-1-
ในวันหนึ่งของฤดูฝนที่ฝนตกไม่ปกติ อากาศวันนั้นไม่แรงร้อนเท่าไหร่ เพราะเมฆแข็งขันกระจายกำลังเต็มท้องฟ้า มันบังบดพระอาทิตย์อันร้อนแรงไว้เบื้องหลัง ผมเดินทางไปยังห้องประชุมแห่งนั้นด้วยรถรับจ้างสาธารณะ ศีรษะของผมแยกออกเป็นสองซีก เลือดไหลนองเป็นทาง ด้วยราคาค่าโดยสารที่สูงกว่าธรรมดา ภาษาชาวบ้านร้านตลาดเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมว่า ถูกฟันหัวแบะ เพราะ สามล้อติดเครื่องยนต์คันนั้นเรียกเงินจากผมถึง 200 บาท สำหรับระยะทางที่สั้นกว่าระยะมินิฮาล์ฟมาราธอน
นี่คือ นครหลวงเวียงจันทน์ เมืองที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง
วันนั้น คนลาวเขามีประชุมกันระหว่างนักพัฒนาเพื่อสังคม ความจริงผมเป็นแขกที่ไม่ได้รับเชิญ แต่ผมบังเอิญโชคดีได้เป็นผู้ติดสอยห้อยตามวิทยากรมาจากประเทศไทย วิทยากรที่ถูกเรียกให้มาบรรยายแนวคิดบางอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมจึงมีโอกาสได้นั่งอยู่ในวงสนทนาของปัญญาชนลาวแบบ Unfortunately
ใครสักคนในงานหล่นคำพูดกับผมว่า นี่เป็นการประชุมร่วมกันอย่างจริงจังครั้งแรกของพวกเขาเหล่า CSO (Civil Society Organization) ความคิดเบื้องต้นของการประชุมนี้ พวกเขาตั้งใจจะเชิญตัวแทนจากรัฐบาลมาร่วมด้วย แต่เมื่อได้ไตร่ตรองเหตุผลอย่างถ้วนถี่แล้ว ก็เห็นควรว่า ไม่เชิญจักดีกว่า เพราะหากมีคนของภาครัฐมาร่วม การเสวนาที่มีแต่เรื่องปัญหาเป็นหลักครั้งนี้ จะทำได้แบบไม่เต็มที่นัก
นอกจากจะไม่เชิญคนของรัฐบาลแล้ว นักข่าวอย่างผมก็ยังถูกขอให้ไม่นำเสนอข่าวการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน การประชุมครั้งนั้นจึงเรียกได้ว่า เป็นการประชุมปิดลับ
การพูดคุยในวันนั้นของปี 2012 เต็มไปด้วยปัญหา ปัญหา ปัญหา ปัญหาที่ถูกผ่องถ่ายออกจากปากนักพัฒนาที่สัมผัสกับมันจริงๆ ปัญหาที่ดิน ปัญหาที่คนถูกละเมิดสิทธิจากโครงการพัฒนาของรัฐ ปัญหาที่คนไม่ได้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และอีกหลายปัญหาที่ชนชั้นปกครองคงจะไม่ค่อยเข้าใจ หรือเข้าใจแต่ก็มิได้เห็นเป็นเรื่องใหญ่โต
-2-
ในวันหนึ่งของฤดูเกือบจะหนาว ที่สาวๆไม่ต้องนอนห่มผ้า ปีเดียวกัน ใต้เปลวแดดอันแผดแรง เหนือแม่น้ำโขงฝั่งหนองคาย เรือหางยาวติดเครื่องยนต์ พร้อมป้าย “Stop the Xayaburi Dam” หลาย 10 ลำ แล่นไปลอยคอรอคอยการมาถึงของผู้บริหารระดับประเทศที่มาร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting Summit-ASEM) ณ โรงแรมดอนจัน พาเลซ นครหลวงเวียงจันทน์ ในฝั่งตรงข้ามกัน
ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ประชาชนลาวจำนวนไม่น้อย ถมทับโต๊ะประชุม เอเชีย-ยุโรป ภาคประชาชน (Asia-Europe People's Forum-AFPF) ด้วยปัญหานานาประเด็น ปัญหาที่พวกเขาไม่เคยกล้าพูดอย่างเต็มปาก เต็มเสียง เพราะเกรงใจรัฐบาลที่เขาเคารพรักดุจพ่อแม่
สิ่งที่เกิดขึ้น 2 ครั้งข้างต้น อาจฟังดูเป็นกิจกรรมสามัญธรรมดาในประเทศเสรีประชาธิปไตย แต่สำหรับประเทศลาวที่ปกครองด้วยรัฐบาลพรรคเดียวมาแล้วหลายสิบปี นี่คือการกระทำที่กล้าหาญและยิ่งใหญ่ ในอีกทางหนึ่ง รัฐบาลลาวเองก็ตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่น้อย เพราะมันแทบจะเป็นครั้งแรกที่ พวกเขาถูกท้าทาย นับตั้งแต่ประเทศเปลี่ยนสถานะจากราชอาณาจักรเป็นสาธารณรัฐ เมื่อ 37 ปีก่อน
