top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

ความหวังคนจนในม่านหมอกโควิด-19 และความลำบากของแรงงานข้ามชาติในไทย


“ถ้ารัฐช่วยได้ ก็ช่วยเข้ามาดูคนในแคมป์ก่อสร้าง รัฐบอกว่า คนก่อสร้างจะไม่ได้เงินชดเชย แต่คนก่อสร้างนี่จนเยอะนะ ในความเป็นจริงคนก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบ ในหมู่บ้านเขาเบรคงาน เพราะว่า มีลูกค้าเข้าอยู่แล้ว เขาก็จะไม่ให้คนข้างนอกเข้าไป ตอนนี้ เราต้องเอาเงินที่เก็บไว้มาใช้ เงินเก็บมันก็ไม่มากหรอก น่าจะหมดเดือนนี้แหละ ช่วงนี้ ข้าวก็เซ็น เราก็บอกเขาว่ายังไม่มี ตอนขายดีเราก็จ่ายตรงเวลา ช่วงนี้เรากระทบเขาก็เข้าใจ” ราตรี ทองใคร่ เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง ในแคมป์ก่อสร้างย่านบางกะดี ปทุมธานี กล่าวแก่เรา เธอคือ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจาก โรคระบาดจะทำให้เธอขายของได้น้อยลงแล้ว ยังทำให้เธอไม่สามารถกลับบ้านที่บึงกาฬด้วย “ลงทะเบียนไปแล้ว(เราไม่ทิ้งกัน) ให้หลานสาวลงให้ เขาบอกเดี๋ยวก็เงินเข้า แต่ยังไม่เห็นมา คนนึงพูดอย่างนึง อีกวันคนนึงพูดอีกอย่าง เราก็ไม่รู้ยังไง บางคนลงฟลุ๊คๆ ก็ได้ ความหวังของคนจนเด้รอเงิน 5 พันบาท เราก็ได้รับผลกระทบ เมื่อก่อนขายของได้วันละ 3,000 บาท หักทุนก็เหลือ 500-600 บาท ตอนนี้ ขายได้ 600-800 บาท หักแล้วเหลือ 100-200 บาท โรคมาที่นี่ก็เงียบ เพราะคนงานนอกแคมป์ ช่างระบบ ช่างไฟ ช่างประปา ไม่มา แต่จะไม่เปิดร้าน น้องชาย หลาน หรือคนงาน พวกๆกันก็ไม่มีกิน ตอนนี้ จะกลับบ้านก็กลับบ่ได้ เขาบ่ให้กลับ” ใกล้ๆ กันนั้น ทวีศักดิ์ ทองใคร่ น้องชายของราตรี ซึ่งนั่งฟังอยู่ ก็บอกว่า แรงงานก่อสร้างเช่นเขา ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากการระบาดของโควิด-19 “ตอนนี้อาศัยเกาะกินกับพี่สาวไปอย่างนี้แหละ โครงการบ้านจัดสรรตรงนี้เขาให้หยุด ในส่วนที่เป็นงานต่อเติมเขาก็ให้หยุด เพราะว่าเขาไม่ให้เข้าหมู่บ้าน นี่ก็ไม่ได้ออกไปไหน 20 วันแล้วเดือนนี้ ตอนนี้ก็ไม่มีรายได้เลย ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา เขาก็บอกว่า รอตรวจสอบ ทำอะไรก็ไม่ค่อยเป็นกับเขา ลงทะเบียนอะไร ถ้าให้ไปเขียน มันอาจจะได้อยู่ แต่นี่ลงในเน็ต ไม่ถนัด มันยาก เราก็ไม่ได้เรียนมาด้วย ก็ให้น้องทำให้” “ค่าแรงวันละ 380 บาท เดือนนี้ทั้งเดือนหายไปเลย ออกไปทำข้างนอกก็ไปไม่ได้ เขาไม่ให้ไป ร้านปูน ร้านไม้ เขาก็หยุดส่ง เราก็ได้หยุดงานไปด้วย จะไปรับจ็อบต่อเติมบ้านไว้ข้างนอก พอมีโรค เจ้าของบ้านเขาก็กลัวให้เราหยุดงานต่อเติมไว้ ให้มันซาๆก่อนค่อยมา ไอ้เงินส่วนที่เราทำก็ยังไม่ได้ เพราะงานมันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ยังส่งงานไม่ได้ ก็เลยต้องรอไปก่อน ก็หวังกับเงิน 5 พัน ในครอบครัวลงกันทุกคน ถ้าได้บางคนก็น่าจะพออยู่ได้” ในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลไทยประเมินว่า ทั้งประเทศมีแรงงาน 38 ล้านคน แบ่งเป็นเกษตรกร 17 ล้านคน มนุษย์เงินเดือน 11 ล้านคน อาชีพอิสระทั้งแบบในระบบประกันสังคมและนอกระบบ รวม 8 ล้านคน และราชการและอื่นๆ 2 ล้านคน แรงงานก่อสร้างถูกโยนเข้าไปอยู่ในกลุ่มอาชีพอิสระ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลบอกว่า คือ กลุ่มเป้าหมายการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน จากเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” แต่ในท้ายที่สุด รัฐบาลกลับชี้แจงว่า แรงงานก่อสร้างไม่เข้าข่ายผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้สั่งให้หยุดการก่อสร้าง กลายเป็นว่า แรงงานกลุ่มที่น่าจะมีรายได้น้อยที่สุดในบรรดาอาชีพอิสระ กลับไม่ได้รับอะไรจากรัฐ ในสถานการณ์ที่พวกเขาก็ได้รับผลกระทบจนแทบจะทนแรงกระทำไม่ไหว เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่ ไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ระบาดเข้ามาในประเทศไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยว คือ โดมิโนแรกที่ถูกผลักให้ล้ม ตามมาด้วยอุตสาหกรรมอื่นๆอีกไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาขาดรายได้ เมื่อปริมาณผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น รัฐบาลไทยได้ตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ขึ้น โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ ทั้งยังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน(พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งมาตรการตรวจการสัญจรเดินทางของประชาชน การสั่งปิดร้านค้า สถานบันเทิง และห้ามทำกิจกรรมหลายกิจกรรม แน่นอนว่า คำสั่งสามารถลดการเคลื่อนย้ายคนได้จริง โดยมีสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ เป็นเครื่องยืนยัน แต่ขณะเดียวกัน มีคนหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ปัญหาของรัฐเช่นกัน ซึ่งแม้ว่ารัฐเองพยายามที่จ่ายเงินเยียวยาผลกระทบดังกล่าว แต่แรงงานต่างด้าว 2,990,777 คนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านระบบ MOU และอีกจำนวนหนึ่งที่เข้ามาโดยบัตรผ่านแดนชั่วคราว คือ กลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการเยียวยาใดๆ “ช่วงนี้ โควิดระบาด งานก็ไม่ค่อยจะมีให้ทำ กลับบ้านก็ไม่ได้ ต้องอยู่ในไทยต่อไป ตอนแรกคิดว่า จะกลับบ้านช่วงสงกรานต์ แต่ก็ไปไม่ได้แล้ว เขาปิดด่าน ขายของได้เงินน้อยลง รายได้ก็น้อยลง” นิด วอน ชาวเมืองพะตะบอง ประเทศกัมพูชา ซึ่งมาทำงานก่อสร้าง และเฝ้าร้านขายของชำ ในแคมป์ก่อสร้างย่านบางกะดี ปทุมธานีกล่าว จอห์นนี่ อาดิคารี แกนนำแรงงานเมียนมาในประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน แรงงานเมียนมาได้รับผลกระทบมากจากการระบาด และมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 “แรงงานตามโรงงานตอนนี้ โรงงานปิดหมด ไม่มีตังค์กินข้าว ไม่มีเงินชดเชย ไม่มีเงินสำรองเลย แต่ยังมีค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร เขาก็ไม่มีตังค์จะอยู่ไทย แต่จะกลับบ้านก็โดนปิดชายแดน บางคนเริ่มเครียด ไม่มีรัฐบาลไหนช่วย แม้แต่รัฐบาลพม่าก็ไม่มาดูแล ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมา ไม่มีบัตรที่จะรักษา ไม่รู้ไปซื้อยาที่ไหน หรือไปโรงพยาบาลที่ไหน” เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 เป็นวันแรกที่รัฐบาลไทยโอนเงินเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งลงทะเบียนบนเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัhttp://xn--q3c.com/ โดยรัฐบาลเปิดเผยว่า มีผู้ที่ลงทะเบียนขอรับการเยียวยาผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวแล้วกว่า 