ในวันอังคารนี้ คนเสื้อแดงกว่า 50 คนได้จัดกิจกรรมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยอดีตผู้ร่วมชุมนุมได้ใช้วาระ ครบรอบ 10 ปี เรียกร้องให้ รัฐบาลดำเนินการแสวงหาความจริง และคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสียจากการสลายชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารในครั้งนั้น
กิจกรรมรำลึกวันนี้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วง 17.00 น. โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมที่สวมใส่ชุดสีแดง จุดเทียนเป็นข้อความว่า “ความจริง ใครยิง” ที่หลังป้ายสี่แยกราชประสงค์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายดูแลอย่างใกล้ชิด และมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจวัดไข้ผู้เข้าพื้นที่จัดกิจกรรมและในช่วงเวลา 18.00 น. ได้มีการร่วมกันร้องเพลง มีการผลัดกันกล่าวถึงผู้ที่สูญเสียจากการสลายการชุมนุม ก่อนที่จะยุติกิจกรรมในเวลาประมาณ 19.00 น.
“ปี 53 จิตใจเราพัง งานก็พัง คนพวกนี้ไม่ใช่ญาติพี่น้องเรา แต่เขาคือคนที่อยู่ร่วมขบวนของเรา ตอนนั้น เราไปยืนดูศพที่สถาบันนิติเวช เราคิดว่า คนเหล่านี้สมควรตายไหม มันเลยสั่งสมความแค้นมา วันนี้ เรามาเพราะเป็นวันครบรอบ 10 ปี การสลายการชุมนุม เรารู้สึกว่า 10 ปีแล้วคนถูกฆ่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม หลายคดีพิสูจน์ได้ว่า เป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ทหาร แต่กลับไม่มีการเอาคนผิดมาลงโทษ เราอยากให้ความเป็นธรรมกลับคืนสู่ผู้เสียชีวิต ผู้ถูกจองจำ” สุวรรณา ตาลเหล็ก หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ กล่าว
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ชุมนุมเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเชื่อว่า อภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) บางคนของพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นรัฐบาลก่อนหน้านั้น ย้ายไปร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่พรรคพลังประชาชนถูกตัดสินให้ยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญ และ นปช. เชื่อว่า กองทัพมีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนั้น โดยการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีขึ้นในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งเวทีชุมนุมใหญ่ตั้งขึ้นที่สี่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 12 มีนาคม 2553
ต่อมา รัฐบาลได้ประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ตั้ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นควบคุมสถานการณ์ และ ศอฉ. เริ่มอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่บริเวณที่จัดการชุมนุม โดยเรียกว่า “การกระชับพื้นที่” และ “การขอคืนพื้นที่” ด้วยอ้างเหตุผลว่า ภายในกลุ่มผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย(ชายชุดดำ) แฝงตัวอยู่ การขอคืนพื้นที่ทำให้มีการเสียชีวิตทั้งฝั่งผู้ชุมนุม และทหารรวมกันกว่า 90 ราย และบาดเจ็บกว่าหนึ่งพันราย ภายหลังแกนนำ นปช. จึงประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เพื่อหยุดการสูญเสีย โดยในวันเดียวกันมีเหตุเพลิงไหม้หลายแห่งในกรุงเทพฯ และศาลากลางจังหวัดหลายแห่ง
หลังการสลายการชุมนุม ฝ่ายผู้ชุมนุมและญาติผู้เสียชีวิต ได้ฟ้องร้องเอาผิด อภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี รวมทั้งสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้อำนวยการ ศอฉ. ในฐานะที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม คดีที่ผู้ชุมนุมเป็นโจทก์ไม่เคยได้รับชัยชนะ
ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ชาวจังหวัดนครปฐม อดีตผู้ร่วมชุมนุม กล่าวว่า ความหวังที่จะเห็นผู้ที่สั่งการสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บถูกลงโทษค่อนข้างน้อย เนื่องจาก ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดยังคงมีอำนาจอยู่ในรัฐบาลปัจจุบัน
“มีการใช้กระสุนจริงฆ่าคน กระสุนจริงไม่ได้ถูกผู้ก่อการร้าย มันฝังอยู่ในร่างประชาชน มันเป็นบาดแผลประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับผม ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ก็ไม่ได้แสดงถึงความจริงใจในการระลึกถึง หรือเยียวยามวลชนที่สูญเสีย อภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีตอนนั้น ตอนนี้ประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล สุเทพ ผอ.ศอฉ. ตั้งรวมพลังประชาชาติไทย ตอนนี้ร่วมรัฐบาล อนุพงษ์ ผบ.ทบ. ตอนนี้เป็น รมต.มหาดไทย ประวิตร รัฐมนตรีกลาโหม ตอนนี้เป็นรองนายกฯ ประยุทธ์ แม่ทัพภาคหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีตอนนี้ อภิรัชต์ ที่วิ่งเอาปืนสลายการชุมนุมกลายเป็น ผบ.ทบ. ตัวละครยังเป็นตัวเดิม ใหญ่โตขึ้น มีอำนาจมากขึ้น เพราะฉะนั้นความหวังผมค่อนข้างจะมีสูงแบบริบหรี่” ภานุวัฒน์ กล่าว
สำหรับกระบวนการทางกฎหมาย ปี 2555 กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) รับคดีการสลายการชุมนุม ปี 2553 เป็นคดีพิเศษ ก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องจำเลยทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ชุมนุมในข้อหา “ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต
ต่อมาปี 2557 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของอภิสิทธิ์ และสุเทพ (เทือกสุบรรณ) จำเลยที่ 1-2 เป็นการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัว ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปี 2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และปี 2560 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
