“คุณครูครับ ผมขออภัยด้วยนะครับ ผมไปทำงานที่เมืองนอก ผมไม่ได้ส่งข่าวให้คุณครูทราบเลย… ผมได้อ่านข่าวทางหนังสือพิมพ์ที่คนไทยเอากลับมา… เจอข่าวว่าหนังเรื่องลูกอีสานได้รางวัลดีเด่น และก็ได้รับรางวัลอย่างมากมาย ผมก็ดีใจมากตลอดทั้งตัวผมเองก็ได้รับรางวัล ผมไม่นึกไม่ฝันเลยครับคุณครูว่า ผมจะได้รับรางวัลอันมีเกียรติเช่นนี้… ผมอยู่ทางโน้นก็สบายดีครับ งานก็ไม่หนักเท่าไร พอทำ ผมทำงานเป็นช่างก่อสร้างธรรมดา(ช่างปูน)”
เคารพอย่างสูงจากผม องอาจ มณีวรรณ์(ทองปาน โพนทอง) จากที่พักคนงานแคมป์ K.B.M.C. เมืองคูฟ้า ประเทศลิเบีย 10 พ.ค. 26
---
เนื้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของ จดหมายที่ทองปาน โพนทอง นักแสดงนำผู้ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ จากภาพยนตร์เรื่อง “ลูกอีสาน” เขียนถึง วิจิตร คุณาวุฒิ ผู้กำกับการภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว อีสานเด้อ ได้เห็นเนื้อความของจดหมายฉบับนี้ จากการเผยแพร่ใน วารสารหนังไทย โดยหอภาพยนตร์(องค์การมหาชน)
---
ระลึกชาติ ลุงทองปาน : ชีวิตสัจนิยม ไม่(ค่อย)มหัศจรรย์
.
องอาจ มณีวรรณ์ เกิดวันที่ 5 ธันวาคม 2491 ณ บ้านโนนสัง ตำบลโพนทอง อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา บรรพบุรุษ รวมถึงบิดา-มารดา ของเขาเป็นชาวนา เมื่อเรียนหนังสือจบชั้น ป. 4 เขาจึงหยุดเรียน และออกมารับมรดกอาชีพของบิดาและมารดา เป็นชาวนา เกียงัว เกียควยตามประสาคนธรรมดา
"เมื่อก่อน พวกผมก็อยู่อย่างนี้ ทำไร่ ไถนากินอยู่อย่างนี้ อยู่กับโคกกับป่ากับดอนธรรมดา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ไปไถไร่ ไถนา พอมาจากโรงเรียนก็มารับเอาควายไปเลี้ยงควายกันธรรมดา ไปดำนา ช่วยพ่อแม่ไถนา” องอาจ กล่าว เมื่อคราววารสารหนังไทย เดินทางไกลจากศาลายาไปสัมภาษณ์เขาถึงบ้านพักที่โคราช
ทุกวันนี้ องอาจ ในวัยชรายังเป็นชาวนา ถึงจะเคยเล่นหนังจนได้รางวัล แต่อาชีพในฝันของเขาไม่ใช่ดารา เพราะ ความฝันที่เคยเป็นความจริงของเขานั้นคือ อาชีพนักมวย หลังจาก จบ ป. 4 และปลูกข้าวหาเลี้ยงชีพอยู่พักใหญ่ องอาจเดินตามความฝันของตัวเองด้วยการเข้าฝึกซ้อมมวยเมื่ออายุได้ 15 ปี บ่มเพาะฝีหมัดฝีมืออยู่ 2 ปี จึงได้ลงนวมชกจริงในงานวัด ใช้ชื่อบนสังเวียนว่า “เอกจักร สิงห์ บ.ส.”