-3-
ในฤดูหนาวที่แล้ง และยังร้อนอยู่ปีนั้น Anne-Sophie Gindroz(แอ๊น โซฟี่ ชานด์ฮอซ) ผู้อำนวยการสำนักงานประเทศลาวของ Helvetas(เอล์วิตาส) องค์กรไม่แสวงหากำไรจากสวิตเซอร์แลนด์ ถูกรัฐบาลลาวประกาศเนรเทศ ด้วยเหตุผลว่า เธอทำให้รัฐบาลลาวผิดหวัง จากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง
ไม่กี่วันถัดมา สมบัด สมพอน ผู้อำนวยการศูนย์อบรมร่วมพัฒนา(Participatory Development Training Centre-PADETC) เจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ ปี 2005 ถูกสั่งให้หยุดรถ ณ ป้อมตำรวจหลังหนึ่ง ระหว่างทางกลับบ้าน เขาถูกพาตัวเข้าไปในป้อมหลังนั้น รถยนต์ของเขาถูกขับออกไปโดยคนอื่น ก่อนที่ตัวสมบัดจะถูกหอบหิ้วขึ้นรถยนต์กระบะอีกคันไปที่ใดสักแห่ง ญาติมิตร และเพื่อนฝูงไม่ได้พบหน้าเขาอีกเลย จนถึงวันนี้ของปลายฝนปี 2019
หลังจากนั้นไม่นาน อุ่นแก้ว สุขสะหวัน อดีตนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติลาว ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ รายการวิทยุ “เว้าข่าว” ที่เขาเป็นพิธีกร ถูกรัฐบาลสั่งให้หยุดออกอากาศโดยไม่บอกสาเหตุ ทั้งที่ก่อนหน้านั้น มันเคยได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้โทรศัพท์เข้ามาเล่าปัญหาต่างๆ ที่พวกเขาได้รับจากโครงการพัฒนา และการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยรัฐ
ทั้งสามคนนี้ อยู่ในการประชุมปิดลับในวันหนึ่งของฤดูฝนที่ฝนตกไม่ปกติวันนั้น วันที่ผมถูกรถสามล้อฟันหัวแบะ
ทั้งสามคนอยู่ในการประชุมเอเชีย-ยุโรป ภาคประชาชน ที่รัฐบาลถูกประชาชนชำแหละ เพราะไม่กระตือรือร้นจะแก้ปัญหาที่ควรแก้
โดยสองคนแรกมีส่วนสำคัญที่ทำให้การประชุมนั้นเกิดขึ้น และหนึ่งคนหลังมีส่วนสำคัญในการถ่ายเทปัญหาต่างๆในห้องประชุม
แม้มันเป็นแค่การแสดงออกทางความคิด แต่รัฐบาลที่ไม่เคยถูกท้าทาย น่าจะรู้สึก “อับอาย” และรู้สึกเหมือนถูก “ฉีกหน้า” เมื่อมีเรือไปแล่นชูป้ายคัดค้านโครงการที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศอย่างเขื่อนไซยะบุรี
แม้จะไม่มีใครยืนยันว่า นักพัฒนาจากประเทศลาวทั้งหมดที่ผมกล่าวถึงเกี่ยวข้องกับการประท้วงบนแม่น้ำครั้งนั้น
แต่รัฐบาลก็คงโกรธ และเชื่อแน่ว่า พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องไม่น้อยก็มาก
-4-
“ไทยเร่ขายเสรีภาพ เวียดนามปลูกต้นเสรีภาพ กัมพูชาเฝ้ามองเสรีภาพเติบโต ลาวนอนฟังเสียงเสรีภาพ”
อุ่นแก้ว บอกกับผม เมื่อครั้งที่เราพบกันในกรุงเทพฯ ก่อนที่เขาจะย้ายไปสร้างชีวิตใหม่ของตัวเองที่สหรัฐอเมริกา คำกล่าวข้างต้นเป็นการอธิบายถึงลักษณะนิสัยดั้งเดิมของคนลาวที่ไม่กระตือรือร้นจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของตัวเองนัก หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
และด้วยลักษณะนิสัยดังกล่าว ทำให้เขาเชื่อว่า การปกครองในลาวจะไม่เปลี่ยนแปลง เพราะประเมินแล้วว่า ไม่น่าจะมีใครกล้าหือ กล้าอือ กับรัฐบาลอีก หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเขา และนักพัฒนาอีกสองคนที่ผมได้พาดพิงถึงในหลายย่อหน้าก่อน
