top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

112 ปี ครอง จันดาวงศ์ นักประชาธิปไตยในนาม “ผีคอมมิวนิสต์ และกบฎสันติภาพ”



“ผมไม่ถือโทษโกรธตำรวจแต่อย่างไร เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ ขอแต่ให้ดำเนินคดีไปตามตัวบทกฎหมายก็แล้วกัน ผมไม่รู้สึกหวาดหวั่นเลย เพราะถูกจับเสียจนชินแล้ว” ครอง จันดาวงศ์ บอกกับตำรวจหลังถูกจับกุมตัว ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2504


“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ครอง จันดาวงศ์ เปล่งวาจาก่อนที่จะถูกกระสุนปืนกล 90 นัด ยิงผ่านร่าง ในเวลา 12.13 น. ของวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 หรือวันนี้เมื่อ 59 ปีที่แล้ว



ครูครองเสรีไทยแห่งเต่างอย



ครอง จันดาวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2451 ณ บ้านคุ้ม วัดศรีสะเกษ ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอธาตุเชิงชุม(ปัจจุบัน คือ อำเภอเมือง) จังหวัดสกลนคร แต่งงาน และประกอบอาชีพครูที่อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เติบโตในสายอาชีพจนได้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งแต่วัยสามสิบต้นๆ กระทั่งลาออกจากการเป็นครูในปี 2485 หลังจากเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยแบบลับๆ แม้แต่เมียก็ไม่รู้


“ระยะแรกของการเคลื่อนไหวเสรีไทย ครูครองยังไม่บอกให้ฉันรู้ เมื่อมารู้ภายหลังก็พากันลำเลียงอาวุธปืนส่วนหนึ่งมาไว้ที่บ้าน ซึ่งเป็นบ้านหลังเดียวปลูกอยู่กลางป่า… เนื่องจากตรากตรำงานมาก ฉันแท้งลูกคนที่สามนอนสลบอยู่ ลุงเต็ม อินทรพานิช พ่อค้าที่ตลาดสว่างแดนดินซึ่งเป็นญาติกับครูครองมาช่วยเหลือโทรเลขไปบอกคุณเตียงที่สำนักงาน คุณเตียงให้คนไปตามครูครองจาก บ้านเต่างอย บนภูพาน ครูครองรีบกลับมาแล้วพาไปหาคุณหมอเหลือ นนตะ แพทย์ประจำอำเภอสว่างแดนดินซึ่งเป็นเพื่อนกัน เมื่อหายดีแล้วครูครองก็กลับไปทำงานเสรีไทยตามเดิม” ตอนหนึ่งของข้อเขียน “ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้” โดย แตงอ่อน จันดาวงศ์ ภรรยาของครอง


เตียง ศิริขันธ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และรัฐมนตรีอีสาน คือ หนึ่งในผู้ที่มีความสนิทสนมกับ ครอง ด้วยความว่าเป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นครูเหมือนกัน และยังมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกัน ครองและเตียง ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศิริขันธ์ 1 และ โรงเรียนมัธยมศิริขันธ์ 2 ซึ่งต่อมา ครอง ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ


ปี 2480 เตียง ลงสมัครรับเลือกตั้ง ครองเป็นหนึ่งในคนที่ช่วยเตียงหาเสียงจนได้เป็น ส.ส. สกลนคร ส่วน ครองเองยังคงประกอบอาชีพครูต่อไป กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นยกทัพเข้าประเทศไทยในปี 2484 โดยความยินยอมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไทยมีสถานะเป็นศัตรูสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร(อังกฤษ-อเมริกา) ครองจึงเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยสายอีสานซึ่งนำโดยเตียง ผู้มีความใกล้ชิดกับปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย


ในฐานะเสรีไทย ครองดูแลเขตภูพาน ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านเต่างอย เพื่อฝึกกำลังพล สร้างสนามบินลับหลายแห่ง เพื่อสนับสนุนเครืองบินฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งจัดหน่วยลำเลียงอาวุธ และเวชภัณฑ์ หาข่าว ส่งข่าวให้กับฝ่ายบัญชาการอื่นๆในภาคอีสาน กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2485 ครองตัดสินใจลาออกจากราชการ เพื่อมาทำการค้า และช่วยเหลืองานเสรีไทยเต็มกำลัง