อายุได้ 21 ปี เขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเติบใหญ่บนสังเวียนผ้าใบได้ชื่อ “ฐานทัพ สิงห์ทรงพล” ต่อยในพิกัดน้ำหนัก เฟเธอร์เวท(ไม่เกิน 126 ปอนด์ หรือ 57 กิโลกรัม-น้ำหนักเดียวกับสมรักษ์ คำสิงห์ นักมวยนักโม้เหรียญทองโอลิมปิกชาวขอนแจ่น) ขึ้นชกบนเวทีระดับตำนานมาแล้ว ทั้งราชดำเนิน และลุมพินี
หลังจากเป็นนักมวยได้ไม่นาน องอาจต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ แต่ก็ยังคงต่อยมวยควบคู่ไปด้วย เมื่อปลดประจำการออกมา ฐานทัพ สิงห์ทรงพล ยังคงใช้กำปั้นเลี้ยงชีพอยู่อีกพักหนึ่ง กระทั่งอายุ 25 ปี เขาตัดสินใจแต่งงาน และเกษียณตัวเองจากการเป็นนักชก แล้วกลับไปเป็นชาวนา เช่นสมัยเป็นเด็กหนุ่ม เด็กน้อย
หลังจากแขวนนวมได้ 2 ปี ขณะที่ องอาจกำลังนอนอยู่ในบ้านพัก มีเพื่อนบ้านมาชักชวนให้เขาไปคัดตัวเป็นนักแสดง โดยบอกว่า กองถ่ายต้องการนัดแสดงที่เป็นนักมวย และในการตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิต เขาเลือกทางที่ถูกต้องแบบพ่อบ้านใจไม่กล้า โดยให้ภรรยาเป็นคนตัดสิน โชคดีที่ภรรยาของเขาเห็นว่า โอกาสในชีวิตครั้งนี้ “คือโอกาสที่ดี” เขาจึงได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์ที่ชื่อ “ทองปาน”
จะว่าไปแล้ว “ทองปาน” ถือเป็นหนังอินดี้ในยุคนั้น เพราะเป็นหนังที่ใช้ทุนอิสระ ไม่ได้ทำร่วมกับสตูดิโอ เป็นภาพยนตร์ขาวดำฟิล์ม 16 มิลลิเมตร ที่รวบรวมเอาปัญญาชน(ในยุคนั้น)มาอยู่ในกระบวนการผลิตไม่น้อย โดยชื่อของ สุรชัย จันทิมาธร และยุทธนา มุกดาสนิท ปรากฎอยู่ท้ายหนัง ในฐานะผู้กำกับ ขณะที่ คำสิงห์ ศรีนอก และวิทยากร เชียงกูล มีชื่อเป็นผู้เขียนบท สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เทพศิริ สุขโสภา รวมถึงสุรชัย และคำสิงห์ ร่วมแสดง
ทองปาน สร้างในปี 2519 เล่าถึงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กระทบกระเทียบการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อคนเล็ก คนน้อย คนอีสาน คนลาว แต่หลังจากที่ถ่ายทำเสร็จ ระหว่างการตัดต่อ ดันเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทีมโปรดักชั่นจึงแตกกระสานซ่านเซ็น บางรายต้องหนีเข้าป่าเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็น คอมมิวนิสต์ “คนกับควาย” เพลงประกอบหนังโดยหงา คาราวาน(สุรชัย จันทิมาธร) กลายเป็นเพลงต้องห้าม ไพจง ไหลสกุล หนึ่งในผู้กำกับ และคนเขียนบท จึงต้องหอบฟิล์มหนังออกนอกประเทศไปในครานั้น
ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น ทำให้ ทองปาน ถูกฉายครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์ลอนดอน (London Film Festival) แทนที่จะเป็นประเทศไทย และต้องรออีกถึงหนึ่งปีกว่าที่มันจะสามารถกลับมามาฉายในประเทศไทยได้เป็นครั้งแรก ที่สถาบันเกอเธ่ บ้านพระอาทิตย์ และที่สยามสมาคม
สำหรับองอาจเอง เขากล่าวกับวารสารหนังไทยว่า ไม่รู้จักคนในกองถ่าย ไม่รู้ว่าเนื้อเรื่องนั้นเกี่ยวกับอะไร รู้เพียงว่า ได้รับบทเป็นพ่อ ชื่อ ทองปาน มีฉากที่ต้องชกมวย และถีบสามล้อ คิดเพียงแค่ว่า “เขาบอกให้ทำอะไร ก็ทำไปอย่างนั้น” และคิดว่า น่าจะเป็นหนังแบบเดียวกับที่ฉายกลางแปลง อย่างที่เขาเคยดู จนเมื่อ ถ่ายเสร็จแล้ว หนังไม่ได้ฉาย และเขาก็ไม่ได้ดู เขาจึงบอกกับวารสารหนังไทยว่า เขาจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า เขาเล่นยังไงบ้าง และได้รับค่าจ้างเท่าไหร่
