top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

10 ปี ความยุติธรรม พฤษภาเลือด : ไกลแค่ไหนคือใกล้



“กองทัพประชาชนเนี่ย ถูกเม็มโมรี่มาให้ยุบสภา ฉะนั้นเวลารถถังจะเข้ามา อะไรจะเข้ามารังแกเขาเนี่ย เขาก็ไปสู้ การจะต่อสู้ของเขาเนี่ย เสธ.แดงก็ไม่ต้องฝึกเลย เพราะว่า แม่งไม่มีรูปแบบเลย เกิดมาไม่เคยเห็น ถอดน็อตสายพานรถถัง กระโดดเหยียบรถ เอาเครื่องดับเพลิงฉีดไปในป้อมรถถัง ทหารวิ่งออกมาเป็นหนู แล้วพอถูกยิงล้มลง(กระสุนยาง) แม่งก็ลุกขึ้นมา เอาน้ำแกงสาดทหาร คือ มันไม่มีรูปแบบเลย


“ตอนนี้ม็อบมันจุดติดแล้ว ตกเย็นเดี๋ยวเลิกงาน เขาก็มีคนมาเพิ่ม พวกแรงงาน เดี๋ยวมีรถเข้ามาจากต่างจังหวัดอีก 600 คัน ผมไม่สามารถจะบอกได้ว่า รบกันมันจะเป็นยังไง แตกหักอะไรยังไง มันไม่มีรูปแบบ ฉะนั้น ถ้ามาขู่ชาวบ้านเขาไม่รู้จัก วันนี้ ตัดน้ำ ตัดไฟ ไม่รู้เรื่องหรอก ตัดรถไฟฟ้าเขาก็ไม่รู้เรื่อง อาหารการกินเขาสมบูรณ์”


นั่นคือ ความจากเทปบันทึกเสียงซึ่งผมเพิ่งมีโอกาสได้ฟังหลังจากผ่านเวลามา 10 ปี และเทปนี้คือคำอธิบายม็อบคนเสื้อแดงโดย เสธ. แดง-พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ก่อนที่อีกไม่กี่นาทีต่อมาเขาจะถูกยิงจนเสียชีวิต และจนถึงวันนี้ เรา-สาธารณชนยังไม่มีโอกาสได้รู้ว่า ใครคือผู้ที่ลั่นไกสังหารเขา และใครอยู่เบื้องหลังการสังหาร ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553


จริงอยู่ ในสายตาของคนจำนวนหนึ่ง เสธ.แดง ไม่ใช่ผู้ยิ่งใหญ่ หรือคนสำคัญอะไร แต่ก็สามารถพูดได้ว่า เขาเป็นทหารยศสูงที่มีความกล้าหาญที่สุดคนหนึ่งในช่วงหลายปีของประเทศไทย เพราะเหมือนว่า เขาจะเป็นทหารยศสูงคนเดียวที่กล้าจะประกาศจุดยืนทางการเมืองของตนเอง ซ้ำจุดยืนนั้น ยังเป็นจุดที่อยู่บนพรมแดนความเชื่อคนละผืนกับทหารส่วนใหญ่ และไม่ว่าจุดยืนนั้นจะถูกหริือผิด ตอนนี้ เสธ.แดง ได้กลายเป็นหนึ่งในเหยื่อของความรุนแรงไปแล้ว ขณะที่ ครอบครัวของเสธ. แดง ก็ได้กลายเป็นผู้สูญเสียที่ยังไม่เคยได้รับความยุติธรรมเช่นกัน


ไม่ใช่แค่ครอบครัวของ เสธ. แดง เท่านั้น ที่ยังรอความยุติธรรม ครอบครัวของเหยื่อการสลายการชุมนุมอีกจำนวนมากก็เช่นกัน


“ดิฉันยังเชื่อว่า มีความยุติธรรมอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ ณ เวลานี้มันถูกแทรกแซงโดยอำนาจเผด็จการ ดิฉันไม่หวังอะไรกับรัฐบาลนี้ เพราะคนในรัฐบาลนี้ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) รองนายกฯ บิ๊กป้อม(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) มท.1(พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) หลายท่าน ได้ดีจากการเป็น ศอฉ. ดิฉันจึงไม่คาดหวังอะไรจากรัฐบาลนี้ แต่เชื่อว่า ถ้ามีรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ดิฉันจะได้รับความยุติธรรม” พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาซึ่งเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม


“10 ปีที่ผ่านมา ดิฉันพยายามดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม นำคดีของน้องเข้าสู่การกระบวนการยุติธรรม สิ่งที่ดิฉันคาดหวังคือ หลังการเลือกตั้งปี 54 จะได้รับความยุติธรรม ตอนนั้น คดีเข้าสู่ชั้นศาล คดีอยู่กับอัยการคดีพิเศษ แต่แล้วก็มาเกิดรัฐประหาร คดีทุกอย่างก็ถูกดร็อป ถึงตอนนี้ ดีเอสไอบอกว่า ต้องหยุดดำเนินการเพราะอัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่ก่อนรัฐประหารคดีอยู่ในศาลพลเรือน 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา ดิฉันก็ไม่ยื่นคำร้องต่ออีเอสไอให้มีการดำเนินการ ดิฉันยังเชื่อว่า ดิฉันจะได้รับความยุติธรรม” พะเยาว์ ระบุ


