top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

เพื่อนวันเฉลิม : แม้วันเฉลิมเป็นอาชญากรก็ไม่ควรถูกอุ้ม



ในวันพฤหัสบดีนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายประชาสังคมได้จัดงานเสวนา “ตามหาวันเฉลิม : ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชน จากการถูกบังคับสูญหาย(และทรมาน) โดยผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวถึง นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยไทยที่ถูกลักพาตัวในกัมพูชาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ว่า แม้นายวันเฉลิมจะเป็นอาชญากรก็ไม่ควรถูกลักพาตัว เนื่องจากทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย


“ไม่ว่าจะเป็นวันเฉลิมหรืออาชญากร ก็ไม่สมควรที่จะถูกอุ้ม เพราะเรามีกระบวนการทางกฎหมาย ไม่สมควรที่จะมีใครถูกกระทำแบบนี้ แม้กระทั่งอาชญากรก็ไปอุ้มเขาไม่ได้ เรามีกระบวนการทางกฎหมายที่ต้องให้ความยุติธรรม” นายชยุต์ ศิรินันทไพบูลย์ ตัวแทนกลุ่มเพื่อนวันเฉลิม กล่าวในการเสวนา


นายชยุต์ ระบุว่า ตนเองรู้จักกับนายวันเฉลิมตั้งแต่ปี 2552 จากการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับเรื่องเพศ และ HIV/AID โดยทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี ก่อนที่นายวันเฉลิมจะลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศหลังจากการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในปี 2557 ซึ่งนายวันเฉลิมเป็นหนึ่งในคนที่ถูก คสช. เรียกเข้าไปรายงานตัว แต่วันเฉลิมไม่ปฏิบัติตาม จึงถูกออกหมายจับในความผิดฐานขัดคำสั่ง คสช.


“พวกเรารวมทั้งวันเฉลิมไม่ได้มั่นใจในความยุติธรรมที่จะได้รับจากรัฐ วันเฉลิมเลือกที่จะแสวงหาความปลอดภัยในชีวิต ก็เลยเลือกที่จะลี้ภัย” นายชยุต์ กล่าว



ผู้ลี้ภัยไทยหายประเทศเพื่อนบ้าน-ผู้ลี้ภัยประเทศเพื่อนบ้านก็หายในไทย



ด้าน นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ เจ้าหน้าที่จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า ช่วงที่ผู้ลี้ภัยชาวไทยหายตัวไปขณะอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับที่ผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านมาหายตัวในประเทศไทย


“ช่วงที่มีการรัฐหารใหม่ๆ มีผู้ลี้ภัยไทยหนีไปกัมพูชา ในลาว ก็ยังไม่มีการส่งตัวจากกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ช่วงปี 57-58 ไม่มีเรื่องคนหาย แต่เหตุร้ายครั้งแรกมาเกิด ปี 59 เป็นดีเจซุนโฮ หลังจากนั้นมีกรณีโกตี๋ ปี 61 มี 2 เคส คุณสุรชัย ภูชนะ และกาสะลอง หลังจากนั้นก็มีกรณีคุณสยาม ชูชีพ กฤษณะ ในปี 62 ที่น่าสนใจก็คือ กรณีประเทศลาว อ็อด ไชยะวง นักเคลื่อนไหวชาวลาวหายตัวไป กัมพูชาก็มีกรณีนักเคลื่อนไหวที่มาอยู่ในเมืองไทย ปรากฎว่ามีรายงานส่งกลับ” นายอานนท์ กล่าว


“รวมถึงมีกรณีเวียดนามก็มีคนที่ลี้ภัยมาอยู่ในไทยแล้วก็หายตัวแล้วปรากฎตัวไปอยู่ในคุกที่เวียดนาม ที่พูดถึงเวียดนามเพราะกรณี สยาม ชูชีพ กฤษณะ มีรายงานว่า เขาพยายามเข้าเวียดนามแล้วถูกจับ แล้วหายไป คุณแม่ของคุณสยามก็ไปยื่นหนังสือ ก็ไม่ได้รับรายงาน มันไม่ได้มีการยืนยันใดๆทั้งสิ้นว่ารัฐทำ แต่ว่ามันก็ไปพ้องกับช่วงเรากำลังจะมีการเลือกตั้ง กรณีจ่านิว เคยถูกอุ้มตัว หรือคุณเอกชัย หงส์กังวาน ก็ถูกทำร้าย ทั้งเบาและหนัก” นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติม


ทั้งนี้ นายวันเฉลิม ถือเป็นผู้ลี้ภัยรายที่ 9 ซึ่งหายตัวไปหลังการรัฐประหารโดย คสช. ซึ่ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ที่ต้องหนีออกนอกประเทศหลังการยึดอำนาจ โดยมี 8 รายที่ต้องหายตัวไปก่อนหน้านนายวันเฉลิม ประกอบด้วย 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) 4. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 5. นายสยาม ธีรวุฒิ 6. นายกฤษณะ ทัพไทย 7. นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ) และ 8. นายไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) โดยสองรายหลังสุด หายตัวไปพร้อมกับนายสุรชัย และถูกพบเป็นศพลอยมาติดตลิ่งแม่น้ำโขง เขตจังหวัดนครพนม ในสภาพถูกผ่าท้องและยัดด้วยแท่งปูน


ขณะที่ ปี 2562 นายอ็อด ไชยะวง นักเคลื่อนไหวชาวลาว และ นายเจือง ซุย เยิด อดีตนักข่าววิทยุเอเชียเสรี(RFA) ชาวเวียดนาม ซึ่งลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทย ถูกรายงานว่าหายตัวไป ก่อนที่นายเจืองจะปรากฎตัวอีกครั้งในฐานะจำเลยที่ประเทศเวียดนาม ขณะที่ ปี 2561 น.ส.สัม สุขา นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชา ถูกจับกุมตัวหลังจากหนีเข้าประเทศไทย ก่อนที่ภายหลังจะถูกนำตัวไปดำเนินคดีที่ประเทศเวียดนาม ส่วนนายอ็อด ยังไม่เคยพบความเคลื่อนไหวอีก



วันเฉลิมจะไม่ใช่ผู้ลี้ภัยได้ไง



ขณะที่ นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า การที่นายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงต่อ สภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ว่า นายวันเฉลิมนั้นไม่ใช่ผู้ลี้ภัย เนื่องจากยังไม่ได้รับสถานะลี้ภัยจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง


“วันเฉลิมอยู่ในสถานะที่เขาอาจจะถูกพรากชีวิตไป เราจะต้องเห็นอกเห็นใจวิตกกังวล ห่วงกังวล วันเฉลิมเป็นคนไทย จะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับรัฐบาลไม่เกี่ยว จะเป็นที่รู้จักส่วนตัวของนายกฯประยุทธ์ หรือรัฐมนตรีต่างประเทศดอนไม่เกี่ยว รัฐบาลต้องมีหน้าที่คุ้มครองชีวิตของคนไทย ผมเสียใจที่ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเหน็บว่า วันเฉลิมไม่ใช่ผู้ลี้ภัย” นายสุณัย กล่าว


“ผู้ลี้ภัย คือคนที่มีความกลัว กลัวว่าจะถูกประหัตย์ประหาร เนื่องจากเขามีความเชื่อทางอุดมการณ์ ทำให้ต้องอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเองไม่ได้ ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปขึ้นทะเบียนกับ UNHCR เขามีความกลัว กรณีวันเฉลิมชัดเจนว่า เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง การมาเบี่ยงประเด็นเหมือนกับทำให้วันเฉลิมด้อยค่าอย่างที่รัฐมนตรีต่างประเทศทำในทรรศนะของฮิวแมนไรท์วอทช์ วันเฉลิมคือ ผู้ลี้ภัย เป็นนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมอย่างสันติ” นายสุณัย กล่าวเพิ่มเติม


ทั้งนี้ UNHCR ได้ระบุในเว็บไซต์ว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหาร หรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต โดยอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึง บุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง



พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ล่าช้า



ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ชี้ว่า สิ่งที่จะเป็นหลักประกันว่า การลักพาตัว อุ้มหาย หรือการบังคับให้สูญหายจะไม่เกิดขึ้น คือ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย(พ.ร.บ.อุ้มหายฯ) แต่ปัจจุบัน ร่างกฎหมายดังกล่าวกลับยังไม่ถูกบังคับใช้


“ประเทศไทยพูดอยู่เสมอว่าจะมีเจตจำนงทางการเมืองว่าจะคุ้มครอง ไม่ให้ใครสูญหาย มีการลงนามอนุสัญญาคนหาย มีความพยายามที่จะร่าง พ.ร.บ.ทรมานสูญหาย คือเขียนกฎหมายก็เขียนด้วยความกลัว กลัวว่ามันจะเอาผิดเจ้าหน้าที่หรือเปล่า กลัวไปกลัวมา 5-6 ปีก็ทำอะไรไม่ได้ จนวันนี้เราก็ไม่มีกลไกอะไรที่จะคุ้มครอง” นางอังคณา กล่าว


แต่เดิม ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย มีวาระเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันที่ 7 มีนาคม 2562 แต่สุดท้ายวาระดังกล่าวถูกถอนออกไป และยังไม่มีความคืบหน้าอีก การเขียนกฎหมายนี้ มีความมุ่งหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย


กฎหมายมีสาระสำคัญประกอบด้วย 1. กฎหมายได้กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายไว้ตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กฎหมายกำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผยจะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและอุ้มหาย คุ้มครองพยาน และช่วยเหลือเยียวยาญาติพี่น้อง และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนทั้งหลายในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายให้ได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด


ในเวทีเดียวกัน นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ตัวแทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ชี้แจงในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐว่า กรณีของวันเฉลิม ทางการไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอนไปแล้ว ขณะที่ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา


“คนไทยเขาจะไปวิธีไหนก็ช่าง กระทรวงต่างประเทศจะต้องดูแลคุ้มครอง กระทรวงต่างประเทศก็ให้ความร่วมมือ ตอนนี้ ประสานไปที่สถานทูตไทยในกัมพูชา เพื่อที่จะไปดำเนินกระบวนการ… รอนิดนึงนะคะ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเร่งด่วน ยิ่งช้าไปก็ยิ่งหมายความว่า อยู่บนชีวิตจริง… ร่างพระราชบัญญัติอุ้มหาย ท่านวิษณุบอกก็ถอยหลังกลับมาฟังความคิดเห็นทั้ง 5 ครั้ง 5 ภูมิภาค ท้ายที่สุดตกทาง ส.ว. เชิญความมั่นคง 20 กว่าหน่วยมาคุยกันให้เรียบร้อยซะ ณ ตอนนี้ กฎหมายก็ผ่าน ครม. ไปแล้วตั้งแต่เดือนเมษา เพื่อรอบรรจุเข้าเห็นชอบ ก็จะได้ส่งเข้าตรากฎหมายออกไป” นางนงภรณ์ กล่าว


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังจากยึดอำนาจโดย คสช. ประเทศไทยมีต้องขังที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมืองในเรือนจำ 28 คน มีนักโทษคดีอาญามาตรา 112 จำนวน 17 มีผู้ต้องขังคดีสหพันธรัฐไท และคดีอาญามาตรา 116 รวม 3 คน มีผู้ต้องขัง 8 คน ที่เกี่ยวข้องกับคดีอาวุธ


โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ คสช. ยึดอำนาจ มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน, มีคนถูกจับกุมอย่างน้อย 625 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 98 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 119 คน, มีคนถูกตั้งข้อหาชุมนุมเกินห้าคน อย่างน้อย 421 คน และพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน โดยสถิติดังกล่าวนับจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2562



กมธ. เชิญทูตไทยในกัมพูชาชี้แจง



ในวันเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมด่วน เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับกรณีการลักพาตัวนายวันเฉลิม โดยที่ประชุมมีมติให้เชิญเอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชา พร้อมทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงไทย เช่น ผู้แทนสำนักงานพระธรรมนูญทหาร ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งไทยและต่างประเทศ มาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการใน วันพุธที่ 17 มิถุนายน


“ผมขอเรียนยืนยันต่อพี่น้องประชาชนว่าในส่วนของการทำหน้าที่ของกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในกรณีนี้เราจะพยายามทำหน้าที่ของการเป็นผู้แทนประชาชน อย่างเต็มประสิทธิภาพ เวลาทุกวินาทีมีค่า” นายรังสิมันต์ กล่าว



วันเฉลิมถูกลักพาตัว



เมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2563 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ชาวจังหวัดอุบลราชธานี อายุ 37 ปี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่หลบหนีการจับกุมในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ในปี 2557 และ เป็นอดีตผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดในคดีตามพระราชบัญญติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) ปี 2561 จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ ๆ” ซึ่งเขียนข้อความใส่ร้ายรัฐบาล โดยนายวันเฉลิมได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศลาว เมื่อปี 2557 และย้ายไปอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชาในเวลาต่อมา ก่อนจะถูกลักพาตัวโดยกลุ่มบุคคลติดอาวุธ จากหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ


การลักพาตัววันเฉลิม ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์-วิจารณ์อย่างมากมายบนอินเทอร์เน็ต และได้เกิดแฮชแท็ก #saveวันเฉลิม บนทวิตเตอร์ ที่มีผู้เขียนข้อความด้วยแฮชแท็กดังกล่าว กว่า 1 ล้านครั้ง มีองค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรนักศึกษา-นักเรียนหลายองค์กร ประชาชน และบุคคลมีชื่อเสียงจำนวนมากร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และกัมพูชา ดำเนินการตามหาตัวนายวันเฉลิม และชี้แจงเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าว



#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ต้าร์ #เสรีชนคนอีสาน #แอดมิน #เพจ #กูต้องได้100ล้านจากทักษิณแน่ๆ #โดนอุ้ม #ใน #กัมพูชา #ขอให้ปลอดภัย #หยุดฆ่าทุกชีวิตมีค่า


ติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆได้ดังนี้


เว็บไซต์ https://www.theisaander.com/


แฟนเพจ https://web.facebook.com/theisaander/


อินสตาแกรม https://www.instagram.com/theisaander/


ทวิตเตอร์ https://twitter.com/TIsaander — at สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา.


122 views0 comments
bottom of page