6 ปี หลังจากหนังเรื่องแรก ระหว่างรอเรียกตัวไปเป็นแรงงานในต่างประเทศ มีญาติมาชวนให้ องอาจไปเล่นหนังอีกครั้ง เพื่อให้ผู้กำกับดูตัว เขาต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปพบกับ วิจิตร(ผู้กำกับ) และทองปอนด์(ภรรยาผู้กำกับ-ผู้อำนวยการสร้าง-ฝ่ายเสื้อผ้า) คุณาวุฒิ ที่บริษัท ไฟว์สตาร์ สามี-ภรรยาคู่นี้ขอให้เขาถอดเสื้อและหมุนตัวให้ดู ก่อนจะชักชวนให้มาเล่นหนังเรื่องใหม่ที่วิจิตรกำลังจะสร้าง หลังจากนั้น “ครูคุณาวุฒิ(วิจิตร)” จึงตั้งชื่อในวงการให้กับองอาจว่า “ทองปาน โพนทอง” ตามชื่อตำบลบ้านเกิดขององอาจ โดยเหตุผลที่วิจิตร จำเพาะเจาะจงเรียกตัวองอาจมาแสดงเรื่องนี้ เพราะเคยชมภาพยนตร์เรื่อง ทองปาน พร้อมกับ เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ผู้บริหารไฟว์สตาร์
---
จากชาวนาจริงๆ สู่การแสดงเป็น ชาวนาจริงๆ
กองถ่าย “ลูกอีสาน” ปักหลักถ่ายทำที่จังหวัดอุบลราชธานี(และมหาสารคาม) ทองปาน ได้ร่วมแสดงกับนักแสดงมืออาชีพอย่าง ศรินทิพย์ ศิริวรรณ(โรงแรมนรก, ดาวพระศุกร์, แผลเก่า, ลูกทาส, บ้านทรายทอง และอื่นๆ เมื่อปี 2530 เธอหายตัวไป ปัจจุบัน ยังไม่มีใครพบเธออีก) ไกรลาศ เกรียงไกร(เทพธิดาบาร์ 21, ไผ่แดง, คู่กรรม และหนังเรื่องอื่นๆรวมถึงละคร) รวมถึง คำพูน บุญทวี ผู้เขียนนวนิยายรางวัลซีไรต์เรื่องนี้ ก็ร่วมแสดงด้วย การเอาชาวนาตัวจริง มาเล่นเป็นชาวนา ฟังดูอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทองปานบอกว่า ในกองถ่ายนั้น เขาสบายทุกอย่าง จะลำบากก็ตอนเข้าฉากนี่แหละ
“บรรยากาศในกองถ่าย ตื่นเช้ามาก็อาบน้ำ อาบท่า ทานกาฟง กาแฟ แล้วก็ทำกองถ่าย นำออกไปที่ตั้ง ทานข้าว ทานอะไร แล้วก็ทำพิธีถ่าย คิดว่า ในกองถ่ายทำนี่สะดวกมาก ทุกอย่างพร้อมหมด อาหารการกิน แม่ครัวเรียบร้อยทุกอย่าง ไม่ให้ลำบากใจ แต่ลำบากใจ ตอนจะเข้าฉากนี่แหละ ใจสั่น ใจไม่ดี”
ทองปานบอกว่า การทอดแห ไถนา ทำธนู เรียกนกคุ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง เขาทำได้ไม่ยากลำบาก เพราะเป็นสิ่งที่คนบ้านนอกอย่างเขา ทำมาโดยตลอด และคุ้นชินกับวิธีชีวิตเช่นนี้ การเป่าแคนแม้จะทำไม่เป็น แต่ก็เคยเห็นคนเป่ายัง พอเข้าใจวิธีการออกท่าออกทางบ้าง แต่การแสดงต่อหน้ากล้อ งและผู้กำกับเป็นเรื่องที่ทำให้เขาตื่นเต้นจนตัวสั่น
"กลัวถูก กลัวผิด กลัวเล่นไม่ได้อย่างที่ท่านผู้กำกับคิด กลัวเล่นไม่ได้อย่างใจตัวเอง มันสั่น จะเข้าฉากทีกลัวก็กลัว กลัวเป็นส่วนมาก กลัวเล่นไม่ได้อย่างใจท่าน กลัวเราเล่นไม่ดีอะไร จิปาถะน่ะครับ เพราะว่ามันพูดไปด้วย เล่นไปด้วย ผมก็คิดหนัก โอ๊ย อ่านบท ก็กลัวลืมบท กลัวทำไม่ถูกจังหวะ ท่าน(ครูคุณาวุฒิ)ก็มาปลอบใจเราว่า ใจเย็น ๆ นะ ไม่เป็นไร ธรรมดา เราอยู่กินด้วยกันมาทำงานด้วยกัน”