กมนเกด พยาบาลอาสา อายุ 25 ปี เสียชีวิตในช่วงค่ำของวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ภายในวัดปทุมวนาราม ระหว่างการสลายการชุมนุมโดย ศอฉ. หลังจากสูญเสียบุตรสาว พะเยาว์ ได้นำข้อมูลหลักฐานการเสียชีวิตของ กมนเกด ไปฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน คดีที่พะเยาว์พยายามร้องหาความเป็นธรรมได้อยู่ในกระบวนการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI)แล้ว แต่กลับไม่มีรายละเอียดความคืบหน้า


ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ดีเอสไอได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่า ดีเอสไอจะเปิดเผยความคืบหน้าในการสืบสวนคดีของ กมนเกด และผู้เสียชีวิตรายอื่น ภายใน 7 วัน หรือก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม 2563



“สิ่งที่เราต้องการคือ ความยุติธรรม อยากให้คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน คืนอิสระให้กับศาล และกระบวนการยุติธรรม 10 ปีที่ผ่านมา เราคิดว่าประเทศไทยยังไม่ได้ไปไหน อาจจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะว่า ความเป็นประชาธิปไตยก็ยังหาไม่เจอเหมือนเดิม รัฐยังเหมือนเดิม คนที่โดนคดี โดนข้อหาก็ยังอยู่ในเรือนจำ จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้พิพากษาที่ยะลา(คณากร เพียรชนะ) ทำให้เราเชื่อว่า บางที ศาลหรืออัยการในตอนนั้น อาจไม่ได้รับอิสระในการพิจารณาคดีก็ได้” ซาบีน่า ซาห์ หนึ่งในผู้ที่เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 กล่าว


“เราคิดว่า ตอนนั้นที่เราเคลื่อนไหว เราทำถูกต้องแล้ว คนเสื้อแดง ประชาชนไม่มีอาวุธ คิดว่า เรามีสิทธิที่จะออกมาเรียกร้อง ไม่คิดว่า จะต้องมีการสูญเสียชีวิต ล้มตาย เราผิดหวังเพราะคิดว่า ประชาชนมีความเท่าเทียมเท่ากัน เราหวังทุกวันว่า เราจะมีประชาธิปไตย ครั้งนั้นประชาชนออกมาก็คาดหวังว่า กลุ่มนักเรียน นักศึกษาจะออกมากับเรา ตอนนั้นเราก็ผิดหวังไป ตอนนี้เราก็เห็นการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เราก็มีกำลังใจ แล้วก็เห็นความหวัง” ซาบีน่า คือ อดีตนักจัดรายการวิทยุชุมนุมในจังหวัดขอนแก่นช่วงปี 2553-2554 และหลังรัฐประหารปี 2557 เธอคือหนึี่งในคนที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ทัศนคติของเธอจะปรับได้ยากกว่าทัศนคติของแรมโบ้อีสานมาก


กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงเชื่อว่า กองทัพเป็นองค์กรที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาลก่อนหน้านั้น และสมาชิกพรรคพลังประชาชนในนามกลุ่มเพื่อนเนวิน จำนวนหนึ่งแยกออกไปตั้งพรรคใหม่ที่ชื่อภูมิใจไทย และเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลแทนที่


ปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้ ปี 2552 นปช. เรียกร้องให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่เมื่อข้อเรียกร้องไม่เป็นผล นปช. จึงได้จัดการชุมนุมขึ้นในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มจัดเวทีชุมนุมใหญ่ที่สี่แยกราชประสงค์ในวันที่ 12 มีนาคม 2553


เมื่อ นปช. จัดการชุมนุม รัฐบาลในขณะนั้นได้ประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และตั้ง ศอฉ. ขึ้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ หลังจากนั้นไม่นาน ศอฉ. เริ่มอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่บริเวณที่จัดการชุมนุม การปฏิบัติการดังกล่าว ถูกเรียกโดย ศอฉ. เองว่า “การกระชับพื้นที่” และ “การขอคืนพื้นที่” โดย ศอฉ. ให้เหตุผลว่า เหตุที่จำเป็นต้องใช้อาวุธสงครามนั้น เนื่องจากภายในกลุ่มผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่าย(ชายชุดดำ) แฝงตัวอยู่ การขอคืนพื้นที่ของ


การขอคืนพื้นที่ของ ศอฉ. โดยกระสุนจริง ทำให้มีผู้ที่ต้องเสียชีวิตมากกว่า 90 ราย และบาดเจ็บกว่าหนึ่งพันราย ความรุนแรงดังกล่าว ทำให้ แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เพื่อหยุดการสูญเสีย