ปี 2488 สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ประเทศญี่ปุ่นทำให้ประชาชนกว่า 2.5 หมื่นคนบาดเจ็บ และ 1.7 แสนคนเสียชีวิต ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม และด้วยการเคลื่อนไหวของเสรีไทย ทำให้ประเทศไทยไม่กลายเป็นผู้แพ้สงครามเช่นเดียวกับญี่ปุ่น ผลงานดังกล่าวทำให้ เตียงกลายเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเรือตรีหลวงธำรง นาวาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองกับปรีดี เตียงเสนอให้ครอง กลับเข้ารับราชการ แต่เตียงปฏิเสธและเลือกที่จะทำนา เลี้ยงไก่ หมู ปลา และค้าขายต่อไป



จากฮีโร่สู่กบฎ


การเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 เลือกอยู่ฝั่งเดียวกับญี่ปุ่น และประสบความพ่ายแพ้ ทำให้ฝ่ายจอมพล ป. ต้องถอยลงจากอำนาจเพื่อให้ฝ่ายปรีดี ครองทำเนียบระยะหนึ่ง แต่ให้หลังไม่นานกรณีสวรรณคต ในปี 2489 ก็ทำให้ฝ่ายปรีดีถูกโจมตีอย่างหนัก และ ปี 2490 จอมพลผิน ชุณหะวัณ จึงได้ทำรัฐประหาร โดยให้ ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ควงก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 4 เดือน เพราะท้ายที่สุด จอมพล ป. เจ้าของอำนาจตัวจริง ก็กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง


การกลับมาของ จอมพล ป. ทำให้ปรีดี ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ นักการเมืองสายเสรีไทย และคนสนิทของปรีดีต่างถูกตั้งข้อหา ครอง คือ หนึ่งในนั้น กระทั่งถูกจับกุมตัวในฐานะ “กบฎแบ่งแยกดินแดนและกบฏในราชอาณาจักร” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2491 คดีของครอง ถูกพิจารณาที่กรุงเทพฯ​ ทำให้เขาต้องเทียวไปขึ้นศาลเป็นเวลาเกือบ 3 ปี กระทั่งท้ายที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง


ปี 2492 ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, ถวิล อุดล, จำลอง ดาวเรือง 3 ใน 4 รัฐมนตรีอีสาน ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กรุงเทพฯ เตียง เสืออีสานคนสุดท้ายยังคงหลบหนีการจับกุมอยู่ ขณะที่ ผู้เห็นต่างรายอื่นๆเริ่มถูกสังหาร เช่น สุรีย์ ทองวานิช บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงไทย, อารีย์ สีวีระ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย และสยามนิกร กระทั่ง ปี 2495 เตียง ถูกรัดคอ และเผา พร้อมกับ ผ่อง เขียววิจิตร, สง่า ประจักษ์วงศ์, ชาญ และเล็ก บุนนาค ที่กาญจนบุรี ปิดตำนาน สี่เสืออีสานอย่างถาวร


ระหว่างนั้น ปี 2493 ครอง ลงรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดสกลนคร เขตสว่างแดนดิน และได้รับการเลือกตั้ง ในปีเดียวกันเกิดสงครามระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ โดยเกาหลีใต้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา รัฐบาลไทยมีมติส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงความเกาหลีด้วย การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ เพทาย โชตินุชิต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์การเมือง เริ่มชักชวนให้คนลงนามในใบประกาศห้ามใช้อาวุธปรมาณูทำสงคราม ปี 2494 องค์การสันติภาพแห่งประเทศไทย ถูกตั้งขึ้นและรณรงค์ให้คนไทยคัดค้านการส่งทหารไทยไปรบที่เกาหลี โดยมีผู้ร่วมลงนามในแถลงการณ์คัดค้านนั้นถึง 258,091 คน


ปี 2495 ศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ศรี สว่างแดนดิน ถูกใช้เป็นที่ปราศรัยสนับสนุนสันติภาพ คัดค้านสงคราม มีประชาชนร่วมชุมนุมกว่าพันคน ภายหลังรัฐบาลได้ออกหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการเรียกร้องสันติภาพครั้งนั้น ในข้อหาคอมมิวนิสต์ และกบฎ ซึ่ง ครอง, กุหลาบ สายประดิษฐ์(ศรีบูรพา) และปาล พนมยงค์ บุตรชายของปรีีดี คือส่วนหนึ่งของผู้ที่ถูกออกหมายจับ


ปี 2498 ครอง ถูกตัดสินว่ามีความผิด และให้ต้องโทษจำคุก 13 ปี 4 เดือน


จาก น.ช. สู่ ส.ส.



