ในสงครามนี้ มีลูกที่ต้องกำพร้าพ่อ มีหญิงสาวที่ต้องเป็นม่าย มีเจ้าหน้าที่ที่กลายเป็นฆาตกร มีพระที่ต้องเป็นนักเคลื่อนไหว และมีประธานาธิบดีที่พยายามทำตามสัญญา
---
“เต้” จะทำตาม “สัญญา” ขอเวลาอีกไม่นาน
---
“ก่อนที่ รอดริโก้ ดูเตอร์เต้ จะได้เป็นประธานาธิบดี เขาหาเสียงไว้หลายเรื่อง แต่พอได้เป็นประธานธิบดีจริงๆ เขากลับทำตามที่หาเสียงไม่ได้สักกะเรื่อง ยกเว้น เรื่องการทำสงครามยาเสพติด”
เอ๋ ใช้ประโยคข้างต้นนี้ เพื่อเริ่มต้นบรรยายในหัวข้อ Jornalism : Doing Human Rights Story (สื่อมวลชน : การทำข่าวสิทธิมนุษยชน)
เอ๋ ที่ผมกำลังพูดถึงไม่ใช่ ปารีณา ไกรคุปต์ เป็นแน่ๆ แต่เธอคือ Aie Balagtas See ผู้สื่อข่าว Inquirer ของฟิลิปปินส์
การบรรยายครั้งนี้ของเธอเป็นส่วนเล็กๆของ Coconet : South East Asia Digital Rights Camp บนหุบเขาเร้นรัก ไม่ห่างจากมะนิลา ซึ่งผมมีโอกาสได้ร่วมโดยความอนุเคราะห์ของ Internews
---
เมื่อการ “วิสามัญ” กลายเป็น “สามัญ”
---
สงครามยาเสพติด(War on drugs) ในประเทศฟิลิปปินส์ เริ่มขึ้นหลังจาก ดูเตอร์เต้ ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในปี 2559
ถึงปี 2562 ทางการฟิลิปปินส์รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตเพราะเกี่ยวข้องจากยาเสพติดถึง 6,600 คน แต่ตัวเลขนั้นยังน้อยไป เพราะ สำหรับนักสิทธิมนุษยนชนฟิลิปปินส์แล้ว พวกเขาเชื่อว่าผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้มีมากกว่า 27,000 คน
ข้ออ้างหลักที่ตำรวจมักใช้เพื่อมอบความชอบธรรมให้กับการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในประเทศฟิลิปปินส์คือ
“ผู้ต้องสงสัยขัดขืนและต่อสู้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจำเป็นต้องเหนี่ยวไกเพื่อป้องกันตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม เอ๋บอกว่า ผู้ต้องสงสัยที่เสียชีวิตส่วนมากเป็น คนชนชั้นแรงงาน คนหาเช้ากินค่ำ และมีสถานะทางเศรษฐกิจในระดับจน โดยที่ที่พวกเขาเสียชีวิตส่วนมาก คือ ถนน หรือ บ้านในชุมชนแออัด
“ไม่มีคนรวยเสียชีวิตสักคน ในสงครามยาเสพติด” เอ๋ บอก
---
หลวงพ่อ Fight Back
---
ปี 2560 สงครามยาเสพติดของดูเตอร์เต้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนพฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจมะนิลา และเมืองใกล้เคียงใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้นในการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดอย่างน้อย 80 ราย
นอกจากจะไม่ได้แสดงความเศร้าสลด ดูเตอร์เต้ ยังออกมายกย่องเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นของเมืองบูลาคัน ที่สามารถวิสามัญ 32 ผู้ต้องสงสัยภายในคืนเดียวได้อย่างโปรดักตีฟ
เคียน ลอยด์ เดอโลส ซานตอส นักเรียนหนุ่ม อายุ 17 ปี ชาวมะนิลา ถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากรายงานปฏิบัติการของตำรวจอ้างว่า เมื่อเจ้าหน้าที่แสดงตัวเข้าจับกุม ซานตอสได้พยายามหลบหนี และชักปืนยิงใส่ตำรวจ ตำรวจจึงต้องยิงตอบโต้จนนำไปสู่การเสียชีวิตของเด็กหนุ่ม