-5-
มิดสี่หลี่ ในภาษาลาวแปลว่า เงียบกริบ
ไม่มีนักเคลื่อนไหวคนไหนไม่หยุดนิ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงอันฉับพลัน และรวดเร็วคราวนั้น
องค์กรของสมบัด ที่เคยเป็นแกนหลักของการพัฒนาชนบท และให้ความรู้กับเกษตรกรในลาว ต้องลดขนาดของตัวเองลงทันที หลังจากที่สมบัดไม่ได้กลับบ้านในวันที่ 15 ธันวาคม 2012 จากที่ปาแดกเคยมีพนักงานประจำกว่า 50 คน ปัจจุบัน เหลือคนทำงานไม่กี่คน
“หลังจากลุงสมบัดถูกอุ้มสาบสูญไป พนักงานของปาแดก(PADETC) คนไหนก็กังวล คนไหนก็กลัว บางคนเห็นว่า มันมีผลกระทบกับเขา ครอบครัวของบางคนก็บอกให้เขาลาออก บ่อยากให้เขาอยู่กับปาแดก" เอ็ง ซุย เม็ง ภรรยาของสมบัด บอกกับผม
ดูเหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดูจะสำเร็จ ประชาชนสงบเสงี่ยมเจียมตัว อย่างที่รัฐบาลอยากให้เป็นเสียแล้ว
-6-
ไม่จริง อินเทอร์เน็ต คือ อาวุธของคนรุ่นใหม่
หลังจากความกลัวเริ่มเบาบางลงบ้าง ประชาชนธรรมดาเริ่มอยู่นิ่งไม่ได้ เหตุเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตกจนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ และมีผู้เสียชีวิตมากมาย เมื่อฤดูฝนก่อน กระตุ้นให้ประชาชนลาวเริ่มตระหนักถึงความเดือดร้อน และปัญหาที่มีอยู่จริงในประเทศ
แม้ พวกเขาจะไม่ได้ลงถนนพร้อมกับป้ายกระดาษ โทรโข่ง หรือตีนตบ มือตบ เช่นอีกประเทศริมฝังโขง แต่ก็เริ่มส่งต่อข้อความเห็นไปในอากาศ โดยมีอินเทอร์เน็ตเชื่อมทุกคนเข้าหากัน การวิพากษ์-วิจารณ์เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง ยุคสมัยใหม่ของการเคลื่อนไหว เริ่มต้นขึ้น
-7-
คลื่นระลอกใหม่เริ่มก่อตัว โจเซฟ อัคระวง คือ หนึ่งในลูกคลื่นที่เชื่อว่า รัฐบาลยังทำงานของตัวเองได้ไม่ดีพอ เขาจึงเริ่มขีดเขียนข้อความลงบนอินเทอร์เน็ต วิพากษ์สิ่งที่เขาเห็นว่าไม่ถูก วิจารณ์สิ่งที่เขาเห็นว่าไม่ควร
“เราบ่เคยเห็นสังคมใดที่เป็นเผด็จการ แล้วประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีทางด้านเศรษฐกิจ และสิทธิเสรีภาพ เราบ่เคยเชื่อว่า ผู้มีอำนาจจะเฮ็ดอีหยังให้ประชาชนทุกคนได้เอง เราเชื่อว่า ทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพราะว่าบ่มีใครที่จะรู้ และเข้าใจปัญหาของประชาชนดีเท่าตัวเขาเอง รัฐบาลจะออกกฎหมาย จะกำหนดนโยบายต่างๆ ต้องรับฟังเสียงจากประชาชน”
“บ่ต้องเว้าดอกว่า ประชาชนบ่มีการศึกษา ตามที่เราไปเห็นนี่ บางเรื่องประชาชนเขารู้ดีกว่าเราที่เรียนปริญญาตรีอีก ฉะนั้นจะเอาเรื่องประชาชนบ่มีความรู้มาอ้าง เพื่อบ่ให้เขามีเสรีภาพในการเลือกผู้นำบ่ได้ ถ้าจะถามว่า แล้วทำไมเขาจึงบ่มีการศึกษาล่ะ เราก็ตอบได้ว่า เพราะพวกคุณบ่ให้การศึกษาเขาไงเล่า”
โจเซฟ อดีตสามเณรน้อยจากแขวงเวียงจัน บอกว่าตัวเขาเคยเรียนที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจำปาสัก ด้วยสนใจเรื่องการพัฒนา เขาพยายามเขียนปริญญานิพนธ์ที่วิจารณ์โครงการพัฒนาของรัฐ แต่เมื่อถูกอาจารย์ขอให้เปลี่ยนหัวข้อวิจัยนั้น เขาจึงเลือกที่จะหันหลังให้กับการเรียน
