top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

สักวัน พี่จะกลับไปเทคโอเวอร์ ThaiPBS : หทัยรัตน์ พหลทัพ ผู้นำทางคนใหม่ของ เดอะ อีสานเรคคอร์ด



“Isaanism คืออะไร, สื่อต้องเป็นกลางไหม, ทำไมถึงทิ้ง ThaiPBS มาทำ The Isaan Record, สื่ออีสานสื่อไหนน่าสนใจ, ประเทศไทยยังมีอนาคตไหม และอื่นๆ” คือ คำถามที่เราถามเธอ


The Isaander x The Isaan Record คุยไป ขิงไป อำไป อำมากับ นักข่าวที่ทำข่าวสิทธิมนุษยชนมาอย่างยาวนาน, นักข่าวที่ยิงคำถามใส่พลเอกประยุทธ์ไม่หยุดจนลุงสะดุด และอยากเห็นหน้า, นักข่าวที่เดินทางไปถึงดูไบ เพื่อสัมภาษณ์อดีตนักการเมืองที่คุณก็รู้ว่าใคร


กับเธอ หทัยรัตน์ พหลทัพ(พี่วิส) อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสแห่ง ThaiPBS, คนหนองบัวลำภู และ บรรณาธิการคนใหม่ของสำนักข่าวที่หลายคนเผลอเข้าใจว่า เป็นค่ายเพลง เดอะอีสานเรคคอร์ด The Isaan Record


หลังจากดูวันเวลาตกฟาก วันเดือนปีเกิด ลายนิ้วมือ โหงวเฮ้ง หวยซุ้ย ดิ อีสานเด้อก็พบว่า นี่คือฤกษ์งาม-ยามดีที่สุดที่จะสัมภาษณ์ บรรณาธิการใหม่แห่งสำนักข่าวอีสานที่เราไม่ได้มองว่าเขาเป็นคู่แข่งกับเราสำนักนี้


---


อยู่ ThaiPBS ก็ดีอยู่แล้ว ทำไมถึงลดตัวมาทำ The Isaan Record ? (อำด้วยความเคารพ)


“มันไม่ได้ลดตัวนะ”


พี่วิส น่าจะรู้ว่า เราตั้งคำถามอำ แต่เธอก็ยังคงยืนยันว่า การโยกย้ายตัวเองมาทำหน้าที่ในมาตุภูมิของเธอครั้งนี้ ไม่ใช่การลดระดับ ลดชั้น ลดความสำคัญ หรือลดบทบาท แต่อย่างใด และเมื่อหัวเราะกันเสร็จ เธอจึงเล่าถึงความเป็นมาของตำแหน่งใหม่ครั้งนี้


“ตอนนั้น พี่ออกจากไทยพีบีเอส พี่ได้ Early Retired คือ ได้เงินจากไทยพี แล้วพี่ก็ไปเที่ยว ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ เบรค นอนอ่านหนังสือ และว่ายน้ำ ทำสิ่งที่อยากทำ เพราะตอนอยู่ไทยพี พี่ทำงานดุมาก อยู่โต๊ะสืบสวน ต้องตามสถานการณ์ด่วน เหตุเกิดที่ไหนก็ไป น้ำท่วม แผ่นดินไหว ก็ไป ภาคใต้ก็ไป บังกลาเทศ พม่า พี่ก็ไป สถานการณ์ด่วนไปหมด ปีหลังๆพี่ป่วยบ่อยมาก เลยเริ่มรู้สึกว่า กูจะหาตังค์ไปเพื่อรักษาตัวเองเหรอวะ”


“มันถึงเวลาที่ต้องทบทวนตัวเองแล้ว ทำไมถึงป่วยบ่อย พี่ก็คิดว่าเพราะ มึงใช้ชีวิตไม่สมดุลย์ มึงทำงานไม่มีวันหยุดไงล่ะ คือ เขาให้หยุดนะแต่พี่ไม่หยุดเอง เลยเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะใช้ชีวิตแบบนี้จริงหรือ ถ้าแบบนี้ก็ตายเร็วสิ พี่เลยออก”


“ลาออก ไปติวภาษาเพื่อจะเรียนต่อ ถึงขั้นไปอยู่อังกฤษ 3 เดือนเพื่อเรียนภาษา แต่ดันสอบได้คะแนนน้อยกว่าตอนอยู่เมืองไทย ก็เลยถอดใจ คิดว่า ไม่เอาก็ได เลย สละทุนแล้วตระเวนเที่ยวในที่ที่อยากไป เพราะตอนอยู่ ไทยพีมีหลายที่ที่พี่อยากไป แต่ยังไม่ได้ไป พี่อยากไปซีเรีย รวันดา หรือแอฟริกาใต้ แต่สุดท้ายไม่ได้ไปรวันดา แต่ไปแทนซาเนียแทน”