แต่หลังจากนั้นไม่นาน มีภาพจากกล้องวงจรปิดที่เผยให้เห็นว่า ซานตอสถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบสองนายเข้าคุมตัวขณะที่กำลังเดินเตร็ดเตร่อยู่ในละแวกบ้าน และต่อมาซานตอส กลับกลายเป็นศพ
“ไม่ใช่แค่ประชาชนที่โกรธ หลวงพ่อก็ไม่พอใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นกัน”
อาร์ชบิชอป โซคราเตส บิลเลกาส ผู้นำศาสนาคริสต์ ไม่ยอมอยู่เฉยแล้ว ท่านได้ริเริ่ม ทำการประท้วงโดยสันติขึ้น ด้วยการขอให้วัดคาทอลิกในพื้นที่ภาคเหนือร่วมกันตีระฆังเป็นเวลา 15 นาที ตอน 2 ทุ่มของทุกคืน ติดต่อกัน 3 เดือน เพื่อทำอารยขัดขืนต่อสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำกับประชาชนในประเทศ
“สองทุ่มคือเวลาที่ยมทูตเข้าไปสังหารผู้คนตามบ้าน ยมทูตที่สวมหน้ากาก ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ย” บิชอป ปาโบล เวอร์กิลิโอ เดวิด อธิบายความหมายของเวลา 20 นาฬิกา ฟิลิปปินส์
แน่นอนว่า การเคลื่อนไหวโดยวัด สร้างแรงกระเพื่อมได้ไม่น้อยทีเดียว เพราะที่ประเทศนี้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร นับถือศาสนาคริสต์ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็น คาทอลิก ส่วนที่เหลือนับถือศาสนา และนิกายอื่น ด้วยเพราะมีประชากรคาทอลิกกว่า 70 ล้านคน ทำให้พระสันตะปาปาหลายพระองค์เลือกเสด็จเยือนฟิลิปปินส์ก่อนหลายประเทศในเอเชีย โป๊ปจอห์น ปอลที่ 2 โป๊ปเบเนดิกต์ และโป๊ปฟรานซิส ล้วนเคยเสด็จเยือนฟิลิปปินส์แล้วทั้งสิ้น
แต่เมื่อถามว่า ดูเตอร์เต้ สนไหม? กับสิ่งที่ฝ่ายศาสนาพยายามเรียกร้อง
ต้องบอกว่า แม้เต้จะเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาเป็นหนึ่งในคนที่เคร่งศาสนา(คาทอลิก) แต่ก็มีหลายครั้งเช่นกันที่ เต้วิจารณ์ศาสนาอย่างรุนแรง เขาเคยแม้กระทั่งบอกว่า “บิชอปไม่มีประโยชน์” แต่นั่นยังน้อยไป เพราะเมื่อครั้ง โป๊ปฟรานซิสเสด็จเยือนฟิลิปปินส์ แล้วเกิดรถติด เต้เคยถึงขั้นบอกว่า
“ผมอยากจะเรียกเขาว่า ลูกกะหรี่ กลับบ้านไปซะ แล้วไม่ต้องกลับมาที่นี่อีก”
---
ปิดปากเธอได้ ก็จะปิดปาก
---
ต้นปี 2561 www.rappler.com/ ที่เคลมว่าตัวเองเป็น เครือข่ายข่าวเพื่อสังคม ถูกรัฐบาลถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อ หลังจากช่วงที่ผ่านมา สำนักข่าวแห่งนี้ วิจารณ์นโยบายสงครามยาเสพติด และตัวดูเตอร์เต้อย่างหนักหน่วง
มาเรีย เรสซ่า บรรณาธิการ และผู้ก่อตั้ง Rappler เองก็ถูกดำเนินคดีในหลายข้อหาตั้งแต่ปีก่อนจนถึงปีนี้เช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้น กระตุ้นให้เสียงวิจารณ์เรื่องเสรีภาพสื่อในประเทศฟิลิปปินส์ดังขึ้นอีกครั้ง