“หัวข้อที่เราเขียนคือ การพัฒนาเศรษฐกิจโดยรัฐบาลส่งผลดีหรือเสียอย่างไรต่อประเทศชาติ แต่อาจารย์ที่ปรึกษาบ่ให้เราเขียน เขาบอกให้เราเปลี่ยนหัวข้อ เราก็เลยบ่ทำต่อ เราจะเก็บงานชิ้นนี้ไว้จนประเทศซาติเปลี่ยนแปลง เราถึงจะเอาไปส่ง ช่วงนั้นเราก็เริ่มเคลื่อนไหวทางสังคมแล้ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็เริ่มบ่พอใจกับสิ่งที่เราเฮ็ด มีการกดดันมาเป็นระยะๆ เราเลยตัดสินใจหันหลังให้กับปริญญาของตัวเอง”
โจเซฟ สนใจอ่านงานวิชาการของนักวิชาการไทยมาก เพราะเป็นสิ่งที่เขาหาไม่ได้จากนักวิชาการลาว เขาเชื่อว่า ความไม่มีเสรีภาพกดทัพความหลากหลายทางวิชาการเอาไว้หมดแล้ว
“มันบ่มีเสรีภาพทางวิชาการ ครู-อาจารย์ส่วนหลายสอนตามรัฐบาลสั่ง สอนตามตำราที่กระทรวงศึกษาธิการพิมพ์ให้ ถ้าอาจารย์จะเว้าอีหยังที่มันขัดกับแนวทางขอรัฐต้องได้เว้าเบาๆ ฉะนั้นเราเลยบ่ศรัทธาในการศึกษาของลาว ลาวบ่มีนักวิชาการ เพราะมันบ่มีเสรีภาพทางวิชาการ คุณบ่สามารถที่จะคิด หรือค้นคว้าในสิ่งที่คุณเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ คุณต้องทำภายในกรอบที่รัฐวางไว้ให้ แล้วมันจะมีเสรีภาพได้ยังไง”
-8-
การลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพราะโครงการพัฒนา แล้วนำมาบอกเล่าผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ทำให้โจเซฟมีผู้ติดตาม ณ ปัจจุบัน ถึง 115,571 คน ทางหนึ่ง ความนิยมดังกล่าว ทำให้เขาได้รับเสียงชื่นชม และความเอ็นดูจากเพื่อนร่วมชาติ
“เราค่อนข้างมีคนรู้จักหลาย เวลาไปนั่นมานี่ บางทีคนเห็น เขาก็มากินข้าวด้วย บางทีก็ขอเลี้ยงข้าว เลี้ยงน้ำเรา เพราะเขาชอบในความคิดของเรา บางคนก็บอกว่า ถ้าเราผ่านไปแถวบ้านเขา ก็ให้แวะไปเที่ยวด้วยกัน เราก็ดีใจที่คนลาวเข้าใจปัญหาสังคม สิ่งที่เราเว้าบ่แม่นเพื่อตัวเราเอง บ่แม่นเราอคติกับรัฐ เราเว้าเพราะเราเห็นปัญหา และอยากให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่มันก็มีอำนาจของรัฐที่กดไว้อยู่”
ในอีกทาง ชื่อเสียงก็นำพาภัยมาหาตัวเขาเช่นกัน เขาเริ่มถูกติดตามจากคนที่เขาเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เขายืนยันว่า เขาพร้อมสู้ตามกฎหมาย หากรัฐเห็นว่า การวิพากษ์ของเขาผิดกฎหมาย หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เขาบอกว่า รัฐไม่ยอมสู้กับเขาด้วยกฎหมาย จ้องแต่จะใช้กฎหมู่
“เราอยากเห็นรัฐส่งหมายศาลมา แต่ว่ามันก็บ่มี เรารู้อยู่แล้วว่า เขาบ่กล้าทำแบบนั้น เพราะ เราบ่ได้เฮ็ดอีหยังผิดสักอย่าง บ่เคยมีประวัติอาชญากรรม บ่เคยเป็นคนค้ายาเสพติด บ่มีประวัติลักขโมย อยากให้มีหมายศาลออกมา เพื่อเราจะได้สู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม แม้เราจะรู้ว่า การเป็นคนธรรมดาแล้วสู้กับอำนาจรัฐมันยาก แต่ก็อยากจะลองสู้ให้สังคมเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้มันมีปัญหา”