24 ล้านคน แต่มีผู้ที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์ และจะได้รับเงินกลุ่มแรกเพียง 1.68 ล้านคน อย่างไรก็ตาม อาชีพแรงงานก่อสร้างไม่อยู่ในกลุ่มที่รัฐบาลประเมินว่าได้รับผลกระทบ และแน่นอนว่า แรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิในการรับเงินเยียวยาดังกล่าวเช่นกัน และในภาวะวิกฤตนี้ แรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยก็ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง “บางคนทำงานก่อสร้าง ถูกเลิกจ้าง ถ้านายจ้างไม่ชอบ ก็ถูกไล่ออก บางคนทำเอ็มโอยูเข้ามา ไล่ออกต้องมีสวัสดิการให้เขา โควิดทำให้ไม่มีใครช่วยเรื่องพวกนี้” จอห์นนี่ กล่าว “เมื่อวันที่ 9-10 เมษายน มีร้องเรียนมา 200 รายจากโรงงานพลาสติกในสมุทรปราการ กับอีก 60 รายจากโรงงานเฟอร์นิเจอร์จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการเลิกจ้างโดยสถานประกอบการ และไม่มีการชดเชย” เจ้าหน้าที่สถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย (สงวนชื่อและนามสกุล) รายหนึ่ง เปิดเผย ขณะที่ สุธาสินี แก้วเหล็กไหล จากเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ(MWRN) ก็เปิดเผยเช่นกันว่า ช่วงโควิด-19 ระบาด มีแรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมากกระจายอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทย “ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือ อุตสาหกรรมเสื้อผ้า นายจ้างถือโอกาสไม่ต่อสัญญา ไม่ต่อวีซ่า มีร้องเรียนมา 51 คน จากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าเด็ก สมุทรสาคร ว่าเลิกจ้าง ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย ที่กระทุ่มแบน แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า 40 คน ไม่ได้ต่อสัญญา และนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย ที่อยุธยาคนงานไม่ผ่านทดลองงานในโรงงานอิเล็กทรนิก 105 ราย โรงงานที่นครปฐมไม่ต่อสัญญา 100 คน พนักงานโรงงานที่ภูเก็ตถูกเลิกจ้างอีก 19 คน” ตามกฎหมาย แรงงานต่างด้าวที่ประกันตนเองตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ) ซึ่งใช้หนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงาน เป็นหลักฐาน จะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีคลอดบุตร, กรณีทุพพลภาพ, กรณีเสียชีวิต, กรณีสงเคราะห์บุตร, กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน เช่นเดียวกับแรงงานไทย โดยเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบให้ กองทุนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยการว่างงานให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะจ่ายร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเดือนละ 7,080 -8,000 บาท ซึ่งขณะนี้กองทุนประกันการว่างงานมีเงินรวม 1.6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าว ไม่ได้ระบุถึงแรงงานข้ามชาติเป็นการเฉพาะ ต่อมาตรการดังกล่าว ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติที่เข้าระบบประกันสังคม มักไม่ได้รับเงินชดเชย กรณีที่ว่างงาน “แรงงานข้ามชาติเวลาจ่ายเงินประกันสังคม จ่ายเหมือนคนไทย แต่เวลาเงินว่างงาน เขากลับไม่ได้รับเหมือนคนไทย