---


ไม่น่าเชื่อว่า แค่คำถามเกี่ยวกับ ThaiPBS และ The Isaan Record จะนำพาเราไปไกลถึงแอฟริกา


“จากนั้น ก็เลยมาเป็น Freelancer พักนึง ตอนนั้น Thomson Reuters ก็ชวนไปทำงานด้วย แต่พี่ไม่อยากทำข่าว Human Rights แล้ว จริงๆ ก็ทำได้ แต่ช่วงหลังเราทำประเด็นสิทธิมนุษยชนมาตลอด แล้วพบว่า พอต้องทำประเด็นอ่อนไหว หรือมีความขัดแย้ง เราจะปวดหัว ซึ่งหมอบอกว่า เกิดจากความเครียดสะสม ก็เลยไม่ได้ไปทำกับ Thomson Reuters แต่ก็รับช่วยงาน Al Jazeera บ้าง”


“แล้วตอนไปช่วยงาน Al Jazeera ก็ได้รู้จักกับผู้ก่อตั้ง The Isaan Record เขาเลยชวนเรามาทำ The Isaan Record เขาบอกว่า คุณว่างงานอยู่ คุณมาเป็น บก. อีสานเรคคอร์ดไหม?”


“เราคิดว่า น่าจะดีนะ ได้อยู่ใกล้บ้าน ใกล้แม่ ก็น่าจะดี พักสมองไปด้วย เป้าหมายคือ พี่อยากกลับมาอยู่บ้าน อยากกลับมาหลายปีแล้ว แต่ไม่รู้จะกลับมาทำอะไร เพราะบ้านพี่ทำเกษตร แต่พี่ไม่ชอบทำเกษตร เพราะมันร้อน และไม่ได้ผลตอบแทนที่ทำให้เรามีรายได้อยู่กินแบบมีความสุข พี่ชายของพี่ลงทุนทำเกษตรเป็นแสน ก็เจ๊งระนาว ก่อนหน้านี้เราเลยไม่รู้ว่าจะกลับบ้านมาทำอะไร”


---


มีปัญหาเรื่องการเกษตร ปรึกษา บรรณาธิการบริหาร(บก.บห.) ของ ดิ อีสานเด้อ ได้นะครับ เพราะคนนี้เกษตรกรตัวจริง เราแอบเอาเรื่องจริงมาแซว (บก.บห. ของเรามีอาชีพเป็นเกษตรกรควบคู่กับการทำหน้าที่สื่อมวลชน)


“ตอนทำไทยพี เดินทางบ่อยมาก เดินทางทุกเดือน แต่ก่อนมีความสุขกับการเดินทางต่างประเทศมาก ได้เตรียมตัว เตรียมกระเป๋า เพื่อที่จะไปต่างประเทศ แต่ตอนหลังรู้สึกไม่อยากไปไหนแล้ว มันคงอิ่ม”


“อีกส่วนหนึ่งคือ พี่อ่านงานอีสานเรคคอร์ด เรื่องกระจายอำนาจ หรือกบฎผีบุญ อะไรที่มันเกี่ยวกับ ความเป็นอีสาน แล้วพี่ชอบงานของพวกเขา ประกอบกับ พี่มีกลุ่มเพื่อนในกรุงเทพที่เป็น Isaanism(อีสานนิยม) ชื่อกลุ่มว่า ลาวกู้ชาติ มันก็เลย ทำให้พี่รู้สึกว่า เราควรมาขยายความคิดพวกนี้ในอีสาน”


“พี่ยังคิดว่าต้องกู้อีกเหรอครับ” อีสานเด้อ แอบแซว


“ไม่ คือ เราตั้งกลุ่มเพราะ การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทำให้เรามีชื่อเสียงบ้าง เพื่อนก็เลยบอกว่า เราในฐานะตัวแทนคนอีสานสามารถกู้ชื่อเสียงของคนอีสานได้ ก็เลยตั้งกลุ่ม เพื่อรวมคนอีสานที่สามารถสร้างชื่อเสียงได้”


“คิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะใช้ไอเดียจากกลุ่มลาวกู้ชาติ มาทำงานกับอีสานจริงๆ เราก็เลยคุยกับผู้บริหารอีสานเรคคอร์ดว่า เราจะไม่ทำอีสานเรคคอร์ดในแบบเดิมๆ เราจะทำอีสานเรคคอร์ดให้เป็น Mass Media มากขึ้น เราจะทำวิดีโอมากขึ้น เราจะสัมภาษณ์สดมากขึ้น ทำ Facebook Live มากขึ้น แต่ว่างานเขียนก็ยังจะคงอยู่นะ เพราะว่าเราอยากทำประเด็นข่าวเจาะ”