“เขาเริ่มส่งสายลับมาตามเรา มันมาแรงตอนปี 2017 เริ่มเข้าไปค้นบ้านที่เราพักอยู่ปากเซ แขวงจำปาสัก แต่เราหนีออกก่อน แล้วเขาก็ไปตามหาเราที่บ้านพี่ชายในนครหลวงเวียงจันทน์ เขาเคยไปค้นบ้านพี่สาวเราที่เมืองเฟือง แขวงเวียงจันทน์ ที่ไหนเชื่อมโยงกับเราเขาจะไปตาม ไปหาข้อมูลของเราจากญาติ เขาบอกกับคนอื่นว่า เราใส่ร้ายป้ายสีรัฐบาล วิพากษ์-วิจารณ์รัฐบาล มีตำรวจในเครื่องแบบมาถามหาข้อมูลต่างๆแต่ไม่มีหมายค้น หมายศาล หรือหมายจับ มีตำรวจลับมาค้นที่ที่เราอยู่ เฮ็ดให้เราต้องหนี ย้ายที่อยู่ ไปตามเมืองต่างๆ แขวงต่างๆ ย้ายไปเรื่อยๆ”
-9-
ด้วยโจเซฟเกิดในพื้นที่ใกล้เขตก่อสร้างเขื่อน เขาจึงสนใจประเด็นการสร้างเขื่อนเป็นพิเศษ เขาเลยมักหยิบปัญหาที่ชาวบ้านได้รับจากการสร้างเขื่อนมาเผยแพร่บ่อยครั้ง และประเด็นเขื่อนนี่เองที่ส่งผลกับชีวิตของเขาในเวลาต่อมา
“เราบ่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่อยากจะเป็น Battery of Asia เราบ่ได้ต่อต้านการสร้างเขื่อนทั้งหมด แต่มันต้องมีการรับฟังความคิดเห็น เพราะเมื่อก่อสร้างเขื่อนต้องโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่จำนวนหลาย เช่น เขื่อนน้ำงึม 2 ประชาชนหลายพันคนถูกย้าย เขาได้รับเงินชดเชยแต่มันก็บ่เป็นธรรม มีบ้านใหม่ให้อยู่ก็จริงแต่บ่มีที่ดินทำกิน ประชาชนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกย้ายเป็นเกษตรกร พอถูกย้ายออกมา ก็เฮ็ดเกษตรบ่ได้เหมือนเก่า กลายเป็นคนบ่มีอาชีพ กลายเป็นปัญหา”
“หลังจากเฮ็ดเรื่องเขื่อนหลายๆ ปี 2017 ก็ต้องหนีเข้าป่า เพราะเรื่องมันเริ่มแรง เราเลยตัดขาดจากโลกภายนอก เลิกเล่นอินเทอร์เน็ตไปอยู่กับชาวเผ่าขมุ ไปอาศัยอยู่กับเขา ทำไร่กับเขา อยู่เงียบๆ ในพื้นที่ชนบทแบบที่ ถ้านั่งรถเข้าไปจากตัวเมืองต้องใช้เวลา 7-8 ชั่วโมง ต้องหายไปปีกว่าๆ รอให้เรื่องมันเงียบ”
-10-
หลังจากอยู่ในป่าร่วมปี เขาออกจากป่ามาใช้ชีวิตแบบคนปกติอีกครั้ง เขายังคงพยายามไม่ยุ่งเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ทำตัวให้ Lo-Profile ที่สุด เพื่อหลบเลี่ยงการปะทะกับรัฐบาล แต่ในฤดูฝนปีนั้น เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ดันมาแตก มันกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีของลาว เหตุการณ์ครั้งนั้นผลักให้เขากลับมาใช้อินเทอร์เน็ตต่อสู้กับรัฐอีกครั้ง
เขาบอกว่า เขาเคยลงพื้นที่เก็บข้อมูล และคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้มาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่เขื่อนยังสร้างไม่เสร็จดี เขาเคยเรียกร้องแทนประชาชนกว่าร้อยคนที่ถูกบังคับให้ย้ายออกจากพื้นที่สร้างเขื่อน เคยช่วยชาวบ้านทำหนังสือถึงสภาแห่งชาติ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
และการเรียกร้องครั้งนั้นเองทำให้เขาถูกเพ่งเล็ง ติดตาม ค้นหา จนต้องหนีเข้าไปอยู่ในป่า เมื่อเขื่อนแตกเขาจึงต้องกลับมาเผยแพร่ข้อมูลที่ตัวเองเคยมี เพื่อตีแผ่ปัญหาที่ไม่เคยถูกแก้ไข และปัญหาเดียวกันนี่แหละพันเข้าหาตัวเขา
“พอเขื่อนแตก เราก็เลยออกมา เอาข้อมูลเก่า เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอำนาจของรัฐมาเผยแพร่ เรื่องการขับไล่ชาวบ้านต่างๆ เรื่องนี้มันหนักเกินกว่าที่เราจะเงียบ แล้วมันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องดัง ทำให้รัฐบาลไม่พอใจ เพราะเสียหน้า ถูกคนในประเทศ และสังคมโลกเขาประณาม สุดท้ายเราก็เลยถูกตำรวจลับตามตัวอย่างหนัก เลยต้องหนีออกนอกประเทศ”