เดือนกุมภาพันธ์ 2500 ประเทศไทยได้ประกาศจัดการเลือกตั้ง ครองในฐานะนักโทษ ขอประกันตัวออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาได้รับอนุญาตแต่มีผู้คุมตามติดจนไม่สามารถหาเสียงได้ กระทั่งเหลือเวลา 5 วันก่อนเลือกตั้ง ครอง จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เขามีโอกาสได้หาเสียงสั้นๆ แต่ก็พ่ายแพ้ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดสกลนคร ครั้งนั้น


อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งดังกล่าว ประชาชน และสื่อมวลชนต่างเห็นว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ขาวสะอาด คนจำนวนมากเชื่อว่า พรรคเสรีมนังคศิลา โดยการนำของ จอมพล ป. โกงเลือกตั้ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงใช้ข้ออ้างดังกล่าว ทำรัฐประหาร และประกาศให้มีการเลือกตั้งในปีเดียวกัน


ในปี 2500 นั้นเอง ด้วยเป็นวาระกึ่งพุทธกาล 25 ศตวรรษ รัฐบาลจึงออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมือง ครอง เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับอิสรภาพ เขาไม่รอช้าลงสมัครรับเลือกตั้งทันที โดยเลือกสังกัดพรรคเศรษฐกร ครองใช้จักรยานขี่หาเสียงทั่วจังหวัด และได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. ในที่สุด


ปี 2501 ขณะที่บัตรเลือกตั้งยังไม่ทันแห้งสนิท จอมพลสฤษดิ์ Aka ชื่อเหมือนปลา หน้าเหมือนเหี้ย มีเมียเป็นร้อย ก็ทำรัฐประหาร ยุบสภา ยกเลิกรัฐธรรมนุญ ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกสหภาพแรงงาน ครองเองได้เป็น ส.ส. ไม่นานก็ต้องตกงานด้วย หลังจากตกงาน เขาจึงกลับมาเป็นเกษตรกรที่สกลนครบ้านเกิด


ในช่วงที่ครองกลับมาเป็นเกษตรกรนั้น สกลนครยังกันดารนัก ครองจึงเสนอให้คนในชุมชนใช้วิธีการลงแขก แลกเปลี่ยนแรงงาน เพื่อประสิทธิภาพในการทำเกษตร และลดต้นทุน แนวคิดอันพอเพียงของครองได้รับความนิยมจากชาวบ้าน โดยเรียกวิธีดังกล่าวว่า “เข้าแรงกัน” หลายบ้านในสกลนครยึดเอาแนวทางดังกล่าวเป็นหลักในการทำเกษตรช่วงปี 2502


เพราะเห็นต่างจึงต้องตาย(อีกแล้ว)



หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ จอมพลสฤษดิ์ ใช้ข้ออ้างเรื่องคอมมิวนิสต์จัดการกับผู้ที่เห็นต่างจำนวนมาก โดยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ได้บรรจุกฎหมายที่เอื้อแก่การใช้อำนาจอันไร้ซึ่งการตรวจสอบเช่นเดียวกับ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นั่นคือ มาตรา 17 ซึ่งถูกใช้สังหารประชาชนอย่างน้อย 76 คน และใช้สั่งจำคุกคนอีก 113 คน


“มาตรา 17 ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร กวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ” เนื้อความขอกฎหมายดังกล่าวระบุ


ครอง ก็เป็นเหยื่อของมาตรา 17 เช่นกัน โดยวันที่ 6 พฤษภาคม 2504 เขาถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และถูกขังในสถานีตำรวจภูธรสว่างแดนดิน ขณะที่ มีคนอีก 148 คนถูกจับกุม ในลักษณะใกล้เคียงกับครอง แต่ถูกตั้งข้อหาแตกต่างกันไป เช่น เป็นสมาชิกองค์การสามัคคีธรรม เป็นพลพรรคขบวนการประเทศลาว บ้างถูกหาว่าติดต่อกับสมาคมไทยพลัดถิ่น บางส่วนถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร ผู้ร้าย


“ผมไม่ถือโทษโกรธตำรวจแต่อย่างไร เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ ขอแต่ให้ดำเนินคดีไปตามตัวบทกฎหมายก็แล้วกัน ผมไม่รู้สึกหวาดหวั่นเลย เพราะถูกจับเสียจนชินแล้ว” ครอง บอกกับตำรวจหลังถูกจับกุมตัว


ครองถูกให้ขึ้นเครื่องบินที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อไปกรุงเทพฯ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2504 เขาบอกกับผู้คนว่าอยากพบ จอมพลสฤษดิ์ นายกรัฐมนตรี ระหว่างการเดินทางเขาถูก นักข่าวถามว่า “อยากพบนายกรัฐมนตรีทำไม?” ซึ่งครองบอกว่า “ผมอยากถามท่านว่า เมื่อไหร่จะเปิดสภาให้ประชาชน” นักข่าวจึงถามเขาต่อว่า “ไม่กลัว ม.17 หรือ?” ซึ่งเขาได้ตอบว่า “ผมไม่มีความผิดจึงไม่ต้องกลัว บ้านเมืองมีขื่อมีแป”