“พี่ถามเขาว่า ถ้าทำเรื่องการเมืองแรงๆ จะรับเราได้ไหม? เขาซื้อไอเดียเรา เราก็เลยเปิดประเด็นวิดีโอด้วยการสัมภาษณ์ อาจารย์สุลักษณ์(ศิวรักษ์) สัมภาษณ์ ไผ่ (ดาวดิน-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา) และจะเรื่องการเมืองกับอีสานอีกในอนาคต”


“ตอนที่เขาชวนเรา เขาถามว่า คุณไปช่วยเหลือคนภาคอื่น สร้างให้ไทยพีบีเอสมีชื่อเสียง แต่ทำไมคุณไม่กลับตอบแทนแผ่นดินอีสานบ้าง เราก็เลยสะอึกนิดนึง เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า มันถึงเวลากลับบ้านแล้วหรือเปล่า?”


“จริงๆแล้วความฝันไม่ได้อยากกลับมากู้ชาตินะ อยากกลับมาอยู่ใกล้ๆครอบครัว”


---


แม้เธอจะบอกว่า เธอเหนื่อยกับการเดินทางแล้ว แต่ความจริงที่เราพบเห็นคือ เธอก็ยังเดินทางไม่หยุดอยู่ดี วันก่อนอยู่หนองบัวลำภู เมื่อวานอยู่กรุงเทพฯ วันนี้เธอไปอุบลราชธานีซะแล้ว เหนื่อยบ้างไหมอะครับ ?


“พี่ชอบทำงานข่าวมาก พี่มีความสุข กับการทำข่าว”


ประโยคนี้ของพี่วิส น่าจะอธิบายได้ว่า ทำไมเธอถึงเดินทางไม่ยอมหยุด


“ตอนแรกที่พี่จะไปเรียนต่อ เพราะพี่มีความฝันอย่างนึงคือ สักวันอยากกลับไปเทคโอเวอร์ไทยพีบีเอส ถึงวันนั้น พี่จะสมัครไปเป็นผู้บริหารไทยพีบีเอส แล้วกุมทิศทางของไทยพีบีเอส ด้วยความคิดของพี่เองเพราะว่า ไทยพีบีเอส เป็นองค์กรสื่อสาธารณะ มีเงินจากภาษีของประชาชน ถ้าตั้งใจทำสื่อจริงๆจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้เยอะมาก”


“นี่คือความฝัน ก็เลยตัดสินใจว่า เมื่อเราจะหยุดแล้ว เราควรไปเรียนต่อ เพื่อมีความรู้ที่จะกลับมาบริหาร คือ พี่ได้ทุนของสถานทูตฯ อังกฤษ มา 3 ปีติดแล้ว แต่ดันสอบภาษาอังกฤษไม่ผ่านซะที เลยยังไม่ได้ไป”


ทำไมพี่ไม่คิดจะไปเทคโอเวอร์ ช่อง 11 ? ไทยพีบีเอสอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเยอะ แต่ช่อง 11 น่าจะต้องเปลี่ยนเยอะเลยนะ


“พี่กับองค์กรไม่น่าจะเข้ากันได้ (ฮา)”


ไทยพีบีเอส ทุกวันนี้ เขาร้องเพลง อกหักจากเนชั่น กันนะครับ (บก.บห. ดิ อีสานเด้อ แอบแซว)


---


ในอีสานมีสื่ออะไรที่น่าสนใจบ้างครับ ? หรือมองว่า สื่อไหนเป็นคู่แข่ง ?


“ก็มองๆ อีสานเด้ออยู่”


พี่รู้ไหมครับว่า พวกผมไม่ได้มองพี่เป็นคู่แข่งเลย มองช่อง 7, Workpoint อะไรงี้มากกว่า The Standard ยังไม่นับเลย (บก.บห. เสริม) (ประโยคนี้ ถือว่าเราถ่อมตัวมากแล้ว เพราะจริงๆ BBC, AFP, AP หรือ Reuters ต่างหากที่เราคิดจะไปแข่งกับเขา)(แต่เขาน่าจะมองเราเป็นมดปลวกอะนะครับ)


“(ฮา)แรงงงง แต่ว่า อีสานเด้อ โตเร็วเหมือนกันปีนึงเอง จ้างคนมากดไลค์หรือเปล่าวะ”


ไม่ใช่ 1 ปีครับ 4 - 5 เดือนเอง ส่วนเรื่องจ้างไลค์ เราไม่ทำครับ เราซื้อโทรศัพท์มาเป็นพันๆเครื่อง แล้วก็สมัครเฟซบุ๊คมากดไลค์ตัวเองต่สงหาก


ถ้างั้นในอีสานเด้อนี่ชอบงานชิ้นไหนบ้าง ?