“เขื่อนแตก วันที่ 23 กรกฎาคม เราหนีออกนอกประเทศได้ในวันที่ 14 สิงหาคม ข้ามมาที่ฝั่งไทยโดยช่องทางธรรมชาติ จากเมืองซะนะคาม แขวงเวียงจันทน์ เข้าอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แอบข้ามเรือมาโดยมีคนไทยที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้การช่วยเหลือ แล้วก็ช่วยเดินเรื่องกับ UNHCR ให้ จนเราได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเมื่อเดือนมิถุนายน 2019”
-11-
“ตอนนี้ เราอยู่ในอันตราย, รัฐบาลลาวอยากจะจับเราให้เร็วที่สุด”
โจเซฟ เขียนข้อความนี้ลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2019 เขาเชื่อว่า เขากำลังเป็นที่ต้องการของรัฐบาล หลังจากเดินทางไปให้ข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆในลาว กับตัวแทนสหประชาชาติ(United Nation) จนนำไปสู่การที่ UN ออกแถลงการณ์เร่งรัดให้รัฐบาลลาวแก้ปัญหาต่างๆ
เขาบอกว่า เขาเดินทางไปให้ข้อมูลที่สำนักงานสหประชาชาติในช่วงเช้า เป็นวันเดียวกันกับที่ อ๊อด ซะยะวง แรงงาน และนักเคลื่อนไหวชาวลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเดินทางไปให้ข้อมูลกับ UN ด้วย แต่นัดของอ๊อดเป็นช่วงบ่าย
เมื่อถึงต้นเดือนกันยายน 2019 เดอะการ์เดี้ยน(The Guardian) และวิทยุเอเชียเสรี(Radio Free Asia) รายงานข่าวว่า อ๊อด หายตัวไปขณะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ครั้งสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นเขาคือวันที่ 26 สิงหาคม 2019
เพื่อนนักเคลื่อนไหวชาวลาวที่อาศัยอยู่ด้วยกันพยายามแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยในวันที่ 2 กันยายน 2019 แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวกับผมว่า ไม่รู้ และไม่ได้มีหน้าที่ตอบเรื่องนี้ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยปฏิเสธความเกี่ยวข้อง และการรู้เห็น
"เช้าวันนั้น เราเห็นเขาแต่งชุดทำงานออกไปตามปกติ เราบ่ได้เว้าหรือถามอะไรเขา, 6 โมงเย็น เขาส่งข้อความมาหาเรา ให้หุงข้าวไว้ แล้วเดี๋ยวเขาจะซื้อกับข้าวอย่างอื่นระหว่างทางกลับมากินด้วย เพราะเขาบ่อยากกินอาหารเก่าในตู้เย็น, พวกเรารอเขาจนถึง 5 ทุ่มก็แล้ว จนเที่ยงคืนเขาก็บ่มา เพื่อนอีกคนพยายามโทรหาเขาหลายครั้งแต่ก็บ่ติด เราเลยตัดสินใจกินกันก่อน" เพื่อนของอ๊อดรายหนึ่ง กล่าวแก่เอเชียเสรี
การหายตัวไปของอ๊อด ตอกย้ำว่า ข้อความที่โจเซฟได้โพสต์ลงไปในกลางฤดูฝนปีนี้ ไม่ใช่ความวิตกจริตส่วนตัว
-12-
“เราก็เกือบจะถูกอุ้ม”
โจเซฟ บอกกับผม เขาบอกว่า รัฐบาลลาวกำลังเพ่งเล็งเขามานานแล้ว และเขาต้องระวังตัว
“วันนั้น เรานั่งแท๊กซี่ไปขึ้นรถไฟฟ้าที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้วไปลงที่จตุจักรเพื่อต่อรถไฟใต้ดินไปธุระ พอถึงจุดตรวจกระเป๋า เราเห็นผู้ชายคนนึงใส่เสื้อโปโลสีส้ม ถือกระเป๋าเดินทางใบใหญ่มากตามหลังเรามา พอเจ้าหน้าที่ขอตรวจกระเป๋าใบนั้น ปรากฎว่า มันว่างเปล่า”
