top of page
  • Writer's pictureThe Isaander

เสียงเพลงไร้พรมแดนจากไทยสู่ลาวและจากลาวสู่ไทย



ครั้งหนึ่งในเวลาหนึ่ง- ทรงจำแรกเกี่ยวกับการฟังเพลงของประเทศชาติลาว น่าจะเป็นตอนที่ข้ามด่านช่องเม็กไปเที่ยวปากเซ วัยวันนั้น-ประเทศไทยอยู่ในช่วงจัดเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ที่นอกจากกีฬาแล้วปีท่องเที่ยวรัฐบาลกำลังผลักประเทศไทยด้วยคำว่าอะเมซิ่งไทยแลนด์ คำที่ได้ยินบ่อยในช่วงเวลานั้นคือเที่ยวเมืองไทย กินของไทย ใช้ของไทย (อาจจะมีวลีร่วมใจกันประหยัดพ่วงแถม) ตามเศรษฐกิจยุคไอเอ็มเอฟ

.

แต่การข้ามไปลาวในตอนนั้น สิ่งที่ได้ยินจากเนื้อเพลงที่เปิดกันข้างทาง ก็เป็นเนื้อหาที่ว่าด้วยการท่องเที่ยวประเทศลาวเหมือนกัน อาจจะไม่ถูกต้องในเนื้อความทั้งหมด แต่ใจความเนื้อเพลง คือ " ขอเชิญมาเที่ยวเมืองลาว รัฐบาลต้อนรับอย่างดี " พอเติบโตขึ้นจึงได้รู้ว่าบทเพลงนั้นมาจากการโปรโมทการท่องเที่ยวประเทศลาวโดยรัฐบาลลาวเหมือนกัน

.

นอกจากเพลงเกี่ยวกับการท่องเที่ยวลาวเพลงดังกล่าว ก็แทบไม่ปรากฎเพลงจากประเทศลาวให้ได้ยินอีกเลย กลับกลายเป็นเพลงไทย ที่ได้ยินได้ฟังทุกแนว หมอลำ ลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริง ในสนนราคาแผ่นละ 10 บาท ใช่แล้วมันคือแผ่นซีดีเถื่อน ที่ขายกันเกลื่อนหลายสิบร้าน ลูกค้าที่เข้าไปซื้อส่วนใหญ่เป็นคนไทย มีลาวบ้าง ศิลปินสุดฮิตในยุคนั้น ก็มีทั้ง เบิร์ด ธงไชย,ลาบานูน,โลโซ,ไมค์ ภิรมย์พร และอีกหลากวง ทำให้รู้ว่ารสนิยมการเสพฟังของคนลาวในขณะนั้น ก็ไม่ต่างจากประเทศไทยนัก ด้วยเพราะคนที่นั่นก็รับสัญญาณโทรทัศน์และวิทยุฝั่งไทยได้ นั่นทำให้คิดตั้งคำถามว่า แล้วภูมิภาคอื่นๆของลาวล่ะเขาฟังอะไรกัน? หลวงพระบาง อัตตะปือ คำม่วน เวียงจันทน์ สะหวันนะเขต เขาจะเสพวัฒนธรรมเพลงเหมือนปากเซไหมนะ?

.

ทรงจำของเรากับเพลงลาวกลับมาพบกันอีกครั้ง เมื่อตอนเรียนมัธยมต้น เมื่อเพื่อนร่วมห้องคนหนึ่งที่ย้ายเข้ามาเรียนใหม่ เขาแนะนำตัวเองว่ามาจาก สปป.ลาว หลังจากผ่านพฤติกรรมเขินอายแบบเด็กๆ แล้ว เราพูดคุยกันหลายเรื่อง จนมาถึงสิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษในห้วงเวลานั้นคือการเล่นดนตรีและเพลง เขาบอกเราตอนนั้นปี 2548 ว่า คนลาวอย่างเขาชอบวง Maroon5 และมีเพลงไทยที่คนลาวทั้งประเทศรู้จักเหมือนกัน หมายถึงว่าที่ประเทศไทยเพลงอะไรฮิต เพลงที่ลาวก็ดูจะไม่แตกต่างกันนัก

.