“พี่ยังคิดจะลอกประเด็นเลย คือ ประเด็นตอน 6 ตุลา อันนั้นอะชอบ ทำให้พี่มอง อีสานเด้อเปลี่ยนไป ก่อนหน้านั้นอะเฉยๆ (https://www.facebook.com/theisaander/photos/a.2221809098148453/2352257151770313/?type=3&theater) และก็เรื่อง ส้มตำ (https://www.facebook.com/theisaander/photos/a.2221809098148453/2308910156105013/?type=3&theater) รู้จักตอนเข้าไปทำอีสานเรคคอร์ดนี่แหละ ต่าย(ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์-ผู้สื่อข่าวเดอะ อีสานเรคคอร์ด) แนะนำ บอกว่า คนรู้จักกันนี่แหละทำ”


---


มองสื่อท้องถิ่นอีสานเป็นยังไงบ้าง?


“อ่านเขาบ้าง แต่ไม่ได้สนใจสื่อในอีสานเท่าไหร่ อาจเพราะเมื่อก่อน เราไม่ได้สนใจอีสานมากขนาดนี้ และมองสื่อในอีสานในฐานะ Stringer(สายข่าวที่ทำข่าวป้อนให้สื่อกระแสหลักในกรุงเทพฯ) ไม่ได้คิดว่า เขามีอิทธิพลต่อชุมชน หรือสามารถส่งพลังอะไร และเราคิดว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเป็นช่องทางในการทำธุรกิจให้กับนักธุรกิจในท้องถิ่นมากกว่า ซึ่ง Stringer ของไทยพี ก็ทำงานให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นด้วย”


“อีกอย่าง สื่อท้องถิ่นไม่ได้ทำข่าวตรวจสอบแน่ๆ เพราะข่าวตรวจสอบมันเกิดขึ้นยาก คนที่ทำมันก็อยู่ลำบาก เขาเลยไม่ได้ทำข่าวในเชิงลึก ทำเชิงธุรกิจให้ตัวเองอยู่รอดด้วยโฆษณามากกว่า เพราะการทำหนังสือพิมพ์มันมีต้นทุน”


ถ้าอย่างนั้น เดอะ อีสานเรคคอร์ดจะมีการทำข่าวตรวจสอบใช่ไหม ?


“เราโตมาจากข่าวสืบสวนสอบสวน เราฝัน เป็นฝันตั้งแต่อยู่ไทยพีว่า อยากสร้างทีมให้มันดีกว่านี้ มันแข็งแรง และทำข่าวสืบสวนสอบสวน เชิงลึกมากขึ้น อยากจะสร้างทีมตรวจสอบให้มันเข้มแข็ง เพราะตอนอยู่ไทยพี เป้าหมายของการทำรายการของเราฟที่เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโส คือ ปีนึงคุณจะต้องทำข่าว Exclusive ต้องทำข่าวเจาะให้ได้ เลยฝันว่า อยากทำอีสานเรคคอร์ดให้มีข่าวเจาะ อะไรประมาณนี้”


ตอนนี้เริ่มทำข่าวเจาะบ้างหรือยัง ?


“ตอนนี้ อีสานเรคคอร์ด กำลังทำ Series น้ำตาล เขาทำมาก่อนที่พี่จะเข้ามาแล้ว แต่พี่ก็เข้ามาช่วยเสริมในบางอย่างให้มันลึกขึ้น แต่เราก็อยากทำให้มันลึกกว่านี้ เพื่อมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง”


“สำหรับพี่ ความสุขของนักข่าว คือ เมื่อเราทำข่าวแล้วมันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย จะโคตรมีความสุข”


“หลายครั้ง ตอนอยู่ไทยพี ข่าวมันถูกนำไปตั้งคำถามถึงนายกฯ หรือรัฐมนตรี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านได้รับการแก้ปัญหา โคตรมีความสุข พี่ก็อยากให้อีสานเรคคอร์ดมันเป็นแบบนั้น แม้มันจะเป็นสื่อในภูมิภาค เป็นสื่อในระดับจังหวัด แต่พี่ก็อยากให้มันสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้แบบนั้น”


“พี่ตั้งใจว่า ถ้ามีจะทำหลาย Series เช่น การเมือง นักโทษการเมือง ซึ่งเริ่มไปแล้ว ต่อไปจะทำ Series เหมือง ทำให้เป็น Package เพื่อให้เห็นว่า มีเหมืองที่ไหน และส่งผลกระทบยังไง หวังให้มันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย นี่คือความฝันนะ แต่จะทำได้หรือไม่ได้ ไม่รู้”


ที่ผ่านมาผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง ?


