอ็มอี ต่างๆ ที่ไม่ใช่กิจการขนาดใหญ่ ให้คนงานหยุด ให้ข้าวสารไป แล้วก็เลิกจ้าง” ปฏิมา กล่าวเพิ่มเติม


ด้าน สุธาสินี แก้วเหล็กไหล จากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า ปัญหาของแรงงานข้ามชาตินอกจากไม่ได้รับการชดเชยการเลิกจ้างแล้ว รัฐบาลไทยยังไม่มีความจริงใจในการช่วยเหลือ


“มีเลิกจ้างมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นแรงงานในกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า รองเท้า ก่อสร้าง โรงแรม ร้านอาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์ เหล็ก และโลหะ เฉพาะที่ติดต่อมาหาเราก็เกือบ 3 พันรายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพม่า มาตรการรัฐยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนสำหรับแรงงานข้ามชาติ คำว่า ชัดเจน คือ กระทรวงมหาดไทย หรือกระทรวงแรงงาน มีการประกาศให้แรงงานต่างด้าวอยู่ไปพลางได้ก็จริง แต่แรงงานก็ยังโทรมาว่า นายจ้างไม่สนใจประกาศนั้น อ้างว่า ไม่มีตราครุฑ” สุธาสินี กล่าว


“รัฐควรมีความเข้มงวดในการประกาศ ต้องบังคับใช้ให้ได้ เวลาเขาว่างงาน ต้องไปที่จัดหางาน จัดหางานจะดำเนินการส่งต่อให้ประกันสังคม นายจ้างเก่าต้องออกเอกสารยืนยันการออกจากงานให้ ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องมีการจ้างทนายความดำเนินการ และต้องส่งกันหลายต่อ ธุรกิจขนาดเล็ก หรือกลาง หลายแห่งก็ไม่นำคนงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม พอถึงสถานการณ์นี้ก็ปล่อยเขา” สุธาสินี กล่าวเพิ่มเติม


สุธาสินี ระบุว่า สิ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องการที่สุดในตอนนี้ คือ การอนุญาตให้พวกเขากลับประเทศ เพราะว่า การอยู่ในประเทศไทยนอกจากจะเสี่ยงติดโรคแล้ว ค่าใช้จ่ายยังมาก ขณะที่ไม่มีรายได้


“ตอนนี้ เท่าที่เรารับโทรศัพท์ วันนึงประมาณพันกว่าสาย แรงงานที่โทรมา 90 เปอร์เซ็นต์ต้องการกลับประเทศ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ถ้าช่วยเหลือเขาไม่ได้ หาถุงยังชีพก็ไม่ทั่วถึง ตรวจสอบสถานประกอบการก็ไม่ได้ ก็ให้เขากลับบ้านดีกว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องคุยกัน ว่าจะหาช่องทางให้เขากลับบ้านได้ยังไง มีเงินให้เขากลับบ้านด้วยก็จะดี เอาเงินส่งเขากลับประเทศ” สุธาสินี ระบุ


หลังจากที่แรงงานข้ามชาติจำนวนมากประสบปัญหาถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ขาดรายได้ และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดอย่างถูกกฎหมายได้ ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งต้องลักลอบหนีออกนอกประเทศ เพื่อกลับบ้านเกิด โดยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เจ้าหน้าที่ทหารสามารถจับกุมแรงงานเมียนมา 81 ราย ที่พยายามลักลอบข้ามพรมแดนธรรมชาติกลับเมียนมาที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 เจ้าหน้าที่ทหารพรานสามารถควบคุมตัว แรงงานกัมพูชา 49 ราย ที่พยายามแอบข้ามพรมแดนกลับประเทศกัมพูชาที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ด้วย


สำหรับการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติของรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 พิศมัย นิธิไพบูลย์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า มีผู้ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานช่วงโควิด-19 1,177,841 คน ได้สั่งจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนไปแล้วทั้งสิ้น 426,358 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 243,974 คน และอยู่ระหว่างติดตามนายจ้างจำนวนกว่า 50,000 สถานประกอบการให้เข้ามารับรองสิทธิลูกจ้างจำนวน 507,509 คน


ตามกฎหมาย แรงงานต่างด้าวที่ประกันตนเองตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ) ซึ่งใช้หนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงาน เป็นหลักฐาน จะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน เช่นเดียวกับแรงงานไทย โดยวันที่ 15 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ กองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยการว่างงานให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะจ่ายร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 7,080-8,000 บาท


อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมไม่ได้ระบุมาตรการเฉพาะสำหรับแรงงานข้ามชาติ หรือเปิดเผยตัวเลขว่าได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่แรงงานข้ามชาติหรือไม่ ขณะเดียวกันดิ อีสานเด้อ พยายามติดต่อไปหา ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เพื่อขอข้อมูลเพิ่ม แต่ไม่ได้รับคำตอบในประเด็นดังกล่าว โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า จนถึงเดือนเมษายน 2562 สำนักงานประกันสังคมระบุว่า มีแรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคม จำนวน 1,126,952 คน โดยเป็นสัญชาติพม่า 724,915 คน สัญชาติกัมพูชา 237,534 คน สัญชาติลาว 55,283 คน และสัญชาติอื่น ๆ 109,220 คน


เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 กระทรวงแรงงาน ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสภากาชาดไทย ในประเด็นการระบาดของโควิด-19 กับแรงงานข้ามชาติ โดยหลังการประชุมได้ข้อสรุปว่า กระทรวงแรงงานและสภากาชาดไทยจะร่วมมือกันให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แก่แรงงานต่างด้าว โดยจัดทำเอกสารเผยแพร่เป็นภาษาของแรงงานต่างด้าว และจะมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์


วันที่ 22 เมษายน 2563 สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงสถานประกอบการ และนายจ้างแรงงานต่างด้าว ให้กำชับแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในความรับผิดชอบให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด และมาตรการป้องกันโรค เพื่อลดอัตราเสี่ยงในการแพร่ระบาดโควิด-19 และวันที่ 28 เมษายน 2563 กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้อาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจโรคแรงงานต่างด้าวเชิงรุก โดยเริ่มที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียน 268,084 คน ใช้การเก็บตัวอย่างน้ำลายเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยวางเป้าหมายให้สามารถเก็บได้ 2,100 ตัวอย่าง


“มาตรการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว กระทรวงให้ความคุ้มครองดูแลเหมือนกับแรงงานไทย เพราะใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน สามารถเรียกร้องผ่านสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ประเทศไทยมีกองทุนที่คุ้มครองแรงงานไทย และต่างด้าว 2 กองทุน คือ กองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนที่คุ้มครอง กรณี บาดเจ็บ หรือต้องหยุดงาน จากการทำงาน อีกทุนนึงคือ กองทุนประกันสังคม มีการคุ้มครองอยู่ 7 การคุ้มครองเช่นเดียวกับแรงงานไทย” สุชาติ กล่าว


“การเลิกจ้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราดูแลเช่นเดียวกับแรงงานไทย เราไม่ได้ดูดาย เราประสานงานกับทูตแรงงานของประเทศนั้นๆ เพื่อหานายจ้างใหม่ให้ ถ้าเขาถูกเลิกจ้าง… การจะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามายังประเทศไทยเมื่อใดขึ้นอยู่กับ รัฐบาลประชุมและตัดสินใจ ซึ่งก็ต้องดูสถานการณ์ในประเทศ และของประเทศเพื่อนบ้านประกอบ โดยตอนนี้เราได้ประกาศชะลอการนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด” สุชาติ ระบุ


นอกจากนั้น กรมควบคุมโรคได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เเละมูลนิธิรักษ์ไทย เปิดสายด่วนแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ความรู้แรงงานข้ามชาติเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นภาษาแรงงานข้ามชาติ โดยแรงงานข้ามชาติที่ต้องการข้อมูลสามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่หมายเลข 1422 หากต้องการฟังเป็น ภาษากัมพูชา ให้กดหมายเลข 81 ภาษาลาว กดหมายเลข 82 และภาษาเมียนมา กดหมายเลข 83 โดยสายด่วนเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563


อย่างไรก็ดี สุธาสินี มองว่า มาตรการของรัฐบาลไทยที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ ยังไม่ชัดเจนและแก้ปัญหาได้จริง


“ถ้ารัฐจริงใจกับการแก้ปัญหา ก็ควรอนุโลมให้การขอรับเงินชดเชยของแรงงานข้ามชาติไม่ต้องมีการขอใบแจ้งออก ไม่ต้องส่งหลายทอด ควรทำกระบวนการให้สามารถส่งตรงไปที่ประกันสังคมได้เลย ถ้าการระบาดจบไปแล้ว จะเอาเขากลับเข้ามาทำงาน ก็ต้องคัดกรองให้ดี ทำประวัติไว้ก่อน ถ้าต้องฟื้นฟูเยียวยาจะได้สะดวก” สุธาสินี กล่าว