ระหว่างการสัมภาษณ์นั้น มีนักข่าวอีกคนพูดแทรกขึ้นมาว่า “คุณนะโดน ม.17 แหง”


“หัวหน้าขบถถูกส่งตัวเข้า ก.ท. เผยไม่หวั่น ม.17!” นั่นคือ พาดหัวหนังสือพิมพ์สารเสรี ในวันนั้น


แน่นอน ครอง คิดผิดในเรื่องที่ว่า “บ้านเมืองมีขื่อมีแป” เพราะในวันที่ 31 พฤษภาคม 2504 เขาและทองพันธ์ สุทธิมาศ เพื่อนครู ถูกนำตัวไปยังหลักประหาร ซึ่งเป็นลานสนามบิน อำเภอสว่างแดนดิน กระสุนปืน 90 นัดถูกลั่นผ่านร่างคนทั้งคู่ 12.13 น. ครอง เสียชีวิตลงด้วยวัย 53 ปี 4 เดือน 3 วัน คนทั้งคู่ถูกประหารชีวิตโดยที่ไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม


“31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 ต้นปีฝนค่อนข้างแล้ง เพิ่ม(หลานชาย) มาช่วยทำนา พากันวิดน้ำเตรียมหว่านกล้า ประมาณเที่ยงวันได้ยินเสียงปืนยิงรัวหลายนัด ฉันกำลังหว่านกล้า เก่ง(เมียพงษ์-ลูกชายครอง) ตะโกนเรียกแม่ บอกว่า เขาเอาพ่อไปฆ่าที่สนามบิน ฉันทิ้งตะกร้าใส่ข้าวลง อยากวิ่งไปแต่ก้าวขาไม่ออก ได้แต่เดินข้ามคันดิน ออกไปที่สนามบิน ไปถึงชายป่าพบยง(หลานชาย) มาจากพังโคน น้ำตาไหล ไม่พูดอะไร

“เดินไปที่ศพนอนเคียงกันอยู่สองศพ มีผ้าห่มผืนละ 12 บาท ปิดหน้าลงมาแค่เข่า มีไม้กางเขนตัดครึ่งวางทับไว้ มีชาวบ้านยืนดูอยู่ห่างๆ ฉันไปเปิดดูศพเห็นริมฝีปากข้างล่างลงมาถึงคางเหวอะหวะ ที่ท้องก็มีแต่รอยลูกปืนเต็มไปหมด ฉันปิดผ้าไว้แล้วไปเปิดดูศพคุณทองพันธ์ แขนข้างหนึ่งยังสวมกุญแจมืออยู่ อีกข้างหนึ่งข้อมือหัก ที่ท้องมีรอยกระสุนปืน ฉันปิดผ้าแล้วก้มลงกราบศพสามีพร้อมกับสาบแช่ง


“สาธุเด้อ ปืนกระบอกใดมันสังหารผัวผู้ข้าโดยไม่ได้ทำผิดคิดร้ายต่อใครก็ขอให้ปืนกระบอกนั้นคืนตอบสนองมันทุกตัวคน”


แตงอ่อน ภรรยาของครอง บันทักเหตุการณ์ในวันนี้ เมื่อ 59 ปีที่แล้วเอาไว้ใน “ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้” ซึ่งต่อมาถูกบรรจุอยู่ในหนังสือฌาปนกิจของครองเอง


ถึงทุกวันนี้ แม้จะเป็นหมอปลาก็ไม่สามารถระบุได้ว่า วิญญาณของครองไปอยู่ที่ใดแล้ว แต่เรื่องราวของครองจะยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้รักประชาธิปไตยรุ่นหลังอีกไม่มากก็น้อย



ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจากหนังสือ "จากยอดโดมถึงภูพาน"


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #การเมือง #เผด็จการจงพินาศประชาธิปไตยจงเจริญ #ครองจันดาวงศ์ #112ป#59ป#เพราะเห็นต่างจึงต้องตาย



ติดตาม ดิ อีสานเด้อ ในช่องทางต่างๆได้ดังนี้


เว็บไซต์ https://www.theisaander.com/


แฟนเพจ https://www.facebook.com/theisaander/


อินสตาแกรม https://www.instagram.com/theisaander/


ทวิตเตอร์ https://twitter.com/TIsaander — at สว่างแดนดิน สกลนคร.


766 views0 comments
bottom of page