“Series น้ำตาล เริ่มมีคนอ่านระดับนึง Al Jazeera สนใจมาทำ ตอนไปเจอเพื่อนที่กรุงเทพฯ ก็เสนอประเด็นให้ Reuters ทำ ที่เราทำ Series น้ำตาลเพราะตอนนี้ อีสานกำลังจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 29 โรง มันเป็นเรื่องใหญ่มาก นักข่าวก็เริ่ม อ้าวเหรอ ไทยพีก็มา พี่คิดว่าประเด็นพวกนี้ อย่างน้อยพอเราได้ทำ มันก็เริ่มส่งต่อออกไปเรื่อยๆ ทีละนิดๆ เราอยากให้มันเกิดความเปลี่ยนแปลง นี่คือความฝัน”


---


อะไรคือปัญหาของภาคอีสาน?


“พี่เป็นนักข่าวการเมืองเลยสนใจเรื่องสิทธิ แล้วตั้งคำถามว่า ทำไมคนอีสานถูกปรับทัศนคติมากกว่าภาคอื่นวะ หรือคนอีสานเป็นเสื้อแดงซะส่วนใหญ่ พี่อยากให้ชาวบ้านกลับมาแสดงความคิดเห็นได้เหมือนเดิม อยากเห็นหมู่บ้านสีแดง หมู่บ้านประชาธิปไตย แบบที่เคยมีในอดีต”


“ตอนพี่ไปทำข่าวกับ Al Jazeera พี่ไปหมู่บ้านนึง เขาชื่อหมู่บ้าน เสื้อแดง(เพื่อประชาธิปไตย) แล้วเปลี่ยนมาเป็นหมู่บ้านเห็ด เพื่อหนีการถูกปรับทัศนคติ แล้วตอนหลังเขาก็เปลี่ยนอีก เป็นหมู่บ้าน… (นิ่งคิด)”


เป็นหมู่บ้านประชารัฐ?


“หมู่บ้านเพื่อประชาธิปไตย(อานนท์ แสนน่าน เป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน บก.บห. เสริม) สิ” (ฮา)


“คืออยากเห็นบรรยากาศประชาธิปไตยในทุกจังหวัด อยากให้คนอีสานรู้จักสิทธิของตัวเอง รู้ว่า เสียงตัวเองมีคุณค่า มีความหมาย ดังนั้น ปัญหาคือ บรรยากาศประชาธิปไตยมันหายไป ทั้งๆที่ตอนยุคทักษิณ(ชินวัตร- อดีตนายกรัฐมนตรีระหว่าง ปี 2544-2549) เรารู้สึกว่า ชาวบ้านเริ่มรู้จักเรื่องสิทธิของตัวเองมากขึ้นแล้ว”


Isaanism เป็นยังไง ?


“ตนหลัง พี่ชอบฟังจุลโหฬาร ซึ่งมันอธิบายความเป็น Isaanism ได้ดีมาก เช่น เพลงเด้ออ้ายเด้อ”


เนื้อเพลง เด้ออ้ายเด้อ -“โถอ้ายเอ้ยคงห่างเหินไปเหิง ถึงเว้านำกันเบิ่งบ่คือเก่า

เว้านำกันมื้อนี้บ่เว้าลาว อย่าเว้าหลายบ่อยากอายคนได้ยิน

ข้อยฮู้อยู่ดอกพี่ชายอยู่บางกอก ย้านหลงสำเนียงออกย้านคนหัวขวัญ

ข้อยฮู้อยู่ดอกขั้นบาดเมื่อมาพ้อกัน อย่าลืมเว้าลาวนำข้อยแหน่เด้อ

อย่าลืมเด้อ อ้ายเด้อ อย่าลืมเด้อ อ้ายเด้อ อย่าลืมเด้อ อ้ายเด้อ อย่าลืมเด้อ อ้ายเด้อ”(เพิ่มเติมโดยผู้เขียน)


อย่าลืมไปอ่านบทสัมภาษณ์จุลโหฬารของอีสานเด้อนะครับ ดีกว่าอีสานเรคคอร์ดแน่นอน บก.บห. เสริม


“จุลโหฬาร ความคิดเขาดีนะ เพลงของเขาที่ออกมาหลายเพลงมันสะท้อนความเป็นอีสานที่เราเผชิญอยู่ตอนนี้เลย พี่ไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ปี 53 เท่าไหร่ เพราะ พูดมามันเจ็บปวด”


ปี 53 มาได้ไงวะ(นึกในใจ)


“มันมีคอลัมนิสต์อีสานเรคคอร์ดเขียนว่า ในปี 53(ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ถ้าเทียบกันคนอีสานตายเยอะกว่าภาคอื่น ไม่ได้จะแข่งตัวเลขกันหรอกนะ แต่ถามว่า ทำไมคนอีสานถึงต้องตายจากการลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างนี้วะ คือ เรารู้สึกว่า เราอยากเห็น อีสานยุคใหม่ ลุกขึ้นมาต่อสู้เยอะๆ”


ก็ยังอยากกู้ชาติอีสานอยู่ดี ใช่ไหมครับ ? ด้วยอุดมคติบางอย่าง(บก.บห.)


