รัฐธรรมนูญฉบับแรก และ ส.ส. แต่งตั้ง
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยาม(ไทย) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 หรือ 3 วันหลังจากที่ กลุ่มทหารและพลเรือนนาม คณะราษฎร ก่อการอภิวัฒน์สยาม แน่นอนว่ามันคือ รัฐธรรมนูญคนละฉบับกับที่ถูกประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475
“พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕” คือ ชื่ออย่างเป็นทางการของมัน มันถูกร่างโดยคณะราษฎร และถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อให้ทรงพระปรมาภิไธยในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ซึ่งแม้พระองค์จะทรงไม่เห็นพ้องกับเนื้อหา แต่ก็ทรงลงพระปรมาภิไธย หลังจากทรงใช้เวลาศึกษาร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับนี้นาน 1 วัน
“ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 เป็นการชั่วคราว พอให้สภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการราษฏร ได้จัดรูปงานดำเนินประศาสโนบายให้เหมาะแก่ที่ได้เปลี่ยนการปกครองใหม่” หนังสือพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุ
รัชกาลที่ 7 ให้ใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามฉบับนี้เป็นการชั่วคราว โดยนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า พระองค์ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้ายร่างฯ ต้นฉบับของคณะราษฎร และทรงรับสั่งให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในภายหลัง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ บรรจุ 39 มาตรา มี 4 ส่วนหลักประกอบด้วย อำนาจของกษัตริย์, อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร, อำนาจของคณะกรรมการราษฎร และ อำนาจศาล ประกาศใช้ปุ๊บ วันที่ 28 มิถุนายน 2475 ก็มีการเปิดสภาประชุมทันที โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มแรกที่มามาจากการสรรหาโดยคณะราษฏร 70 คน
“คณ(ะ)ราษฏร” ไม่ใช่ “คณะแรก”
แน่นอน คณ(ะ)ราษฎร คือ ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม(ไทย)จาก กระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ(ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก
“แต่คณะราษฎรไม่ใช่ คนไทยกลุ่มแรกที่ดำริว่าจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศนี้”
เพราะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีหมอหนุ่มนามว่า เหล็ง ศรีจันทร์ แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ (ตาทวดของ ฮิวโก้ จุลจักร คนรักเมีย) ได้รวบรวมสมัครพรรคพวก 7 คน และวางแผนที่จะลงมือก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยามในเวลานั้น
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า การปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงที่เปลี่ยนประเทศจีนสู่ระบอบสาธารณรัฐโดย ดร.ซุนยัดเซน หรือ การปฏิวัติซินไฮ่ คือ แรงบันดาลใจของหมอเหล็งและพวก โดยความขัดแย้งระหว่างทหารบกกับ มหาดเล็กของรัชกาลที่ 6(เมื่อครั้งยังทรงเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) รวมถึงการตั้งกองเสือป่าซึ่งคล้ายว่าจะทำหน้าที่ทับซ้อนกับทหาร คือ แรงกระตุ้นของการก่อการ
1 เมษายน 2455(ร.ศ. 130) คือ วันที่คณะผู้ก่อการวางจะลงมือ แต่การเปลี่ยนแปลงที่หมอเหล็งและพวกหวังไว้ไม่สำเร็จ โดยความล้มเหลว เกิดเพราะ “น้ำลาย” ของทหารนายหนึ่งในคณะผู้ก่อการ ที่แอบนำแผนของหมอเหล็งไปทูลให้พระองค์เล็ก (เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ- ชื่อเล่นเดียวกับฮิวโก้หลานทวด) พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 6 ทราบ และนำมาซึ่งการจับกุมคณะผู้(คิด)ก่อการทั้งหมด
หลังแผนแตก ถูกจับกุม และเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำครั้งนั้นของกลุ่มเพื่อนหมอเหล็งเป็นแค่พฤติกรรม “ก่อการกำเริบ ไม่ถึงขั้นก่อการกบฎ”(แต่แกนนำบางคนก็ถูกตัดสินประหารชีวิต บางคนถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ส่วนคณะที่เหลือถูกตัดสินจำคุกหลายปี ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมด) แต่ถึงวันนี้ หลายคนจดจำพวกเขาในฐานะ “กบฎ ร.ศ.130”, “กบฎเหล็ง ศรีจันทร์” “กบฏเก็กเหม็ง” หรือ “กบฎน้ำลาย”
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่นักประวัติศาสตร์ยังเถียงกันไม่จบคือ คณะของหมอเหล็งนั้นต้องการจะเปลี่ยนประเทศไปในทิศทางใด เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า พวกเขาต้องการแค่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือระบอบสาธารณรัฐ กันแน่ แต่คณะของหมอเหล็งและพวก ก็ไม่ใช่คณะแรกอยู่ดี
การเรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อ National Security ไม่ใช่ Privacy ในยุค ร.5