แล้ววงการเพลงลาวละ ? มีอะไรน่าสนใจบ้าง เราถามไปก่อนได้คำตอบว่า เพลงจากลาวๆที่ดีๆมีไม่น้อยเลย เพียงแต่ช่องทางการเผยแพร่สื่อสารนั้นยังน้อยนัก เราได้รู้จักเพลง Mr.หินส้ม เพลงฮิพฮอพจังหวะสนุกๆ จากกลุ่มดนตรี Over Dance เราได้รู้จักเพลง ‘หวาน’ และเพลงอื่นๆของวง Cells ก่อนพวกเขาจะข้ามมาดังและออกอัลบั้มกับค่ายเพลงแกรมมี่ ว่ากันว่าเพลงร็อคเข้มข้นจากวงบิ๊กแอสนั้น ส่งอิทธิพลกับการทำเพลงของ Cells อยู่ไม่น้อย

.

ก่อนที่ความทรงจำของเรากับเพลงลาวจะค่อยๆเลือนหายไป และกลับมาฟื้นตื่นอีกครั้งเมื่อได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ชาติลาว ตอนมหาวิทยาลัย – เพลงดวงจำปา เพลงที่ถูกแต่งขึ้นมาในช่วงการปฏิวัติชาติลาว เป็นเพลงที่สำคัญมากกับชาวลาวในยุคสมัยการเปลี่ยนโฉมประเทศไปตลอดกาล จนบางครั้งบางครา เราคิดไปว่าจะได้ยินเพลงนี้ที่ลาวบ่อยครั้ง หากได้กลับไปเยือนในขวบวัยที่เราเข้าใจและมองเห็นอะไรๆ มากขึ้น อย่างน้อยก็ได้รู้ว่ามีเพลงเพลงหนึ่งที่ทรงความหมายต่อคนลาวมาก

.

ปลายปี 2019 เราได้กลับไปที่ลาวอีกครั้ง แต่คราวนี้หมุดหมายไม่ใช่ ปากเซ แต่เป็นสะหวันนะเขต ซึ่งข้ามจากจังหวัดมุกดาหาร ในงาน Savan Fun Fest งานที่ผู้จัดอยากย้อนบอกเล่าความรุ่งโรจน์ของแขวงสะหวันนะเขต ตั้งแต่ยุคฝรั่งเศสปกครองลาว

.

สรรพเสียงที่ลอยล่องมาในหัวเราผ่านตึกรามบ้านช่องในเมืองเก่าแห่งนี้ กลับกลายเป็นเพลงยุค '60 ของศิลปิน Johnny Tiloston มากกว่าจะเป็นอย่างอื่น แต่เมื่อมีโอกาสสอบถามคนละแวกนั้น เช่นที่ร้านทำผม ก็มีข้อมูลมาว่า คนฝั่งนี้มีศิลปินที่ชื่นชอบคือ เดอะทอยบ้าง ค็อกเทลบ้าง (แหม มันช่างเป็นคำตอบที่เปลี่ยนไปกับยุคสมัยที่เลยผ่าน)

.

เรานึกถึงวันเวลาที่ผ่านพ้น จริงๆคนลาว ถ้ามองตามช่วงวัย ก็มีรสนิยมเสพฟังตามกระแสนิยมกับสื่อที่เขาได้รับในช่วงเวลานั้นๆ เช่นเดียวกับเพลงฮิพฮอพที่เคยได้ยินเมื่อตอนคืนออกพรรษาที่เวียงจันทน์ คล้ายกับวิถีเพลงที่วัยรุ่นไทยกำลังเพ่งกระแสไปที่แนวเพลงนั้นเช่นกัน

.

เรานึกไปถึงเพลงการโฆษณาท่องเที่ยวลาวที่เคยได้ฟังตอนเด็ก เพลงดวงจำปา ที่เราอินกับประวัติศาสตร์ชาติลาว ซึ่งแทบไม่ได้ยินเลยตลอดการไปเยือนลาวในระยะหลัง (แม้จะอยากฟังมากก็เถอะ) นั่นเพราะบางเพลงนั้นอาจถูกนำมาใช้ในแวดล้อมหนึ่งในเวลาหนึ่ง

.

แต่ท้ายที่สุดเพลงอาจเป็นชุดประสบการณ์เฉพาะตัวของแต่ละบุคคล มันเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดนที่เข้าถึงส่งผ่านกันได้ง่ายในขณะที่คุณอาจไม่รู้ตัว


Text: Weerawatt Nak


________________________________


#TheIsaander #อุบลราชธานี #เพลงดวงจำปา #เสียงเพลงไร้พรมแดนจากไทยสู่ลาวและจากลาวสู่ไทย #JohnnyTiloston #Cells

686 views0 comments
bottom of page