“เราอยู่กรุงเทพหลายปี เวลาเราเว้าลาวมักจะถูกล้อ พี่ไม่สนใจหรอกนะ แต่การกู้ชาติของเราคือ พยายามทำให้คนไม่มองความคิดเรา หรือ คนอีสานว่า ต่ำต้อย”


แต่ทุกวันนี้ จากที่สัมภาษณ์วัยรุ่นอีสาน วัยรุ่นสมัยนี้เขาไม่คิดว่า เขาโดนล้อแล้วนะ มีเรื่องที่แปลกคือ ผมเรียน (โรงเรียนวิทยาศาสตร์)จุฬาภรณ(ราชวิทยาลัย) เลย มีเพื่อนจากหลายจังหวัดมาเรียนด้วยกัน สมัยที่ยังเรียนอยู่ เราก็พูดภาษากลางกัน แต่ทุกวันนี้เวลาเจอกัน พูดลาวกันหมดเลย เจอกันอยู่กรุงเทพก็พูดลาว แปลกเหมือนกัน(บก.บห.)


“หรือว่า อย่างเธอแม่นคนขอนแก่น เธอหนองบัว เราแม่นหนองบัว คือบ่เว้าลาวกัน ในกองอีสานเรคคอร์ด ก็ยังบ่ได้เว้าลาวเลย สมัยอยู่ไทยพีบีเอสยังเว้าลาวกันหลายกว่า เพราะว่า มีคนอีสานอยู่หลาย ช่างภาพก็แม่น นักข่าวหลายคนก็แม่น”


แสดงว่าคนอีสานนี่รันวงการสื่ออยู่ ?


“เยอะ”


Isaanism คือ อะไร (ถามซ้ำ) ?


“อยากให้คนอีสานทุกคนเว้าลาว”


ที่บอกว่า อยากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในอีสาน หมายความว่า ภาคเราได้รับผลกระทบจากนโยบายมากกว่าภาคอื่นหรือ (บก.บห.) ?


“สมัยทำไทยพี ดูรายชื่อข่าวถ้าเทียบกับภาคอื่น อีสานมีข่าวน้อยกว่าเพื่อน แต่พอมาอยู่อีสานจริงๆ พบว่า มันมีข่าวให้ทำเยอะมาก ทำไม่ทันเลย ถามว่าได้รับผลกระทบมากกว่าภาคอื่นไหม ในเชิงทรัพยากรก็คิดว่า มันมีปัญหาคาราคาซังหลายเรื่อง”


“แต่ที่มันไม่เป็นข่าว ส่วนหนึ่งพี่คิดว่า มันเป็นเพราะ พฤติกรรมของคนอีสานที่ไม่ได้ถนัดการลุกขึ้นมาต่อสู้ ถ้าเป็นภาคใต้ พอเกิดโครงการพัฒนาที่เขาไม่ยินยอม เขาจะลุกขึ้นสู้ทันที ข่าวใต้เลยมีมากกว่าข่าวอีสาน แต่จริงๆแล้วข่าวอีสานมันมี ถ้าเราดูตอนนี้ มันมีโครงการพัฒนาเยอะ แต่จริงๆ ก็ไม่รู้ว่าภาคไหนมีการพัฒนาแล้วส่งผลกระทบมากกว่ากัน ไม่รู้จริงๆ”


ลุงตู่เป็นไง?


“ชอบลุงตู่(ประยุทธ์ จันทร์โอชา-นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน - อดีตผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ถนนได้งบจากลุงนะ ชอบรัฐมนตรีคมนาคมของลุงตู่(คนเก่า สมัย คสช. -อาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ทำถนนอีสานดีมากเลย”


แต่ว่าก็เงินภาษีเรานะพี่


“ก็ยังดีที่เขาให้พวกเราใช้บ้าง พัฒนาหน่อย นี่จะเอาลงบทสัมภาษณ์ทั้งหมดเลยเหรอ ?”


