ถึงทรงจำ 19 กันยายน 2549
ความเรียงคัดสรรอ่านต้านรัฐประหาร
ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ
"เมื่อผมไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองแล้ว หนังสือที่ผมเขียนจะไร้ชีวิต และเป็นเพียงวลีที่สวยงามแต่หลอกลวง จะเป็นประโยคที่ปราศจาคความหมาย ส่วนคำขยายก็เป็นเพียงสิ่งตกแต่ง และทั้งหมดก็คือเรื่องโกหกไร้สาระเท่านั้น"
(จอร์จ ออร์เวลล์, Why I Write,1964)
จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนอังกฤษที่ขึ้นชื่อในการเขียนเสียดสี เย้ยหยัน ชนชั้นระบบการปกครอง ที่ริดรอนและพรากสิทธิเสรีภาพของผู้คนในประเทศ เขาเป็นที่รู้จักของนักอ่านชาวไทยและนักอ่านทั่วโลกจากวรรณกรรมดิสโทเปียอย่าง 1984 นิยายสั้นแสดงสัญลักษณ์อำนาจนิยมอย่าง Amimal Farm แม้กระทั่งงานบอกเล่าถึงยุคอาณานิคมอย่าง Burmese Day
.
เนื่องในโอกาสครบ 13 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จุดเริ่มของยุคแบ่งข้างแบ่งสีทางการเมือง ที่ดูท่าว่าจะหาจุดจบยากนัก The Isaander ในฐานะคนอีสาน และคนไทยคนหนึ่ง อยากชวนลองอ่านรัฐประหาร และทบทวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเผื่อเราจะเข้าใจความเป็นไปเรื่องราวขึ้นอีก ขอยกหนังสือ ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ ความเรียงคัดสรร 22 บท จาก จอร์จ ออร์เวลล์ ที่เพิ่งพิมพ์ฉบับแปลไทยออกมา ประกอบเผื่อเราจะปะติดปะต่อเหตุการณ์ต่างๆไปด้วย
.
"การโกหกหลอกลวงที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบดังที่ปฏิบัติกันอยู่ มิใช่ความจำเป็นเฉพาะหน้าแบบทหารต้องล่อลวงข้าศึก ดังที่อ้างกันในบางครั้งหากแต่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เป็นสิ่งที่จะยังดำรงต่อเนื่องอยู่แม้เมื่อไม่จำเป็นต้องมีค่ายกักกันและตำรวจลับแล้วก็ตาม "
.
โดยรายละเอียดแม้ปรากฏการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 จะแตกต่างกัน แต่ก็เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ไม่อยากให้ประเทศกลับไปสู่วังวนการแก้ปัญหาแบบนั้นอีก
_____________________
"สิ่งหนึ่งที่เผด็จการมักจะทำ เพื่อรักษาฐานะไว้นั้นก็คือ การประกาศตนว่าไม่มีวันผิดพลาดล้มเหลว "
.
ในยุคของเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จนั้น ไม่ยอมให้ใครก็ตามมีเสรีภาพการแสดงออกใดๆ ไม่เพียงแต่จะห้ามไม่ให้คิดหรือทำอะไรแล้ว
.
เผด็จการยังเข้ามาบงการให้ผู้คนคิดหรือทำอะไรในแบบที่พวกเขาต้องการอีกด้วย
.
สิ่งหนึ่งที่เผด็จการมักจะทำ เพื่อรักษาฐานะไว้นั้นก็คือ การประกาศตนว่าไม่มีวันผิดพลาดล้มเหลว แต่ในทางปฏิบัตินั้น คนเราย่อมผิดพลาดได้ ชนชั้นปกครองจึงจำเป็นต้องปรับเหตุการณ์ในอดีตเสียใหม่อยู่เสมอ (มากกว่าการชวนไปศึกษาว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร) เพื่อแสดงให้เห็นว่าความผิดพลาดไม่ได้เกิดขึ้น หรือทำให้เห็นว่าชัยชนะได้เกิดขึ้นจริง กล่าวคือ ประวัติศาสตร์ของเผด็จการสามารถที่จะแปรเปลี่ยนให้คนรักหรือชังได้ในชั่วข้ามคืน
.
แตกต่างจากงานวรรณกรรม นักประพันธ์ไม่สามารถเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกตนเองที่มีต่อเหตุการณ์รอบตัวของเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากการเขียนเป็นอะไรที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่ไม่อาจควบคุมบงการจากภายนอกได้ทั้งหมด เพราะงานเขียนนั้นถ่ายทอดเรื่องราวมาจากความรู้สึกที่ผู้เขียนรู้สึกจึงจะเขียนออกมาได้
.
ต่างกับนักรัฐประหารเผด็จการ นักประพันธ์จะต้องไม่โกหก ต้องซื่อตรงต่อตนเอง พูดอย่างที่รู้สึกนึกคิดจริงๆ ไม่เสแสร้ง เพราะคำพูดที่ร้ายแรงที่สุดที่ใครสักคนจะพูดถึงงานเขียนได้นั้นก็คือ งานชิ้นนั้นเต็มไปด้วยความเสแสร้งไม่จริงใจ หากไม่ใช่การแสดงออกตามความเป็นจริงว่าคิดและรู้สึกอย่างไร ก็ย่อมไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง และเมื่อเป็นเช่นนี้ วรรณกรรมก็จะเผชิญหน้ากับอันตราย
.
ยิ่งอ่านยิ่งเห็นว่า ข้อเขียนและความคิดของออร์เวลล์ไม่เคยล้าสมัยและถูกเอามาผลิตซ้ำเสมอในโลกที่ยังไม่หลุดพ้นจากห้วงเวลาเผด็จการ ทั้งนี้ผู้ใดที่รู้สึกถึงคุณค่าของวรรณกรรม ใครก็ตามที่เห็นว่าวรรณกรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ย่อมจะต้องเห็นเช่นกันถึง
"ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ว่าเราจะโดนยัดเยียดระบบนี้จากภายนอกหรือภายในก็ตาม"
.
ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ (2562)
ผู้เขียน: จอร์จ ออร์เวลล์
ผู้แปล: บัญชา สุวรรณานนท์
#TheIsaander #Isaan #Isaannews #อีสานเด้อ #อีสาน #ข่าวอีสาน #ดิอีสานเด้อ #แอนิมอลฟาร์ม
#จอร์จออร์เวลล์ #ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ #AmimalFarm #BurmeseDay #SelectedEssays
Comments