"ฉากตื่นเต้นพิเศษที่สุด คือ ฉากจับพังพอน ที่ล้มลุกคลุกคลาน แดดก็ร้อน กลัวไม่ได้จังหวะ คนหลายคนมันพร้อม ๆ กัน บางทีคนละฉากคนละตอนอย่างเนี้ย แล้วก็พังพอนวิ่งออกมาจะเอายังไงดี (หัวเราะ) กลัวจะไม่ได้จังหวะ… ยากนะครับ ยากแต่น่าศึกษา เพราะคนอย่างพวกผมไม่เคยแสดงหนังเลย และไม่เคยเป็นดาราเลย คนบ้านนอก บ้านนา ผมคิดว่า ท่านทำให้เป็นหนังได้ พวกผมก็ภูมิใจมาก” ทองปาน กล่าวถึงฉากจับพังพอน ซึ่งเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดฉากหนึ่งของหนัง และเป็นฉากที่ใช้ชาวบ้านเป็นนักแสดงเสียส่วนใหญ่
ลูกอีสาน เริ่มถ่ายวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 ปิดกล้องเมื่อ 2 เมษายน 2525 ใช้ฟิล์ม 138 ม้วน ก่อนจะถูกไปส่งไปตัดต่อที่ฮ่องกง หลังจากแสดงหนังเรื่องที่สองในชีวิตของตัวเองเสร็จ ทองปาน กลับมาเป็นองอาจคนเดิม เดินทางไปแสวงโชคยังแอฟริกา ตามสมัยนิยมของคนอีสานในยุคนั้น ในปีเดียวกันนั้น ลูกอีสานได้รางวัลตุ๊กตาทอง สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และสาขาอื่น ปีถัดหนังเรื่องนี้คว้าสุพรรณหงส์ทองคำหลายสาขารวมถึงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากบท “พ่อสุต” ซึ่งเล่นโดย ทองปาน โพนทอง
“ผมได้ข่าว เมื่อผมไปอยู่เมืองนอก ไปอยู่ที่ลิเบีย ทางบ้านส่งหนังสือพิมพ์ไปให้อ่าน บอกว่า ผมได้รับรางวัล ผมภูมิใจมากที่สุด แต่ผมกลับมารับไม่ได้ เพราะเรายังไม่หมดคอนแท็ค(สัญญาจ้าง) ต้องทำงานให้หมดคอนแท็คจึงจะกลับได้ ผมกลับมา ผมก็เลยไปรับเอา” องอาจ เป็นช่างปูนที่ลิเบียใต้การปกครองของ มูฮัมมาร์ กัดดาฟี่ ถึง 2 ปี เมื่อเขากลับมายังประเทศไทย เขาจึงได้เข้ากรุงเทพฯ ไปเอารางวัลแห่งการฝ่าฟันความกลัวของเขาที่บริษัท ไฟว์สตาร์
หลังหมดภารกิจในแอฟริกา องอาจ กลับมารับบทชาวนาอีกครั้ง เป็นบทชาวนาจริงๆ ที่ไม่ใช่ชาวนาบนจอเงิน ด้วยยุคสมัย และความห่างไกล เขาไม่เคยได้ติดต่อกับเพื่อนร่วมกองถ่าย ลูกอีสานอีกเลย มีเพียงคำพูนเท่านั้นที่เคยมาเยี่ยมเขาถึงบ้าน แต่ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่องอาจ ประกอบอาชีพช่างปูนอยู่ที่ลิเบีย ทั้งคู่จึงคลาดกัน แม้กระทั่งการเสียชีวิตของครูคุณาวุฒิ ชายผู้มอบโอกาสสำคัญให้กับชีวิตเขา เขาก็เพิ่งได้ทราบภายหลัง และไม่ได้เดินทางไปร่วมงานศพด้วย
แม้จะมีผลงานแสดงภาพยนตร์เพียงแค่ 2 เรื่อง แต่ชื่อของทองปาน โพนทอง ยังคงถูกกล่าวถึงในฐานะสุดยอดนักแสดง โดม สุขวงศ์ อดีตผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ ยังเคยกล่าวพาดพิงถึงองอาจว่า เขาเป็นนักแสดงคนสำคัญในประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทย แต่เพราะภาพยนตร์ที่เขาแสดงนั้นได้รับการยอมรับจากนานาชาติ เขาจึงเป็นนักแสดงของโลก แบบเดียวกับที่ Lamberto Maggiorani(ลัมเบอร์โต มักกิโอรานี) กรรมกรโรงงานซึ่งรับบทนำใน Bicycle Thieves หนังนีโอเรียลิสม์เรื่องดังของอิตาลีเป็น
---
ขอขอบคุณ วารสารหนังไทย หอภาพยนตร์(องค์การมหาชน), อนุสรณ์งานศพ ดร.วิจิตร คุณาวุฒิ และ พี่วิว-พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู เจ้าหน้าที่หอภาพยนตร์ สำหรับข้อมูลในการเขียนข้อเขียนชิ้นนี้ ขอได้รับคำขอบคุณจาก The Isaander มา ณ โอกาสนี้ด้วย
Comments