เดี๋ยวเลือกครับ อันไหนตลก ก็เอาอันนั้นแหละ


“ชอบลุงตู่อะไรเงี้ยอะนะ รู้เปล่า พี่เป็นคนที่ถามลุงตู่แล้วแกโกรธนะ”


แกก็โกรธตลอดนะครับ ผมไปทำเนียบฯ ทุกวันอังคาร แกก็โกรธบ่อยๆนะ


“ไม่สิ พี่ทำให้แกสติแตกตอนก่อนเลือกตั้ง เพราะ ไปถามแกที่สวนลุมฯ ตอนช่วย Al Jazeera ทำข่าว ตอนนั้น แกยังแอ๊บแบ๊วอยู่ แกก็ถามเลย ใครถาม!”


(พี่วิสถามบิ๊กตู่ว่า : ท่านนายกฯ มั่นใจแค่ไหนว่าจะชนะ ? และ ถ้าท่านแพ้ท่านจะทำยังไง ? - เมื่อกี้ใครถาม ถามมาตลอดทางเลย ถามว่าบ้านเมืองจะได้อะไรบ้าง อย่ามาถามผม : บิ๊กตู่ถามกลับ x หาดูวิดีโอได้จากยูทูป)


“จริงๆ แกเป็นคนน่ารักนะ พี่เคยไปเจอแกตอนไปยื่นหนังสือกับสมาคมผู้สื่อข่าวฯ แกบอกว่า พวกคุณก็ต้องเข้าใจผมนะ แกคุยดี แต่พี่ว่านักข่าวทำเนียบยุแกให้โมโห จะได้ได้พาดหัว เหมือนสมัยทักษิณ”


สมัยทักษิณเป็นยังไง ?


“มันจะมีนักข่าวปากจัดไว้ตบท้าย นักข่าวสมัยก่อนจะทำการบ้านเยอะมาก จะมีคนถามเก่งๆ 6-7 คน แล้วจะมีคนตั้งคำถามเชลียร์ให้อารมณ์ดีก่อน บิ้วๆ ไปเรื่อยๆ แล้วให้นักข่าวปากจัดตบตอนท้าย คนที่ตบตอนท้ายจะทำให้ทุกคนได้พาดหัว เพราะทักษิณจะสติแตก แต่ว่าถ้าเทียบกัน ทักษิณกับลุงตัว ลุงตู่สติแตกง่ายกว่า”


“พี่ชอบลุงตู่ เพราะถ้าพี่อยู่ทำเนียบ พี่จะรู้สึกดี ได้พาดหัวทุกวัน”


ตอนก่อนเลือกตั้ง ได้ประเมินไหมว่า พลังประชารัฐจะได้ที่นั่งเยอะขนาดนี้ ? เพราะตัวผม(ผู้ถาม) มองว่า ได้ 10 ที่นั่ง ก็หรูแล้ว จากการที่เห็นวันปราศรัยใหญ่ แล้วต้องเกณฑ์คนมาฟัง แทนที่จะเป็นแฟนคลับแบบพรรคอนาคตใหม่ เพื่อไทย หรือไทยรักษาชาติ


“พี่คิดว่าเขาน่าจะได้เยอะกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะว่า เขามีอำนาจรัฐ”


ผมว่าเขาได้น้อยด้วยซ้ำ ตอนแรกคิดว่า พลังประชารัฐ และภูมิใจไทยแค่ 2 พรรคก็น่าจะตั้งรัฐบาลได้แล้ว เพราะ เหมือนทุกพรรคมันไม่รู้อะไร แต่พลังประชารัฐวางแผนไว้หมดแล้ว น่าจะได้เปรียบเรื่องหัวคะแนน หนองบัวยังได้คะแนนเยอะเลย ทั้งที่จริงๆ เป็นฐานเพื่อไทย เท่าที่รู้มา คือ เดี๋ยวนี้ เขาเช็คคะแนนกันด้วยกรุ๊ปไลน์ (บก.บห. เสริม)


“ตอนพี่ทำข่าวที่ขอนแก่น ถามชาวบ้าน 10 คน จะมีคนบอกว่า จะเลือกพลังประชารัฐ 4 ใน 10 หมายความว่า เพื่อไทย 6 คิดว่า ตอนหลังพลังประชารัฐมีบัตรคนจน มีแจกเงิน เขาให้คะแนนเพราะแบบนี้แหละ มันเป็นการหาเสียงช่วงสุดท้ายของรัฐบาล คสช. เพื่อโยงว่า ลุงตู่จะมาเป็นนายกฯ ให้นะ แล้วเขาก็เปิดตัวลุงตู่ ด้วยสโลกแกน เลือกความสงบจบที่ลุงตู่ ตอนสามคืนสุดท้าย”


สื่อต้องเป็นกลางไหม ?


“สื่อต้องเป็นกลางดิ”


เป็นกลางในที่นี้ของพี่คือ ห้ามชอบนักการเมืองคนไหนแบบนี้เหรอ ?