“พอเราตรวจกระเป๋าเสร็จ เราก็เดินเข้าไปในร้านหนังสือ ผู้ชายเสื้อสีส้มคนนั้นเดินตามเราเข้ามาด้วย แล้วเดินผ่านหน้าเราไป แล้วไปยืนอ่านหนังสืออยู่ที่มุมในสุดของร้าน ตอนแรก เราบ่ได้สนใจเขาเท่าไหร่ แต่เวลาเรามองไปที่เขา เขาจะก้มหน้าลงทันที เราคิดว่า เขาน่าจะแอบมองเราอยู่”
“เราทำเป็นอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ รอดูว่า เมื่อไหร่เขาจะออกไป แต่เขาก็บ่ออกไปสักที เราเริ่มผิดสังเกต เราเลยแกล้งเดินไปหลบที่หลังเสาต้นใหญ่กลางร้าน แล้วแอบมองเขา พอผู้ชายคนนั้นเงยหน้าขึ้นมาจากหนังสือแล้วบ่เห็นเรา เขารีบลากกระเป๋าเดินมาที่จุดที่เราเคยยืนอยู่ เรารู้ทันทีว่า เขาตามเรา”
“เขาเดินวนหาเรา เรายังหลบอยู่ พอเขาเข้ามาใกล้ๆกับเสาที่เราหลบอยู่ เราเลยรีบเดินออกไปเผชิญหน้ากับเขา เขาตกใจ รีบเดินลากกระเป๋ากลับไปที่มุมร้านจุดเดิม แล้วทำเป็นอ่านหนังสือต่อ เราแกล้งเอาโทรศัพท์ขึ้นมาแนบหู ทำท่าเหมือนโทรศัพท์ แต่จริงๆแอบถ่ายรูปเขาไว้ เขาน่าจะรู้ว่า เราแอบถ่าย เขาเลยรีบเดินออกจากร้านไปหาผู้ชายที่ใส่หมวกสีแดงที่ยืนอยู่นอกร้าน เราเลยรู้ว่ามีคนตามเราอยู่ 2 คน”
“กระเป๋าใบที่เขาลากใหญ่พอจะใส่คนลงไปได้ทั้งคน เราถ่ายรูปเขาไว้ได้ เรารีบส่งไปให้เพื่อน แล้วก็รีบกลับที่พัก เราบอกเรื่องนี้กับ UN ด้วย แต่บ่รู้ว่า เขาสนใจไหม เขายังบ่ว่าอีหยังกลับมา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2019 เวลาประมาณ 4 โมงเย็น”
-13-
ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับอ๊อด และโจเซฟ, ผู้ลี้ภัยลาวในประเทศไทย
เพื่อความเป็นธรรมกับรัฐบาลลาว ผมได้โทรศัพท์ไปหาท่านสมเกียด พาสี หัวหน้ากรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีลาว ผู้ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นคนที่คอยตอบคำถามต่างๆที่นักข่าวต้องการรู้ หรืออยากให้รัฐบาลลาวอธิบาย เพื่อขอคำชี้แจง
“ท่านสมเกียด ข้าน้อยแม่นผู้สื่อข่าวอีสานเด้อ โทรแต่ไทย อยากสิถามท่านเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัยลาวในไทย ที่หายตัวไปและถูกคุกคาม อยากให้ท่านชี้แจง หรือแก้ต่างในฐานะรัฐบาลแหน่”
ท่านสมเกียดตอบกลับคำถามของผมอย่างสุภาพว่า เขาไม่มีหน้าที่ตอบเรื่องนี้ และแนะนำให้ติดต่อไปยังหน่วยงานอื่นๆ
ผมพยายามถามชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของคนที่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่ท่านสมเกียดระบุว่า ตัวท่านลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมอยู่ในภาคใต้(ของลาว) จึงไม่สะดวกจะหาช่องทางติดต่อให้
-14-
สำหรับโจเซฟ เขาใช้หลายคำ หลายประโยคเพื่ออธิบายว่า เขาเชื่อในการเคลื่อนไหวทางความคิดมากกว่าการเคลื่อนไหวบนถนน แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น เขาก็ไม่เห็นด้วยกับการที่ใครสักคน จะทำให้ใครอีกสักคน ที่แค่เคลื่อนไหวบนถนนโดยไม่มีอาวุธ หายไป