เขาได้แค่ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าชดเชยอุบัติเหตุจากการทำงานเท่านั้น กรณี 7 อย่างที่ควรจะได้ไม่ค่อยได้ แต่ประกันสังคมเขาก็ต้องจ่ายเต็มๆ เหมือนคนที่ได้ 7 อย่าง” ในประเด็นเดียวกัน จอห์นนี่ กล่าวว่า “เรื่องประกันสังคม 95 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานข้ามชาติ เขาไม่รู้เรื่อง กรณีเรื่องโควิด คนถูกเลิกจ้าง ถูกให้หยุดงาน ไม่ได้เงินเต็มจำนวนที่ตกลงกันไว้ แต่ก็ไม่รู้ว่า สิทธิของตัวเองคืออะไร ไปปรึกษากับกรมสวัสดิการฯ ก็ต้องรอหลายเดือน รอเพื่อให้เขาบอกว่า เดี๋ยวติดตามให้ แรงงานบางคนเลยกลับประเทศ เพราะรอไม่ไหว” ทั้งนี้ ดิ อีสานเด้อ ได้พยายามติดต่อขอข้อมูลเกี่ยวกับจ่ายเงินชดเชยการว่างงาน ของแรงงานข้ามชาติไปยัง ทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม แต่ไม่ได้รับคำตอบในประเด็นดังกล่าว โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า จนถึงเดือนเมษายน 2562 สำนักงานประกันสังคมระบุว่า มีแรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคมจำนวน 1,126,952 คน โดยเป็นสัญชาติพม่า 724,915 คน สัญชาติกัมพูชา 237,534 คน สัญชาติลาว 55,283 คน และสัญชาติอื่น ๆ 109,220 คน นอกจาก ระบบประกันสังคมแล้ว ในปัจจุบัน รัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะ ซึ่งแรงงานข้ามชาติเองได้เปิดเผยกับเราว่า อยากได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลในฐานะแรงงานคนหนึ่งเช่นกัน “ถ้ามาตรการเร่งด่วนก็อยากให้ช่วยเหลือเรื่องอาหารกับแรงงานข้ามชาติที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทย ผมเข้าใจว่า โควิดเป็นปัญหาทั่วโลก ในฐานะแรงงานที่มีสิทธิไม่มาก ค่าแรงต่ำกว่าคนทั่วไป อยากให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือ ลดค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารการทำงาน เพราะค่าทำเอกสารแพงกว่า 2 ปีที่แล้วมาก ต่อเอกสารแต่ละครั้งเสียเงินหมื่นกว่าบาท อยากให้ลดให้มากที่สุด ถ้ากลับมาทำงานได้ปกติ จะได้ช่วยลดปัญหาแรงงานผิดกฎหมายไปด้วย” จอห์นนี่ กล่าว ขณะที่ เร (สงวนนามสกุล) แรงงานก่อสร้างชาวกัมพูชา ซึ่งทำงานในจังหวัดปทุมธานี ระบุว่า ในฐานะแรงงานนอกระบบประกันสังคม อยากได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลเหมือนคนไทย โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 “งานก็พอมีทำอยู่ช่วงนี้ ยังไม่ได้ระทบมาก แต่ถ้าป่วยก็ต้องจ่ายตังค์เอง อยากได้สิทธิบัตรทองเหมือนกัน เพราะกลัวโควิด ที่ผ่านมาถ้าป่วยก็ไปหาซื้อยากิน เพราะกลัวว่าถ้าไปโรงพยาบาลจะเสียตังค์เยอะ” สุธาสินี มองว่า รัฐบาลไทยจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงนี้ เช่นเดียวกันแรงงานชาวไทย เนื่องจากแรงงานข้ามชาติถือเป็นกำลังสำคัญในระบบเศรษฐกิจของไทยเช่นกัน “รัฐจำเป็นต้องคิดเรื่องการเยียวยาให้มันเห็นรูปธรรมมากกว่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเฉพาะหน้าต้องแก้ไขเยียวยาก่อน เพราะแรงงานข้ามชาติได้รับปัญหาจริง เขาเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เขาไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ ต้องทำให้เขาอยู่ในประเทศไทยได้ ควรมีมาตรการเฉพาะสำหรับแรงงานข้ามชาติ เช่นเดียวกับการเยียวยาแรงงานไทย 5 พันบาท