“ใช่”


แต่เมื่อกี้ พี่บอกชอบไปหลายคนแล้วนะ


“ที่บอกชอบ นั่นชอบประชดนะ จริงๆแล้ว ข้อดีกับข้อเสียมันก็มีแหละ เราชอบบางส่วนของเขา อย่างทักษิณ คือ ชอบที่มีอะไรถึงชาวบ้านบ้าง แต่ไม่เชื่อว่าควร Take Side ข้างใดข้างหนึ่ง สื่อบางคน Take Side แต่ในความคิดพี่ สื่อไม่ควร Take Side”


“ปี 49 สื่อมวลชนถูกเรียกร้องเยอะมาก ให้เรียกร้องความเป็นธรรม เราก็เลยตั้งคำถามกันว่า ความเป็นธรรมของใคร คุณจะเอาอะไรวัดในความเป็นธรรม สภาวะจิตใจคนมันแกว่งอยู่แล้ว ทำไมคุณไม่ยึดหลักการว่า คุณเสนอทั้งสองข้างแล้วให้ประชาชนตัดสินเอง”


“พี่ไม่คิดว่า สื่อ หรือองค์กร ควรเลือกข้างฝั่งใดฝั่งนึง พี่โกรธสื่อไทยมากเลยนะที่มีรัฐประหาร โดยเฉพาะไทยพี เพราะคิดว่า สื่อมีส่วนมากในการให้ทหารเข้ามาเทคโอเวอร์ประเทศ เพราะ พี่ไม่ได้เชื่อว่า การรัฐประหารจะเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น”


“พี่เชื่อว่า ท้ายที่สุด ชาวบ้านหรือคนไทยต้องเรียนรู้เอง ต้องเรียนรู้ความเจ็บปวด ทหารไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในประเทศได้ จากประสบการณ์การทำงานตอนปี 49 เรารู้แล้วว่า ทหารไม่ใช่คำตอบของการเมืองไทย ตอนนั้น แม้ว่าทักษิณจะถูกกล่าวหาว่าชั่ว แต่ก็ควรให้ประชาชนได้เรียนรู้ และเติบโตเอง เหมือนที่อาจารย์วรเจตน์(ภาคีรัตน์ - อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกคณะนิติราษฎร์) เคยพูดว่า ควรให้ประชาชนได้เรียนรู้เอง และท้ายที่สุดเขาจะรู้”


“ทหารเขามาล้มล้างทุกอย่างที่มันเคยเติบโตในช่วงก่อนหน้านี้ ชาวบ้านไม่กล้าออกเสียงแสดงความคิดเห็น ทั้งที่เขารู้แล้วว่า สิทธิของเขาคืออะไร การปลุกให้ชาวบ้านรู้เรื่องสิทธิของตัวเองมันปลุกยากจะตาย แต่พอชาวบ้านรู้แล้ว ทหารกลับมาล้มล้างมัน”


ในความเป็นกลางของสื่อ สื่อทำอะไรกับนักการเมืองได้บ้าง ?


“เรื่องรับของนักการเมือง สมัยก่อนที่สภาเขาก็เถียงกันนะว่า รับได้ไหม แต่ อาหารนักการเมืองนี่โคตรอร่อยเลยนะจะบอกให้ คือ อาหารที่เขาจะชอบซื้อมาแจกนักข่าวในวันประชุมสภา วันอภิปราย เช่น หมูทอดเทพไท (เสนพงศ์ - ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ - อดีตผู้ดำเนินรายการสายล่อฟ้า ช่องบลูสกาย) อร่อยมากคิดแล้วยังอยากกิน พี่คิดว่า กินๆไปเถอะ อย่าคิดว่า เขามาซื้อเสียงเรา กินเสร็จก็วิจารณ์เขาเหมือนเดิม”


“มีน้องคนนึงบอกว่า ก่อนที่ผมจะมาเป็นนักข่าว ผมไหว้หมามาแล้วพี่ พอผมมาทำงานที่สภา ผมก็สามารถไหว้ทุกคนได้”


ประเทศไทยยังมีอนาคตไหม ?


“การที่ธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ลุกขึ้นมากล้าแสดงออกแบบนี้ เรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญก่อนเลือกตั้ง ใครจะกล้าพูด คิดว่า ถ้าอนาคตใหม่ยังกล้าอย่างนี้ แล้วพรรคฝ่ายค้านอีก 6-7 พรรค ยังรวมตัวกันแน่น และกล้าเปิดพื้นที่ให้คนมากขึ้น บรรยากาศจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยใน 2 ปี ไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่านี้ พี่หวัง”


---


#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #เดอะอีสานเรคคอร์ด #theisaanrecord #ThaiPBS #หทัยรัตน์พหลทัพ #ไม่ใช่คู่แข่ง #ขิง

1,634 views0 comments
bottom of page