แต่สภาฟิลิปปินส์ก็เหมือนจะไม่ได้สนใจแรงกดดันจากองค์กรสิทธิมนุษยชนสากลทั่วโลกที่ถั่งโถมเข้าใส่ประเทศของพวกเขา เพราะสภายังคงพยายามออกกฎหมายเพื่อให้อำนาจรัฐในการปิดสื่อที่พยายามวิพากษ์-วิจารณ์การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่
เฉพาะปี 2561 มีนักข่าวอย่างน้อย 6 คนเสียชีวิตโดยมือปืนปริศนา ถ้านับตั้งแต่ปี 2529 มีนักข่าวถูกสังหารแล้วอย่างน้อย 176 ราย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับสื่อมวลชน
“ก็นักข่าวบางคนมันสมควรตายนี่หน่า” นี่คือคำกล่าวของ ประธานาธิบดี ที่ชื่อว่า โรดริโก้ ดูเตอร์เต้
---
วิธีเขียนเรื่องคาว ให้เป็นข่าว และปลอดภัย
---
“ผู้ต้องสงสัยขัดขืนและต่อสู้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจำเป็นเหนี่ยวไกเพื่อป้องกันตัวเอง จริงหรือ?” นั่นคือ คำถามที่นักข่าวฟิลิปปินส์ หลายคนถาม ประชาชนหลายคนอยากรู้ แต่ปัญหาคือ จะหาคำตอบของคำถามนั้นอย่างไร
เอ๋ บอกว่า เพื่อพิสูจน์ “ข้ออ้างของการฆ่า” เธอต้องทำงานทั้งกลางวัน และกลางคืน ช่วงที่เธอพยายามหาคำตอบของคำถามนี้ด้วยการทำรายงานข่าวชิ้นพิเศษ เธอต้องใช้รถยนต์เป็นบ้าน เพราะเธอทำงานคนเดียว ทั้งเป็นนักข่าว ช่างภาพ และคนขับรถ
“เพราะคนที่ตายแล้วพูดไม่ได้ เล่าความจริงไม่ได้ ขอความเห็นใจไม่ได้”
ในทุกคืน เธอจึงต้องเข้าไปในชุมชนแออัด เพื่อพูดคุยกับ ครอบครัว ญาติ และเพื่อนของผู้เสียชีวิตจากการถูกวิสามัญฆาตกรรม เพื่อเก็บข้อมูลแวดล้อมต่างๆ ประกอบร่างสร้างรายงานที่เธอต้องการ
ถ้าเป็นไปได้ เธอจะขอเข้าไปยังจุดเกิดเหตุที่ เขาหรือเธอถูกยิงเสียชีวิต เธอจะเข้าไปนับรูกระสุน และเก็บภาพมันเอาไว้ ภาพที่ซุกหัวนอนของคนหาเช้ากินค่ำซึ่งโชคร้าย และบ้านที่ได้กลายเป็นแดนประหาร
เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการในคืนนั้นๆ เอ๋จะออกจากชุมชนแออัดแล้วขับรถมายังสถานีตำรวจ จอดรถหลับนอนที่นั่นเพื่อรอคอยพระอาทิตย์ในเช้าวันใหม่ “ฉันไม่ใช่หุ่นยนต์ ต้องนอนบ้าง แต่จะให้กลับไปนอนที่บ้านก็เสียเวลาทำงาน”
ในทุกเช้าเธอจะเข้าไปในโรงพัก ขอคัดสำเนารายงานการวิสามัญฆาตกรรม เอ๋บอกว่า ข้อมูลส่วนนี้สำคัญมากกับรายงานข่าวหากต้องการให้เกิดความรอบด้าน โดยบันทึกการทำงานของเจ้าหน้าที่จะระบุ สิ่งที่เกิดขึ้นในมุมมองของผู้รักษากฎหมาย และเหตุผลที่พวกเขาต้องฆ่าคนที่พวกเขาสงสัยว่ากระทำความผิดร้ายแรงกับยาเสพติด
เมื่อพระอาทิตย์ร่ำลาท้องฟ้าอีกครั้ง เอ๋จะกลับไปที่ชุมชนแออัด เข้าไปยังที่เกิดเหตุ ทำสิ่งที่เธอต้องทำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คืนแล้วคืนเล่า เพราะเกือบทุกคืนมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ เธอบอกว่าเธอต้องให้น้ำหนักข้อมูลจากทั้งสองฝั่ง เพื่อรายงานที่ออกมาจากมีความสมบูรณ์และไม่ถูกกล่าวหาว่า เลือกข้างใดข้างหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เธอบอกกับพวกเรานักข่าวอาเซียนที่นั่งตาใสฟังเธอว่า สิ่งที่เธอพบเป็นคนละเรื่องกับรายงานที่ตำรวจเขียน