เดือนธันวาคม 2558 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติให้ คำร้องเอาผิด อภิสิทธิ์ สุเทพ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของ นปช. ในวันที่ 10 เมษายน - 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ตกไป เนื่องจาก พยานหลักฐานรับฟังไม่ได้ว่าคนทั้งสามกระทำการละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจริง
ด้านคดีความที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นจำเลย ในเดือนสิงหาคม 2562 ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้อง ในความผิดข้อหาก่อการร้ายของ 24 แกนนำ นปช. จากการประท้วงในปี 2553 เนื่องจากเห็นว่า เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายมิใช่การก่อการร้าย อย่างไรก็ตามมีอีกหลายคดีซึ่งดำเนินการฟ้องร้องกับประชาชนที่ไม่ใช่แกนนำ และบางคดีนำไปสู่การจำคุกประชาชนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในการชุมนุมปี 2553
โชคชัย อ่างแก้ว ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ(สกสส.) เปิดเผยว่า คดีความที่จะเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ทหาร และผู้สั่งการสลายการชุมนุม ยังคงอยู่ในการดำเนินการของ สกสส. แต่จำเป็นต้องรอเวลาเพื่อดำเนินการต่อ
“สกสส. ได้ทำคดี ซึ่งมีภรรยาของคุณพัน คำกอง ซึ่งเสียชีวิตในวันที่ 14 พฤษภาคม 53 เป็นโจทก์ คดีนี้มีการไต่สวนการตายแล้วว่า กระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารตามคำสั่ง ศอฉ. เราใช้สิทธิของผู้เสียหายฟ้องเอาผิดกับผู้กระทำการ คือ ทหาร และผู้บังคับบัญชา เมื่อกันยายน 62 ศาลไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ทหารไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญา ญาติเลยอุทธรณ์ในกรณีที่ทหารทำความผิดร่วมกับพลเรือนให้ศาลพลเรือนพิจารณา เมื่อวันที่ 21 เมษายน 63 มีนัดฟังคำพิพากษา แต่ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้เลื่อนออกไป และยังไม่มีการนัดใหม่” โชคชัย กล่าว
“สำหรับ คดีที่ฟ้องเอาผิดกับคุณสุเทพ และคุณอภิสิทธิ์ ศาลฎีการะบุว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญา ต้องส่ง ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช. ได้มีมติให้ยุติคดีไปแล้ว แต่แม้ ป.ป.ช. จะยุติ ก็ไม่ได้ทำให้คดีจบ ผู้เสียหายยังมีสิทธิที่จะฟ้องได้อยู่อีก จึงต้องดูว่า ทิศทางคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของคุณพันจะเป็นอย่างไร จึงจะพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปสำหรับคดีที่จะฟ้องเอาผิดคุณสุเทพ และคุณอภิสิทธิ์” โชคชัย ระบุ
ทั้งนี้ ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ถึงกรณีการที่ อภิสิทธิ์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ปี 2553 โดยระบุว่า กระบวนการยุติธรรมได้พิสูจน์แล้วว่า อภิสิทธิ์ไม่ได้กระทำผิดจากกรณีดังกล่าว
“บุคคลกลุ่มที่ออกมากล่าวหาให้ร้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นการให้ร้ายสร้างวาทกรรม เพื่อทำลายนายอภิสิทธิ์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทั้งๆที่กระบวนการได้ผ่านการพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมจนสิ้นกระแสความทั้งหมดแล้วว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา รายงานของคณะทำงานอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ยืนยันชัดเจนว่า การชุมนุมปี 2553 เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และยังระบุไว้อีกว่า ในบริเวณการชุมนุมดังกล่าวก็มีชายชุดดำแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม มีการใช้อาวุธสงครามด้วย” ราเมศ ระบุ
การเปิดเผยของราเมศในเรื่องดังกล่าว สอดคล้องกับรายงานของ ฮิวแมนไรท์วอทช์ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ที่เคยระบุว่า ในการกลุ่มผู้ชุมนุมมีกลุ่มติดอาวุธสงคราม หรือ ชายชุดดำแฝงตัวอยู่ และระบุว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ไม่ใช่การชุมนุมที่สันติและปราศจากอาวุธ
ทั้งนี้ในวันเดียวกันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ในวาระครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ สลายการชุมนุม ปี 2553 โดยระบุว่า การที่รัฐไม่ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่อาจทำให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัว และเปิดโอกาสให้มีการละเมิดเช่นเดิมซ้ำอีกในอนาคต
“จนถึงปัจจุบันยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ผู้บัญชาการทหาร หรือเจ้าหน้าที่ทหารรายใดที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการครั้งนั้นถูกดำเนินคดี ในขณะที่ได้มีการดำเนินคดีอาญากับแกนนำและผู้ชุมนุมประท้วงบางส่วนแล้ว… เมื่อมีการละเมิดและปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ที่คาดว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญาทั้งหมดต้องถูกนำมาลงโทษตามการพิจารณาที่เป็นธรรมของศาลพลเรือน หากพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน การลงโทษทางวินัยหรือตามมาตรการของฝ่ายบริหารอาจไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ” แถลงการณ์ของ แอมเนสตี้ ระบุ
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #พฤษภาคม #สลายการชุมนุม #นปช #เสื้อแดง #ความยุติธรรม #ตามหา #ความจริง
ขอบคุณข้อมูลจาก เบนาร์นิวส์ — at ราชประสงค์.
Comments