“เราเองก็บ่แม่นคนที่มีความกล้าหาญอีหยังดอก บ่แม่นคนที่บ่กลัวตาย บ่แม่นคนที่จะต่อสู้เพื่อคนอื่นอีหลี เราแค่เห็นว่า ความอยุติธรรมมันหลายเกินไป เกินกว่าที่เราจะหันหลังให้กับมัน ถ้าหันหลังให้มัน เราเองก็บ่ต่างอีหยังกับรัฐบาล บ่ต่างอีหยังกับนายทุน เพราะว่าคนพวกนั้น เขาเฮ็ดเพื่อผลประโยชน์ของเขา ถ้าเราเห็นสิ่งที่บ่ถูกต้องแล้วเราเงียบ เราก็เป็นส่วนนึงในการสนับสนุนให้เขาเฮ็ดด้วยซ้ำ เราก็จะเป็นแค่คนที่เห็นแก่ความอยู่รอดของตัวเอง”
“เราเฮ็ดเพราะเราเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามในสังคมโลก ต้องเริ่มจากการมีคนกล้าแสดงความจริง กล้ายกปัญหามาเผยแพร่ นำข้อมูลมาสร้างความเข้าใจให้กับสังคม การเปลี่ยนแปลงมันบ่ได้เกิดเพราะ อยู่ๆ คนมีความเห็นพร้อมกันทีเดียวแล้วเปลี่ยนแปลง มันต้องเริ่มจากการทำงานเรื่องความคิด การเสนอปัญหา การวิพากษ์-วิจารณ์ผู้ที่มีอำนาจ เมื่อเขาเฮ็ดบ่ถูกต้อง เราเลยพยายามเฮ็ดแบบนี้ แล้วหลายคนก็เริ่มตื่นตัว ตระหนักรู้ เราเองก็บ่อยากเชื่อว่า ปัจจุบัน คนลาวจะมีสำนึกหลายปานนี้”
-15-
"เรามีความฝัน 2 อย่าง อย่างนึงมักเบิ่งหนังหลาย เลยอยากเป็นผู้กำกับ และมักเบิ่งบอล เลยอยากเป็นนักบอล แต่บวชเณรแต่เด็ก เลยเตะบอลบ่เก่ง ความฝันเลยอยากเป็นโค้ชฟุตบอล"
เขาบอกว่า เพราะดันมาสนใจการเมืองมากไปหน่อย ฝันทั้ง 2 อย่างเลยต้องรอไปก่อน
ชอบทีมอะไร? ผมอดไม่ได้ที่จะถาม
"บ่อยากบอกเท่าไหร่ เดี๋ยวคนจะหาว่าเชียร์เพราะทีมมันใหญ่... (เราคะยั้นคะยอ อยู่พักหนึ่ง) เราเชียร์ลิเวอร์พูล แชมป์ยุโรป 6 สมัย แมนยูฯ ก็ได้แค่ 3 สมัย แต่เราได้ 6 สมัย เราชอบแนวทางของเจอร์เก้น คลอปป์นะ แต่บ่ชอบที่ฤดูกาลนี้ เพราะาเขาบ่เสริมทีมนี่แหละ ถ้าตัวจริงเจ็บก็อาจจะมีปัญหา" นั่นแหละครับ แหม่ ถึงตรงนี้ แฟนแมนยูฯ ที่เอาใจช่วยโจเซฟมาจนจะจบข้อเขียนชิ้นนี้ อาจจะเริ่มหมั่นไส้แล้วล่ะ "สูญเสียมวลชน" อาจจะเรียกได้เช่นนั้น
-16-
ชังชาติ ขายชาติ ข้อกล่าวหาสากลที่นักเคลื่อนไหวคนไหนก็ต้องเผชิญ
"คนในอินเทอร์เน็ตบางคน เรียกเราว่า บักโจเซฟ บักขายชาติ เราถามว่า เราขายชาติยังไง เราบ่มีอำนาจให้นายทุนมาสัมปทานที่ดิน สัมปทานเหมืองแร่ บ่มีอำนาจให้นายทุนมากดขี่คนลาว เราบ่ได้เอาเขื่อนมาทับหัวประชาชน เราต่อต้านมาตลอด เราจะขายชาติได้ยังไง"
"เราถามเขากลับไปว่า ชาติคืออีหยัง ความมั่นคงของชาติคืออีหยัง ถ้าจะหาว่าคนแบบนี้ชังชาติ เอ่อดี เรายอมเป็นคนชังซาติ เราบ่ไปด่าพ่อล่อแม่เขาดอก มันเสียเวลา เราก็เข้าใจเขาเหมือนกันว่า เขาถูกปลูกฝังมาให้เชื่อว่า ชาติคือรัฐบาล แต่เราเชื่อว่ารัฐบาลคือคนที่ได้รับเงินเดือนมาบริหาร ถ้าบริหารบ่ดี เราเป็นคนจ้าง เราก็มีสิทธิเรียกร้องให้เขาเปลี่ยนแปลง"
-17-
ในปลายฤดูฝนที่เดี๋ยวก็แล้ง เดี๋ยวท่วมปีนี้ โจเซฟ ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย ด้วยสถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่รอคอยการเดินทางไปยังประเทศที่สาม เขายังหวังว่าประเทศที่เขารักจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ควร ผมก็หวังเช่นกันว่า เขาจะไม่หายไปไหน และจะได้เห็นสิ่งที่เขาอยากจะเห็นในเวลาอันใกล้ ผมหวังว่า เขาจะได้กลับไปอยู่ในประเทศที่เขาจากมา ได้ใช้สิทธิ และเสรีภาพ อย่างที่เขาฝันใฝ่และเชื่อมั่น ผมหวัง... --- #TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #ลาว #ผู้ลี้ภัย #ลี้ไปไส
Comments