“เหตุฉะนี้จึงจะต้องจัดการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีของเก่าให้เป็นประเพณี หรือ คอนสติติวชั่นใหม่ ตามทางชาวยุโรป หรือให้ใกล้ทางยุโรปที่สุดที่จะเป็นได้”
ในปี 2428 หลังจากอังกฤษเข้ายึดเมืองมัณฑะเลย์ ของพม่าสำเร็จ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำกรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะอดีตทูตไทยประจำอังกฤษ ได้เขียนรายงานสถานการณ์ และแปลหนังสือพิมพ์ที่กล่าวถึงพม่าส่งกลับมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่่อให้ทรงทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เมื่อทรงได้รับรายงาน รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ให้แสดงความคิดเห็นต่อปัญหาภัยคุกคามของประเทศยุโรปที่มีต่อเอเชีย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงได้นำพระราชหัตถ์เลขากราบบังคมทูลประชุมร่วมกับเจ้านาย และข้าราชการผู้ใหญ่ในสถานทูตกรุงลอนดอน และปารีส ระดมสมองจนได้เป็นหนังสือกราบบังคมทูลฯ ต่อในหลวงรัชกาลที่ 5
“เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ.103” โดยหนังสือฉบับนี้ มีข้อความเห็นโดยสรุป 7 ข้อคือ
1. ให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชวินิจฉัยราชการแผ่นดินทุกเรื่อง เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของชาติ แต่มิต้องทรงงานราชการด้วยพระองค์เอง
2. ให้มีคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทำหน้าที่การบริหารประเทศโดยพระบรมราชานุมัติ, อีกทั้งมีกฎหมายการสืบราชสมบัติที่ชัดเจน
3. ขจัดการติดสินบนข้าราชการ โดยให้เงินเดือนแก่ข้าราชการตามตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
4. ให้มีระบบกฎหมายที่ให้ความเสมอภาค และความยุติธรรมแก่ราษฎรทั้งมวล
5. ปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกบรรดากฎหมาย และขนบธรรมเนียมที่เป็นข้อกีดขวางการพัฒนาประเทศ หรือที่ไม่เป็นประโยชน์โดยแท้ แม้ว่าจะเป็นกฎหมายหรือขนบธรรมเนียมมาแต่โบราณ
6. ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะสำหรับราษฎรทั้งปวง
7. ให้มีระบบการแต่งตั้งข้าราชการให้ได้บุคคลที่เหมาะสม อีกทั้งการลงโทษแก่ผู้ที่กระทำผิด
โดยหนังสือของคณะ ร.ศ.103 ได้ เรียกร้องให้ประเทศไทยมี “คอนสติติวชัน” หรือรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศ
“ประเทศยุโรปเชื่อถือว่ากรุงสยามจะมีความยุติธรรม และบำรุงรักษาให้มีความเจริญ และความเรียบร้อยไปได้ เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องบำรุงบ้านเมือง ตามเช่นที่เขาเชื่อเขาถือกัน ว่าการบำรุงรักษาโดยที่จะให้ได้ยุติธรรม จะมีได้ก็ต้องอาศัยความพร้อมเพรียง ผู้ที่เป็นสนาบดีก็เป็นผู้แทนของราษฎรซึ่งเลือกมาต่อๆ ขึ้นไปเป็นชั้นๆ ทั้งต้องรับผิดชอบทั่วกัน เหมือนอาศัยปัญญา และความคิดความยุติธรรมของคนมากด้วยกัน จึงจะเป็นที่เชื่อว่า และจะเป็นยุติธรรมแน่แท้ และเจริญรุ่งเรืองได้” ตอนหนึ่งของหนังสือความเห็นฯ ระบุ
“เหตุฉะนี้จึงจะต้องจัดการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีของเก่าให้เป็นประเพณี หรือ คอนสติติวชันใหม่ ตามทางชาวยุโรป หรือให้ใกล้ทางยุโรปที่สุดที่จะเป็นได้” ความเห็นของ คณะ ร.ศ. 103
ซึ่งเหตุผลที่ประเทศสยามในเวลานั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และมีรัฐธรรมนูญ ถูกระบุอยู่ในหัวหนังสือฉบับนี้ว่า
“การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นภัยอันตราย ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการปกครองของบ้านเมืองอย่างมีอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยทางยุติธรรมหรืออยุติธรรมของศัตรูก็ดี ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทะนุบำรุงรักษาบ้านเมือง ตามทางญี่ปุ่นที่ได้เดินทางยุโรปมาแล้ว และซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีศิวิไลซ์ นับกันว่าเป็นทางอันเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้”
แน่นอนว่า ข้ออ้างของข้อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนี้ คือ ความมั่นคงของชาติ แต่ที่แน่นอนกว่า คือ ข้อเสนอของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และคณะ ไม่ถูกนำมาใช้
5 ปีหลังจากนั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ทูลลาออกจากราชการ เคยออกบวชเป็นพระ และเคยได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดเครายาวงามที่สุดในโลก จนมีพระรูปทรงเครายาวติดอยู่ที่โรงแรมฟูจิย่า ในเมืองฮาโกเนะ ในประเทศญี่ปุ่น แต่ท่านก็ยังโชคดีที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ท่านอยากเห็นในปี 2475 ก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ในปี 2478
---
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #รัฐธรรมนูญ #10ธันวาคม #คณะราษฎร #รัฐธรรมนูญฉบับแรก #รศ103 #รศ130 #เปลี่ยนแปลงการปกครอง #ประชาธิปไตย
Comments