เพราะแรงงานต่างชาติก็เกิดความสับสน อยากได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน “การบังคับใช้กฎหมายยังคงต้องทำอยู่ เพราะที่ผ่านมาโรงงานที่ได้รับผลกระทบบางโรงงาน ใช้วิธีเลี่ยงกฎหมาย โดยให้แรงงานเขียนใบลาออก เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ซึ่งรัฐควรเข้ามามีบทบาท ทำให้โรงงานถ้าจะเลิกจ้าง ก็ประกาศเลิกจ้าง หรือประกาศหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อให้แรงงานได้รับการชดเชยตามกฎหมายตามสิทธิที่เขาควรจะได้รับ” สุธาสินี ระบุ ขณะที่ สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ แอลพีเอ็น เสนอให้รัฐบาลไทย ปฏิรูประบบจัดการแรงงานข้ามชาติใหม่ รวมถึงเตรียมแผนสำหรับรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติ หรือวิกฤต เพื่อให้สามารถดูแลแรงงานได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์เช่นการระบาดของโควิด-19 นี้ “ข้อเสนอคือ ต้องปฏิรูประบบบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติใหม่ให้เอื้อกับสถานการณ์ภัยพิบัติอื่นๆ ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยวิเคราะห์สถานการณ์กับแรงงาน เขาไม่สนใจว่า แรงงานจะอยู่ยังไง ต้องมีการศึกษาสถานการณ์และจัดการให้แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่ได้เมื่อมีปัญหา ให้เขาทำประกันสังคมแบบที่เหมาะสมกับเขา ให้เขาใช้บัตรเดียวเพื่อรับสิทธิ จะได้ลดปัญหาเอกสารไม่ครบ ปัญหาเรื่องชื่อในเอกสารแต่ละอย่างไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิค เช่น ชื่อในประกันสังคม กับพาสปอร์ตไม่ตรงกัน ทำให้ไม่ได้รับเงินชดเชย เป็นต้น “มาตรการคุ้มครองแรงงานของรัฐทำให้แรงงานข้ามชาติต้องพึ่งพานายจ้างมาก เช่น การทำประกันสังคม บางที่ลูกจ้างจ่ายเงินให้นายจ้างทุกเดือนเพื่อประกันตน แต่นายจ้างไม่ทำประกันสังคมให้ ไม่ยอมเอาเงินไปจ่าย รัฐบาลไทยพยายามทำให้แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายทั้งหมด แต่การดำเนินเอกสารเอง หรือทำเอกสารผ่านนายหน้าก็มีราคาแพง แรงงานไม่มีเงินจ่าย บางรายเลยกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และก็ตามมาด้วยการถูกเอาเปรียบจากนายหน้า นายจ้าง หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่” สมพงษ์ กล่าว ปัจจุบัน รัฐบาลไทยไม่ได้เปิดเผยตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ไม่มีการเปิดเผยว่า แรงงานข้ามชาติเดินทางกลับประเทศไปแล้วกี่ราย จากแรงงานต่างข้ามชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา 2,990,777 ราย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และสภากาชาดไทย ได้ประชุมร่วมกันในประเด็นเพื่อแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ แต่สุดท้าย มาตรการที่ได้หลังจากการประชุมคือ การที่ทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาเอกสารให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าว เรื่องการป้องกันตัวจากโควิด-19 #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #แรงงานข้ามชาติ #งานหนัก #เงินน้อย #จน #คือเก่า #เขมร #พม่า #เมียนมา #กัมพูชา #เฮ็ดเวียก #เฮ็ดงาน #โควิด19 #โคโรนา ขอบคุณข้อมูลจาก เบนาร์นิวส์ และประชาไท

381 views0 comments

Comments


bottom of page