ปฏิมา เห็นว่า ในการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติหลังการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลไทยควรลดค่าใช้จ่ายในการทำเอกสาร และทำข้อมูลให้ชัดเจนเพื่อการดูแลแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ


“รัฐควรจะมีมาตรการเฉพาะเพื่อช่วยเหลือ ระยะยาว ถ้าโควิดเลิกระบาด ธุรกิจต่างๆเริ่มกลับมาเปิดใหม่ รัฐไทยควรจะ ลดค่าใช้จ่าย ในการกลับเข้ามาทำงานของแรงงานข้ามชาติ ทุกอย่างต้องฟรี แต่ต้องให้ลงทะเบียนเพื่อให้รู้ว่าเขาอยู่ไหน พิสูจน์สัญชาติ ขึ้นทะเบียนทั้งนายจ้าง และลูกจ้างเพื่อจะได้เข้าระบบ ตรวจสอบได้” ปฏิมา กล่าว


ขณะที่ สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการแอลพีเอ็น เสนอให้รัฐบาลไทย ปฏิรูประบบจัดการแรงงานข้ามชาติใหม่ รวมถึงเตรียมแผนสำหรับรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ หรือวิกฤต เพื่อให้สามารถดูแลแรงงานได้อย่างเหมาะสม ในสถานการณ์เช่นการระบาดของโควิด-19 นี้


“ต้องปฏิรูประบบบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติใหม่ให้เอื้อกับสถานการณ์ภัยพิบัติอื่น ๆ ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยวิเคราะห์สถานการณ์กับแรงงาน ต้องมีการศึกษาสถานการณ์และจัดการให้แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่ได้เมื่อมีปัญหา ให้เขาทำประกันสังคมแบบที่เหมาะสมกับเขา ให้เขาใช้บัตรเดียวเพื่อรับสิทธิ จะได้ลดปัญหาเอกสารไม่ครบ” สมพงษ์ กล่าว


“มาตรการคุ้มครองแรงงานของรัฐ ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องพึ่งพานายจ้างมาก เช่น การทำประกันสังคม บางที่ลูกจ้างจ่ายเงินให้นายจ้างทุกเดือนเพื่อประกันตน แต่นายจ้างไม่ทำประกันสังคมให้ ไม่ยอมเอาเงินไปจ่าย การดำเนินเอกสารเอง หรือทำเอกสารผ่านนายหน้า ก็มีราคาแพง แรงงานไม่มีเงินจ่าย บางรายเลยกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และก็ตามมาด้วยการถูกเอาเปรียบจากนายหน้า นายจ้าง หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่” สมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม


อดิศร เห็นว่ารัฐบาลไทยควรปรับปรุงระบบจัดการแรงงานข้ามชาติเพิื่อความสะดวกในการเข้าถึง


“หากรัฐช่วยเหลือได้ เบื้องต้น ควรแก้ไขระบบการช่วยเหลือ ควรทำระบบให้มีการกรอกข้อมูลเป็นภาษาของเขา เพื่อรับเงินเยียวยาประกันสังคม มีการผ่อนปรนข้อกฎหมายบางตัว เช่น เรื่องการย้ายนายจ้าง ต้องยกเว้นกฎหมายในช่วงนี้ เพราะกลับบ้านไม่ได้ ต้องวางแผนให้ชัด ว่าจะเริ่มประกอบกิจการได้เมื่อใด และที่อยากเห็นจริงๆ คือ เรื่องของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา ถ้ามีคณะทำงานจากภาคส่วนอื่นที่ช่วยรัฐน่าจะดีกว่า การแก้ปัญหาจะตรงจุดมากกว่า” อดิศร ระบุ


---

#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #แรงงานข้ามชาติ #งานหนัก #เงินน้อย #จน #คือเก่า #เขมร #พม่า #เมียนมา #กัมพูชา #เฮ็ดเวียก #เฮ็ดงาน #โควิด19 #โคโรนา


ขอบคุณข้อมูลจาก เบนาร์นิวส์ และประชาไท

702 views0 comments

Comments


bottom of page