“ถ้ามีการขัดขืน ต่อสู้จริง ทำไมทุกบ้านที่ฉันไป มันมีรูกระสุนบนกำแพงแค่ฝั่งเดียว ไม่เคยเจอรูกระสุนบนกำแพงอีกฝั่งเลย” นั่นคือข้อสังเกตของเอ๋
เธอเห็นว่า หากมีการยิงต่อสู้กันในชุมชนแออัดที่ห้องทุกห้องเล็กแคบ บ้านทุกบ้านเบียดเสียดยัดเยียด คนเสียชีวิตน่าจะไม่ใช่แค่เจ้าของบ้านหลังที่เกิดเหตุเท่านั้น เพราะกระสุนน่าจะปลิวว่อน และมีผู้ถูกลูกหลง แต่สิ่งที่เธอพบส่วนมาก ทำให้เธอเชื่อว่า “ผู้ต้องสงสัยบางรายถูกยิงทั้งที่ยังไม่ทันตั้งตัว” ด้วยซ้ำ
แม้เธอจะเชื่อว่า ผู้ต้องสงสัยเป็นแค่เหยื่อ แต่ในการรายงานข่าวของเธอ เธอก็เลือกที่จะตัดความรู้สึกและความคิดเห็นของตัวเองออกทั้งหมด ข่าวที่ถูกเผยแพร่ออกไปจึงเป็นเพียงแค่การบรรยายสภาพที่เกิดเหตุจากสิ่งที่เธอพบ และภาพที่เธอถ่าย ประกบเทียบเข้ากับ รายการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“นักข่าวไม่มีหน้าที่ตัดสินว่า ใครถูก ใครผิด หรือแสดงความคิดเห็นชี้นำผู้อ่าน นักข่าวมีหน้าที่เพียงนำเสนอข้อมูลทั้งสองฝั่ง และให้คนอ่านเป็นผู้ตัดสินว่าจะเลือกเชื่อข้อมูลฝั่งไหน” เอ๋ บอก
แม้ในวงสนทนาเล็กๆ วงนั้นจะมีนักข่าวบางคนเห็นแย้งกับแนวทางการทำงานของเอ๋ แต่เธอชี้แจงว่า วิธีการทำงานเช่นนี้ นอกจากมันจะเป็นหลักการทำงานของนักข่าวทั่วโลกแล้ว มันยังจะช่วยป้องกันไม่ให้นักข่าวเช่นเธอ ถูกดำเนินคดีจากฝ่ายรัฐบาล ที่จ้องจะจัดการผู้ที่กล้าวิพากษ์-วิจารณ์ผู้บริหารบ้านเมืองได้ด้วย
“สำหรับผม ผมเห็นแย้งกับเอ๋เช่นกัน เพราะผมเชื่อว่า ข่าวอาชญากรรมที่ดีควรอุทิศย่อหน้าแรกให้กับชื่อคณะตำรวจที่จับกุม เพื่อยกย่องเชิดชู สรรเสริญ เยินยอ ความมุมานะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ในการคุมตัวคนร้ายมาลงโทษตามกฎหมาย”
---
เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล
---
คงเพราะนักข่าวช่วยกันนำเสนอข้อมูลอีกด้านของสงครามยาเสพติด กรกฎาคม 2562 สำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ จึงต้องเปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่กว่า 14,700 นาย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติด ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559 ถึงเดือนเมษายน 2562
โดยข้อมูลระบุว่า หลังการสอบสวนมีเจ้าหน้าที่ 7,867 นาย ถูกดำเนินการทางวินัย แบ่งเป็น ถูกลงโทษให้พักการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว 4,100 นาย ถูกปรับลดตำแหน่ง 472 นาย และถูกให้ออกจากงาน 2,367 นาย
อย่างไรก็ดี ถึงปัจจุบัน ความหวาดกลัวได้ปกคลุมทุกราตรีที่ฟิลิปปินส์แล้ว คนจนยังคงต้องหวาดผวาอยู่ เพราะตำรวจยังคงทำหน้าที่ต่อไป และนักข่าวยังคงต้องทำงานหนัก ขณะที่ชายผู้นำยังคงอยู่สบายใต้ฟ้าสีคราม
---
Photo : Hannah Reyes Morales/ https://brightthemag.com/
---
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ฟิลิปปินส์ #สงครามยาเสพติด #คนตาย #ศาสนาคริสต์ #คาทอลิก #นักข่าว #coconet2019 #internews
Comments