ปี 2555 ดีเอสไอ รับคดีสั่งสลายการชุมนุม ปี 2553 เป็นคดีพิเศษ ก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดฟ้องจำเลยทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายผู้ชุมนุมในข้อหา “ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต


ปี 2557 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า การกระทำของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ (เทือกสุบรรณ) จำเลยที่ 1-2 เป็นการกระทำโดยใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ปี 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือ ไม่รับฟ้อง และปี 2560 ศาลฎีกาก็มีคำสั่งยืนตามศาลอุทธรณ์ คือ ไม่รับฟ้องเช่นกัน


ด้านคดีความของจำเลยฝ่ายผู้ชุมนุม ในเดือนสิงหาคม 2562 ศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้อง ในความผิดข้อหาก่อการร้ายของ 24 แกนนำ นปช. จากการประท้วงในปี 2553 เนื่องจากเห็นว่า การชุมนุมประท้วงนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายมิใช่การก่อการร้าย อย่างไรก็ตามมีอีกหลายคดีซึ่งดำเนินการฟ้องร้องกับประชาชนที่ไม่ใช่แกนนำ และบางคดีนำไปสู่การจำคุกประชาชนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในการชุมนุมปี 2553


สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกลงโทษจากการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมปี 2553


“10 ปีที่ผ่านมา ตอกย้ำว่า ความรุนแรงที่กระทำโดยรัฐ ไม่สามารถเอาผิดได้ ไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้น เกิดซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ตั้งแต่ ตุลา 19 พฤษภาทมิฬ และพฤษภา 53 สิ่งที่เหมือนกันคือ ความรุนแรงจากรัฐเอาผิดไม่ได้ เกิดวัฒนธรรม ทำผิดแล้วลอยนวล ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีความย่ามใจ แม้เหตุการณ์ปี 53 เป็นอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในการจับจ้องของคนทั้งโลก มีพยานหลักฐาน มีสื่อมวลชน มีการตั้งคณะกรรมการหาความจริง แต่ก็ยังเอาผิดไม่ได้… รัฐประหาร ปี 57 เหมือนตะปูตัวสุดท้ายตอกฝาโลงในการที่จะเห็นความยุติธรรม” สุณัย กล่าว


“เรากังวลว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้เกิดความย่ามใจของผู้สั่งการ และผู้ปฏิบัติ จนนำไปสู่การเกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้งในสังคมไทยในอนาคต หากเกิดการเผชิญหน้าของคนสองฝ่าย ฝ่ายกุมอำนาจมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังเพราะเชื่อมั่นว่าจะไม่ต้องรับผิดใดๆ กรณี เสื้อแดงทั้งระดับแกนนำ ถึงผู้ร่วมชุมนุมถูกดำเนินคดี และบางคนยังติดคุกอยู่ แต่ขณะที่ คนกุมอำนาจในขณะนั้น ผู้บัญชาการกองทัพ และระดับรองลงมา ล้วนไม่ต้องรับโทษ ทั้งทางวินัยและทางอาญา กระบวนแสวงหาความจริงมันไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้หวังจะก่อให้เกิดความยุติธรรม” สุณัย กล่าวเพิ่มเติม


“ความยุติธรรม เป็นความยุติธรรมของผู้ชนะเสมอ” สุณัย ระบุ


ในห้วงของวาระครบรอบ 10 ปี เหตุสลายการชุมนุมปี 53 บนอินเตอร์เน็ต มีการเผยแพร่ภาพและข้อความซึ่งถูกฉายด้วยเลเซอร์บนอาคาร และสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งในกรุงเทพฯ โดยข้อความเหล่านั้น เป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 2553 และพฤษภาคม ปี 2535 ต่อมา คณะก้าวหน้า ซึ่งนำโดยอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า คณะก้าวหน้าเป็นผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยตั้งชื่อเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า #ตามหาความจริง และใช้ข้อความพาดพิงถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหารด้วย


ต่อการเคลื่อนไหว #ตามหาความจริง พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าว ดิ อีสานเด้อว่า จะไม่ขอพูดถึงการเคลื่อนไหวครั้งนี้ และจะไม่ขอพูดถึงการสลายการชุมนุมปี 2553


“ไม่พูดดีกว่า ต้องไปดูเรื่องของข้อกฎหมาย เรื่องข้อความที่ว่า กองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ขอไม่ชี้แจง เพราะทุกอย่างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม อยู่ในศาลแล้ว” พล.ท.คงชีพ ระบุ


นี่เป็นอีกครั้งที่ ตัวแทนรัฐพยายามทำเฉยๆ กับความรุนแรงและการสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐ



#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #พฤษภาคม #สลายการชุมนุม #นปช #เสื้อแดง #ความยุติธรรม #ตามหา #ความจริง


ขอบคุณข้อมูลจาก เบนาร์นิวส์ — at ราชประสงค์.

19 views0 comments
bottom of page